เผยแพร่ |
---|
“ประชุมกะงานพระบรมศพ (ตกลงแปลงรูปงานเปนแบบใหม่)
เย็นวันที่ 28 พฤศจิกายนนั้น ได้มีประชุมเพื่อปรึกษาเรื่องงานพระบรมศพ, พูดกันไปพูดกันมาเปนอันตกลงเห็นพร้อมกันว่า ถึงสมัยอันควรที่จะเปลี่ยนธรรมเนียมทำงานศพ, คืองดการทำศพเปนการรื่นเริง, ทำให้เปนวิธีแสดงความเคารพต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วโดยแท้, จึ่งเปนอันตกลงว่าจะได้เริ่มจัดงานพระบรมศพให้ลงตามแบบใหม่นี้เพื่อเปนตัวอย่างทีเดียว. การที่จะทำพระเมรุตามแบบที่เคยทำๆ มาแล้วนั้น, ที่จะให้น้อยลงกว่าเก่าไม่ได้, คงต้องให้เท่ากันทั้งหมด. แต่ถ้าทำพระเมรุอย่างนั้นจะได้ผลอย่างไรที่ดีก็แลไม่เห็น, คงจะเปนแต่เปลืองเงินเปล่าๆ โดยมิได้เพิ่มพูนพระเกียรติยศขึ้นเลย. แต่ก่อนๆ ท่านใช้วิธีเกณฑ์กันเปนพื้น, แต่ในสมัยนี้จะทำอย่างนั้นบ้างหาได้ไม่, ฉนั้นแปลว่าจะต้องจ้างคนงาน, ซึ่งแปลว่าจะต้องใช้เงินมากมายจนเหลือที่จะประมาณได้. ในที่ประชุมนั้นใครก็จำไม่ได้ถนัด ได้กล่าวขึ้นว่า ทูลกระหม่อมได้เคยมีพระราชกระแสร์ไว้ว่า ไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้ทำพระเมรุใหญ่, ว่ามีพระราชประสงค์จะให้ทำถาวรวัตถุที่น่าวัดมหาธาตุ (คือที่บัดนี้ใช้เปนหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับแผ่นดิน) นั้นขึ้นให้สำเร็จ, และให้ประดิษฐานพระบรมศพในตึกนั้น, ทำพระเมรุแต่ย่อมๆ เฉพาะเปนที่ถวายพระเพลิง แต่ถาวรวัตถุนั้นถ้าจะทำขึ้นก็จะกินเวลาตั้ง 10 เดือนเปนอย่างน้อย, ทั้งเมื่อทำขึ้นแล้วก็ดูท่าทางจะไม่เหมาะสำหรับการตั้งพระบรมศพ จึ่งได้คิดกันว่า ดีที่สุดควรใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนั้นเองเปนที่ตั้งพระบรมศพแทนพระเมรุ, ซ่อมแซมขึ้นเสียให้เรียบร้อย, พอถึงกำหนดงานจึ่งย้ายพระบรมศพอกไปประดิษฐานที่ตรงกลางพระมหาปราสาท, มีงานทำบุญต่างๆ ณ พระที่นั่งนี้, จนถึงกำหนดวันถวายพระเพลิง จึ่งแห่พระบรมศพออกไปยังท้องสนามหลวง ส่วนพระเมรุถวายพระเพลิงนั้นทำให้เปนพระเมรุทอง รูปบุษบกให้ฝีมืออย่างวิจิตรที่สุด, ให้มีพระที่นั่งทรงธรรมและที่พักพอสมควร, และมีราชวัตรอย่างมั่นคง เปนรั้วกันคนได้จริงๆ…”
(คัดจาก ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. ราม วชิราวุธ สำนักพิมพ์มติชน)