ธงมหาราช: ความเป็นมาและความหมายเชิงสัญลักษณ์

ในเวลา 08.00 น. ของวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ที่เสาธงประจำพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้มีการลดธงเยาวราชใหญ่ประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ลงจากยอดเสา พร้อมกับเชิญธงมหาราชใหญ่ซึ่งเป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ขึ้นสู่ยอดเสา เป็นเครื่องหมายแห่งการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ธงมหาราชเป็นธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ จัดอยู่ในประเภทธงพระอิสริยยศตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ลักษณะเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นสีเหลือง กลางธงเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง (สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ 2548, น. 263)

Advertisement

ธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์เริ่มมีเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 เพราะเมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือหลายลำ ราษฎรผู้ประสงค์จะถวายความเคารพไม่อาจสังเกตได้ว่าประทับในเรือพระที่นั่งลำใด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้น พื้นนอกมีสีแดง พื้นในสีขาบ ตรงกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประกอบฉัตรเครื่องสูง 7 ชั้น ทั้ง 2 ข้าง เรียกกันเป็นสามัญในขณะนั้นว่า ธงจอมเกล้า (ฉวีงาม 2520, น. 1 – 2) สำหรับเชิญขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่งเป็นที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งลำนั้นแล้ว และเชิญขึ้นบนยอดเสาธงในพระบรมมหาราชวังด้วย แต่หากมิได้ประทับในพระนครแล้วก็จะเชิญธงไอยราพตขึ้นแทน (ราชกิจจานุเบกษา 2440, ออนไลน์)

ในรัชสมัยที่ 5 ทรงสร้างธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ เรียกว่า ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์เป็นรูปตราอาร์มแผ่นดิน มีตราจักรีไขว้ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในโล่ตราแผ่นดินช่องบนเป็นช้างเอราวัณสามเศียรพื้นเหลือง หมายถึง ดินแดนสยามเหนือ กลาง และใต้ ช่องล่างด้านขวาเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมพูเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนลาว และช่องล่างข้างซ้ายเป็นรูปกริชไขว้กันบนพื้นแดง หมายถึง มลายูประเทศ มีแท่นรองโล่และฉัตรเครื่องสูง 7 ชั้นบนพื้นเหลือง ปรากฏใน “พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม” รัตนโกสินทร ศก 110 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับธงฉบับแรกของสยาม หากเชิญขึ้นในที่แห่งใดก็เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ ที่แห่งนั้น หากประทับในเรือพระที่นั่งหรือเรือรบแล้วต้องเชิญขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือนั้นเสมอ (ราชกิจจานุเบกษา 2440, ออนไลน์)

ต่อเมื่อได้ทรงตรา “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก 116” ใหม่ จึงเปลี่ยนนามธงจาก ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์ เป็น ธงมหาราช แต่ยังคงลักษณะของธงรวมทั้งความหมายไว้เช่นเดิมเพียงแต่กำหนดขนาดและสัดส่วนของธงเพิ่มเติมเข้ามา และมีข้อกำหนดเพิ่มเติมว่าเมื่อนายทหารเชิญไปในกระบวนใดให้เป็นที่หมายว่าเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนนั้น (ราชกิจจานุเบกษา 2440, ออนไลน์) และแม้ว่าจะได้ทรงตรา “พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทร ศก 118” ขึ้นใหม่อีกครั้ง แบบอย่างธงสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ก็ยังคงใช้ธงมหาราชแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจนกระทั่งสิ้นรัชกาล (ราชกิจจานุเบกษา 2442, ออนไลน์)

ในรัตนโกสินทรศก 129 หรือตรงกับ พ.ศ 2453 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงเปลี่ยนรูปลักษณ์ของธงมหาราชใหม่กำหนดเป็น 2 ขนาด คือ ธงมหาราชใหญ่และธงมหาราชน้อย ดังปรากฏใน “พระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก 129” สำหรับ ธงมหาราชใหญ่ มีขนาดกว้าง 1 ส่วน ยาว 1 ส่วน (รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) ศูนย์กลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์สีแดง คงลักษณะการใช้ไว้เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วน ธงมหาราชน้อย มีลักษณะเช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่แต่กว้างไม่เกิน 60 ซม. มีชายต่อขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียว ปลายนั้นกว้างครึ่งหนึ่งของตอนต้น รวมทั้งธงมีขนาดกว้าง 1 ส่วน ปลายครึ่งส่วน ยาว 14 ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ 2 ของด้านยาว มีข้อกำหนดการใช้เช่นเดียวกับธงมหาราชใหญ่ แต่เวลาเชิญธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่ให้งดยิงสลุตถวายคำนับ (ราชกิจจานุเบกษา 2453, ออนไลน์)

ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงใช้สืบมาจนกระทั่งรัชกาลที่ 8 เมื่อมีการตรา “พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479” (ราชกิจจานุเบกษา 2479, ออนไลน์) จนถึงการตรา “พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522” ในรัชกาลที่ 9 (ราชกิจจานุเบกษา 2422, ออนไลน์) เป็นกฎหมายเรื่องธงฉบับล่าสุดที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน

น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงลักษณะของธงมหาราชเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คงด้วยพระราชประสงค์ เพื่อให้สอดคล้องกับคติของเทวปกรณัมของพราหมณ์ที่กล่าวถึงการทำไมตรีกันระหว่างพระนารายณ์และพญาครุฑ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่มีฝ่ายใดแพ้ชนะในการต่อสู้กันจนในที่สุดพระนารายณ์ประทานพรให้พญาครุฑเป็นอมตะ และทรงให้สัญญาว่าจะให้นั่งบนที่สูงกว่าพระองค์ ฝ่ายพญาครุฑก็ยอมอาสาเป็นพาหนะให้กับพระนารายณ์ เหตุนี้ พระนารายณ์จึงทรงครุฑและครุฑเองก็ได้อยู่ในธงที่งอนรถพระนารายณ์อันเป็นที่นั่งสูงกว่า (มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2517, น. 84)

ทั้งนี้ การใช้งานธงมหาราชยังนับว่าสอดรับกับคติดังกล่าวด้วย เช่น เมื่อใช้ชักขึ้นสู่ยอดเสาขณะพระมหากษัตริย์ประทับในพระบรมมหาราชวังหรือในพระราชฐาน ย่อมเสมือนหนึ่งว่าพญาครุฑอยู่สูงกว่าพระมหากษัตริย์อันทรงเปรียบเสมือนพระนารายณ์อวตาร เมื่อเชิญไว้ที่เสาธงด้านหน้าทางขวาของรถยนต์พระที่นั่ง หรือบนเสาเรือพระที่นั่งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินย่อมประหนึ่งว่ามีครุฑทำหน้าที่เป็นเป็นพระราชพาหนะในการเสด็จพระราชดำเนิน

บรรณานุกรม

ฉวีงาม มาเจริญ. 2520. ธงไทย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. 2517. เรื่องเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ธรรม
บรรณาคาร.

ราชกิจจานุเบกษา. 2440. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก 116″. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/002/29_1.PDF (สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559).

ราชกิจจานุเบกษา. 2442. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร ศก 118.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DA…/PDF/2442/039/541_1.PDF (สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559).

ราชกิจจานุเบกษา. 2453. “พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทร์ ศก 129.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/A/176.PDF (สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559).

ราชกิจจานุเบกษา. 2479. “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/A/865.PDF (สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559).

ราชกิจจานุเบกษา. 2522. “พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522.” http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2522/A/067/1.PDF (สืบค้นเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2559).

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. 2548. ธงสำคัญของชาติ. กรุงเทพฯ: สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.

(จากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts)