แรกมี “พลาสติก” ในโลก ถึง “พลาสติก” ใช้ครั้งแรกในไทย ปฏิกิริยาคนไทยเป็นอย่างไร

พลาสติก ชนิดต่าง ๆ

แรกมี “พลาสติก” ในโลก ถึง “พลาสติก” ใช้ครั้งแรกใน “ประเทศไทย” ปฏิกิริยาคนไทยเป็นอย่างไร

ทุกวันนี้ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ดูเหมือนจะหนี “พลาสติก” ไม่พ้น ไม่ว่าจะแปรงฟัน, สวมรองเท้า, ใส่แว่นตาอ่านหนังสือ, หยิบมือถือเช็คไลน์, ไปบริจาคโลหิต ฯลฯ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ล้วนต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ  แม้แต่ “ปลา” ที่เรากินเป็นอาหารก็ยังมี “ไมโครพลาสติก” (ฮา)

วันนี้พลาสติกจึงดูเหมือนกำลังกลายเป็นผู้ร้ายเสียแล้ว

หากก่อนหน้านั้น พลาสติกคือฮีโร่สารพัดประโยชน์ในทุกวงการ ที่มนุษย์รู้จักมากว่า 150 ปี และนำมาใช้ประโยชน์ แทนโลหะ ไม้ หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน โดยการนำวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม มาแยกเป็นสารประกอบบริสุทธิ์หลายชนิด

เราใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาเคมี และทำพลาสติกขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกประมาณ ค.ศ. 1868/พ.ศ. 2411 โดย จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John Wesley Hyatt) นักวิทยาศาสตร์ ชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองผลิตวัสดุชนิดหนึ่ง จากปฏิกิริยาของเซลลูโลสไนเทรต กับการบูร มันสามารถทำเป็นแผ่นแบนบาง มีความใสคล้ายกระจก แต่ม้วนหรืองอ พลาสติกชนิดนี้ ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นที่นิยม เรียกว่า “เซลลูลอยด์” (Celluloid)

และนั้นทำให้ไฮแอทเป็นผู้ชนะการประกวด การประดิษฐ์ลูกบิลเลียด ชิงรางวัลในสหรัฐอเมริกา สำหรับผู้ที่หาวัสดุราคาถูกมาใช้แทนลูกบิลเลียดที่เดิมทำด้วยงาช้าง ซึ่งเริ่มหายากมากขึ้น โดยได้ประดิษฐ์ลูกบิลเลียดด้วยเซลลูลอยด์ ต่อจากนั้นก็มีการค้นพบประโยชน์อื่นๆ ของเซลลูลอยด์ เช่น ทำกรอบแว่นตา ด้ามมีด แผงบังลมรถ และฟิล์มถ่ายภาพ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1907/ พ.ศ. 2450 นักเคมีชื่อ ลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ค้นพบวิธีการผลิต “เบคเคอไลต์” (Bekelite) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรกของโลก จากสารอินทรีย์โมเลกุลเล็กๆ ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มัลดีไฮด์และฟีนอล

เบคเคอไลต์เป็นพลาสติกแข็ง ทนความร้อนได้ดี และสามารถขึ้นรูปให้มีรูปร่างต่างๆ ได้ตามแม่พิมพ์โดยใช้ความร้อน ทำให้มีสีสันสวยงามได้และมีราคาไม่แพง เบเคอไลต์ถูกนำมาทำเป็นฉนวนเคลือบสายไฟและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ของใช้ และเครื่องประดับต่างๆ มากมายที่มีสีสันสวยงาม และราคาไม่แพง และกลายเป็นวัสดุที่ได้ชื่อว่าถูกนำมาใช้งานในด้านต่างๆ นับพันอย่าง

ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เบเคอไลต์ถูกนำมาผลิตเป็นโทรศัพท์ แว่นตาสำหรับนักบิน และด้ามอาวุธต่างๆ จากผลิตภัณฑ์ที่มีสีสันต่างๆ ที่เคยมีมากมายกลับกลายเป็นสีดำ จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง เทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปพลาสติก (injection mold) ได้ถูกพัฒนาขึ้น และพลาสติกชนิดใหม่ๆ เช่นไนลอน (nylon) ไวนิล (vinyl) หรืออะคริลิก (acrylic) จากการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์  การใช้เบเคอไลต์น้อยลงอย่างมาก

อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย เริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 ในระยะแรกมีการนำเข้าพลาสติกเรซินจากต่างประเทศ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกกันประปราย ต่อมาใน พ.ศ. 2506 ได้มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงต้องนำเข้าเรซินจากต่างประเทศเช่นกัน

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2515 ประเทศไทย จึงสามารถผลิตพลาสติกเรซินคือ พีวีซี ได้เองเป็นชนิดแรก ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตพลาสติกได้อีกหลายชนิด เช่น พอลิเอทิลีน พอลิโพรไพลีน พอลิสไตรีน และพอลิเอสเทอร์

ส่วนปฏิกิริยาของผู้คนไทยในยุคแรกที่มีพลาสติกใช้เรียกได้ว่า “เห่อ” เป็นได้จากหัสนิยาย สามเกลอ หรือ พล นิกร กิมหงวน (ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2485-2511) ที่ ป.อินทรปาลิต เขียนให้เห็นว่า พลาสติกเป็นเทคโนโลยีแห่งยุคที่ไม่มีไม่ได้ เพราะคุณจะดูเอาท์ไปทันที

บรรดาไฮโซ หรือคนที่พยายามเป็นไฮโซ ไม่ได้ใช้กระเป๋า Louis Vuitton, Harmes, Coach ฯลฯ แต่เป็นกระเป๋าพลาสติกที่สามเกลอ ตอน พ่อแสนงอน เขียนไว้ว่า

“ทุกๆ คนหันควับไปมองทางประตูหน้าห้องพิจารณาคดี หญิงสาวร่างสูงโปร่งคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอเมริกันทั้งชุด คือเสื้อคอปกและสแล๊ก ถือกระเป๋าพลาสติก ทาปากแดงแจ๊ด เขียนคิ้วและทาแก้ม ท่าทางบอกให้รู้ว่าก๋ากั่นขนาดหนัก เดินลงส้นฉับ ๆ ตรงมาที่หน้าบัลลังก์ สายตาจ้องจับใบหน้าท่านผู้พิพากษา…” [เน้นโดยผู้เขียน]

หรือในตอน สามเกลอไปอเมริกา ของฝากจากต่างประเทศที่อยากได้ก็ ไม่ใช่น้ำหอม หรือเครื่องประทับยี่ห้อดัง แต่เป็นพลาสติก เมื่อพลหนึ่งในพระเอกของเรื่องจะไปอเมริกา คุณหญิงประสิทธินิติศาสตร์ผู้เป็นมารดาจึงสั่งว่า

“แม่คิดถึงและเป็นห่วงแกมาก ที่นั่นมีหมากหน้าดี ๆ ละก้อ ส่งมาให้แม่นะลูกนะ แล้วอยากได้ของปลาสติกใช้บ้าง” [เน้นโดยผู้เขียน]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 28  เรื่องที่ 8 พลาสติกกับชีวิตในปัจจุบัน  http://saranukromthai.or.th

ประวัติพลาสติก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ https://www.mtec.or.th   

ประวัติความเป็นมาของพลาสติก. สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม https://adeq.or.th   

ไม้ซีกขีด. เก็บอดีตจากหัสนิยายพล นิกร กิมหงวน ตอน ๓๑ ชีวิตยุคพลาสติก https://jingjonews.com

 เว็บไชต์สามเกลอ http://www.samgler.org


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2562