ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | พ.ท.ผศ.ดร. ศรศักร ชูสวัสดิ์ (กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) |
เผยแพร่ |
หลังจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-87) ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ข้าราชการสถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศ1 อีกทั้งยังดำเนินการเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นและนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นเป็นระยะนับตั้งแต่เหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จนกระทั่งประกาศสงครามกับสหรัฐและอังกฤษ ส่วนรัฐบาลก็ขู่ที่จะจัดการกับข้าราชการที่ไม่เดินทางกลับประเทศ เช่น ไล่ออกจากราชการ ถอนสัญชาติ แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยเท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีการศึกษาให้ชัดเจนลงไปว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการกับข้าราชการสถานทูตเหล่านั้นอย่างไรหรือไม่
บันทึกความทรงจำส่วนใหญ่ของอดีตเสรีไทยที่กล่าวถึงเรื่องราวข้างต้นมักกล่าวไปตามความเข้าใจของตนในทำนองเดียวกันว่า เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. มีคำสั่งให้ข้าราชการในต่างประเทศเดินทางกลับเมื่อมีการแลกเปลี่ยนบุคคลในคณะทูต2 และพลเมืองของแต่ละฝ่าย รัฐบาลขู่จะถอนสัญชาติคนไทยที่ไม่กลับ บางคนสรุปว่า ถูกถอนสัญชาติไปแล้ว หรือเกือบถูกยึดทรัพย์สิน เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตเสรีไทยสายอังกฤษบันทึกว่า ตนเองและคนไทยในอังกฤษที่ไม่กลับประเทศได้สมัครเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ “เพื่อนฝูงข้าพเจ้า และข้าพเจ้าเป็นคนไทย ถือสัญชาติไทย แต่สมัครเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ…ผู้ที่ไม่ยอมกลับประเทศไทยเหล่านั้นเรียกตนเองว่าเสรีไทย และยังถือสัญชาติไทยอยู่ต่อไป” ป๋วยอธิบายว่า สาเหตุที่ต้องใช้คำว่า “ถือสัญชาติไทย” เป็นเพราะรัฐบาลไทยขู่ว่า คนไทย ถ้าไม่กลับประเทศก็จะถูกถอนสัญชาติ3 การใช้คำว่า “ยึดถือสัญชาติไทย” แสดงว่า ป๋วยเข้าใจไปว่า คนไทยที่ไม่กลับประเทศถูกถอนสัญชาติไปแล้ว ส่วน ม.ร.ว. เสนีย์เล่าในทำนองที่ว่า ตนเองถูกถอนสัญชาติและเกือบถูกยึดทรัพย์ ดังนี้
“สภาผู้แทนฯ กลับออกกฎหมายย้อนหลัง ลงโทษผู้ที่ทำการเป็นปฏิปักษ์ ถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต และให้ริบทรัพย์และตัดสัญชาติไทยเสียด้วย…ตามกฎหมายที่ว่านี้ ปู่ [ม.ร.ว. เสนีย์] ตกเป็นไทยขาดตอน มาต่อสัญชาติติดเมื่อเสร็จสงคราม แต่ก็ยังเสียภาษีตลอดเวลาที่อยู่ในอเมริกา สำหรับบ้านร่วมฤดี เคราะห์ดี พี่หญิงใหญ่เอาโฉนดไปโอนใส่ชื่อท่านเสียก่อน บ้านจึงไม่ถูกริบ”4
กนต์ธีร์ ศุภมงคล อดีตเสรีไทยในประเทศ เขียนหนังสือเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยในช่วงเวลานี้และสรุปว่า ข้าราชการสถานทูตประจำอังกฤษที่ไม่กลับประเทศไทย “ต้องพ้นจากหน้าที่…ต้องเสียสัญชาติไทย และต้องห้ามมิให้เข้าประเทศไทยต่อไป”5 ในบรรดาบันทึกความทรงจำและงานเขียนของอดีตเสรีไทย มีเพียงบันทึกของ ม.จ. ภีศเดช รัชนี อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ ที่ให้ข้อมูลต่างออกไป ทรงเขียนในทำนองที่ว่า รัฐบาลไม่ได้ทำตามคำขู่ เพราะหลังสงคราม “เรากลับประเทศไทยได้ และสัญชาติก็ยังอยู่ตามเดิม”6 บทความนี้ต้องการค้นหาคำตอบว่า แท้ที่จริงแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. จัดการกับบรรดาข้าราชการสถานทูตอย่างไร
เมื่อมีคำสั่งให้ข้าราชการสถานทูตเดินทางกลับประเทศใน พ.ศ. 2485 นั้น มีข้าราชการสถานทูตประจำสหรัฐและอังกฤษทั้งสิ้น 15 คน แบ่งเป็นข้าราชการสถานทูตที่สหรัฐ ประจำสหรัฐ 5 คน และอังกฤษ 10 คน เมื่อมีการแลกเปลี่ยนบุคคลในคณะทูตและพลเมืองของแต่ละฝ่ายระหว่างไทยกับสหรัฐและอังกฤษกลางปี 2485 มีเฉพาะข้าราชการสถานทูตประจำอังกฤษเพียง 3 คนเท่านั้นที่เดินทางกลับ ส่วนข้าราชการสถานทูตที่ไม่เดินทางกลับมี 12 คน แยกตามประเทศที่ประจำ ดังนี้ สหรัฐ 5 คน ได้แก่ ม.ร.ว. เสนีย์ อัครราชทูต หลวงดิษฐการภักดี (จรูญ บุณยรัตพันธุ์) เลขานุการโท มณี สาณะเสน เลขานุการโท อนันต์ จินตกานนท์ เลขานุการตรี และ พ.ท.ม.ล. ขาบ กุญชร ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร อังกฤษ 7 คน ได้แก่ หลวงภัทรวาที (ศุภวาร วาระสิริ) เลขานุการเอก หลวงจำนงดิฐการ (เอี้ยง มุลางกูร) เลขานุการโท ยิ้ม พึ่งสุนทร เลขานุการโท สมบูรณ์ ปาลเสถียร เลขานุการตรี ประเสริฐ ปทุมมานนท์ นายเวร กลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา นายเวร และหลวงอาจพิศาลกิจ (อาจ พิศลยบุตร) ผู้ช่วยทูตฝ่ายการคลัง (ข้าราชการกระทรวงการคลัง)
บทความนี้ให้ความสนใจข้าราชการสถานทูตประจำสหรัฐเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ม.ร.ว. เสนีย์ ในฐานะผู้มีตำแหน่งสูงสุดในบรรดาข้าราชการสถานทูต ม.ร.ว. เสนีย์ ซึ่งนอกจากไม่เดินทางกลับประเทศแล้ว ยังเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลอย่างเปิดเผย และ พ.ท.ม.ล. ขาบ ในฐานะข้าราชการทหารและเป็นบุคคลซึ่ง ม.ร.ว. เสนีย์ให้ข้อมูลว่า เป็นคนสนิทของจอมพล ป. ซึ่งถูกส่งไปทำงานที่สถานทูตเพื่อจับตาดูการทำงานของตน7 และเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลอย่างเปิดเผยเช่นกัน
