จังหวัดฉะเชิงเทรา มีที่มาอย่างไร? ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 1000

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2450 (ภาพจากหนังสือฉะเชิงเทรา มาจากไหน ?)

ฉะเชิงเทรา แปลว่า แม่น้ำลึก, คลองลึก ชื่อฉะเชิงเทรามีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานในจารึกแผ่นเงินวัดเจดีย์ (วัดพยัคฆอินทาราม) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทราย้ายที่ตั้งมา 3 ครั้ง คือ บริเวณปากน้ำเจ้าโล้, อำเภอบางคล้า และตัวจังหวัดฉะเชิงเทราปัจจุบัน

มีวิวัฒนาการลำดับได้ดังนี้

1. พ.ศ.1000 บริเวณสองฝั่งลำน้ำท่าลาด หรือคลองท่าลาด ที่ไหลผ่านเขต อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีชุมชนบ้านเมืองโบราณ หลายแห่งตั้งแต่บ้านเกาะขนุน ถึงบ้านท่าเกวียน ฯลฯ ซึ่งเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่าง เมืองมโหสถ(อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี) กับเมืองพระรถ (อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี)

2. หลัง พ.ศ. 1500 ฉะเชิงเทราและดินแดนเมืองมโหสถ กับเมืองพระรถ รุ่งเรืองขึ้นจากการค้าโลก แล้วเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกับกษัตริย์ขอมทั้งเมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองพระนคร(กัมพูชา) บ้านเมืองขนาดเล็กที่อำเภอพนมสารคามได้ผลพวงจากการค้าโลกด้วยจึงพบโบราณวัตถุจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่สองฝั่งลำน้ำท่าลาด ตั้งแต่บ้านเกาะขนุน, บ้านซ่อง, บ้านท่าเกวียน เป็นต้น

3. หลัง พ.ศ. 1700 บริเวณลุ่มน้ำบางปะกง ตั้งแต่เขตฉะเชิงเทราถึงปราจีนบุรี เป็นที่ดอนมากขึ้นจากทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ส่งผลให้เส้นทางคมนาคมออกอ่าวไทยไม่ค่อยสะดวกเช่นเดิม บ้านเมืองเขตพนมสารคาม กับที่อื่นๆ เช่นเมืองมโหสถ และเมืองพระรถ ร่วงโรยแล้วรกร้างกลายเป็นป่าดง

4. หลังพ.ศ.2000 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ พ.ศ.2034-72) โปรดให้ซ่อมแปลงคลองสำโรง ซึ่งเชื่อมแม่น้ำบางปะกง กับแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้สะดวกในการคมนาคม

5. พ.ศ. 2309 คราสงครามเสียกรุง พระจ้ามังระ ส่งกองทัพมาคุมชุมชน และเส้นทางบริเวณปากน้ำโจ้โล้ (ปากน้ำคลองท่าลาดที่ไหลลงแม่น้ำบางปะกง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ด้วยเป็นเส้นทางสู่เมืองตะวันออกของพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นสมรภูมิที่พม่ากับทัพของพระเจ้าตากสินมหาราชต่อสู้กัน [ภายหลังมีนักวิชาการบางคนเสนอว่าน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณอำเภอราชสาส์น มากกว่า]

6. หลังพ.ศ. 2369 รัชกาลที่ 3 ทรงยกทัพไปตีเมืองเวียงจัน และรับสั่งให้กวาดต้อนครัวลาวพวกหนึ่งมาอยู่ที่ลุ่มน้ำบางปะกง เกิดบ้านเมืองใหม่ชื่อ เมืองฉะเชิงเทรา แต่ปากชาวบ้านเรียกชื่อเดิมที่มีมาก่อนว่า เมืองแปดริ้ว (ปัจจุบันคือ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา)

นอกจากนี้ในโคลงนิราศฉะเชิงเทรา พระนิพนธ์กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ระบุชื่อบ้านเมืองสองฝั่งแม่น้ำบางปะกงในแผ่นดินรัชกาลที่ 3 เช่น โสธร, สำปะทวน, สาวชะโงก, บางขนาก ฯลฯ

โสธร-ย่านวัดโสธรฯ ในปัจจุบันที่อยู่ในบริเวณอำเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, สำปะทวน- ตำบลสำปะทวน อำเภอเมือง, สาวชะโงก-บ้านสาวชะโงก, สามร่ม-บ้านสามร่ม, บางขนาก-บ้านบางขนาก, คลองบางขนาก (หรือคลองแสนแสบ)

7. หลัง พ.ศ. 2377 รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างป้อมเมืองฉะเชิงเทรา ไว้ป้องกันศึกญวนและเขมรที่มาทางแม่น้ำบางปะกง และอ่าวไทย

8. พ.ศ. 2380 รัชกาลที่ 3 โปรดให้ขุด คลองบางขนาก(คลองแสนแสบ) ระยะทาง 1,337 เส้น 19 วา 2 ศอก (ประมาณ 53-54 กิโลเมตร) ลึก 4 ศอก กว้าง 6 วา เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำบางปะกง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการสงครามพิชิตญวน

