สโนว์ไวท์-ซินเดอเรลล่า-เจ้าหญิงนิทรา นิยายที่เวอร์ชั่นเดิมน่าเศร้า-สยดสยอง?!

ภาพเทพนิยายเรื่อง Beauty and the Beast โดย Warwick Goble เมื่อปี 1913 (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

หากพูดถึงนิทานในเทพนิยาย คุณจะนึกถึงเรื่องอะไรบ้าง? ซินเดอเรลล่า, เจ้าหญิงนิทรา, สโนว์ไวท์, หนูน้อยหมวกแดง ฯลฯ ที่เคยฟัง เคยอ่าน หรือดู กันมาตั้งแต่เด็ก เนื้อหาของนิทานทั้งหมดที่จูงให้เด็กๆ หลายจินตนการว่าตัวเองเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง อยู่ในปราสาทใหญ่โต

แต่ที่มาของเทพนิยายในความเป็นจริงเป็นอย่างไร? ประวัติความเป็นมาของเทพนิยาย และความเปลี่ยนแปลงของเทพนิยายตลอดระยะเวลาที่ยาวนานเป็นอย่างไร?

คำ ผกา และอรรถ บุนนาค เขียนเรื่องเหล่านี้ไว้ในหนังสือ “คิดเล่นเห็นต่าง” (สนพ.มติชน, 2555) ซึ่งขอสรุปบางส่วนมานำเสนอดังนี้

“เทพนิยาย” ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ล้วนแต่มาจากกสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น “นิทานพื้นบ้าน (Folklore)”  หรือที่เรียกว่า “นิทานคติชน” มาจากนิทานพื้นบ้าน และแน่นอนว่ามาก่อนที่จะมีในยุคตัวเขียนหนังสือ เรียกว่าเป็น “มุขปาฐะ” คือการเล่าปากต่อปาก ซึ่งการเล่าแบบนี้ก็จะมีหลายเวอร์ชั่น แล้วก็จะมีการตัดเติมเสริมแต่งของเวอร์ชั่นตัวเองในการเล่าไปด้วย ถ้าเปรียบเทียบกับของไทยก็อย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน, ศรีธนญชัย ก่อนที่จะนํามาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก็มีหลายเวอร์ชั่นมาก ขึ้นอยู่กับว่าถูกเล่าโดยใคร

เพราะฉะนั้น “นิทานพื้นบ้าน” ซึ่งในสมัยนั้นมีอยู่เยอะมาก ถ้าย้อนกลับไปคือมีมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แล้วก็ค่อยๆ พัฒนาแตกสาย มาเรื่อยๆ ไปเป็นภาษาอิตาเลียน ไปเป็นภาษาต่างๆ มากมาย คือประมาณปี ค.ศ. 1720/พ.ศ. 2263 ที่นิทานมุขปาฐะถูกบันทึก แล้วก็เริ่มจัดระบบหมวดหมู่ แล้วเกิดเป็น “ม็อง (Genre)” ของวรรณกรรมที่เรียกว่า “แฟรี่เทล (Fairy tale)” เกิดขึ้นมา ซึ่งปี ค.ศ. 1720 ในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Institutionalized คือถูกทําให้กลายเป็นสถาบัน แฟรี่เทลขึ้นมา ในยุคแรกๆ นั้นมีคนพิมพ์หนังสือเทพนิยายขึ้นมาหลายคน ทั้งนักเขียนเยอรมัน นักเขียนฝรั่งเศส

คนที่จะอ่านแฟรี่เทลหรือมีหนังสืออ่านในยุคแรกๆ นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นคนชั้นสูงที่อ่านหนังสือออก และอีกอย่างก็คือหนังสือในยุคนั้นมีราคาแพงมาก พอเป็นหนังสือขึ้นมา เทพนิยายเริ่มมีฟังก์ชันเป็นสิ่งกล่อมเกลาทางสังคม เป็นตัวสร้างจริยธรรมขึ้นมาผ่านนิทานสอนใจเหล่านี้ แต่มันมีช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ประมาณปี ค.ศ. 1789/พ.ศ. 2332 มีนักเขียนกลุ่มโรแมนติกเขียนเทพนิยายใหม่ แล้วเอาเทพนิยายต่างๆ มาเขียนแบบยาวและละเอียดลออมากขึ้น แต่ไม่ได้เขียนให้เด็กอ่านอีกต่อไป

