ผู้เขียน | ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ฉลองพระบาทเป็น 1 ใน 5 ของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ตามตำรับของลังกา ดังระบุไว้ตรงกัน ทั้งในคัมภีร์มหาวงส์และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา (พจนานุกรมบาลีประเภทอภิธาน) ได้แก่ พระขรรค์ ฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท และวาลวีชนี (มหานามเถระ. 2534, 178; ชินวรสิริวัฒน์ 2541, 96)
แนวคิดเรื่องการถวายฉลองพระบาทเป็นเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ มีต้นเค้ามาจากมหากาพย์รามายณะ ฉบับฤษีวาลมิกิของอินเดีย กล่าวถึงตอนพระรามเดินดงแล้วพระพรตมาทูลเชิญให้เสด็จกลับไปครองอโยธยา
แต่พระรามทรงปฏิเสธ พระพรตจึงได้ทูลขอฉลองพระบาททองคำประดับอัญมณีจากพระราม “อันอาจนำมาซึ่งความสงบสุขและความปรองดองทั้งปวงในหล้าโลก” ทรงทูนไว้เหนือพระเศียรกลับมาประดิษฐานบนบัลลังก์อโยธยา หลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นพระราชกิจ หรือกิจการบ้านเมืองสำคัญใดๆ หรือแม้แต่เครื่องราชบรรณาการ จะต้องกราบทูลหรือถวายต่อฉลองพระบาทต่างองค์พระรามอยู่เสมอ (Valmiki 1992, vol.1: p.422 – 423, 429)
ทั้งนี้ รามายณะฉบับกัมพะ ภาษาทมิฬของอินเดียใต้ ถือการกระทำดังกล่าวว่าเป็นราชาภิเษกฉลองพระบาทของพระราม (Kamba 1996, p.180, 190) ขณะที่ บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวว่าเป็นฉลองพระบาทอันถักทอด้วยหญ้า(พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 2549, เล่ม 1: น. 484 – 489)
ดังนั้น การสร้างฉลองพระบาทเชิงงอนด้วยทองคำประดับอัญมณีจึงน่าจะมีที่มาสืบเนื่องจากฉลองพระบาทประดับอัญมณีของพระรามในมหากาพย์รามายณะ ทั้งนี้ คัมภีร์ปัญจราชาภิเษก กล่าวเปรียบฉลองพระบาท หรือ “เกือกแก้ว” ในเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็น “แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎรทั้งหลายทั่วทั้งแว่นแคว้นขอบขัณฑเสมาและจะฦๅชาปรากฏด้วยพระยศพระเดชของสมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้านั้นแล” (รวมเรื่องราชาภิเษกฯ 2541, น. 3 – 4)
ฉลองพระบาทเชิงงอนที่เป็นหนึ่งในเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างขึ้นในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2328 ดังรายการเครื่องราชูปโภคทั้ง 51 สิ่งที่ทรงสร้างขึ้นใหม่ (ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 2. 2504, น. 156) รูปทรงอย่างเดียวกับรองเท้าปลายแหลมไม่รัดส้นของชาวอิหร่าน ทำจากทองคำจำหลักลายลงยาประดับเพชร พื้นฉลองพระบาทด้านในกรุผ้าสักหลาดสีแดง คงได้รับแบบอย่างมาจากรองเท้าของพวกมัวร์ (Moors) ที่นิยมมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ดังกล่าวไว้ในจดหมายเหตุของ ซิโมนเดอ ลา ลูแบร์ (Simon de la Loubère) ว่า “พวกแขกมัวร์เป็นผู้นำรองเท้าแตะอันเป็นรองเท้าปลายแหลมมาใช้ รองเท้าชนิดนั้นไม่มีปีกหุ้มเท้า ไม่มีส้น” (เดอะ ลา ลูแบร์. 2548, น. 92)
พร้อมลงภาพประกอบขุนนางสยามสวมรองเท้าลักษณะเดียวกับฉลองพระบาทเชิงงอนในหนังสือของท่านให้ดูด้วย (เดอะ ลา ลูแบร์ .2548, น. 89 – 90)
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาราชครูพราหมณ์ จะสอดฉลองพระบาทถวายเป็นลำดับท้ายสุดของการถวายเครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นแบบแผนชัดเจนสืบมาแต่เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ทิพากรวงศ์ฯ. 2539, น. 48)
บรรณานุกรม
ชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง. 2541. พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย. พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
เดอะ ลา ลูแบร์. 2548. จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: ศรีปัญญา.
ทิพากรวงศ์ฯ, ทิพากรวงศ์. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน. ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 1. นฤมล ธีรวัฒน์ ผู้ชำระต้นฉบับ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์วิชาการ).
พุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, 2549. พระบาทสมเด็จพระ. บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช. 4 เล่ม. กรุงเทพมหานคร: ศิลปาบรรณาคาร.
มหานามเถระ, พระ, 2534. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม 1 (หมวดศาสนจักร) คัมภีร์มหาวงศ์. แปลโดย พระยาธรรมปโรหิตและพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์). กรุงเทพฯ: กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
รวมเรื่องราชาภิเษก ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม พระราชานุกิจ และอธิบายว่าด้วยยศเจ้า. 2541. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเสริม กรวิทยาศิลป เป็นกรณีพิเศษ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พุทธศักราช 2541).
ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม 2 ภาค 7 – 13. 2504. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา.
Kamba. 1996. Kamba Rāmāyanam, translation by H.V. Hande. Mumbai: Bharatiya Vidya Bhavan.
Valmiki. 1992. The Ramayana of Valmiki, translation by Hari Prasad Shastri, 3 vols. London: Santi Sadan.
(ขอบพระคุณเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ที่อนุญาตให้นำลงเว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/posts/1180161092075654:0)