สำเพ็ง : กำเนิด ความสำคัญ และความผูกพันในร่มพระบารมีจักรีวงศ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ พร้อมด้วยพระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวสำเพ็ง เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ (ภาพจากศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม ๑ สมุดภาพประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๕)

สำเพ็งเป็นนามของย่านชาวจีนสำคัญมีกำเนิดควบคู่มากับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผ่านการเวลาและการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ ตลอดจนด้านวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญของสำเพ็งในหลากหลายด้านทำให้ย่านสำเพ็งได้รับการดูแลภายใต้พระบารมีของพระมหากษัตริย์เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์เพื่อเยี่ยมเยือนชุมชนแห่งนี้

แรกเริ่มการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชประสงค์ใช้ที่ดินเพื่อสร้างพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชาวจีนซึ่งเป็นกลุ่มของพระยาราชาเศรษฐีที่อาศัยมาแต่ครั้งกรุงธนบุรีให้ไปอยู่นอกแนวกำแพงพระนครด้านใต้ มีอาณาบริเวณตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส ไปจนถึงคลองสำเพ็งหรือคลองวัดปทุมคงคา การย้ายชุมชนชาวจีนกลุ่มนี้เป็นการช่วยบุกเบิกพื้นที่ด้านใต้ของพระนครที่เคยรกร้างให้เป็นย่านการค้าสำคัญของพระนครคือ ตลาดสำเพ็งและตลาดน้อย

Advertisement
“ย่านสำเพ็ง ระบุวัดวาอารามและถนนสายสำคัญ” ในปัจจุบัน ปรับปรุงจากภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Earth

สำหรับชุมชนชาวจีนบริเวณสำเพ็งนั้นนับได้ว่าเกิดควบคู่มากับกรุงรัตนโกสินทร์ มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการค้าและท่าเรือที่สำคัญ โดยในยุคที่มีการค้าสำเภาช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือสินค้าจากเมืองจีนจอดทอดสมอบริเวณท่าน้ำบริเวณสำเพ็งที่สำคัญ ได้แก่ กงสีล้ง หรือท่าน้ำราชวงศ์ และท่าสำเพ็ง ตั้งอยู่ข้างวัดปทุมคงคา เรือสินค้าเหล่านี้จะจอดบริเวณกลางแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนขนถ่ายสินค้าลงเรือเล็กมาขึ้นที่ท่าเรือดังกล่าว ความสำคัญของท่าเรือในย่านสำเพ็งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะหมดยุคของการค้าสำเภาช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีบรรดาเรือกลไฟจากชาติตะวันตกเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญในการขนส่งสินค้าและผู้คน

ขณะเดียวกันสำเพ็งยังเป็นแหล่งส่งออกผลผลิตสำคัญโดยเฉพาะสินค้าการเกษตร ได้แก่ ข้าว น้ำตาล รวมทั้งของป่าในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ส่วนในช่วงหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง การส่งออกข้าวและพืชไร่จากบริเวณสำเพ็งยิ่งมีความสำคัญ เห็นได้จากกลุ่มบริษัทค้าข้าวของชาวจีนมักตั้งสำนักงานบริเวณท่าน้ำสำเพ็ง ทรงวาด และราชวงศ์ ซึ่งกิจการเหล่านี้หลายเห่งยังคงดำเนินกิจการอยู่ นอกจากนี้ความสำคัญด้านการค้าบริเวณสำเพ็งยังเห็นได้ในปัจจุบันจากการมีสินค้าที่หลากหลายโดยจะปรากฏเป็นย่านๆ เช่น สินค้าประเภทเชือกอยู่บริเวณถนนวานิช ๑ ช่วงระหว่างถนนเยาวพานิชกับถนนทรงสวัสดิ์ ย่านของใช้ในครัวเรือนกับของเด็กเล่นอยู่บริเวณถนนวานิช ๑ ช่วงระหว่างถนนราชวงศ์กับถนนเยาวพานิช ย่านเครื่องจักรและอะไหล่ยนต์อยู่บริเวณถนนไตรมิตร ช่วงระหว่างถนนเยาวราชถึงวัดปทุมคงคา ย่านเป็ดไก่อยู่บริเวณถนนมังกรซึ่งเชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนเยาวราช ย่านขายยาสมุนไพรอยู่บริเวณถนนจักรวรรดิ เป็นต้น

ภาพบรรยากาศการเสด็จพระราชดำเนินของล้นเกล้าฯ ทั้ง ๒ พระองค์ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ ยังความปีติยินดีแก่ราษฎรชาวสำเพ็งและบริเวณใกล้เคียงเป็นล้นพ้น (ภาพถ่ายโดย จรรยง พิบูลย์อรรถวิทย์ จากเพจ : ห้องวิจัยประวัติศาสตร์)

การปรับปรุงโครงสร้างด้านกายภาพของสำเพ็งด้วยการตัดถนนไม่เพียงจะช่วยให้รัฐเข้าถึงปัญหาพื้นฐานทั้งด้านอัคคีภัยและการสุขาภิบาลได้สะดวกขึ้น แต่ยังมีผลต่อการพัฒนาความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับย่านสำเพ็ง เช่น ถนนเยาวราช ได้กลายเป็นย่านค้าทองคำที่สำคัญของประเทศและได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในนามของไชน่าทาวน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความใส่พระราชหฤทัยของพระมหากษัตริยที่มีต่อย่านสำเพ็ง

ดังปรากฏจากการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อทรงเยี่ยมเยือนราษฎรในย่านนี้ นับแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจวบจนรัชกาลปัจจุบัน นำมาสู่ความปีติยินดีแก่เหล่าพสกนิกรเป็นล้นพ้น

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “สำเพ็ง : กำเนิด ความสำคัญ และความผูกพันในร่มพระบารมีจักรีวงศ์” เขียนโดย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2562