เมื่อก่อนคนที่อ่านนิทานเหล่านี้ให้เด็กฟังก็เป็นพวกพี่เลี้ยง แม่ พวกครูสอนในบ้าน เพราะสมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียน พวกคนรวยๆ ก็จะมีครูประจําบ้าน แต่พอมาเป็นยุคของนักเขียนโรแมนติกเริ่มแฝงเทพ นิยายฉาบเคลือบว่านี่คือ “แฟรี่เทล” แต่แทนที่จะเป็นแฟรี่เทลเพื่อความบันเทิงอัศจรรย์ใจแก่ผู้อ่าน แต่แฝงการนําเสนอประเด็นที่เป็นประเด็นศิลปะ การเมือง ปรัชญา การศึกษา ความรักเอาไว้ด้วย งานเทพนิยายสกุลนี้ก็อย่างเช่นงานของนักเขียนชาวเยอรมันคือ โยฮันน์ โวล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ (Johann Wolfgang von Goethe)

เกอเธ่เขียนเทพนิยายที่มีความยาวและละเอียดลออขึ้นมาในปี ค.ศ. 1795/พ.ศ. 2338 ชื่อหนังสือว่า “The Green Snake and the Beautiful Lily” เพื่อที่จะเฉลิมฉลองหรือ แสดงให้เห็นถึงพลังของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ว่าอยู่ในฉากของความเป็นเวทมนตร์ คือมีลักษณะของความเป็นเทพนิยาย เพราะฉะนั้นตัวปีศาจ หรือตัวร้ายในเทพนิยายยุคนี้ก็จะเป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงความตื้นเขิน โง่เขลา ความที่ไม่สําเหนียกใจในความงาม ความลึกซึ้งของศิลปะหรือ ปรัชญาของบรรดาพวกชนชั้นกลางที่เกิดใหม่ หรือไม่ก็ปีศาจในเทพนิยายเหล่านี้ก็จะเป็นพวกเหล่าอํามาตย์ที่เสื่อมทรามทั้งหลายก็จะอยู่ในเทพนิยาย

ความที่เป็นการเมืองมาพักหนึ่งในเทพนิยาย ปรากฏว่าต่อมาประมาณปี ค.ศ. 1820/พ.ศ. 2363 (เริ่มพิมพ์ออกมาในปี 1789) เทพนิยายเริ่มถูกรัฐบาลจับตามอง และเมื่อกลายเป็นหนังสือต้องห้าม เทพนิยายก็กลับมามีฟังก์ชั่นที่เป็น “นิทานสําหรับเด็ก” อีกรอบหนึ่ง

เพราะฉะนั้น เราก็จะกลับมาที่เทพนิยายแบบที่บ้านเรารู้จักกันมากที่สุดคือ “เทพนิยายกริมม์”

เทพนิยายกริมม์พิมพ์ขึ้นมาครั้งแรกประมาณช่วงปี ค.ศ. 1812-57/พ.ศ. 2355-2400 และเทพนิยายกริมม์นี้แหละที่ถูกดิสนีย์นําไป “ปรับใช้” หรือ “พาสเจอไรซ์” ออกมาเป็นเวอร์ชันของดิสนีย์

ช่วงที่แฟรี่เทลหลุดจากความเป็น “การเมือง” มาเป็น “เทพนิยาย สําหรับเด็ก” ก็คือช่วงประมาณปี ค.ศ. 1830-1900/พ.ศ. 2373-2443 แล้วคนที่สําคัญมากอีกคนหนึ่งก็คือฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Hans Christian Andersen) พิมพ์เทพนิยายออกมาในปี ค.ศ. 1835/พ.ศ. 2378 ซึ่งเริ่มเข้าสู่ยุควิกตอเรียน (Victorian) ที่มีวรรณกรรมเยาวชนขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอัน นับจาก ยุคของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เทพนิยายเริ่มมีหน้าที่ทางสังคมอีก แบบหนึ่งในช่วงที่ยุโรปเรียกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษก็เป็นยุควิกตอเรียน

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ปลายศตวรรษที่ 19 ช่วงปี ค.ศ. 1830-1900/พ.ศ. 2373-2443  เป็นต้นมา เทพนิยายในยุคนี้เป็นช่วงประจวบเหมาะกับที่สังคมยุโรปอยู่ในช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ยึดถือในปรัชญาที่เรียกว่าอรรถประโยชน์นิยม ซึ่งผู้คนมี ความเครียดสูง คนในสังคมอยู่ในยุคทํามาหากิน แต่อีกด้านหนึ่งก็คือว่า การอยู่ในยุคทํามาหากินนั้นกลับทําให้คนมีเวลาว่าง พอมีเวลาว่างก็อ่านหนังสือ อ่านนิทาน อ่านนิยาย นั่งฟังฝันกันไปเพราะในขณะเดียวกันก็เป็นการหนีจากความเครียดในชีวิตประจําวันของคนเรา แต่ก็ยังโดนกดทับจากศีลธรรม มีผู้วิเคราะห์ว่า เทพนิยายแบบนี้เริ่มสร้าง ผู้หญิงที่วันๆ ไม่ทําอะไร นอนรอแต่เจ้าชาย เหมือนเพลงของดิสนีย์ที่แต่ง ว่า “Someday my prince will come”

