เล่าเรื่อง “วัดปืน” วัดร้างโบราณสมัยอยุธยา ชื่อนี้ได้แต่ใดมา?

วัดปืนก่อนการบูรณะ

วัดปืน เป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในจังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นย่านการทูตและการต่างประเทศ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บนพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูตและบ้านพระยาวิชาเยนทร์ ส่วนด้านใต้ติดกับบ้านหลวงรับราชทูตเปอร์เซียหรืออิหร่าน ที่เป็นตึกปิจู และตึกคชสาร (โคระซานหรือโกรซัน) ในบริเวณวัดเสาธงทองในปัจจุบัน

วัดปืนถูกขึ้นทะเบียนไว้เป็นวัดร้าง กับถูกชุมชนเมืองรุกที่โดยรอบด้วยร้านค้าและเพิงสังกะสีที่รกรุงรังมานาน ด้วยความสามารถของกรมศิลปากร ย้ายชุมชนและร้านค้าออกไป ทั้งหมดทําการขุดค้นปฏิสังขรณ์ในห้วงปี 2549 และปี 2552 จึงได้วัดปืนกลับคืนมา คือได้วิหารยาว 4 ห้อง มีกําแพงอิฐเหลืออยู่ทั้ง 4 ด้าน โดยไม่มีหลังคา ห้องหนึ่งตรงมุขด้านหน้า น่าจะต่อเติมขึ้นใหม่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ด้วยกําแพงภายในทําเป็นช่องกุฏิรูปกลีบบัวโค้งแหลมอันเป็นสถาปัตยกรรมยอดนิยมสมัยนั้น

วัดปืนก่อนการบูรณะ

นักโบราณคดีให้ความเห็นว่า วัดปืนเป็นวัดเก่าครั้งอยุธยาตอนต้น

ด้านหลังวิหารด้านตะวันตกพบฐานใหญ่แปดเหลี่ยมของพระเจดีย์ และฐานพระอุโบสถ เมื่อขุดลึกลงไป ประมาณ 2-3 เมตร พบซากอาคารเก่าสมัยทวารวดีอีกด้วย ชวนให้จินตนาการว่า เมืองลพบุรี (ละโว้, ลวะปุระ หรือนพบุรี) ถูกปกครองจากผู้มีอํานาจหลายยุคหลายสมัย ทั้งมอญและเขมร เป็นเมืองเก่าที่มีสมบัติโบราณทับซ้อนอยู่มาก คล้ายกรุงทรอยในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ประมาณนั้น

วัดปืน (ร้าง) บนแผนที่เมืองลพบุรี เมื่อ พ.ศ. 2457 จัดพิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารบก (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ถึงวันนี้ วัดปืนได้รับการขุดแต่งบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ดูเป็นศรีสง่าแก่เมืองมาก… จริง ๆ แล้วในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ตรงวัดปืนน่าจะเป็นจุดชมวิวที่ได้ชมภูมิทัศน์ทางทิศเหนือซึ่งเป็นเกาะแก้วเป็นตลาด ทุ่งพรหมาสตร์ที่กว้างขวาง กับป้อมท่าโพธิ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนกําแพงเมือง ส่วนด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่น้ำลพบุรี ที่มีตลิ่งสูงในหน้าแล้ง แต่เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะเปี่ยมเต็มฝั่งและคลาคล่ำด้วยเรือชาวบ้านและชาวเมืองสารพัดชนิด แจวพายขึ้น-ล่องขวักไขว่

วัดปืน (ภาพจาก เว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ จังหวัดลพบุรี)

บางที่วัดปืนในสมัยนั้นจะมีความสง่างามและความสําคัญเป็นรองอยู่แต่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นวัดคู่เมืองเท่านั้น ชวนให้เข้าใจว่าวัดปืนน่าจะได้รับการดูแลอุปถัมภ์ให้ดูดี เสมอบ้านหลวงรับราชทูตที่อยู่เคียงกัน หรือดีกว่าด้วยในหมู่บ้านหลวงรับราชทูตมีโรงสวดหรือโบสถ์ฝรั่งทรงไทยอยู่ด้วยหลังหนึ่ง เทียบความใหญ่โตโอ่อ่าเห็นจะสู้วิหารวัดปืนไม่ได้

