“สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยสมัยสงครามที่กลายเป็นตัวช่วยสำคัญเวลาเกิดอุทกภัย

รถบรรทุกของกองทัพที่ 8 ของอังกฤษ กำลังข้ามแม่น้ำซานโกรในอิตาลี ใช้สะพานเบลีย์ที่วางพาดบนเรือท้องแบนที่จอดเรียงกัน (ภาพจาก 101 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

น้ำท่วม ถนนขาด สะพานทรุด ฯลฯ คือปัญหาในฤดูฝนที่มีให้เห็นเสมอๆ หนึ่งในบรรดาตัวช่วยชั้นดีคงหนีไม่พ้น “สะพานแบริ่ง” ที่คนไทยเรารู้จักดี เพราะเส้นทางคมนาคมที่ถูกกระแสน้ำตัดขาด ก็ได้สะพานแบริ่ง ช่วยเชื่อมต่อชั่วคราว เพื่อให้ผู้คน, ผลิตผล และความช่วยเหลือเข้าไปถึงพื้นที่ได้ หากชื่อจริงของมันนคือ “สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยหนึ่งจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวันนี้เป็นตัวช่วยสำคัญในยามที่เกิดอุทกภัย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเยอรมนีและฝ่ายสัมพันธมิตร มีความจําเป็นต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหรือ หุบเขาลึกอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสะพานที่มีอยู่เดิมถูกทําลาย หรือเป็นเพราะส่วนหนึ่งของกองทัพต้องการจะสร้างความประหลาดใจให้ศัตรู ด้วยการข้ามไปยังสถานที่ที่ไม่มีสะพาน ยิ่งมีการสร้างสะพานในบริเวณที่มีการสู้รบเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และทหารช่างหรือวิศวกรมักพยายามอย่างหนักที่จะบรรลุการออกแบบสะพานที่ทั้งสร้างได้เร็ว และสามารถรองรับยานพาหนะที่หนักที่สุดให้ขับข้ามไปได้ ทั้งนี้ มีความคืบหน้าอย่างมากในการออกแบบเพื่อให้ บรรลุความต้องการทั้ง 2 ประการดังกล่าวในช่วงสงคราม ปี 1939-1945

ตัวอย่างที่โดดเด่นของเรื่องนี้ และถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางวิศวกรรม ก็คือการสร้างสะพานเบลีย์ (Bailey Bridge) โดยโดนัลด์ เบลีย์ แห่งสถาบันทดลองวิศวกรรมทางทหารของอังกฤษ ที่ไครสต์เชิร์ช ในดอร์เส็ต เมื่อต้นปี 1942 คานของสะพานเบลีย์ สร้างจากแผ่นเหล็กที่เหมือนกันนำมาขัดกันเป็นตารางและยึดไว้ด้วยหมุดโลหะ คานสะพานแต่ละชิ้นสามารถเสริมเข้าไปอีก 2 เท่าหรือ 3 เท่า เพื่อเพิ่มความยาวและความแข็งแรงเป็นพิเศษ อีกทั้งสามารถเพิ่มขึ้นไปอีก 2 ชั้นเพื่อยืดขยายพื้นที่ของสะพานให้ใหญ่ขึ้น คานด้านล่างจะทำหน้าที่รับน้ำหนักบนสะพาน โครงสร้างที่เสร็จสมบูรณ์แล้วสามารถปล่อยลงโดยการใช้รอกเหนือช่องว่างเพื่อเชื่อมสะพานเข้าด้วยกันโดยใช้หลักการถ่วงน้ำหนัก

สะพานเบลีย์ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกเพื่อข้ามแม่น้ำเม็ดเจอร์ดา ใกล้กับเม็ดเจซในตูนิเซีย ในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1942 ทั้งนี้ ระหว่างการสู้รบในแอฟริกาเหนือ มันกลายเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับข้ามแม่น้ำของกองทัพสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และต่อมากองทัพโซเวียตก็ใช้สะพานนี้ด้วย ในการข้ามแม่น้ำที่มีความกว้าง