นอกจากนี้ยังมีเทพนิยายที่ถูกแต่งขึ้นมาใหม่ด้วยในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อย่างเช่น ปีเตอร์แพน แต่งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1904/พ.ศ. 2447 และพ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ (The Wonderful Wizard of Oz) แต่งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900/2443 ซึ่งอันนี้อยู่ในอังกฤษ แล้วมันจะเชื่อมโยงกับไทยอย่างไร นั่นก็เพราะว่าปัญญาชนไทยในยุคนั้น (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) ก็คือ บรรดาเจ้านายทั้งหลายเริ่มส่งลูกหลานไปเรียนในยุโรป ในอังกฤษ คือไปในช่วงที่สังคมอังกฤษอ่านปีเตอร์แพน อ่านพ่อมดมหัศจรรย์แห่งอ๊อช แล้วก็มีการเกิดของเทพนิยายเหล่านี้ขึ้นมา

ที่มีดิฉันจะขอสรุปเรื่องราวของเทพนิยายต่าง ๆ แบบคร่าวๆ โดยสรุปจากเนื้อความที่คุณอรรถได้เล่าเอาไว้ในรายการ คือจะเล่าถึงเฉพาะบางช่วงบางตอน สองสิ่งที่ไม่เหมือน ไม่คุ้นเคยกัน

ในประเทศญี่ปุ่น มีนักวรรณกรรรมชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่อง “fairy tale study” ชื่อ ซีเรียว มิซาโอะ เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ในเทพนิยายกริมม์” และต่อมามีเวอร์ชั่นของแอนเดอร์สันในภายในหลัง กล่าวถึงเทพนิยายเล่มดังหลายเล่มไว้ว่า

เริ่มที่เรื่อง “สโนว์ไวท์”  ฉบับที่กริมม์เขียนไว้เวอร์ชั่นแรกว่าเป็นอย่างไร ชิเรียว มิซาโอะ บอกว่าจริงๆ แล้ว “แม่เลี้ยงใจร้าย” นั้นไม่ใช่แม่เลี้ยง แต่เป็นแม่ที่แท้จริงซึ่งจับได้ว่า พระราชาคือสามีตัวเองนั้นแอบมีอะไรกับลูกสาวแท้ๆ เพราะว่าสโนว์ไวท์ยังสาวยังผุดผาดอยู่ แม่ก็เกิดความอิจฉาริษยา เลยให้นายพรานล่อลวงไปฆ่า เพื่อที่จะให้เห็นว่าตายจริงก็สั่งว่านายพรานต้องควักเอาตับไตของสโนว์ไวท์มาให้ดู แล้วแม่จะเอามาต้มเกลือกิน แต่ตอนหลังกระจกวิเศษก็บอกว่า สโนว์ไวท์ยังมีชีวิตอยู่

สโนว์ไวท์รอดจากการตามฆ่าของแม่ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะฆ่าสําเร็จในครั้งสุดท้าย แล้วตอนที่กินผลแอปเปิลแล้วสลบไป ตายไป ที่นี้ “เจ้าชาย” ซึ่งฉบับจริงไม่เคยปรากฏตัวมาก่อน แต่ในเวอร์ชั่นดิสนีย์จะให้เห็นว่าเจ้าชายมาเจอสโนว์ไวท์ก่อน จู่ๆ โผล่มาเจอแล้วก็หลงรักสโนว์ไวท์

อันนี้ก็คือซิเรียว มิซาโอะ เขาตีความว่า จริงๆ แล้วเจ้าชายเป็นพวกที่ชอบมีอะไรกับศพ แบกสโนว์ไวท์ขึ้นหลังม้าเพราะตั้งใจจะเอาศพไปข่มขืน แล้วปรากฏว่าพอขึ้นหลังม้าโยกๆ ไป แอปเปิลที่ติดหลอดลมติดคออยู่ก็หลุดออกมา สโนว์ไวท์เลยฟื้นขึ้นมา

เขาบอกว่าจริงๆ สโนว์ไวท์ตายไปแล้ว 3 หน แล้วฟื้นขึ้นมาเป็นซอมบี้ เป็นผีดิบขึ้นมา นี่คือสโนว์ไวท์ฉบับที่เป็นเวอร์ชั่นแรกของกริมม์ ก่อนที่จะกลายมาเป็นสโนว์ไวท์ในแบบฉบับ ของดิสนีย์ที่เราคุ้นชินกันทุกวันนี้

