การรับ-ปรับวัฒนธรรม “พวงหรีด” จากตะวันตกสู่ไทย แพร่หลายเข้าสู่สยามเมื่อใด?

คนไทยคุ้นชินกับ “พวงหรีด” ว่าใช้เป็นสิ่งแสดงความเคารพต่อผู้เสียชีวิตในงานศพ สอดคล้องกับที่ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของ “พวงหรีด” ว่า “ดอกไม้ที่จัดแต่งขึ้นตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลม วงรี สำหรับใช้เคารพศพ, หรีด ก็เรียก.” แต่ในอีกมุมหนึ่ง พวงหรีดในวัฒนธรรมตะวันตก (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมพวงหรีด) ยังได้ใช้เป็นสิ่งแสดงความยินดีและการเฉลิมฉลอง

อิทธิพลตะวันตกสู่ไทย

คำว่า “พวงหรีด” เป็นการเรียกทับศัพท์จากภาษาอังกฤษคือ “Wreath” ปรากฏรูปแบบการทำ “หรีด” สืบย้อนไปถึงสมัยอียิปต์โบราณ พบว่ามีการนำผ้าลินินมาทำเป็นเครื่องสวมศีรษะ ในสมัยกรีกโบราณก็มีการทำ “หรีด” จากมะกอก สน ขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือปาล์ม เป็นรางวัลสำหรับนักกีฬาที่ได้รับชัยชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหรือเป็นรางวัลให้กับกวี นอกจากนี้คู่รักหนุ่มสาวในสมัยกรีกโบราณมักแขวน “หรีด” ไว้หน้าประตูเพื่อเป็นสัญญาณแห่งความรัก ในสมัยโรมันก็ให้ความสำคัญกับ “หรีด” เช่นเดียวกัน พวกเขาถือว่าสิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและชัยชนะที่จะมอบให้กับนายทหารที่ได้รับชัยจากสงคราม

พวงหรีดในความหมายปัจจุบันคือดอกไม้และใบไม้ที่นำมาจัดวางตามโครงรูปต่าง ๆ เช่น วงกลมหรือวงรี ใช้เพื่อวัตถุประสงค์หลายประการ ในวัฒนธรรมตะวันตกจะใช้พวงหรีดทั้งในงานมงคลและอวมงคล

งานมงคลในวัฒนธรรมตะวันตกอย่างเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่เปลี่ยน “หรีด” ในคติยุคโบราณ ให้เป็น “พวงหรีด” ยุคใหม่ตามอิทธิพลของศาสนาคริสต์ ซึ่งชาวตะวันตกจะแขวนพวงหรีดประดับบ้านเรือนหรือต้นคริสต์มาส โดยสื่อความหมายถึงความเชื่อศาสนาว่า วงโค้งหรือวงกลมของหรีดหมายถึง ความสมบูรณ์อันศักดิ์สิทธิ์ และพระเจ้าที่ทรงเป็นนิรันดร์ เนื่องจากรูปร่างของพวงหรีดไม่มีจุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุด ส่วนดอกไม้ ใบไม้ และของตกแต่ง เช่น ถั่ว ลูกสน หมายถึง ความยั่งยืนของชีวิต และเป็นสัญลักษณ์การฟื้นคืนชีวิต

วัฒนธรรมพวงหรีดในตะวันตกถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับประเพณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากยุโรปเหนือและตะวันออก ก่อนจะแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะการแต่งงานของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรกับเจ้าชายอัลเบิร์ตจากเยอรมนี ซึ่งทำให้วัฒนธรรมและประเพณีในเทศกาลคริสต์มาสจากยุโรปส่วนอื่น ๆ เข้าสู่อังกฤษจนเป็นที่นิยม ในทางกลับกันวัฒนธรรมอังกฤษก็ส่งอิทธิพลต่อไปยังวัฒนธรรมอเมริกันเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ วรรณกรรมเรื่อง A Visit From St. Nicholas ของ Clement Clarke Moore ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับค่ำคืนก่อนวันคริสต์มาส ก็มีส่วนกระตุ้นให้การตกแต่งพวงหรีดในเทศกาลคริสต์มาสเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

สำหรับพวงหรีดในงานอวมงคลในวัฒนธรรมตะวันตกก็มีลักษณะเช่นเดียวกับวัฒนธรรมไทย คือใช้เป็นสิ่งแสดงความเคารพผู้เสียชีวิต เป็นการไว้อาลัย และแสดงความโศกเศร้า เดิมทีนั้นในวัฒนธรรมตะวันตกจะใช้พวงหรีดแห้งที่ตัดแต่งรูปดอกไม้ใบไม้จากกระดาษและประดับด้วยริบบิ้น ก่อนจะพัฒนาเป็นพวงหรีดดอกไม้สดในภายหลัง