ข้าราชการสถานทูตไทยในในสหรัฐ
ม.ร.ว. เสนีย์ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ แทนพระยาอภิบาลราชไมตรี (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2477-82) ซึ่งลาออกในเดือนมีนาคม 2482 (นับตามปฏิทินเก่า) เนื่องจากปัญหาสุขภาพ๘ ม.ร.ว. เสนีย์เคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กระทรวงยุติธรรม ก่อนถูกย้ายไปเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)9 ม.ร.ว. เสนีย์เข้ายื่นพระราชสาส์นตราตั้งต่อคอร์เดลล์ ฮัลล์ รัฐมนตรีว่าการ กต.สหรัฐ ในวันที่ 18 มิถุนายน 248310 เมื่อ ม.ร.ว. เสนีย์ไปถึงสถานทูตที่กรุงวอชิงตันมีข้าราชการประจำ 2 คน ได้แก่ หลวงดิษฐการภักดี เลขานุการโท และอนันต์ จินตกานนท์ เลขานุการตรี หลังจากนั้นจึงมีข้าราชการเพิ่มอีก 2 คน ได้แก่ พ.ท.ม.ล. ขาบ กุญชร และมณี สาณะเสน
สำหรับ พ.ท.ม.ล. ขาบ กุญชร รัฐบาลแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสหรัฐ และเดินทางไปถึงสหรัฐในเดือนกรกฎาคม ปี 2484 นับเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกประจำสหรัฐคนแรก11 ก่อนหน้านี้ พ.ท.ม.ล. ขาบรับราชการในตำแหน่งเสนาธิการกรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน12 และใน พ.ศ. 2483 เคยได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ทูตเยี่ยมเยียน (Visiting Officer) พร้อมกับ น.ท. สกล รสานนท์ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีกับกองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ พม่า และอินเดีย13 เมื่อรัฐบาลไทยแต่งตั้ง พ.ท.ม.ล. ขาบนั้นได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือ และอากาศ แต่ทาง กต.สหรัฐรับให้มีหน้าที่เพียงผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกและทหารอากาศเท่านั้น14
สาเหตุที่รัฐบาลส่ง พ.ท.ม.ล. ขาบไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารที่สหรัฐ พ.ท.ม.ล. ขาบเล่าให้ ม.ร.ว. เสนีย์ทราบภายหลังเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทย และได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นว่า จอมพล ป. ส่งตนไปสหรัฐ เพื่อจับตาดูการทำงานของ ม.ร.ว. เสนีย์ว่าทำไมจึงทำงานล่าช้า15 อย่างไรก็ดี ดูเหมือน ม.ร.ว. เสนีย์จะรู้สึกอยู่ก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลส่ง พ.ท.ม.ล. ขาบไปตรวจสอบตน ม.ร.ว. เสนีย์เขียนบันทึกไว้ในภายหลังว่า เมื่อ พ.ท.ม.ล. ขาบทำงานที่สถานทูตนั้น “ม.ล. ขาบแสดงออกว่า รัฐบาลไทยส่งเขามาควบคุมทูต”16 ส่วนงานที่รัฐบาลต้องการตรวจสอบนั้น อนันต์ จินตกานนท์ เลขานุการตรีประจำสถานทูตฯ ในเวลานั้นสันนิษฐานว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดต่อซื้อโภคภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และอาวุธต่างๆ ซึ่งต้องทำผ่านสถานทูต แต่สถานการณ์สงครามในยุโรปในเวลานั้นทำให้สหรัฐต้องควบคุมสินค้าออก และปฏิเสธขายสินค้าที่ไทยสั่งซื้อบางรายการหลายครั้งด้วยกัน17
ส่วนมณีได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการโทประจำสถานทูตอีกคนหนึ่งตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 248418 หรือหลังจากเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทยแล้ว ในขณะนั้น มณีกำลังเดินทางผ่านสหรัฐเพื่อกลับไปทำงานที่ กต.ไทย แต่เกิดสงครามเสียก่อน กต.ไทยจึงมีคำสั่งให้ทำงานที่สถานทูตไทยที่สหรัฐแทน เมื่อมีการแลกเปลี่ยนบุคคลในคณะทูตในกลางปี 2485 มณีและข้าราชการสถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตันรวมทั้งหมด 5 คน ไม่มีใครกลับประเทศไทยตามคำสั่งของรัฐบาล
ข้าราชการสถานทูตในสหรัฐและอังกฤษต่อต้านนโยบายร่วมมือกับญี่ปุ่นของรัฐบาลไทย
หลังเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทยในวันที่ 8 ธันวาคม และรัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยไปอาณานิคมของอังกฤษที่มลายูและพม่า ข้าราชการสถานทูตในสหรัฐออกมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยเกือบจะทันที กล่าวคือในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ม.ร.ว. เสนีย์ได้เปิดแถลงข่าวว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลจอมพล ป. ที่ตนเห็นว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของคนไทย และส่งโทรเลขถึงรัฐบาลแจ้งการแถลงข่าวที่ว่าให้ทราบด้วย19 วันรุ่งขึ้นหลังจากทราบข่าวจาก กต.ไทยว่าไทยลงนามในข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในวันที่ 11 ธันวาคม ม.ร.ว. เสนีย์ได้พูดออกอากาศทางสถานีวิทยุคลื่นสั้นปลุกระดมให้ประชาชนไทยลุกขึ้นสู้เพื่อกู้เอกราชและอิสรภาพของชาติ20 ม.ร.ว. เสนีย์จึงเป็นข้าราชการสถานทูตคนแรกสุดที่เปิดเผยตัวคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่ยอมอ่อนข้อให้ญี่ปุ่น และจากการสนับสนุนของข้าราชการสถานทูตคนอื่นๆ และนักเรียนไทยส่วนใหญ่ในสหรัฐ การเคลื่อนไหวของ ม.ร.ว. เสนีย์ข้างต้นได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรเคลื่อนไหวกู้อิสรภาพของชาติทั้งในสหรัฐและในอังกฤษ ซึ่งต่อมารู้จักในชื่อ “เสรีไทย”
รัฐบาลมีคำสั่งให้ข้าราชการเดินทางกลับประเทศ
หลังจากรัฐบาลยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้ ความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดมากขึ้นสู่การร่วมมือทางทหาร เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนกระทั่งไทยประกาศสงครามกับสหรัฐและอังกฤษในวันที่ 25 มกราคม 2485 อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ราวต้นเดือนมกราคม 2485 รัฐบาลไทยได้เริ่มเจรจากับรัฐบาลสหรัฐและอังกฤษผ่านรัฐบาลสวิสเพื่อแลกเปลี่ยนบุคคลในคณะทูตและพลเมืองของแต่ละฝ่าย21 และรัฐบาลได้สั่งการให้ข้าราชการในต่างประเทศเดินทางกลับ วิธีการที่รัฐบาลใช้ มีทั้งการสอบถามก่อนในเดือนเมษายน 248522 หลังจากนั้นเป็นขู่และบีบบังคับและให้ตอบเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2485 มีคำสั่งให้ข้าราชการและคนไทยในอังกฤษเดินทางกลับประเทศ ไม่เช่นนั้นจะถอนสัญชาติ และไม่อนุญาตให้เข้าประเทศไทยตลอดไป ในกรณีที่เป็นข้าราชการจะถูกไล่ออกจากราชการ23 เสนาะ ตันบุญยืน อดีตนักเรียนไทยและเสรีไทยสายอังกฤษเล่าว่า “ในหนังสือเวียนนั้นยังได้ให้ข้อน่าคิดติดไว้ด้วยว่า ถ้าผู้ใดไม่ยอมกลับ ผู้นั้นก็จะถูกถอนสัญชาติไทยกลายเป็นจรจัด”24 ม.จ. ภีศเดชทรงเล่าว่า หลังจากไทยประกาศสงคราม เสนาะ นิลกำแหง ตัวแทนนักเรียนไทยในอังกฤษไปพบพระมนูเวทย์วิมลนาท (เปี๋ยน สุมาวงศ์) แต่ทูตไม่คิดที่จะต่อต้านนโยบายของรัฐบาล และ “ยอมรับคำสั่งจากกรุงเทพฯ โดยดี นอกจากนี้ท่านยังขู่พวกเราผ่านเสนาะ นิลกำแหง…ด้วยว่า พวกเราที่คิดจะต่อต้านญี่ปุ่นนั้น มีความผิดกฎหมายอาญาฐานกบฏนอกประเทศ โทษถึงขั้นประหาร” ต่อมานักเรียนไทยยังได้รับหนังสืออีกด้วยว่า “ถ้าไม่กลับประเทศไทยตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีบัญชาไซร้ ก็จะถูกถอนสัญชาติและไม่ได้กลับประเทศไทยเด็ดขาด…”25 ส่วนป๋วยเล่าว่า “รัฐบาลไทยเรียกตัวให้กลับ แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมกลับ แม้ว่ารัฐบาลไทยจะขู่เข็ญว่า ผู้ที่ไม่กลับประเทศไทยตามคำสั่งนั้นจะถูกถอนสัญชาติ”26 ภายหลังรัฐบาลยังมีคำสั่งถึงพระมนูเวทย์ฯ ทูตประจำอังกฤษ ห้ามให้ความช่วยเหลือใดๆ แก่ผู้ปฏิเสธที่จะเดินทางกลับไทยด้วย27 กระนั้นก็ตาม มีเพียงข้าราชการสถานทูตและคนไทยบางส่วนที่เดินทางกลับประเทศ
การเดินทางกลับประเทศของคนไทยในสหรัฐและอังกฤษ
คนไทยในสหรัฐเดินทางกลับไทยโดยอาศัยเรือกริพชอล์ม (Gripsholm) เป็นเรือโดยสารที่ใช้ขนส่งบุคคลในคณะทูตญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นไปแลกเปลี่ยนกับอีกฝ่ายของสหรัฐที่มาจากเอเชีย เรือออกจากเมืองนิวยอร์กในวันที่ 18 มิถุนายน จุดหมายอยู่ที่เมืองโลเรนโซ มาร์เควส (Lourenco Marques) โมซัมบิก28 ซึ่งเป็นจุดแลกเปลี่ยนคน เรือไปถึงจุดหมายในวันที่ 21 กรกฎาคม และมีการแลกเปลี่ยนคนในวันที่ 24 กรกฎาคม29 คนไทยและญี่ปุ่นเดินทางต่อด้วยเรืออาซามามารู (Asama Maru) คนไทยไปขึ้นบกที่สิงคโปร์ แล้วขึ้นรถไฟกลับประเทศไทย30 ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 15 สิงหาคม31 คนไทยที่เดินทางกลับจากสหรัฐมีทั้งหมด 18 คน ทั้งหมดเป็นนักเรียน ไม่มีข้าราชการสถานทูตเลย32 หลังจากคนไทยจากสหรัฐเดินทางถึงกรุงเทพฯ แล้ว จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ย้ำคำขู่เดิมว่า “ความผิดของพวกนี้ร้ายแรงมากอาจต้องถอนสัญชาติก็ได้ ถ้าถึงขีดทำให้คนไทยในสหรัฐเข้าใจผิดหมด”33
ส่วนคนไทยจากอังกฤษเดินทางกลับ 31 คน มีข้าราชการสถานทูตเพียง 3 คน เช่น พระมนูเวทย์ฯ อัครราชทูต และเรือตรีประสงค์ ขีตตะสังคะ (ลูกจอมพล ป.) ผู้ช่วยทูตพิเศษ (Honurary Attache)34 โดยอาศัย เรือ “เอลนิล” (El Nil) เป็นเรือขนส่งบุคคลในคณะทูตและชาวญี่ปุ่นในอังกฤษ เรือออกจากเมืองลิเวอร์พูลในวันที่ 29 กรกฎาคม35 มีจุดหมายอยู่ที่เมืองโลเรนโซฯ เช่นกัน การแลกเปลี่ยนมีขึ้นในวันที่ 1 กันยายน วันรุ่งขึ้นผู้โดยสารจึงเดินทางต่อด้วยเรือทาตูตามารู (Tatuta Maru) คนไทยขึ้นบกที่สิงคโปร์ ก่อนจะขึ้นรถไฟกลับประเทศไทย36 คาดว่าถึงกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือนกันยายน
รัฐบาลไล่ข้าราชการสถานทูตที่ไม่เดินทางกลับประเทศออกจากราชการ
ต้นเดือนกันยายน หลังจากคนไทยจากสหรัฐเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว และมีการแลกเปลี่ยนคนไทยที่เดินทางจากอังกฤษกับคนอังกฤษจากไทยแล้ว รัฐบาลไทยเริ่มจัดการกับข้าราชการสถานทูตในสหรัฐและอังกฤษซึ่งไม่เดินทางกลับประเทศ นั่นคือการไล่ออกจากราชการ ทั้งนี้ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2482 (ยกเว้นกรณี พ.ท.ม.ล. ขาบ) ในครั้งแรกนั้น ข้าราชการบางคนถูกสั่งปลดจากราชการ ไม่ถึงขั้นไล่ออก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นไล่ออก ส่วนข้าราชการที่เหลือถูกสั่งไล่ออกทันที ไม่ได้สั่งปลดก่อน คำสั่งฉบับแรกประกาศในวันที่ 5 กันยายน 2485 เป็นคำสั่งปลดอนันต์ จินตกานนท์ (สหรัฐ) และประเสริฐ ปทุมานนท์ (อังกฤษ) ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน คำสั่งปลดดังกล่าวจึงถูกยกเลิกและไล่ออกแทน สาเหตุที่ไล่ออกเป็นเพราะ “ขัดคำสั่งผู้บังคับบันชา เปนเหตุไห้เสียหายแก่ราชการและประพรึติชั่วหย่างร้ายแรง” กรณีอนันต์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2485 ส่วนกรณีประเสริฐ ปทุมานนท์ มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 248537
