ตามรอยเครื่องแก้วทิฟฟานี่ งานศิลป์หายากจากนิวยอร์ก เข้ามาไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างไร

(ขวามาซ้าย) ขวดแก้วเคลือบสีเขียวมีลวดลายใบไม้ทอง / แจกันแก้วสีเขียวหุ้มเงิน / แจกันแก้วปากบาน เคลือบสี (ภาพจาก หนังสือ "ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง")

มหานครนิวยอร์กแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นมหานครยิ่งใหญ่อันทันสมัยที่ชาวนิวยอร์กในยุคหนึ่งขนานนามว่าเป็น “เมืองหลวงของโลก” ความยิ่งใหญ่และความทันสมัยของมหานครแห่งนี้ย่อมเต็มไปด้วยความหรูหรา ทั้งโรงแรมห้องพักสุดหรู อาหารรสเยี่ยม เสื้อผ้าแฟชั่นสุดแพง และสิ้นค้าชั้นดีเยี่ยมราคาสูง ดังมีย่านหนึ่งที่เต็มไปด้วยของหรูหราสุดขีดไม่มีที่แห่งใดเกิน สุดยอดแห่งความเป็นสวรรคของนิวยอร์คนั่นคือ “ถนนที่ห้า” หรือฟิฟท์ อะเวนิว (Fifth Avenue)

“ถนนที่ห้า” ตั้งอยู่ใจกลางมหานครนิวยอร์ค เป็นแหล่งสินค้าแพงระดับโลก มีทั้งสินค้าที่สวย แปลก หรูหรา และแทบเป็นสินค้าชิ้นเดียวในโลก แต่ละร้านตกแต่งแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ร้านที่เป็นยอดนิยมสำหรับสินค้าที่แปลก สวย และแพง ในยุคหนึ่งคือ “ร้านทิฟฟานี่” (Tiffany) เป็นร้านขายเครื่องเงิน เครื่องประดับอย่างดี และมีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สุดร้านหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ร้านทิฟฟานี ให้ข้อมูลประวัติของกิจการตัวเองโดยอ้างอิงว่า หน้าร้านแห่งแรกเปิดทำการในนิวยอร์ก เมื่อค.ศ. 1837 ยอดการขายวันแรกคิดเป็นตัวเลข 4.98 ดอลลาร์สหรัฐ ร้านเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นนำของประเทศเมื่อชาร์ลส ลูอิส ทิฟฟานี ซื้อเครื่องเพชรจากชนชั้นสูงในยุโรปนำกลับมาที่สหรัฐฯ ทำให้ชนชั้นนำอเมริกันสามารถเข้าถึงเครื่องเพชรแถวหน้าในโลกได้เป็นครั้งแรก

แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ชื่อของร้านติดหูมาจนถึงวันนี้ คือร้านไปปรากฏในภาพยนตร์คลาสสิกที่นำแสดงโดยออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) ในชื่อ Breakfast at Tiffany’s และเป็นครั้งแรกที่ร้านดังปรากฏในภาพยนตร์ จากนั้นก็มีภาพยนตร์ที่ถ่ายทำสถานที่ร้านตามมาอีกหลายเรื่อง

ในปัจจุบันร้านแห่งนี้มีสิ้นค้าทั้งเครื่องเงิน อัญมณีเครื่องกระเบื้อง ฯลฯ แต่เมื่อย้อนกลับไปร้อยกว่าปีที่แล้วสินค้าที่สร้างชื่อเสียงอันโด่งดังให้ร้านแห่งนี้คือ “เครื่องแก้ว”

ความพิเศษของเครื่องแก้วร้านทิฟฟานี่แตกต่างจากเครื่องแก้วทั่วไป คือ ความสวยงาม และที่สำคัญคือเป็นชิ้นเดียวในโลกเพราะไม่เหมือนใคร ความพิเศษของเครื่องแก้วที่ว่านี้ก็คือ มีรูปร่างหน้าตาแปลกแตกต่าง มีส่วนผสมและสร้างขึ้นด้วยสูตรเฉพาะจนเนื้อแก้วและสีสันเฉพาะตัว เมื่อดูไกลๆ บางชิ้นแลดูเหมือนทำด้วยกระเบื้อง

