เจาะ “เมืองไทยจงตื่นเถิด” พระราชนิพนธ์ในร.6 ปลุกคนไทยให้พึ่งตนเอง หาใช่ต่างชาติ-จีน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

“—ชาวต่างประเทศนั้น อาจจะเต็มใจอยู่ด้วยกับเรา กินข้าวกินน้ำกับเรา ค้าขายกับเรา และเป็นสหายกับเราได้ แต่เราจะหวังว่าเขาจะตายด้วยเรานั้นไม่ได้—”

เป็นข้อความตอนหนึ่ง ในบทความเรื่อง “เมืองไทยจงตื่นเถิด” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงใช้นามปากกาว่า “อัศวพาหุ”

บทความเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อเตือนสติคนไทยในสมัยนั้น ซึ่งกำลังหลงระเริงอยู่กับความสุขสะดวกสบายในการพึ่งพาอาศัยชาวจีนซึ่งเข้ามาอาศัยผืนแผ่นดินไทยทำมาหากิน และเพราะความขยันขันแข็งของคนจีนซึ่งยอมทำงานทุกชนิดอย่างที่เรียกกันว่าหนักเอาเบาสู้ จนกิจการต่างๆ ที่คนไทยอันเป็นเจ้าของประเทศพึงต้องทำ แต่ก็ละเลยปล่อยให้คนจีนทำโดยตนเองดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขสะดวกสบาย ซึ่งทรงเห็นว่าจะนำไปสู่ผลเสียแก่บ้านเมือง เพราะเมื่อถึงเวลาคับขันที่เราจะต้องช่วยตัวเอง ในเวลาเช่นนั้น “—เราจะหวังว่าเขาจะตายด้วยเรานั้นไม่ได้—”

ไทยกับจีนเป็นประเทศที่ติดต่อค้าขายกันมายาวนานก่อนสมัยอยุธยาจนถึงสมัยอยุธยา คนจีนและลูกหลานคนจีนที่ทั้งเดินทางเข้ามาค้าขายและทั้งตั้งหลักฐานมั่นคงอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาก็มีจำนวนมาก คนจีนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขาย มีหลักฐานที่ระบุถึงย่านชาวจีนและสินค้าที่ชาวจีนขายไว้หลายแห่ง เช่น ย่านขนมจีนทำขนมเปียใหญ่น้อยขายย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ขายปรอททองเหลืองเคลือบ ย่านในไก่เชิงสะพานประตูจีนเป็นย่านคนจีนขายไหมแพร ถ้วยโถโอชาม โต๊ะเตียงและเครื่องจันอับ

คนจีนอีกส่วนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ เมื่อมีผู้รู้จักหรือเห็นความสามารถนำเข้าถวายตัวรับราชการ ทำความดีความชอบได้รับพระราชทานตำแหน่งบรรดาศักดิ์ก็มีชาวจีนมีคุณลักษณะสำคัญที่ทำให้คนไทยพอใจคือความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่หยิ่งยโสโอ้อวด ขยันขันแข็งอดทน และสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับขนบประเพณีไทยได้อย่างกลมกลืน แม้แต่การหมอบคลาน ความรู้และผลงานบางอย่างของคนจีนอำนวยผลประโยชน์ให้คนไทย ทำให้คนจีนได้รับความไว้วางใจและความสนิทสนมจากคนไทยในระดับหนึ่ง คนจีนหลายๆ คนจึงได้รับสิทธิพิเศษมีฐานะเกือบเท่าเทียมคนไทย จนคนไทยไม่คิดว่าคนจีนเป็นคนต่างด้าว ดังจะเห็นได้จากการที่ไม่มีพระราชกำหนดห้ามมิให้คนไทยแต่งงานกับคนจีน ทั้งๆ ที่ห้ามคนไทยมิให้แต่งงานกับคนต่างด้าว เช่น อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู

จนเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 การค้าขายระหว่างไทย-จีนต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่มีชาวจีนจำนวนหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋ว ได้เข้าร่วมกองทัพกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนสามารถกู้อิสรภาพคืนมาได้ และโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี จึงมีชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่ยังคงอาศัยอยู่ในไทย และเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงติดต่อกับจีน พ่อค้าคนจีนจึงหวนกลับเข้ามาค้าขายกับไทยเป็นปกติอีกครั้ง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้กลุ่มชาวจีนซึ่งมีพระยาราชาเศรษฐีเป็นหัวหน้าตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตรงข้ามกรุงธนบุรี ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้ย้ายเมืองหลวงจากฝั่งธนบุรีมาสร้างเมืองหลวงใหม่ทางฝั่งพระนคร คือกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยนี้มีชาวจีนอพยพเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก

การอพยพเข้ามาในสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนซึ่งเดินทางมาด้วยวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อการค้าขาย แต่ในสมัยนี้ชาวจีนส่วนใหญ่หนีความลำบากทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยสงคราม ทำให้เกิดความลำบากยากจน หนุ่มจีนต้องยอมละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเดินทางออกไปทำงานในต่างแดนเพื่อหาเงินกลับมาเลี้ยงครอบครัว

สยามเป็นดินแดนหนึ่งที่หนุ่มชาวจีนมุ่งหน้ามาอันเนื่องมาแต่ข่าวลือถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ อัธยาศัยและน้ำใจของชาวสยามซึ่งโอบอ้อมอารีให้อิสระแก่คนจีน ทำให้การทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่น่าจะดี ทั้งนี้เพราะคนจีนมีวัตถุประสงค์แน่วแน่ในการที่จะเข้ามากอบโกยเงินทองเพื่อนำกลับไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน ดังที่มีคำพูดติดปากถึงชาวจีนที่เข้ามาเมืองไทยในตอนแรกนั้นมีลักษณะ “เสื่อผืนหมอนใบ” ไม่มีเงินทองติดตัวมา

เมื่อมาถึงเมืองไทยก็จะมีพวกพ้องที่อยู่มาก่อนอุปการะให้ความช่วยเหลือให้ได้ทำงานเป็นลูกจ้างบ้าง กุลีบ้าง ค้าขายเล็กๆน้อยๆ บ้าง และด้วยความมุ่งหมายสำคัญคือการหาเงินให้ได้มากที่สุดทำให้คนจีนมีอุปนิสัยดังที่อัศวพาหุสรุปไว้ว่า “—เราไม่เหมือนจีน ซึ่งรักแต่เงินอย่างเดียว แลมักเป็นคนตระหนี่เบียดกรอ—”

นอกจากจะตระหนี่แล้ว คนจีนยังมีความขยันขันแข็งอดทน รักพวกพ้อง และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตน ไม่ยอมให้เด็กรุ่นหลังลืมความเป็นคนจีน ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

“—จะเห็นได้ว่ามีสโมสรและสมาคมจีนแลลูกจีนเป็นอันมากที่มาจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติใหม่ ทั้งนี้ล้วนส่อให้เห็นว่าพวกหัวหน้าจีนไม่มีความประสงค์ที่จะให้จีนลืมตัวว่าเป็นคนต่างภาษา—”

ทำให้ทรงมองว่าคนจีนยังคงความเป็นจีนเพื่อจะได้กลับไปบ้านเกิดเมืองนอนโดยไม่ยอมที่จะอยู่ในไทยอย่างถาวร

ในขณะที่คนจีนทำงานหนักอย่างขยันขันแข็งอดทนและตระหนี่ถี่เหนียวเพื่อนำเงินส่งกลับเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีนนั้น แต่คนไทยกลับมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย ทำให้เกิดความเกียจคร้านไม่สู้งานหนัก ยิ่งเมื่อมาพบคนจีนซึ่งขยันขันแข็งอดทนพร้อมที่จะทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าตอบแทนไม่มากนัก จึงเกิดความพอใจที่จะให้คนจีนทำงานหนักแทนตน ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความเกียจคร้าน ทำให้ต้องพึ่งพาอาศัยแรงงานคนจีนมากยิ่งขึ้นจนเกิดความคิดว่าจะขาดคนจีนเสียไม่ได้ และต้องเอาใจคนจีน ดังที่อัศวพาหุได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

“—ด้วยเหตุเพื่อความเกียจคร้านก็ดีหรือเพื่อความสะดวกส่วนตัวก็ดี โดยต้องหันไปอาศัยจีน จนถึงบางคนยึดถือเป็นความเห็นอันจริงจังเสียว่าจีนเป็นส่วนอันจำเป็นแท้แก่ความเป็นอยู่แห่งชาติไทยเรา และด้วยเหตุนี้ไทยจะก่อเหตุให้บาดหมางกับจีนไม่ได้—”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตระหนักพระราชหฤทัยถึงภัยอันจะเกิดเพราะความประพฤติและการปฏิบัติตัวของคนไทย เพราะคนจีนกำลังคืบคลานเข้ายึดในสิ่งที่คนไทยเคยทำหรือเป็นของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นอาชีพค้าขาย งานช่าง งานรับจ้าง งานบริการ ล้วนอยู่ในมือคนจีนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มีผู้เคยบ่นให้ได้ยินถึงพระกรรณว่า “—ถ้าเจ๊กหยุดงานต่อไปอีกนานแล้วเราจะต้องอดตาย—”