ในวันที่ 19 กันยายนนั้นเอง ได้มีคำสั่งไล่ออกข้าราชการ กต.ประจำสถานทูตไทยในสหรัฐ ได้แก่ ม.ร.ว. เสนีย์ หลวงดิฐการภักดี และมณี สาณะเสน ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2485 และข้าราชการ กต.ประจำสถานทูต ณ กรุงลอนดอน ได้แก่ หลวงภัทรวาที หลวงจำนงดิฐการ ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2485 โดยให้เหตุผลในทำนองเดียวกันว่า “ได้ทำผิดวินัยข้าราชการพลเรือนหย่างร้ายแรง โดยขัดคำสั่งผู้บังคับบันชาที่สั่งไนหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกดหมาย”38 ส่วนหลวงอาจพิศาลกิจ ผู้ช่วยทูตฝ่ายการคลังไม่ถูกไล่ออกพร้อมคนอื่น ทั้งนี้เพราะหลวงอาจฯ เป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังจึงรอปรึกษากับ กต.ก่อน39
วันที่ที่คำสั่งไล่ออกมีผลบังคับใช้นั้น รัฐบาลใช้วันที่ที่เรือออกจากท่าเรือในสหรัฐและอังกฤษเป็นเกณฑ์ หลักฐานของ กต.ระบุว่า การไล่ออกให้มีผลบังคับ “ตั้งแต่วันที่เรือแลกเปลี่ยนชเลยออกเที่ยวแรกเปนต้นไป”40 สำหรับเรือกริพชอล์มซึ่งคนไทยในสหรัฐใช้โดยสารออกจากท่าเรือเมืองนิวยอร์กวันที่ 18 มิถุนายน 2485 ส่วนเรือเอลนิลออกจากท่าเรือเมืองลิเวอร์พูลวันที่ 29 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
ต่อมาในเดือนตุลาคมมีคำสั่งไล่ออกข้าราชการสถานทูตประจำอังกฤษเพิ่มอีก 2 คน ได้แก่ สมบูรณ์ ปาลเสถียร และกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 248541 สาเหตุที่ล่าช้านั้น กรณีของสมบูรณ์ เป็นไปตามคำของ กต. ที่ขอให้ ก.พ. ไล่ออกในวันดังกล่าว ส่วนกรณีของกลิ่นพบว่า เมื่อแรกพิจารณานั้น กต.ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุใดกลิ่นจึงไม่เดินทางกลับ “คือยังไม่แน่ชัดว่าไม่กลับเพราะความสมัคไจหยู่เหมือนผู้ที่กล่าวนามมาข้างต้น [ผู้ที่ กต.เสนอให้ไล่ออก]”42 ปรากฏว่ายิ้มอยู่ในกรณีเดียวกับกลิ่นด้วย แต่เมื่อมีคำสั่งไล่กลิ่น กลับไม่มีชื่อยิ้มอยู่ด้วย แต่มีชื่อสมบูรณ์แทน อย่างไรก็ดีพบว่า หลังจากสงครามยุติมีหลักฐานระบุว่า ยิ้มถูกรวมอยู่ในคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกด้วย43 แสดงว่ายิ้มถูกไล่ออกเช่นกัน ส่วนคำสั่งไล่สมบูรณ์และกลิ่นกำหนดวันที่ที่มีผลบังคับใช้ภายหลังคนอื่น 2 วัน เข้าใจว่า ใช้วันที่ตามข้อเสนอเดิมของ กต. เมื่อเสนอให้ไล่สมบูรณ์และคนอื่นๆ ออกจากราชการ
สำหรับ พ.ท.ม.ล. ขาบ ผู้เคยบอก ม.ร.ว. เสนีย์ว่า จอมพล ป. ส่งตนไปจับตาการทำงานของ ม.ร.ว. เสนีย์นั้น ไม่ได้เดินทางกลับ และถูกไล่ออกจากราชการเช่นกัน กระทรวงกลาโหมเสนอเรื่องให้ไล่ พ.ท.ม.ล. ขาบออกจากราชการในเดือนกันยายน 248544 จอมพล ป. ให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจากเป็นนายทหารสัญญาบัตร จึงต้องขอพระบรมราชานุญาตจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์45 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ให้ความชอบตามเสนอ “ไนพระปรมาภิไธยสมเด็ดพระเจ้าหยู่หัวซาบ มีบันชาว่าเปนการสมควนแล้ว” อีกสองสัปดาห์ต่อมาจึงมีประกาศกระทรวงกลาโหมไล่ พ.ท.ม.ล. ขาบออกจากตำแหน่งฯ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2485 “ฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง”46
โดยสรุปก็คือ ข้าราชการสถานทูตไทยประจำสหรัฐและอังกฤษจำนวน 11 คน ที่ไม่เดินทางกลับประเทศถูกไล่ออกจากราชการทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งการให้เดินทางกลับ และประพฤติเสียหายอย่างร้ายแรง
รัฐบาลไทยถอนสัญชาติข้าราชการสถานทูตที่ถูกไล่ออกหรือไม่
เมื่อรัฐบาลสั่งให้ข้าราชการเดินทางกลับประเทศนั้น รัฐบาลขู่ว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะไล่ออกจากราชการและถอนสัญชาติด้วย ในกรณีหลัง รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการตามคำขู่ การสั่งการมีขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2485 เมื่อจอมพล ป. “มีบันชาไห้ดำเนินการไห้ขาดจากสัญชาติไทยทั้งไม่ไห้กลับเข้ามายังประเทสไทยอีกต่อไป”47 หลังจากนั้น รัฐบาลได้ออกเป็นกฎหมายด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู พ.ศ. 2485 และประกาศใช้เป็น พ.ร.บ. ฉบับที่ 3 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2485 สาระสำคัญคือบทบัญญัติที่ว่า “ชนสัตรูซึ่งมีสัญชาติไทย ย่อมสูญเสียสัญชาติไทยทันที เมื่อมีประกาสระบุว่าเปนชนสัตรู” ส่วนทรัพย์สิน ถ้ารัฐบาลเห็นสมควรก็ให้ยึดได้48 นั่นหมายความว่า ผู้ถูกประกาศระบุชื่อว่า เป็น “ชนศัตรู” จะเสียสัญชาติไทยทันที