สำหรับผู้ที่ริเริ่มสร้างสรรค์เครื่องแก้วรูปร่างพิเศษชื่อดังขึ้นมาคือ หลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี่ (Louis Comfort Tiffany) ผู้เป็นบุตรชายของชาร์ลส์ ลูอิส ทิฟฟานี่ ช่างอัญมณีชื่อดังแห่งมหานครนิวยอร์ค ทั้งนี้หลุยส์ คอมฟอร์ท แต่เดิมนั้นมีอาชีพเป็นจิตกร ศึกษาวิชาด้านจิตรกรรมจากฝรั่งเศสมา กระทั่งมีความสามารถในการเขียนภาพด้วยสีน้ำมัน และสีน้ำ ต่อมาเปลี่ยนความสนใจมาที่การตกแต่งภายในหรือที่เรียกว่า “มัณฑนศิลป์” แต่ก็ไม่ได้ทอดทิ้งงานเขียนภาพไปเสียทีเดียว

หลุยส์ คอมฟอร์ท มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมทางศิลปะขึ้นหลายสมาคม และร่วมกับศิลปินชาวอเมริกันผู้มีชื่ออีกหลายคน ประยุกต์นำงานศิลปะมาใช้สำหรับการตกแต่งภายในอาคารสถานที่

จากการที่หลุยส์ คอมฟอร์ท ได้ศึกษาด้านจิตรกรรมที่ฝรั่งเศสจึงทำให้เขาได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับศิลปะยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสสมัยนั้น ที่เรียกว่า งานศิลป์ยุคใหม่ หรือ Art Nouveau ซึ่งพยายามหลีกหรือปลีกตัวออกจากงานศิลปะแบบจารีตนิยมที่นิยมทำกันมาแต่นานแล้วโดยเฉพาะเครื่องแก้วของกาล์เย่ (Galle) ช่างเครื่องแก้วมือหนึ่งของฝรั่งเศส

ในปี 1885 หลุยส์ คอมฟอร์ท หันมาสนใจงานเครื่องแก้วอย่างจริงจังถึงขนาดทดลองตั้งโรงงานเครื่องแก้วของห้างทิฟฟานี่ขึ้นเองบนเกาะไอร์แลนด์ เมืองบริวารของนิวยอร์ค เพื่อผลิตเครื่องแก้วพวกโคมไฟและกระจกหน้าต่างขึ้นเป็นอย่างแรก กิจการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนมีการจดทะเบียนเป็นบริษัท “เครื่องแก้วและการตกแต่งทิฟฟานี่” ขึ้นมา

ความสำเร็จสูงสุดของบริษัทเกิดจากการประดิษฐ์เครื่องแก้วอย่างพิเศษที่มีสีเหลือบรุ้งและผิวเนื้อเป็นประกายคล้ายโลหะขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ และจดทะเบียนสิทธิบัตรงานประดิษฐ์ชิ้นนี้อย่างเป็นทางการในปี 1894 หลังจากนั้น ทิฟฟานี่ได้นำเครื่องแก้วชนิดใหม่ๆ ออกมาจัดนิทรรศการตามงานแสดงสิ้นค้าขนาดใหญ่หลายครั้ง ยิ่งนานวันผลงานเครื่องแก้วของทิฟฟานี่ก็ยิ่งโด่งดังขึ้น

ผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องแก้วที่ผลิตขึ้นมา ทางทิฟฟานี่จะจัดจำหน่ายเองที่มหานครนิวยอร์ค ซึ่งเปิดเป็นสตูดิโอส่วนตัวขึ้นเมื่อปี 1900 งานเครื่องแก้วของทิฟฟานี่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดได้แก่ โคมไฟประดับบ้านหรือประดับมุมห้อง ซึ่งตรงส่วนฐานตั้งมักทำด้วยทองแดง และส่วนโคมเป็นกระจกสีอย่างชนิดที่เรียกว่า “สเตนกลาส (Stained Glass) ประดิษฐ์เป็นรูปดอกไม้ต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องแก้วที่หลากหลาย เช่น มีดตัดกระดาษ เหยือกแก้ว แจกัน กรอบรูป และอื่นๆ อีกมากมาย ทรวดทรงเป็นแบบง่ายตามธรรมชาติ และมีสีสันของเนื้อแก้วที่สวยงาม น่าเสียดายที่ห้างทิฟฟานี่ได้เลิกผลิตเครื่องแก้วชนิดนี้ไปแล้ว ปัจจุบันเครื่องแก้วทิฟฟานี่จึงมีราคาแพงและหาชมได้ยาก

สำหรับในเมืองไทยเรามีเครื่องแก้วทิฟฟานี่ให้ชื่นชมความงดงามอยู่บ้าง ในอดีตเองก็มีข้อมูลปรากฏอยู่ เมื่อย้อนกลับไปกว่าร้อยปีที่แล้วซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของเครื่องเก้วทิฟฟานี่ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงมีเครื่องแก้วทิฟฟานี่ไว้ในครอบครองด้วย แต่นักวิชาการคาดว่า พระองค์คงไม่ได้ทรงเลือกซื้อเครื่องแก้วเหล่านี้จากห้างทิฟฟานี่โดยตรงอย่างแน่นอน เหตุเพราะว่าพระองค์ไม่เคยเสด็จไปสหรัฐอเมริกา ไกลที่สุดก็คือเสด็จประพาสทวีปยุโรปที่คิดว่าไกลที่สุดแล้ว

เครื่องแก้วเหล่านี้มาได้อย่างไร?

อ.ธงทอง จันทรางศุ ผู้รวบรวมข้อมูลสิ่งของสวยงามในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เล่าไว้ในบทความเรื่อง “เครื่องแก้วทิฟฟานี่” ว่า มีข้อสันนิษฐานกันหลายประการ ประการแรก คาดว่าอาจได้จากการที่ทรงเลือกซื้อจากตัวแทนจำหน่ายของทิฟฟานี่ในกรุงปรารีส

หรือประการที่สอง อาจมีผู้ส่งมาถวายเป็นราชบรรณาการ

ครั้นเมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องแก้วต่างๆ รวมทั้งเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งศิลปะต่างๆ กระจัดกระจายหายไปอยู่ในหลายที่มาก ยิ่งในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ไม่มีใครรู้เลยว่าสิ่งของต่างๆ เคลื่อนย้ายไปอยู่ไหน

อย่างไรก็ตาม เครื่องแก้วทิฟฟานี่จำนวนหนึ่งยังหลงเหลืออยู่ ปรากฏในบันทึกว่า ถูกนำมาออกจัดแสดงที่พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2525 และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2526 ซึ่งนับเป็นงานศิลปะชิ้นที่หาดูยาก และทรงคุณค่ายิ่ง

อ.ธงทอง จันทรางศุ ผู้รวบรวมข้อมูลสิ่งของสวยงามในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และเขียนเป็นบทความเผยแพร่ในนิตยสารลลนา และยังรวมเล่มไว้ในหนังสือ “ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง” เล่าเพิ่มเติมว่า นายริปเลย์ เลขาธิการสถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เคยเดินทางมาเยี่ยมชมห้องจัดแสดงศิลปะยุคอาร์ตนูโว และเครื่องแก้วห้างทิฟฟานี่ ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ท่านได้ยกย่องพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 5 ว่า ทรงเป็นนักสะสมศิลปวัตถุชั้นหนึ่งของโลก เนื่องจากหาผู้รู้ผู้สนใจเครื่องแก้วทิฟฟานี่ในฟากตะวันออกยากยิ่ง


อ้างอิง

ธงทอง จันทรางศุ. ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง. อักษรสัมพันธ์2531. หน้า 55 – 57.

The Tiffany & Co. Timeline. Tiffany. Online. Access 13 JAN 2019. <https://www.tiffany.com/world-of-tiffany/the-world-of-tiffany-timeline/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มกราคม 2563