เหตุที่พวงหรีดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไทย เฉพาะแต่งานอวมงคลเพียงอย่างเดียวนั้น รุจิราภา งามสระคู อธิบายว่า “เมื่อรับพวงหรีดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียม คนไทยมิได้ใช้ในสองวาระเช่นชาวตะวันตก แต่นำมาใช้เฉพาะในงานอวมงคลเพื่อแสดงความไว้อาลัยและหรือนำไปสักการะรูปปั้นผู้ล่วงลับ คงเนื่องจากคนไทยนับถือศาสนาพุทธย่อมไม่มีเทศกาลเฉลิมฉลองตามแบบแผนของศาสนาคริสต์ จึงเลือกใช้ในพิธีกรรมที่ไม่ขัดกับคติความเชื่อทางศาสนา”

รูปแบบพวงหรีดสมัยรัชกาลที่ 7 (ภาพจากการออกแบบโดย “คณะช่าง” )

พวงหรีดเก่าที่สุด

จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นว่า วัฒนธรรมพวงหรีดในไทยได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกอย่างแน่นอน โดยเอนก นาวิกมูล สันนิษฐานว่า อาจได้รับอิทธิพลมาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมตะวันตกเริ่มเข้ามาในสยามประเทศ ดังเช่น การใช้การ์ดขอบดำแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวงหรีดน่าจะเข้าสู่สยามในคราวเดียวกันนี้เอง

สมบัติ พลายน้อย ให้ข้อมูลว่า วัฒนธรรมงานศพของคนไทยแต่เดิมคือจะนำดอกไม้ ธูป เทียน ไหว้เคารพศพเพื่อแสดงความอาลัย ดอกไม้ที่ใช้มักเป็นดอกซ่อนกลิ่น เนื่องจากมีสีขาวและมีกลิ่นหอม เมื่อพวงหรีดเข้าสู่วัฒนธรรรมไทยจึงเข้ามาแทนที่การนำดอกไม้ ธูป เทียน ไหว้เคารพศพ

ในอีกแง่หนึ่ง พวกหรีดยังเข้ามาแทนที่เครื่องสักการะศพด้วย กล่าวคือ ในอดีตจะมีเครื่องสักการะศพ (โดยเฉพาะพระศพชนชั้นสูง) ที่เป็นพุ่มดอกไม้ทอง พุ่มดอกไม้เงิน หรือพุ่มดอกไม้สด แต่ภายหลังได้นำพวงหรีดมาแทนที่ ดังเช่นในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2453 ปรากฏภาพพวงหรีดที่นำมาใช้เป็นเครื่องสักการะพระบรมศพ แขวนไว้บริเวณด้านซ้ายขวาของพระบรมโกศ เป็นพวงหรีดที่ทำจากดอกบานไม่รู้โรยย้อมสีแล้วเย็บแบบเป็นอักษรพระนาม “จปร” และยังปรากฏภาพพวงหรีด (แบบแห้ง) หลายพวงวางเรียงรายด้านนอกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งนับเป็นภาพที่เก่าที่สุดที่มีการใช้พวงหรีดแบบแห้งในงานศพ

(ซ้าย) พระโกศพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5, มีพวงมาลา (พวงหรีด) ปักพระนาม “จปร” (ขวา) พวงหรีดงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

นอกจากนี้ ในงานศพของหม่อมเล็ก พระชายาในกรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช เมื่อ พ.ศ. 2461 ก็ปรากฎว่าเจ้าภาพได้นำพวงหรีดมาประดับบนหีบศพและบริเวณด้านหน้าเพื่อความสวยงามและเป็นการสักการะศพเช่นกัน

กระดาษคาดทับพวงหรีด

การส่งพวงหรีดในวัฒนธรรมตะวันตกมักจะมีกระดาษแผ่นเล็ก ๆ หรืออาจเป็นนามบัตรชื่อผู้ส่งติดไปพร้อมกับพวงหรีด เพื่อให้เจ้าภาพรู้ข้อมูลชื่อผู้ส่งและจะได้ตอบขอบคุณ ส่วนงานศพของไทยในอดีตพบว่า พวงหรีดงานศพของสามัญชนไม่พบนามบัตรเช่นนี้ติดมาเลย ในงานศพของชนชั้นสูงมีพบบ้าง ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบจากนามบัตรเป็นกระดาษคาดทับพวกหรีดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมักเป็นเขียนคำไว้อาลัยหรือเขียนชื่อเจ้าของพวกหรีดนั้น ๆ

ซึ่งในประเทศเกาหลีใต้ที่รับวัฒนธรรมพวงหรีดมาใช้ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล จะใช้พวงหรีดที่มีลักษณะการตกแต่งคล้ายกัน จะแตกต่างกันตรงที่กระดาษคาดทับพวงหรีด หากเป็นงานมงคลจะใช้กระดาษสีสดใส หากเป็นงานอวมงคลจะใช้สีขาวหรือดำ

พวงหรีดเก่าสุดที่พบว่ามีคำไว้อาลัยติดมาด้วยคือพวกหรีดพระราชทานของรัชกาลที่ 5 พระราชทานในคราวงานทำบุญครบ 1 ปี การถึงแก่อสัญกรรมของเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) โดยมีข้อความว่า ทรงรฤกถึงความจงรักภักดีและที่ได้เคยอยู่ด้วยกันเป็นนิจช้านาน ให้สมุหราชองครักษ์อัญเชิญมาวางที่โกศโดยทรงพระกรุณาไม่จืดจาง