ทําไมต้องชื่อวัดปืน ปืนคือคันศรพระนารายณ์หรือพระราม ได้แผลงศรพรหมาสตร์มาตกถึงเมืองลพบุรี ศรนั้นร้อนนักจนแผ่นดินสุกเป็นสีขาว คือเป็นดินสอพอง ศรเล่มหนึ่งมาตกอยู่ใกล้วัดปืน คือศาลลูกศรในปัจจุบัน เป็นหินแข็งที่ต้องใช้น้ำหล่อไว้ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นจะร้อนจัดมากจนเป็นไฟไหม้เมือง ศรพระรามคือปืนพระราม และเป็นชื่อวัดปืนในเวลาต่อมา กับสอดคล้องกับพระเครื่องเมืองลพบุรีพิมพ์ทรงดังมาก พิมพ์ทรงหนึ่งที่เซียนพระเครื่องรู้จักดีคือ นารายณ์ทรงปืน สร้างตามคติมหายาน เป็นพระพุทธองค์ประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกลาง เบื้องขวาเป็นพระนารายณ์ทรงยืนและทรงศร (ปืน) เบื้องซ้ายเป็นรูปเทวีนางปัญญาปรมิตตา ทรงยืนและทรงถือดอกบัว ประทับอยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้วที่สวย สมดุล และสง่างาม แต่พระเครื่องพิมพ์ทรงนี้ พบที่กรุพระวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ไม่ใช่ที่กรุวัดปืน

พระนาคปรกวัดปืน

ส่วนพระเครื่องดังกรุวัดปืนมี 3 พิมพ์ทรง คือ พระนาคปรกวัดปืน เนื้อโลหะ (เงินและตะกั่ว) มี 3 พิมพ์ใหญ่ กลาง และเล็ก เซียนพระเรียกสั้น ๆ ว่า “ปรกวัดปืน” โดยบางพิมพ์อยู่ในซุ้มเรือนแก้วด้วย

หลวงพ่อแขก หรือ หลวงพ่อจุก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งเหนือบัว 3 กลีบ มีทั้งเนื้อชินและตะกั่ว ยอดพระเกศขมวดเป็นปมคล้ายจุก เซียนพระเลยเรียกหลวงพ่อจุก

พระหูยาน พิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานบัว 5 กลีบ ทั้งคว่ำและหงาย กับลักษณะเด่น คือ พระกรรณยาวลงจรดพระพาหา พระพักตร์ก้มเล็กน้อย พระพักตร์อิ่มเต็มเรียก “หูยานหน้านาง” กับบางพิมพ์พระพักตร์บึงดูดุดัน เรียก “หูยานหน้ายักษ์”

พุทธคุณของพระเครื่องกรุวัดปืนก็เป็นเช่นเดียวกับพระเครื่องเมืองลพบุรีพิมพ์ทรงอื่น ๆ คือ คงกระพัน ชาตรี และแคล้วคลาดภัยอันตรายต่างๆ กับเป็นพิเศษทางเมตตามาก

พระนารายณ์ทรงปืน พระเครื่องพิมพ์เมืองลพบุรี

ผู้เขียนเคยมีปรกวัดปืนพิมพ์เล็ก แต่ไปถอดลืมไว้ในห้องอาบน้ำ สนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ช่วงว่าง 10 นาทีก็นึกได้ จึงรีบกลับไปดู ไม่พบ เพราะมีผู้หวังดีนิมนต์ท่านไปเสียแล้ว เสียดายมาก ได้แต่ปลอบใจตนเองอยู่ จนทุกวันนี้ว่าท่านมีเมตตามาก ใครนิมนต์ไปก็ไปกับเขาลิ่วเลย!

วัดปืนวันนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์งดงามมาก ขอบพระคุณกรมศิลปากรลพบุรี ที่นําวัดปืนกลับคืนมา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “เล่าเรื่องวัดปืน” เขียนโดย ส.สีมา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2562