อย่างไรก็ดี จากหลักฐานเท่าที่ค้นคว้าได้ ไม่พบว่า ในทางปฏิบัติมีการถอนสัญชาติข้าราชการสถานทูต หรือแม้แต่ข้าราชการกระทรวงอื่นที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศ แม้ว่าก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้ (พ.ร.บ. ว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู ฉบับที่ 3) วิจิตร วิจิตรวาทการ รัฐมนตรีว่าการ กต.49 ได้ดำเนินการในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการถอนสัญชาติโดยพฤตินัยไปแล้ว “คือตัดการติดต่อ คือใครจะติดต่อกับข้าราชการที่กล่าวนามมาข้างต้นนั้น กะซวงการต่างประเทสไม่อนุญาต”50 ในราชกิจจานุเบกษามีประกาศเพียงฉบับเดียวที่ระบุชื่อคนไทยที่มีชื่อเป็นชนศัตรูตามกฎหมายใหม่ ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นเสียสัญชาติโดยทันที ประกาศดังกล่าวระบุชื่อ 5 คน เช่น สงวน ตุลารักษ์51 แต่คนทั้งห้านี้ไม่ใช่ข้าราชการสถานทูตที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศ แต่เป็นคณะเสรีไทยในประเทศที่เดินทางออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศ นอกจากนั้นเนื่องจากไม่พบประกาศระบุชื่อข้าราชการสถานทูตเป็นชนศัตรูในราชกิจจานุเบกษา หรือในเอกสารชั้นต้นของกระทรวงมหาดไทยที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จึงสรุปได้ว่า ข้าราชการสถานทูตและคนไทยอื่นที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศ ไม่มีใครถูกถอนสัญชาติเช่นที่เคยเข้าใจกันแต่อย่างใด
โดยสรุปก็คือ ข้าราชการสถานทูตที่ไม่เดินทางกลับประเทศ ไม่ได้เสียสัญชาติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2485 เพราะไม่มีการประกาศระบุชื่อบุคคลเหล่านั้นในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
การเพิกถอนคำสั่งไล่ออก
ภายหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยที่ตั้งขึ้นใหม่เป็นรัฐบาลเสรีไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นเสรีไทย ได้แก่ ทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม-17 กันยายน 2488) และ ม.ร.ว. เสนีย์ (17 กันยายน 2488-31 มกราคม 2489) รัฐบาลจึงดำเนินการยกเลิกคำสั่งไล่ข้าราชการสถานทูตด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง กรณีของ ม.ร.ว. เสนีย์ เนื่องจาก ม.ร.ว. เสนีย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน จึงมีประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาให้พ้นตำแหน่งอัครราชทูตตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป โดยอ้างคำสั่งเดิมที่แต่งตั้งเป็นอัครราชทูต ไม่ได้อ้างถึงคำสั่งไล่ออก52 ส่วนข้าราชการสถานทูตคนอื่น กต.มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออก “เปนอันว่าข้าราชการประจำสถานทูตไทยทั้งสองแห่งคงเปนข้าราชการอยู่ในตำแหน่งเดิมตลอดมา” นอกจากนั้น กต.ได้ขอให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินเดือนและเงินเพิ่มพิเศษระหว่างปี 2485-88 ให้ข้าราชการสถานทูตเหล่านั้นทั้งหมด53
กรณี พ.ท.ม.ล. ขาบ กระทรวงกลาโหมเสนอให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของ พ.ท.ม.ล. ขาบที่ผ่านมานั้น “หาได้มีเจตนาที่จะทำการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยจริงใจไม่ แต่ได้กระทำไปเพื่อประเทศชาติ” จึงเสนอให้ถอนพระบรมราชโองการไล่ พ.ท.ม.ล. ขาบออกจากตำแหน่ง และเห็นว่าเป็นกรณีพิเศษ จึงไม่ควรประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา54 ทุกฝ่ายเห็นด้วยตามข้อเสนอ รวมทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ปรีดี พนมยงค์)55 แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า ไม่เคยมีประกาศพระบรมราชโองการไล่ พ.ท.ม.ล. ขาบออกจากราชการ มีแต่ประกาศกระทรวงกลาโหม และก็ไม่ได้มีการพิมพ์ประกาศนี้ในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น เมื่อต้องถอนพระบรมราชโองการ จึงไม่ต้องมีประกาศพระบรมราชโองการ เพียงแต่ประกาศเป็นการภายในและไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วยเช่นกัน56
พ.ท.ม.ล. ขาบอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวต่อมาอีกจนถึงปี 2491 จึงพ้นตำแหน่ง และกลับมารับราชการที่กรมเสนาธิการทหารบก57 ต่อมาจอมพล ป. ซึ่งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (พ.ศ. 2491-2500) ได้เรียกให้ พ.ท.ม.ล. ขาบ (ยศพันเอกแล้ว) ไปทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 249258 ลูกของ พ.ท.ม.ล. ขาบเขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า “จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กรุณาเรียกตัวพ่อเข้ารับราชการและได้รับตำแหน่งทางการเมืองคือเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ่อและแม่ได้เข้าสู่สังคมของทางราชการอีก และได้เคยติดตามท่านจอมพลและท่านผู้หญิงไปต่างประเทศหลายครั้ง”59 ต่อมา พ.ท.ม.ล. ขาบได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในปี 2496 จนกระทั่งจอมพล ป. หมดอำนาจในปี 2500 ตำแหน่งหน้าที่การงานของ พ.ท.ม.ล. ขาบในรัฐบาลจอมพล ป. นี้ อาจช่วยยืนยันได้ว่า พ.ท.ม.ล. ขาบมีความใกล้ชิดกับจอมพล ป. เป็นอย่างดีและมีมานานแล้วก่อนไปเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารที่สหรัฐ ในปี 2484 ดังนั้นเมื่อกลับมาประเทศไทยจึงได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่มีความใกล้ชิดกับการทำงานของนายกรัฐมนตรี
ส่วนข้าราชการสถานทูตคนอื่นๆ ซึ่งถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการสามารถกลับเข้ารับราชการได้ตามเดิมในปีต่อมา เนื่องจากในสมัยปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี (24 มีนาคม-11 มิถุนายน 2489) ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมคนไทยทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อต้านการทำสงครามของญี่ปุ่น60 และออกกฎหมายให้บรรจุข้าราชการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหาร ที่ลาออก ถูกปลดออกหรือไล่ออกจากราชการจากเหตุเคลื่อนไหวต่อต้านการทำสงครามของญี่ปุ่นกลับเข้ารับราชการ โดยให้มี “ตำแหน่ง ชั้น และอันดับ” ไม่ต่ำกว่าเดิม และให้นับวันราชการติดต่อกันนับตั้งแต่วันลาออก ถูกปลดออกหรือไล่ออกกับวันที่กลับเข้ารับราชการ61
