รู้จัก แลร์รี่ เทสเลอร์ เจ้าของไอเดีย “cut-copy-paste” นักวิทย์คอมพ์ ผู้ล่วงลับ

แลร์รี่ เทสเลอร์
แลร์รี่ เทสเลอร์ (Larry Tesler) เจ้าของไอเดียฟังก์ชั่น "ตัด คัดลอก และวาง" ในระบบเครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2007 ภาพจาก Yahoo! Inc / Flickr / https://www.flickr.com/people/99527366@N00 (เจ้าของภาพไม่จำกัดสิทธิการใช้งาน)

สำหรับผู้ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ต้องคุ้นเคยกับการใช้ฟังก์ชั่น “ตัด, คัดลอก และวาง” (cut-copy-paste) กันอย่างดี (แม้แต่การพิมพ์เนื้อหานี้ก็ยังใช้งานระบบ “คัดลอก” ชื่อบุคคล และ “วาง” เพื่อความรวดเร็วด้วย) การใช้งานเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นไอเดียของ แลร์รี่ เทสเลอร์ (Larry Tesler) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เคยทำงานให้บริษัทแอปเปิลช่วงปลายยุค 1980s

เทสเลอร์ ผู้ล่วงลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ในวัย 74 ปี เคยทำงานกับศูนย์วิจัย Palo Alto Research Center (PARC) ในเครือ ซีร็อกซ์ (Xerox) ตั้งแต่ปี 1973 เป็นช่วงที่เขาและเพื่อนร่วมทีมพัฒนาการใช้งานที่คนปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ตัด, คัดลอก และวาง” (cut, copy และ paste) ฟังก์ชั่นนี้เองกลายเป็นรากฐานการใช้งานให้ผู้ใช้แก้ไขปรับเปลี่ยนอักษรและข้อความได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ไปจนถึงการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์อื่นๆ อีกหลายรูปแบบ ตราบใดที่การใช้งานคีย์บอร์ดยังเป็นที่ต้องการอยู่

รายงานจาก The Guardian ระบุว่า อันที่จริงแล้ว เทสเลอร์ ไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นฟังก์ชั่นพื้นฐานของการทำงานแบบ “ตัด, คัดลอก และวาง” เป็นคนแรก แต่เขามีบทบาทในการกำหนดชื่อเรียกและการสั่งงานด้วยรูปแบบคีย์ผสม (Ctrl-X, Ctrl-C และ Ctrl-V)

เทสเลอร์ ศึกษาที่โรงเรียนมัธยม Bronx High School ในยุค 1960s และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Stanford เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่เลือกมหาวิทยาลัยแห่งนี้เพื่อเว้นระยะห่างจากครอบครัว เนื่องจากลักษณะการเลี้ยงดูที่ค่อนข้างควบคุมดูแลเข้มงวด ขณะที่ตัวเขาเองมีลักษณะนิสัยยืดหยุ่นรักอิสระมากเกินจะถูกควบคุมดูแล

ในช่วงที่ซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ตกอยู่ท่ามกลางกระแสธารของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยุคใหม่ และกระแสวัฒนธรรมการต่อต้านสงคราม ซึ่งเทสเลอร์ก็ได้สัมผัสกับกระแสทั้งสองทาง โดยช่วงแรกเขาเริ่มได้รับว่าจ้างให้เขียนซอฟต์แวร์สำหรับแผนกต่างๆ ในมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงกลายมาเป็นบริษัทที่ปรึกษา เขาจบการศึกษาในปี 1965 ด้วยดีกรีในด้านคณิตศาสตร์

ขณะที่ทุกอย่างกำลังไปได้สวย เศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดภาวะตกต่ำขึ้น ช่วงนั้นเขาเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีลูกสาวกับภรรยาที่หย่ากันไปหลังแต่งงานได้ไม่นานนัก ช่วงเวลานี้เทสเลอร์จับกับกระแสเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างจากบรรทัดฐานในสังคมส่วนใหญ่ และย้ายไปพักอาศัยในย่านชานเมือง

กระทั่งปี 1970 Xerox ได้ยินเกี่ยวกับเรื่องงานที่เขาเคยทำและได้รับคำแนะนำให้จ้างเทสเลอร์ เมื่อบริษัทหาตัวเขาพบ เทสเลอร์กลับเป็นคนแรกที่ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทซีร็อกซ์ โดยเขาอธิบายว่า ไม่พอใจกับข้อเสนอ แต่ท้ายที่สุดเขามาร่วมงานในปี 1973 หลังจากนั้น ถึงเป็นช่วงที่งานเกี่ยวกับ “ตัด, คัดลอก และวาง” ของเทสเลอร์ เริ่มแพร่หลายในวงการ

เทสเลอร์ เคยทำงานให้บริษัทแอปเปิล (Apple) ระหว่าง 1980-1997 ขณะที่ศูนย์วิจัย PARC ที่เขาทำงานด้วยก็เป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะพัฒนาระบบที่เรียกว่า “graphical user interfaces” หรือการใช้ภาพเป็นสื่อกลางสำหรับการทำงานประสานระหว่างอุปกรณ์กับผู้ใช้งาน และการควบคุมการใช้งานมันด้วยเมาส์ (Mouse)

ขณะที่ตัวเขาเองมักถูกเชื่อมโยงให้เข้าใจว่า เป็นบิดาของ “graphical user interface” สำหรับเครื่องแมกอินทอช (Macintosh) แต่ในเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา เขาปฏิเสธข้อมูลนี้

รายงานข่าวระบุว่า สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทแอปเปิลพบเห็นงานวิจัยชิ้นนี้ในระยะเริ่มต้น และนำไอเดียมาเป็นแรงบันดาลใจพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล

ในระยะที่เทสเลอร์ทำงานกับแอปเปิล จนถึงปี 1997 เขาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลายชิ้นตั้งแต่เครื่องแมกอินทอช, ลิซ่า และนิวตัน แท็บเล็ต ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า เครื่องแมกอินทอช และลิซ่า คือเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชิ้นแรกๆ ที่ทำให้ฟังก์ชั่น ตัด, คัดลอก และวาง กลายเป็นที่นิยม และต้องขอบคุณไอเดียของเทสเลอร์ ผู้นี้พร้อมผู้ร่วมงานของเขานั่นเอง

หลังจากยุติบทบาทร่วมกับแอปเปิล เขาทำงานร่วมกับสเตจแคสต์ (Stagecast) กลุ่มสตาร์ทอัปที่ทำเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ด้านการศึกษา และทำงานร่วมกับบริษัทใหญ่หลายแห่ง อาทิ อเมซอน (Amazon) และยาฮู (Yahoo)

ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เขาเป็นที่ปรึกษาด้าน UX (User Experience ประสบการณ์ของผู้ใช้งานอุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่ง) ในแคลิฟอร์เนีย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Peter, Jays. “Larry Tesler, the UI pioneer responsible for cut, copy, and paste, dies at 74”. The Verge. Online. Published 19 FEB 2020. Access 20 FEB 2020. <https://www.theverge.com/2020/2/19/21144516/larry-tesler-cut-copy-paste-dies-at-74-apple-xerox-amazon-obituary>

Schofield, Jack. “Larry Tesler obituary”. The Guardian. Online. Published 28 FEB 2020. Access 16 FEB 2021. <https://www.theguardian.com/technology/2020/feb/28/larry-tesler-obituary>

http://www.nomodes.com/Larry_Tesler_Consulting/CV.html


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อกุมภาพันธ์ 2563 แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งล่าสุดเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564