เรื่องต่อมาคือ “ซินเดอเรลล่า” เริ่มจากคําว่า “ซินเดอเรลล่า” ก่อน อันที่จริงควรจะเรียกว่า “แม่ทูนหัว” (ที่คอยมาเสกเสื้อผ้า เสกรถฟักทอง) แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แม่ทูนหัว เป็นน้าสาวของซินเดอเรลล่า เมื่อพ่อแม่ตาย พ่อก็เอามรดกเอาเงินทองไปฝากไว้กับน้าสาว เพราะกลัวว่าลูกสาวจะไม่มีใช้เมื่อโตขึ้น น้าสาวก็เป็นคนที่คอยดูแล

คําว่า “ซินเดอเรลล่า” มีรากศัพท์มาจากคําว่า “ก้นขี้เถ้า” อันนี้ แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เธอคือผู้หญิงที่ไม่มีชื่อ แล้วถูกเรียกด้วยสมญาว่า “นางขี้เถ้า” เป็นสัญลักษณ์ว่าอยู่แต่ในครัว ไม่ได้ออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันด้วย

ทีนี้แม่ทูนหัวหรือแม่เลี้ยงที่เป็นน้าสาวก็คอยไปเอาเงินที่แม่ของ เธอให้ไว้มาซื้อเสื้อผ้า ซื้ออะไรให้ซินเดอเรลล่าใส่ไปงานเลี้ยงเต้นรําของเจ้าชาย แล้วความโหดร้ายของเวอร์ชั่น (กริมม์) นี้อยู่ที่เรื่องรองเท้าแก้ว ที่ซินเดอเรลล่าทําหล่นไว้นั้น คือพี่สาวต่างแม่ทั้ง 2 คนพยายามจะใส่ รองเท้าแก้วแต่ใส่ไม่ได้ แม่ก็เลยให้พี่สาวคนแรกตัดนิ้วเท้าออกเพื่อที่จะใส่ลงไปให้ได้ แต่ความแตกตอนเลือดไหลออกมาท่วมรองเท้า เจ้าชายเลยจับได้ว่าไม่ใช่ตัวจริง แล้วพี่สาวอีกคนก็ต้องเฉือนส้นเท้าออกจนกระทั่งใส่ได้

แล้วที่สําคัญคือ ตอนจบในงานแต่งงานของซินเดอเรลล่ากับเจ้าชาย ปรากฏว่าซินเดอเรลล่าไม่ได้เป็นหญิงสาวที่แสนดี ให้อภัยแม่เลี้ยงและพี่สาวทั้งสอง แต่ซินเดอเรลล่าเอารองเท้าเหล็กไปเผาไฟแล้วก็ให้แม่เลี้ยงใส่ออกไปเต้นระบำจนตาย (อันนี้น่ากลัวมาก)

แล้วก็มาต่อด้วยเรื่อง “เจ้าหญิงนิทรา” นั้นจบด้วยเจ้าชายมา จุมพิตเจ้าหญิงนิทรา จนกระทั่งได้แต่งงานและครองเมือง หลังจากนั้นก็ มีเรื่องต่อว่า เมืองที่ไปครองนั้นแม่ของเจ้าชายที่เป็นพระราชินีในเมืองเป็น “ยักษ์” แล้วในยุคนั้นเจ้าชายก็ต้องไปออกรบ ไม่ได้อยู่แต่ในปราสาท ทีนี้แม่ผัวที่เป็นยักษ์ก็คอบจ้องจะกินเลือดกินตับของลูกสะใภ้ แล้วพอลูกสะใภ้มีลูกชายก็จ้องจะ กินหลานด้วย เจ้าหญิงออโรร่าหรือเจ้าหญิงนิทราก็เลยต้องอยู่ด้วยความหวาดผวา คอยหลบแม่ผัวอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างแม่ผัวกับลูกสะใภ้ไป

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็คือความเป็นมาของเทพนิยาย ซึ่งอายุของเทพนิยายในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติมีมาหลายร้อยปีเหลือเกิน แล้วเราก็จะเห็นว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ในพื้นที่ของครอบครัวเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างแม่สามีกับลูกสะใภ้, พี่น้อง รวมถึงความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัว แล้วก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้การใช้นิทานได้เป็นที่ปลดปล่อยหรือระบายความตึงเครียดที่เกิด

ก่อนที่วอลท์ ดิสนีย์ จะพาสเจอไรซ์เทพนิยายให้กลายเป็นนิทานสอนศีลธรรมสำหรับเด็ก ที่ตอนจบของเรื่องเหมือนเทพ นิยายที่เราคุ้นเคยคือ “And they lived happily ever after-แล้วพวกเขาก็ครองรักกันอย่างมีความสุขตลอดไป”

อ่านเพิ่มเติม :


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562