วีรกรรมห้าวสุดฤทธิ์ของ “หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด” กล้าขัดแข้ง ร.5 จนตกบันไดและวิกฤตวังหน้า

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม พ.ศ. 2539 ผู้เขียนอ้างอิงข้อมูลจากงานเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งภายหลังมีข้อถกเถียงเพิ่มเติมถึงข้อเท็จจริงในงานเขียนของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ อันเป็นข้อมูลที่มาจากการรับฟังคำบอกเล่าอีกทอดหนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้ยังต้องรอหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์และสรุปข้อถกเถียงอย่างแน่ชัดต่อไป


 

Advertisement

จารีตประเพณีของสตรีโบราณเป็นประดุจกฎข้อบังคับแนวทางชีวิตของกุลสตรีทุกคน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นก็จะถูกสังคมประณามว่าประพฤตินอกรีตนอกรอยไม่เป็นกุลสตรี จารีตประเพณีไม่ได้บังคับเฉพาะความประพฤติและการปฏิบัติ แต่จํากัดความคิดความเห็นของสตรี จนน่าที่จะทําให้สตรีในสมัยนั้นไม่รู้หรือไม่กล้าแม้แต่จะรู้ความต้องการของตนเอง

แต่ความแข็งแห่งจารีตประเพณีจะแกร่งเพียงใดก็ต้องพ่ายแพ้ต่อหัวใจอันห้าวหาญ สติปัญญาเฉียบฉลาด และความมั่นใจในตัวเองของสตรีผู้หนึ่งในสมัยนั้น นั่นคือ หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด

คุณสมบัติของหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดทุกประการที่กล่าวมาแล้วนั้น ล้วนเป็นเครื่องผลักดันชีวิตของท่านให้เดินออกนอกกรอบประเพณี และห่างไกลวิถีทางแห่งความเป็นกุลสตรี แม้ในความคิดเห็นของคนปัจจุบัน ชีวิตของท่านก็ยังเป็นชีวิตที่พิเศษกว่าคนทั่วไป ซึ่งหากเป็นสํานวนวัยรุ่นสมัยนี้ก็เรียกว่าเป็นชีวิตที่ “ห้าวสุดฤทธิ์” หรือไม่ก็ “เปรี้ยวสุดเดช”

หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดเป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ (พระองค์เจ้าชายปราโมช) กับหม่อมราชวงศ์ดวงใจ เล่ากันว่าเมื่อวัยเยาว์ท่านเป็นเด็กน่ารักน่าเอ็นดู ผิวขาวผ่องสมชื่อ ใครเห็นใครรัก คุณสมบัติพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ท่านเป็นลูกหลานเศรษฐี คุณย่าของท่านคือ เจ้าจอมมารดาอําภา เป็นธิดาพระยาอินทรอากร เจ้าสัวใหญ่มีกิจการค้าร่ำรวยมหาศาล

ในสมัยนั้น เมื่อความน่ารักน่าเอ็นดูผสมเข้ากับความร่ำรวย ก็น่าจะเพาะอุปนิสัยเอาแต่ใจตัวเองให้ท่านแต่บัดนั้น และปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาสู่ชีวิตท่านก็ล้วนแต่เป็นเครื่องส่งเสริมนิสัยนี้ให้ทวีคูณ เช่นเมื่อบิดานําท่านเข้าถวายตัวในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ก็ทรงโปรดปรานด้วยเห็นว่าเป็นเด็กน่ารักน่าเอ็นดู จึงทรงเลี้ยงอย่างพระเจ้าลูกเธอ คนในวังเรียกกันว่า “ลูกเธอปลอม”

การอบรมเลี้ยงดูพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แตกต่างจากการเลี้ยงดูตามแบบโบราณ เพราะโปรดให้พระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ทรงมีโอกาสใกล้ชิดติดพระองค์ตามเสด็จไปยังสถานที่ต่าง ๆ และทรงตามพระทัยจนทําให้ระเบียบปฏิบัติระหว่างฝ่ายหน้าและฝ่ายในย่อหย่อนไม่เข้มงวดดังแต่ก่อน นับเป็นการเริ่มการเลี้ยงดูแบบใหม่ ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยลดการตามใจตนเองของท่านลงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้แก่ท่านเป็นทวีคูณเมื่อยังเยาว์วัยอยู่ ก็ออกมาในรูปของความไม่เกรงกลัวผู้ใด จนเรียกว่าเป็นเด็กเกเร ดังที่พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บรรยายตามที่หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด เล่าถึงพฤติกรรมเกเรของท่านไว้ในหนังสือเรื่อง โครงกระดูกในตู้ ว่า

“ท่านเล่าว่า ท่านเคยวิ่งเล่นมากับพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และพระเจ้าลูกเธออื่น ๆ เมื่อยังทรงพระเยาว์ทุกพระองค์จนเป็นที่คุ้นเคย ผู้ที่ท่านป้าฉวีวาดคอยหาทางเล่นรังแกอยู่เสมอก็หาใช่ใครที่ไหนไม่ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อยังทรงพระเยาว์นั่นเอง ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระดํารัสใช้ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นไปทรงหยิบของบนหอพระ ท่านป้าฉวีวาดก็แอบไปนั่งอยู่ข้างพระทวาร

พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับลงมา ท่านก็ยื่นขาออกไปขัดพระชงฆ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงล้มลง และตกอัฒจันทร์บนพระที่นั่งลงมาหลายขั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ กริ้วว่างุ่มง่ามเซ่อซ่า แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงนิ่งเสีย มิได้กราบบังคมทูลฟ้องว่าใครเป็นต้นเหตุให้ทรงตกอัฒจันทร์ แทนที่ท่านป้าฉวีวาดจะระลึกถึงพระเดชพระคุณ ท่านกลับเห็นว่าตัวท่านเก่ง เล่นรังแกเจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ได้”

และเมื่อเติบโตขึ้นท่านก็ได้ใช้อุปนิสัยนี้ตัดสินการดําเนินชีวิต แม้แต่เรื่องการมีครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องสําคัญที่สุดสําหรับชีวิตของลูกผู้หญิง เริ่มจากท่านรับหมั้น พระองค์เจ้าชายคัคนางค์ยุคล (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มารู้ภายหลังว่า “พระองค์คัคนางค์” ทรงมีหม่อมชื่อสุ่นอยู่ในวังแล้วคนหนึ่ง ด้วยความคิดที่ก้าวหน้ากว่าสมัยราว 100 ปี ท่านจึงไม่ยินยอม บังคับให้พระองค์คัคนางค์เลิกกับหม่อมสุ่น พระองค์คัคนางค์ทรงตามไม่ทันความคิดก้าวหน้าของท่าน จึงไม่ทรงยินยอม

หม่อมเจ้าฉวีวาดก็ได้แสดงอาการเอาแต่ใจตนเอง ผิดวิสัยกุลสตรีในสมัยนั้น คือโยน ของหมั้นของพระองค์คัคนางค์ทิ้งทางหน้าต่างตําหนักตกเรี่ยราดอยู่กับพื้นดิน

ถึงกระนั้นดีกรีความร้อนในอารมณ์ของหม่อมเจ้าฉวีวาดก็ยังไม่ลดลง พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงอารมณ์โกรธตอนนี้ของหม่อมเจ้าฉวีวาด ว่า “เมื่อท่านโกรธกับกรมหลวงพิชิตฯ แล้ว ท่านก็เลยถือว่า ท่านโกรธกับวังหลวงทั้งวัง”

วิธีแสดงความโกรธกับวังหลวงของท่านก็คือไปเข้ากับวังหน้า ซึ่งขณะนั้นกําลังมีเรื่องขัดแย้งกับวังหลวง

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า สืบเนื่องมาจากการแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะตามธรรมเนียมโบราณ ตําแหน่งวังหน้านั้น พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพิจารณาแต่งตั้งเอง แต่สําหรับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ให้ความสนับสนุน ดังนั้นจึงเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเป็นนัย ๆ ยิ่งเมื่อมีสาเหตุภายนอกช่วยกระพือ คือการที่นายโรเบิร์ต น็อกส์ กงสุลอังกฤษประจําประเทศไทยได้ให้ความสนิทสนมและสนับสนุนวังหน้า ถึงขั้นจะยกวังหน้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง หรือไม่ก็แบ่งเมืองไทยออกเป็นสองส่วน เพื่อให้ได้ปกครองกันองค์ละส่วน และวังหน้าก็ทรงมีท่าทีเอนเอียงนับถือนายน็อกส์มากอยู่ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาปรารภกับสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ความตอนหนึ่งว่า

“มีความวิตกถึงแผ่นดินมากนัก ถ้าพลาดพลั้งหม่อมฉันตายลง วังหน้ามาเป็นเจ้าแล้ว คงจะสมดั่งที่เขาพูดนี้ไม่คลาดได้เลยจนสักข้อหนึ่งเป็นแท้ทีเดียว เห็นจะยิ่งกว่านโรดมหลายเท่านัก วังหน้าทุกวันนี้สิ้นความคิด เหมือนผ่าอกมาให้เขาดูหมดแล้ว ราชการสิ่งใดจนข้าไทวิวาทกันก็ต้องอาศัยให้เขาตัดสินทั้งนั้น ถ้าเป็นเจ้าขึ้นเขาว่าไร คงต้องตามทุกทุกอย่าง ไม่มีทางขัดขืนเลย”

เมื่อไปฝักใฝอยู่กับวังหน้านั้น หม่อมเจ้าฉวีวาดก็ได้สมรสกับพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ (พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์สุภากร) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

การปฏิบัติตนในฐานะพระชายาของหม่อมเจ้าฉวีวาดนั้นนับว่าล้ำสมัยไปมาก ดังที่พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ว่า

“ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็มีศักดิ์ทางพระราชวงศ์สูงกว่าท่านป้าฉวีวาดเป็นไหน ๆ แต่เจ้าพี่เจ้าน้องท่านป้าฉวีวาด รวมทั้งตัวท่านป้าฉวีวาดเองกลับดูถูกท่านว่าเป็น ‘เจ้าวังหน้า’ เสด็จลุงเฉลิมฯ ท่านทรงเป็นคนสงบเสงี่ยมเรียบร้อย รักพระชายาด้วยน้ำพระทัยจริง มิได้เคยขัดพระทัยท่านป้าฉวีวาดแต่อย่างไรเลย เวลาจะรับสั่งกับท่านป้าฉวีวาดก็รับสั่งด้วยถ้อยคําอ่อนหวาน เรียบร้อย เรียกพระองค์ท่านเองว่า ‘พี่’ และเรียกท่านป้าฉวีวาดว่า ‘เจ้าน้อง’ ทุกครั้ง มิได้เคยรับสั่งขึ้นเสียงกับท่านป้าฉวีวาดเลย ตรงกันข้ามกับท่านป้าฉวีวาด ซึ่งมักจะรับสั่งก้าวร้าวเอากับพระสามี ซึ่งท่านเรียกว่า ‘องค์เหลิม’ เฉย ๆ และไม่ถูกพระทัยขึ้นมาก็เอ็ดอึงเอาง่าย ๆ”

ชีวิตของหม่อมเจ้าฉวีวาดก็น่าที่จะจบลงตรงนี้อย่างมีความสุข แต่ก็ยังจบไม่ได้ เพราะท่านได้ลิขิตวิถีชีวิตของท่านให้ก้าวเข้าไปพัวพันในวังวนของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้าเสียแล้ว ระหว่างที่เหตุการณ์กําลังตึงเครียดอยู่นั้น ตึกดินในวังหลวงได้เกิดระเบิดเพลิงไหม้ในพระบรมมหาราชวัง กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จไปประทับในสถานกงสุลอังกฤษ ประกาศพระองค์อยู่ในบังคับรัฐบาลอังกฤษ

ขณะที่ทุกสิ่งทุกอย่างกําลังอยู่ในขั้นวิกฤต วิสัยสตรีทั่วไปก็น่าที่จะตระหนกตกใจจนคิดและทําอะไรไม่ถูก แต่หม่อมเจ้าฉวีวาดมิใช่สตรีธรรมดาเช่นนั้น ท่านคิดได้อย่างรวดเร็วและตัดสินใจฉับพลันตามอุปนิสัย ไม่มีสิ่งใดจะขวางกั้นการกระทําของท่านได้ ไม่ว่าจะเป็นจารีตประเพณีหรือกฎมณเฑียรบาล

ท่านว่าจ้างเรือสําเภาขนสมบัติและผู้ติดตามพร้อมสิ่งสําคัญอันเป็นพยานยืนยันถึงสติปัญญาอันเฉียบฉลาดของท่าน นั่นคือ คณะละครของเจ้าจอมมารดาอําภา ซึ่งถือเป็นคณะละครที่มีชื่อเสียงที่สุดในราชสํานัก ท่านหาญกล้าพอที่จะนําเรือสําเภานั้นแล่นออกทะเลหลวงไปจนถึงราชสํานักเขมร ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่ท่านคาดคิด ราชสํานักเขมรซึ่งท่านรู้ดีว่าเป็นเสมือนเมืองน้องเคยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้ให้การต้อนรับท่านอย่างดีเยี่ยม ด้วยพอใจทั้งตัวท่านและคณะละครที่ท่านนํามาด้วย

ครั้นเวลาล่วงแลย ความร้อนแห่งอารมณ์และจิตใจของท่านค่อยเบาบางลง สํานึกที่อยู่ส่วนลึกแห่งจิตใจจึงเริ่มเรียกร้อง นั่นคือการกลับสู่แผ่นดินเกิด

หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดเดินทางกลับมาตุภูมิเดิมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้บรรจงเก็บพับอดีตอันโลดโผนด้วยการบวชเป็นรูปชี วางชีวิตบั้นปลายไว้บนเส้นทางแห่งความสงบ ชดเชยอดีตอันโลดโผน

หม่อมเจ้าฉวีวาดสิ้นชีพิตักษัย เมื่ออายุได้ 80 ปี ครั้งนี้ธรรมชาติเป็นผู้ปิดฉากชีวิตของท่านอย่างถาวร

ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่หม่อมเจ้าฉวีวาดคงเหลือหรือทิ้งไว้ก็คงจะเป็นเพียงความทรงจําหรือคําเล่าลือ แต่ครั้งใดเมื่อคิดถึงเรื่องของท่าน ทุกคนก็คงจะอดคิดถึงสายเลือดอันนับเนื่องเป็นหลานป้าคนหนึ่งของท่านไม่ได้ว่าช่างมีคุณสมบัติเหมือนกันเสียนี่กระไร เพราะมีทั้งความเฉียบฉลาด กล้าหาญ คมชัด ฉับไว และความ “เฮ้วสุดสุด” ตั้งแต่ต้นจนจบชีวิต หลานของหม่อมเจ้าฉวีวาดคนนั้นคือ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562