กองทัพทั้งหมดจะใช้ระบบทุ่นลอยน้ำหรือเรือที่ทอดสมอ เคียงข้างกันตลอดความกว้างของแม่น้ำ จากนั้นวางสะพานเบลีย์พาดลงบน “สะพานจากเรือ” หรือเรือที่ทอดสมออยู่เหล่านั้น อังกฤษและโซเวียตใช้ทุ่นลอยที่ทำด้วยไม้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้อุปกรณ์ที่เปราะบางกว่าแต่ง่ายต่อการขนส่ง นั่นคือเรือยางเป่าลม กรณีต้องการให้สะพานเบลีย์รับน้ำหนักบรรทุกได้ 9 ตัน อังกฤษจะใช้เรือไม้พับได้ที่เบาและขนส่งง่ายสำหรับวางสะพานเบลีย์ หากต้องการให้รับน้ำหนักได้ 70 ตัน จะใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นที่พาดสะพาน

สะพานเบลีย์จะถูกขนส่งมาด้วยรถบรรทุกในลักษณะเป็นชิ้น ๆ เมื่อเกิดอุปสรรค ชิ้นส่วนต่าง ๆ จะถูกส่งไปล่วงหน้าและประกอบเป็นสะพาน มันดีกว่าที่จะมีคำเตือนว่า การเชื่อมต่อสะพานต้องทำเป็นลำดับ โดยรถบรรทุกที่ทำหน้าที่ประกอบสะพานต้องอยู่ในตำแหน่งนำหน้าในขบวนยานพาหนะ

เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ในกรณีของ ยุทธการมาร์เก็ต การ์เด้น ซึ่งเป็นปฏิบัติการเพื่อพยายามยึดสะพานข้ามแม่น้ำและคลองหลายแห่ง รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ที่อาร์เน็ม เนเธอร์แลนด์ เดือนกันยายน ปี 1944 ในเช้าวันที่ 18 กันยายน เยอรมนีได้ระเบิดสะพานข้ามคลองที่ซอน ทางเหนือของเอนด์โฮเฟน เพื่อยับยั้งการรุกคืบของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ปรากฏว่า รถบรรทุกที่ขนชิ้นส่วนสะพานเบลีย์อยู่ท้ายขบวนยานพาหนะที่กำลังรุกคืบบนถนนแคบ ๆ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังต้องขับรถผ่านเข้าไปในเมืองใหญ่อย่างเอนด์โฮเฟน ซึ่งบนท้องถนนแออัดไปด้วยชาวดัตช์ที่กำลังเฉลิมฉลองการได้รับอิสรภาพ

ในที่สุดรถบรรทุกชิ้นส่วนสะพานก็มาถึง สะพานถูกสร้างขึ้นและรถถังของกองพลยานเกราะคุ้มกันได้ข้ามคลองไป แต่ความล่าช้าในการสร้างสะพานข้ามคลองที่ซอน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 1 ของอังกฤษล้มเหลว ไม่สามารถยึดสะพานอาร์เน็มที่มีความสำคัญยิ่งยวดเอาไว้ได้นานพอเพื่อให้กองกำลังสับเปลี่ยนเดินทางมาถึง

ปฏิบัติการสะพานเบลีย์ครั้งใหญ่ที่สุดดำเนินการโดนอเมริกาเกิดขึ้นระหว่างการข้ามแม่น้ำไรน์ในเดือนมีนาคม 1945 แต่ที่จริงสะพานเบลีย์ถูกนำไปใช้ในทุกสนามรบในช่วงสงคราม บางครั้งก็ใช้เป็นเรือขนส่งสินค้าข้ามฟากโดยวางส่วนต่าง ๆ ของสะพานลงบนทุ่นลอยน้ำ สิ่งนี้มีประโยชน์เป็นพิเศาในการนำรถหุ่มเกราะข้ามน้ำในขั้นต้น ขณะที่กำลังสร้างสะพานหลัก

อังกฤษและสหรัฐอเมริกาสร้างสะพานเบลีย์กว่า 3,000 แห่งในอิตาลีและซิซิลี สะพานที่ยาวที่สุดก็คือสะพานข้ามแม่น้ำซานโกร อิตาลีซึ่งมีความยาว 343 เตร (1,126 ฟุต) อีกหลายแห่งสร้างข้ามแม่น้ำชินด์วินระหว่างกองทัพที่ 14 รุกคืบไปยังแม่น้ำอิรวดีและมัณฑะเลย์ในพม่า มันมีความยาว 352 เมตร (1,154 ฟุต)

­­­­­­­­­สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกในเมื่อ 22 ตุลาคม 2562