พวงหรีดดอกไม้สดและแห้ง

ความนิยมใช้พวงหรีดได้แพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงเป็นกลุ่มแรก ๆ (ก่อนจะแพร่หลายสู่สามัญชน) งานพระศพหรืองานพระบรมศพซึ่งมักจัดในระยะเวลายาวนาน ดังนั้น จึงไม่นิยมใช้พวกหรีดดอกไม้สด เพราะนอกจากจะเหี่ยวเฉาในเร็ววันแล้ว ดอกไม้สดในสมัยก่อนไม่ได้มีหลากหลายอย่างปัจจุบัน ในอดีตใช้ดอกไม้ตกแต่งพวกหรีดไม่กี่ชนิด เช่น ดอกกุหลาบ ดอกกล้วยไม้ ดอกเบญจมาศ และดอกหน้าวัว จึงมักจะใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ตกแต่งเสริม ภายหลังจึงนิยมใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ทั้งหมด พวงหรีดดอกไม้แห้งจึงเป็นที่นิยมมากกว่าพวงหรีดดอกไม้สด

เสฐียรโกเศศ บันทึกถึงพวงหรีดในสมัยรัชกาลที่ 8 ว่า “…เวลานี้หาซื้อพวงหรีดดอกไม้ปลอมได้ง่าย ราคาก็ถูกกว่าไม่ต้องเสียเวลาทำ เก็บเอาไว้ได้นานกว่า เห็นมีพวงหรีดชนิดนี้หนาตา พวงหรีดสดชักจะบางตาไป ต่อมาไม่ช้าคงเป็นพวงหรีดแห้งกันหมด”

ต่อมา เมื่อวัฒนธรรมพวงหรีดเริ่มแพร่หลายสู่งานศพของสามัญชน ซึ่งมีพิธีศพไม่ต่อเนื่องยาวนานเหมือนพิธีศพของชนชั้นสูง ประกอบกับพันธุ์ดอกไม้เริ่มหลากหลายและมีปลูกขายกันมากขึ้น ดังนั้น จึงหันมาใช้พวงหรีดดอกไม้สดกันมากขึ้น เนื่องจากพวงหรีดดอกไม้สดมีความสวยงามและให้ความสดชื่นมากกว่า จึงเข้ามาแทนที่พวงหรีดดอกไม้แห้ง และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

รัชกาลที่ 9 ทรงวางพวงมาลาหน้าหลุมศพทหารไร้ญาติที่กรุงปารีส 11 ตุลาคม ค.ศ. 1960 ในระหว่างการเสด็จเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ (Photo by STF / AFP)

กระทั่งเมื่อประมาณ 40 ปีให้หลังนี้เอง ที่รูปแบบพวงหรีดได้แปรเปลี่ยนไปอีกครั้ง เนื่องจากถูกมองว่า การให้พวงหรีดนั้นสิ้นเปลืองและไม่มีประโยชน์ จึงมีการทำพวงหรีดจากของเหลือใช้หรือเศษวัสดุบ้าง หรือนำสิ่งของที่จะเป็นประโยชน์ในภายหลังมาทำเป็นพวงหรีดบ้าง เช่น พัดลมและผ้าห่ม

ในยุคร่วมสมัย “พวงหรีด” ยังได้แปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือสำคัญบางอย่างสำหรับการเสียดสีและประชดประชันสังคมและการเมือง ดังจะเห็นในละครน้ำเน่าหลายเรื่อง เช่นว่านางร้ายนำพวงหรีดมาแสดงความยินดีในงานแต่งงานของพระเอก-นางเอก หรือเมื่อไม่นานมานี้ก็มีการนำพวกหรีด (พร้อมข้อความไว้อาลัย) ไปมอบให้กับคนที่ยังไม่เสียชีวิต เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ก็มี

จะเห็นได้ว่า คนไทยเรารับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาปรับใช้กับวัฒนธรรมไทยได้อย่างแนบเนียน นำมาแทนที่วิถีแบบดั้งเดิมจนเกิดวิถีปฏิบัติแบบใหม่ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมไปเสียแล้วว่าเมื่อมีงานศพก็ต้องมอบพวงหรีดเพื่อแสดงความอาลัย และแม้ว่าจะล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมพวงหรีดก็ยังปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเสมอ

อ้างอิง :

รุจิราภา งามสระคู. (มกราคม-มิถุนายน, 2550). พวงหรีด : วัฒนธรรมตะวันตกที่งอกงามในประเพณีไทย. วารสารกระแสวัฒนธรรม. ปีที่ 18 : ฉบับที่ 33.

KAT MOON. (2018). Christmas Wreaths Are a Classic Holiday Decoration With a Surprisingly Deep History. Access 11 February 2020, from https://time.com/5482144/christmas-wreath-origins

The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2020). Wreath. Access 11 February 2020, from https://www.britannica.com/art/wreath-floral-decoration


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2563