สำหรับกรณีการเสียสัญชาตินั้น กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศยกเลิกประกาศที่ระบุชื่อให้สงวน และคณะเป็นชนศัตรูในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 248862 แต่ไม่พบการยกเลิกประกาศที่ระบุชื่อข้าราชการสถานทูตเป็นชนศัตรู เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยืนยันว่า รัฐบาลจอมพล ป. ไม่ได้ถอนสัญชาติข้าราชการสถานทูตที่ไม่กลับประเทศและเคลื่อนไหวเป็นเสรีไทยตามที่ขู่ไว้แต่อย่างใด
สรุป
หลังเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกไทย และไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2484 จนกระทั่งประกาศสงครามกับสหรัฐและอังกฤษในเดือนมกราคม 2485 ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศสงคราม รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐและอังกฤษผ่านรัฐบาลสวิสเพื่อแลกเปลี่ยนบุคคลในคณะทูตและพลเมืองของแต่ละฝ่ายมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2485 และได้มีคำสั่งให้ข้าราชการเดินทางกลับพร้อมขู่จะไล่ออกจากราชการ และถอนสัญชาติ ถ้าไม่เดินทางกลับ แต่ปรากฏว่าข้าราชการสถานทูตจำนวน 12 คน จาก 15 คน ไม่ได้เดินทางกลับตามคำสั่ง รวมทั้ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตประจำสหรัฐ และ พ.ท.ม.ล. ขาบ กุญชร ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสหรัฐ รัฐบาลจึงดำเนินการไล่ข้าราชการสถานทูตเหล่านั้นทั้งหมดออกจากราชการฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม หลังสงครามยุติลงในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 รัฐบาลเสรีไทย 2 คณะ ซึ่งมีทวี บุณยเกตุ และรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์เป็นนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกเหล่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า ข้าราชการเหล่านั้นไม่ได้เสียสัญชาติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยชนศัตรูและทรัพย์สินของชนศัตรู (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2485 เช่นที่เคยเข้าใจกัน
ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลจอมพล ป. ไม่ดำเนินการถอนสัญชาติข้าราชการสถานทูตตามที่ขู่ไว้เป็นเรื่องที่ต้องค้นหาต่อไป
หมายเหตุแหล่งข้อมูล
ปัจจุบัน สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา สำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำเอกสารที่พิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2427 จนถึงปัจจุบัน เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้สามารถค้นหาเอกสารและสั่งพิมพ์เอกสารดังกล่าวได้สะดวกรวดเร็วได้ที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด (ให้คลิกที่ชื่อเรื่อง หรือเปิดดูรายละเอียดภาพ)
ผู้เขียนระบุชื่อห้องสมุดที่มีเอกสารชั้นต้น หรือหนังสือหายากบางเล่ม เช่น หนังสืออนุสรณ์งานศพ ไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [] ท้ายเชิงอรรถ เพื่อสะดวกสำหรับผู้ต้องการค้นคว้าต่อไป
เชิงอรรถ
๑ ในสหรัฐและแคนาดามีคนไทยทั้งสิ้น ๑๐๗ คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลในคณะทูตและถือหนังสือเดินทางทูต ๒๘ คน ส่วนในอังกฤษและอาณานิคมมี ๑๐๗ คนเท่ากัน เป็นบุคคลในคณะทูต ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและข้าราชการที่ลาไปศึกษา ๒๘ คน โปรดดูรายละเอียดใน หจช. (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ), (๒) กต. ๘.๑.๑/๔, บัญชีจำนวนคนไทย อังกฤษ และอเมริกัน.
๒ หมายถึงตัวแทนทางการทูต (มีทูตเป็นหัวหน้า) เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และคนรับใช้ส่วนตัว.
๓ ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ทหารชั่วคราว, ใน ดิเรก ชัยนาม. ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง. (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๓), น. ๒๑๕.
๔ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ม.ป.ป.), น. ๔๒-๔๓.
๕ กนต์ธีร์ ศุภมงคล. การวิเทโศบายของไทย. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๗), น. ๗๖.
๖ ภ. ณ ประมวญมารค. ชีวิตชั้นๆ. (กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, ๒๕๔๕), น. ๑๔๐.
๗ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. น. ๔๒.
๘ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑/๘๖/๓๓, รัฐมนตรีว่าการ กต. ถึงนายกรัฐมนตรี, ๒๕ มีนาคม ๒๔๘๒. พระราชสาส์นลงวันที่ ๕ เมษายน ๒๔๘๓ และดูรายละเอียดใน แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องตั้งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหปาลีรัฐอเมริกา, ๑๐ เมษายน ๒๔๘๓, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๕๗, ๑๖ เมษายน ๒๔๘๓, น. ๒๔๙.
๙ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. น. ๓๗.
