วิวัฒนาการพลังนักศึกษาแต่ละสถาบัน รวมกันเป็นศูนย์กลางจนขับไล่ผู้นำเผด็จการสำเร็จ

ภาพประกอบเนื้อหา - การชุมนุมประท้วงการเลือกตั้งสกปรก 2 มีนาคม 2500 (ภาพจากหนังสือแผนชิงชาติไทย)

ขอเชิญร่วมฟังเสวนา การเมืองกับขบวนการนักเรียนนักศึกษา ก่อนจะถึง 6 ตุลา 19”
วิทยากรโดย
ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
พลากร จิรโสภณ อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย ปี 2516
กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2521
และ เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินการเสวนา
วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน 2563 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องโถง มติชนอคาเดมี
กรุณาสำรองที่นั่งล่วงหน้า โทร.0 2580 0021-40 ต่อ 1206, 1220 (ที่นั่งมีจำนวนจำกัด) หรือ inbox แจ้งชื่อ-นามสกุล มาที่เพจ Silapawattanatham – ศิลปวัฒนธรรม


 

การเคลื่อนไหวของนักเรียน นิสิตนักศึกษาในปัจจุบันในรูปแบบของแฟลชม็อบ จะส่งผลกระทบกับรัฐบาลมากน้อยเพียงใด กิจกรรมต่อจากนี้ไปที่เยาวชนเหล่านั้นจะเคลื่อนไหวคืออะไร แต่ใครเล่าจะตอบได้ และเวลาก็คงเร็วไปที่จะสรุปว่าตอนจบจะเป็นเช่นไร

ระหว่างนี้จึงอยากชวนให้ย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เขียนถึงมากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ วิทยานิพนธ์ชื่อ “การวิเคราะห์พัฒนาการขบวนการนิสิตนักศึกษา” (วิทยานิพนธ์คุรุศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2529) ของ สุปรีดา ลอตระกูล ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงขอคัดย่อบางส่วนมานำเสนอในที่นี้

ที่ทำให้เห็น “พลัง” ของหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และความหวาดระแวงของผู้นำบ้านเมือง

เริ่มจากการจัดตั้ง “สโมสรนักศึกษา” ในอดีต แม้นักศึกษาสามารถเลือกผู้แทนได้โดยตรง แต่นายกสโมสร และอุปนายกสโมสร กลับมาจากการแต่งตั้งโดยอธิบการบดี (จนปี 2511 จึงให้อิสระในการดำเนินสโมสรมากขึ้น โดยมีอาจารย์ 1 คนเป็นที่ปรึกษา) แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะนิสิตนักศึกษาก็ยังมีการรวมตัวกันทำกิจการต่างๆ ดังตัวอย่างเช่น

“กลุ่มเจ็ดสถาบัน” ที่ก่อตั้งประมาณปี 2509  จากนิสิตนักศึกษาจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รวมกันจัดพิมพ์หนังสือ “เจ็ดสถาบัน” เพื่อต่อต้านสงคราม, การออกรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป และออกรายการทีวีเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ฯลฯ

“กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว” ก่อตั้งประมาณปี 2511 เป็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ที่จัดทำหนังสือรายสะดวก ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสวงหาความหมายใหม่ๆ ของชีวิต  ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่สังกัดองค์กร เช่น กลุ่มอาสาพัฒนาชนบท ของคณะกรรมการวิจัยและส่งเสริมงานอาสาพัฒนา ที่มีมาตั้งแต่ปี 2502 หรือกลุ่มสังกัดองค์กรศาสนา อย่างสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน และยุวพุทธิกสมาคม

ปัจจัยที่ทำให้นิสิตนักศึกษาเคลื่อนไหวทำกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้น

นิสิตนักศึกษาในเวลานั้น เริ่มปฏิเสธสังคมในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมหรูหราฟุ้งเฟ้อ, ระบบอาวุโสที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของนิสิตใหม่ หรือมุมมองต่อตัวมหาวิทยาลัยว่า เป็นเพียงสถานที่ในการผลิตแรงงานให้กับสังคมมากกว่า จะยอมรับว่าเป็นสถาบันในการค้นคว้าแสวงหาทางปัญญา ดังบทกวี “เพลงเถื่อนสถาบัน” ที่วิทยากร เชียงกูล เขียนไว้ว่า

………………….                    …………………..

ปัญญามีขายที่นี่หรือ             จะแย่งซื้อได้ที่ไหน

อย่างที่โก้หรูหราราคาเท่าใด   จะให้พ่อขายนามาแลกเอา

…………………….                  ………………….

ฉันเยาว์ฉันเขลาฉันทึ่ง           ฉันจึงมาหาความหมาย

ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย   สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว

เดือนสิงหาคม ปี 2512 จากสโมสรนิสิต (นักศึกษา) ที่เป็นองค์กรนำในแต่ละสถาบัน สโสมรนิสิตนักศึกษาจาก 11 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มาหวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยการศึกษา 3 แห่ง คือ ประสานมิตร, บางแสน และปทุมวัน ที่มาสัมมนากัน ณ ค่ายลูกเสือกำแพงแสน นครปฐม ต่างมีความเห็นว่าควรมี “ศูนย์กลางของนิสิตนักศึกษา”

หลังจากนั้นก็มีการปรึกษาหารือกันอีกหลายครั้ง ในที่สุด “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” (National Student Center of Thailand) ก็ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2516 มีนายโกศล โรจนพันธ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเลขาธิการคนแรก

ช่วงปี 2516-19 เป็นช่วงที่นิสิตนักศึกษามีการเคลื่อนไหวมากที่สุดทั้งเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม, สถาบัน และสังคมส่วนร่วม ถือเป็นยุคทองของนิสิตนักศึกษา และที่สำคัญคือสามารถขับไล่ผู้นำเผด็จการออกนอกประเทศสำเร็จในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516


เผยแพร่ข้อมูลครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563