ด้วยเหตุต่างๆดังกล่าวทำให้ทรงพระวิตกว่าหากเกิดภัยกับประเทศไทย คนจีนซึ่งมุ่งหมายเพียงแต่มากอบโกยเงินทองเพื่อส่งไปเลี้ยงครอบครัวที่เมืองจีนก็จะพากันละทิ้งสยาม อันเป็นสิทธิ์ของคนจีนในการที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะไม่ใช่แผ่นดินเกิดของตน ดังที่ทรงกล่าวว่า

“—จะเกิดมีสงครามขึ้นแก่เมืองเราและจีนพากันทิ้งเราไปหมด ตามที่เขามีความชอบธรรมและเหตุผลควรที่จะไป—”

ทรงพระวิตกต่อไปว่าหากคนไทยยังคงมีพฤติกรรมพึ่งพาคนจีนทั้งหมด กิจการต่างๆ ที่เคยทำก็ละทิ้งปล่อยให้คนจีนทำจนคนไทยไม่มีความสามารถที่จะช่วยตัวเองแม้แต่เรื่องอาหารการกินในเวลาคับขัน “—เราจะได้เสบียงอาหารมาจากไหน ใครจะทำงาน ซึ่งเราลืมวิธีทำเสียแล้วให้เราได้ และถ้าเราไม่มีบ่าวและพ่อครัวจีนแล้วเราจะเป็นอย่างไรบ้าง เราจะคิดอ่านอย่างไร ลงนอนยอมตายหรือ—”

ความวิตกของพระองค์เป็นสิ่งที่ถูกต้องในช่วงเวลานั้น เพราะคนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในสยาม ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์เพียงเข้ามากอบโกยเงินทองเพื่อกลับไปเลี้ยงครอบครัวตนเองที่เมืองจีนแทบทั้งสิ้น และคนจีนกลุ่มนี้เองที่ยอมสละแรงกายทำงานทุกอย่าง แม้งานนั้นจะยากหรือสกปรก ต้องใช้ความอดทนอย่างสูงที่คนไทยไม่ชอบทำ แลกกับรายได้เพียงเล็กน้อยซึ่งคนไทยพอใจ และชาวจีนกลุ่มนี้เองที่จะรีบออกจากไทยทันทีเมื่อเกิดภัยหรือแม้เพียงข่าวลือ ดังที่ทรงเล่าไว้ว่า

“—แม้จะเกิดข่าวลือเรื่องภัย คนจีนก็จัดเตรียมพร้อมที่จะออกไปจากประเทศของเราอยู่เป็นนิจ เช่น ถึงแม้จะมีข่าวลือซึ่งเหลือจะเชื่อ และไม่น่าเชื่อทั้งที่ไม่อาจเป็นไปได้ก็ดี ก็พอเพียงที่จะกระทำให้พวกจีนตื่นเต้นพากันวิ่งไปหาอู่เรือต่างๆ และเยียดยัดกันลงเรือเมล์ที่จะออกไปนอกน่านน้ำสยาม—”

ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักถึงภัยดังกล่าว จึงทรงพยายามที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้รู้จักช่วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยคนจีน “—พวกเราจงมาพากันทำประโยชน์ให้แก่ชาวเรามากที่สุดที่จะทำได้ โดยไม่ต้องอาศัยชาวต่างภาษา เพื่อความสำเร็จแห่งการงานทุกอย่าง—”

และวาทะสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระนาม “อัศวพาหุ” ทรงใช้ปลุกจิตสำนึกคนไทยและชี้ให้เห็นถึงโทษภัยของการไม่รู้จักพึ่งตนเอง ความว่า

“—ชาวต่างประเทศนั้น อาจจะเต็มใจอยู่ด้วยกับเรา กินข้าวกินน้ำกับเรา ค้าขายกับเราและเป็นสหายกับเราได้ แต่เราจะหวังว่าเขาจะตายด้วยเรานั้นไม่ได้—”

วาทะนี้ทำให้คนไทยบางคนบางกลุ่มตาสว่างเห็นความจริงที่ทรงชี้ให้เห็นและหันกลับมาปรับปรุงตนเอง

บทความเรื่อง “เมืองไทยจงตื่นเถิด” แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการมองเหตุการณ์และภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในเวลานั้น และทรงใช้วิธีการปลุกจิตสำนึกด้วยการอาศัยสื่อซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยใช้กันในหมู่อารยชนในเวลานั้น ซึ่งน่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยยังคงความเป็นไทยอยู่จนทุกวันนี้


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562