๑๐ Library of Congress, Cordell Hull Manuscripts, Reel 32, Memorandum of Conversation, New Minister Presents Credentials, 18 June 1940. [กปศ.รร.จปร]
๑๑ อนันต์ จินตกานนท์. พฤติกรรมอันควรแก่การสรรเสริญ, ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายอนันต์ จินตกานนท์, ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๐, น. ๗๘. [ห้อง ๒๐๔, หอสมุดแห่งชาติ]
๑๒ เสี้ยวหนึ่งของชีวิต, ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร, ๒๘ มกราคม ๒๕๓๐, (ม.ป.ท., ๒๕๓๐), น. ๑. [มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์]
๑๓ ก่อนที่จะมาเป็น ผชท.ทบ.ไทย/ต่างประเทศ, กรมข่าวทหารบก, http://dint.rta.mi.th/history.html, ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๐.
๑๔ NARA, RG 59, 892.00 P.R./145, Bangkok Monthly Political Report, May 1941. [กปศ.รร.จปร]
๑๕ NARA, RG 59, 892.01/27, The Thai Minister to Lt. Col Sin-ju Pu Hsiao, 30 June 1943.
๑๖ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. น. ๔๒
๑๗ อนันต์ จินตกานนท์. พฤติกรรมอันควรแก่การสรรเสริญ, น. ๗๘.
๑๘ NARA, RG 59, 701.9211, The Thai Minister to Secretary of State, 22 December 1941. [กปศ.รร.จปร] ในหนังสือที่สถานทูตไทยแจ้ง กต.สหรัฐ ระบุว่า มณีเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการโทประจำสถานทูตฝรั่งเศส ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนไว้ว่า มณีเคยทำงานที่สันนิบาตชาติ เมื่อเกิดสงคราม สันนิบาตชาติปิดตัวลง จึงเดินทางกลับประเทศไทย ขณะเดินทางผ่านสหรัฐ กต.ได้มีคำสั่งให้ช่วยราชการที่สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน (ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ทหารชั่วคราว, น. ๒๑๘.
๑๙ NARA, RG 59, 711.92/31, The Thai Minister to Secretary of State, 21 December 1941. [กปศ.รร.จปร]
๒๐ E. Bruce Reynolds. Thailands Secret War : OSS, SOE, and the Free Thai Underground during World War II. (Cambridge : Cambridge University Press, 2005), pp. 14-15.
๒๑ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๔, หลวงวิจิตรวาทการถึงนายกรัฐมนตรี, ๑๒ มกราคม ๒๔๘๕.
๒๒ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, The Thai Legations circular letter, 18 May 1942.
๒๓ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, The Thai Legations circular letter, 13 July 1942 และ พ.อ. สุทิน สัมปัตตะวนิช. เสรีไทยสายอังกฤษ. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ๒๕๓๗), น. ๒๘. [มหาวิทยาลัยรามคำแหง]
๒๔ เสนาะ ตันบุญยืน. เรื่องเก่า ๆ, ใน อนันต์ วงษ์ตา. ศาสตราจารย์เสนาะ ตันบุญยืน กับขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมมิก จำกัด, ๒๕๔๓), น. ๔๓.
๒๕ ภ. ณ ประมวญมารค. ชีวิตชั้นๆ. น. ๑๓๐ และ ๑๔๐.
๒๖ ป๋วย อึ๊งภากรณ์. ทหารชั่วคราว, น. ๒๑๕.
๒๗ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘,Manuvedya to W. Preiswerk, 13 July 1942.
๒๘ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๒๘, Thais In U.S. to board Gripsholm for Mozambique, Bangkok Chronicle, 30 June 1942. เมืองโลเรนโซฯ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปแอฟริกาติดมหาสมุทรอินเดีย ขณะนั้นเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ปัจจุบันเมืองดังกล่าวมีชื่อว่า มาปูโต (Maputo)
๒๙ Greg Leck. The MS Gripsholm and Repatriation from the Far East, 1942-1943, in Captives of Empire : The Japanese Internment of Allied Civilians in China 1941-1945, http://www.salship.se/leck/captives_of_ empire.asp, ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๐. แมกซ์ ฮิลล์ (Max Hill) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี หนึ่งในชาวอเมริกันจากญี่ปุ่นที่ถูกแลกเปลี่ยนตัวครั้งนี้เล่าไว้ ในบันทึกความทรงจำว่า เรืออาซามามารูซึ่งเดินทางออกจากเมืองโยโกฮามา ญี่ปุ่นในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ไปถึงเมืองโลเรนโซฯ ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม การแลกเปลี่ยนตัวกันมีในวันรุ่งขึ้น โปรดดูรายละเอียดใน Max Hill. Exchange Ship. (New York : Farrar and Rinehart, 1942), pp. 235-236. [จุฬาฯ]
๓๐ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๒๘, Premiers Son Intends to Join the Thai Army, Bangkok Times, 18 August 1942.
๓๑ นิกร, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๕, น. ๑ และ ๘.
๓๒ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๙๘/๒๖, รายนามคนไทยที่กลับจากสหรัถอเมริกาและแคนาดา. ทั้งนี้ไม่นับรวมลูกสาวของ ม.จ. จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ุ กับหม่อมวิภา (เก่งระดมยิง) ที่เกิดระหว่างเดินทาง ๑ คน, นิกร, ๑๗ สิงหาคม ๒๔๘๕, น. ๘.
๓๓ สว่าง ลานเหลือ. ๓๗ ปีแห่งการปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. (พระนคร : มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๑๔), น. ๘๐.
๓๔ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, The Thai Minister, Lisbon to The Thai Minister, London, 14 January 1942.
๓๕ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๒๘, บันทึกเรื่องการแลกเปลี่ยนคนกับอังกริด และ สวัสดิ์ ศรีสุข. ๗๐ ปีของ ดร. สวัสดิ์ ศรีสุข. (กรุงเทพฯ : ห้องสมุดสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ, ๒๕๓๒), น. ๕๑.
๓๖ หจช., (๒) กต. ๘.๒.๙/๑๘, From A. Banomyong to Minister of Foreign Affairs, 1 September 1942.
๓๗ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, คำสั่งที่ ๙๑/๒๔๘๕ เรื่อง ไล่นายอนันต์ จินตกานนท์ ออกจากราชการ, ๑๙ กันยายน ๒๔๘๕; คำสั่งที่ ๙๓/๒๔๘๕ เรื่อง ไล่นายประเสิด ปทุมานนท์ ออกจากราชการ, ๑๙ กันยายน ๒๔๘๕.
๓๘ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, คำสั่งที่ ๙๐/๒๔๘๕ เรื่อง ไล่ข้าราชการสถานทูต นะ กรุงวอชิงตันออกจากราชการ, ๑๙ กันยายน ๒๔๘๕. และ (๒) กต.๘.๑.๑/๓๐, คำสั่งที่ ๙๑/๒๔๘๕ เรื่อง ไล่ข้าราชการสถานทูต นะ กรุงลอนดอนออกจากราชการ, ๑๙ กันยายน ๒๔๘๕.
๓๙ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๓๐, รัถมนตรีว่าการกะซวงการคลังถึงรัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทส, ๓ กันยายน ๒๔๘๕.
๔๐ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๓๐, รัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทสถึงรัถมนตรีว่าการกะซวงการคลัง, ๑๔ กันยายน ๒๔๘๕.
๔๑ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๘, คำสั่งที่ ๑๑๐/๒๔๘๕ เรื่อง ไล่ข้าราชการสถานทูต นะ กรุงลอนดอนออกจากราชการ, ๒๑ ตุลาคม ๒๔๘๕.
๔๒ หจช., กต. ๘.๑.๑/๓๐, บันทึกของรัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทสถึงนายกรัถมนตรี, ๕ กันยายน ๒๔๘๕.
๔๓ หจช., กต. ๙๔.๑/๘๒, สำนักงานปลัด กต.ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ๑๐ กันยายน ๒๔๘๘.
๔๔ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๖/๓๗, รัถมนตรีว่าการกะซวงกลาโหมถึงนายกรัถมนตรี, ๒๒ กันยายน ๒๔๘๕.
๔๕ หจช., (๒) สร.๐๒๐๑.๘๖/๓๗, ราชเลขานุการในพระองค์ถึงเลขาธิการคณะรัถมนตรี, ๓ ตุลาคม ๒๔๘๕. ในเวลานั้นคณะผู้สำเร็จราชการฯ เหลือเพียง ๒ คน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และปรีดี พนมยงค์ ส่วน พล.อ. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญกรรมก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕ และไม่มีการตั้งผู้สำเร็จราชการเพิ่ม
๔๖ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๖/๓๗, เลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรี, ๑ กันยายน ๒๔๘๘.
๔๗ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๓๐, รัถมนตรีว่าการกะซวงการคลังถึงรัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทส, ๓ กันยายน ๒๔๘๕.
๔๘ พระราชบัญญัติว่าด้วยชนสัตรูและทรัพย์สินของชนสัตรู (ฉะบับที่ ๓) พ.ส. ๒๔๘๕, ๑๓ ตุลาคม ๒๔๘๕, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๖, ๑๓ ตุลาคม ๒๔๘๕, น. ๑๘๑๘.
๔๙ หรือหลวงวิจิตรวาทการเป็นรัฐมนตรีช่วย กต. เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๘๔ ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๙ (๑๖ ธันวาคม-๗ มีนาคม ๒๔๘๕) และเป็นรัฐมนตรีว่าการ กต. (๑๙ มิถุนายน ๒๔๘๕-๑๘ ตุลาคม ๒๔๘๖) ในคณะรัฐมนตรีคณะที่ ๑๐ (๗ มีนาคม ๒๔๘๕-๑ สิงหาคม ๒๔๘๗) มีจอมพล ป. เป็นนายกฯ ทั้งสองคณะ
๕๐ หจช., (๒) กต. ๘.๑.๑/๓๐, บันทึกของรัถมนตรีว่าการกะซวงการต่างประเทสถึงนายกรัถมนตรี, ๕ กันยายน ๒๔๘๕.
๕๑ สงวนเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ สงวนพร้อมคณะอีก ๔ คน ได้เดินทางออกนอกประเทศ (ไม่รวมภรรยาและลูก ๒ คนของสงวน) ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๖ โดยอ้างว่า จะไปหาซื้อใบยาสูบที่ญี่ปุ่น แต่วัตถุประสงค์แท้จริงคือติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในระหว่างเดินทางทั้งหมดหลบเข้าประเทศจีน ต่อมาสงวนเดินทางต่อไปสหรัฐ และได้พบกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ส่วนผู้ที่ถูกประกาศระบุชื่อเป็นชนศัตรูอีก ๔ คน ได้แก่ แดง คุณะดิลก กระจ่าง ตุลารักษ์ สงวน ทองประเสริฐ และวิบุลวงศ์ วิมลประภา ทั้งสี่คนนี้เดินทางออกไปพร้อมสงวน โปรดดูรายละเอียดใน เรื่องระบุชื่อชนสัตรูตามพระราชบัญญัติว่าด้วยชนสัตรูและทรัพย์สินของชนสัตรู พุทธสักราช ๒๔๘๕, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๑๐, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗, น. ๓๓๗-๓๓๘. และ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย. (กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๔๖), น. ๖๖๖-๖๘๐.
๕๒ แจ้งความ กต. เรื่องให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พ้นจากตำแหน่งอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน, ๕ ตุลาคม ๒๔๘๘, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๖๒, ๒๓ ตุลาคม ๒๔๘๘, น. ๑๕๘๗-๑๕๘๘.
๕๓ หจช., กต. ๙๔.๑/๘๒, สำนักงานปลัด กต. ถึงรัฐมนตรีว่าการ กต., ๑๐ กันยายน ๒๔๘๘.
๕๔ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๖/๓๗, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงนายกรัฐมนตรี, ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๘.
๕๕ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๖/๓๗, ราชเลขานุการในพระองค์ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๒ กันยายน ๒๔๘๘.
๕๖ หจช., (๒) สร. ๐๒๐๑.๘๖/๓๗, เลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ๔ กันยายน ๒๔๘๘ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ๖ กันยายน ๒๔๘๘.
๕๗ เสี้ยวหนึ่งของชีวิต, น. ๑.
๕๘ แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง ตั้งเลขาธิการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการนายกรัฐมนตรี, ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๒, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๔๘, ๓๐ สิงหาคม ๒๔๙๒, น. ๔๐๘๗.
๕๙ เสี้ยวหนึ่งของชีวิต, น. ๒.
๖๐ พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๘๙, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๒๕, ๓๐ เมษายน ๒๔๘๙, น. ๒๓๗-๒๔๐.
๖๑ พระราชบัญญัติคืนฐานะเดิมแก่ข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ซึ่งกระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๘๙, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๓ ตอนที่ ๒๙, ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙, น.๒๙๒-๒๙๕.
๖๒ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องยกเลิกระบุชื่อชนศัตรู, ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๖๒ ตอนที่ ๔๔, ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘, น. ๑๒๓๕.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2563