9. พ.ศ. 2381 ให้อพยพครอบครัวเจ้าองค์ด้วง แห่งกัมพูชา เข้ากรุงเทพฯ ส่วนบ่าวไพร่ทั้งหลายให้อยู่เมืองฉะเชิงเทรา (บริเวณ ชุมชนวัดดอนทอง ปากคลองบางตีนเป็ด ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา)

10. พ.ศ. 2402 รัชกาลที่ 4 เสด็จทอดพระเนตรเขาเดิน ที่วัดปถวีปัพตาราม (วัดเขาดิน) ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอบางปะกง แล้วโปรดให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม (อำเภอพนมสารคาม)

  1. วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2450 รัชกาลที่ 5 เสด็จทรงเปิดเดินรถไฟสายตะวันออกที่ “สนามสเตชั่นรถไฟ” (หัวลำโพง) แล้วเสด็จพระราชดำเนินรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงฉะเชิงเทรา
  2. พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 โปรดให้เมืองฉะเชิงเทรากับเมืองพนมสารคาม รวมกันสถาปนาเป็น จังหวัดฉะเชิงเทรา
  3. พ.ศ.2486 ข้าวหอมมะลิ อำเภอบางคล้า เป็นที่รู้จักไปทั่วในกลุ่มพ่อค้า, คหบดี, โรงสี และผู้บริโภคทั้งในฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ
  4. พ.ศ. 2536 จังหวัดฉะเชิงเทรา ถึงปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น 11 อำเภอ ดังนี้

(1.) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพี้ยนมาจากคำเขมรว่า ฉทึงเทรา แปลว่า แม่น้ำลึก หรือคลองลึก (ฉทึง แปลว่าแม่น้ำ, คลอง ส่วนเทรา แปลว่าลึก)

(2.) อำเภอบ้านโพธิ์ เดิมชื่ออำเภอสนามจันทร์ตามชื่อหมู่บ้านสนามจันทร์ที่เป็นที่ตั้งของอำเภอ ต่อมาปี 2447 ทางการเห็นว่าชื่ออำเภอไปพ้องกับพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จึงเปลี่ยนเป็นอำเภอเขาดิน ตามชื่อวัดเขาดิน และเปลี่ยนเป็นอำเภอบ้านโพธิ์ในเวลาต่อมา

(3.) อำเภอบางคล้า ได้ชื่อมาจากต้นคล้า ลำต้นและใบคล้ายต้นข่า ผิวเปลือกคล้ายหวาย ใช้สานทำเสื่อและกระสอบ

(4.) อำเภอพนมสารคาม เดิมควรสะกดว่า “พนมสาลคาม” เพราะคำบาลี “สาล” (สา-ละ)หมายถึงต้นยาง หรือต้นรัง สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ที่มีต้นยางจำนวนมาก พนามสาร แปลว่า ดงยาง หมายถึงป่าดงเต็มไปด้วยไม้ยาง เดิมตัวอำเภอตั้งอยู่ที่ บ้านโพธ์ใหญ่ อำเภอสนามชัยเขต ถึงรัชกาลที่ 4 ให้ยกบ้านท่าถ่านเป็นเมืองพนมสารคาม

(5.) อำเภอสนามชัยเขต หมายถึง ดินแดนแห่งความสมบูรณ์ เดิมเป็นเมืองสนามไชยเขตร บางหมู่บ้านของเมืองนี้เป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น “บ้านช่อง” (ปัจจุบันอยู่ในเขต อำเภอพนมสารคาม)

(6.) อำเภอบางน้ำเปรี้ยว หมายถึงดินแดนที่มีน้ำรสเปรี้ยวในฤดูแล้ง เดิมตั้งอยู่ที่บ้านต้นสำโรง ตำบลบางขนาก  พ.ศ. 2497 ได้ย้ายมาตั้งอยู่ฝั่งเหนือคลองแสนแสบ( คอลองบางขนาก)

(7.) อำเภอบางปะกง “บางปะกง” เพี้ยนจากคำเขมรว่า บองกอง แปลว่า กุ้ง เดิมทีททำการอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดบคงคารามตำบางปะกง ต่อมา พ.ศ. 2451 ย้ายมาอยู่ตำบลสะอ้าน

(8.) อำเภอแปลงยาว หมายถึงการทำไร่นาแปลงยาวกกว่าที่อื่น เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอบางคล้า

(9 ) อำเภอราชส์น หมายถึง “จดหมาย” ในเรื่องพระรถ-เมธี ที่นางยักษ์สนธมาลเขียน (ให้พระรถถือไป)ให้นางเมรีลูกสาวนางให้จับพระรถฆ่า แต่พระรถแวะค้างแรมที่หมู่บ้าน พระฤๅษีแปลงสาส์นให้ใหม่เป็นแต่งงานกับพระรถ

(10) อำเภอท่าตะเกียบ มีตำนานเล่าว่าสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯ คิดจะสร้างเสาชิงช้า จึงบอกไปตามหัวเมืองที่มีป่าไม้สมบูรณ์ให้หาไม้แดงเพื่อนำไปทำ “ไม้ตะเกียบ” เสาชิงช้า เนื่องจากไม้มีขนาดใหญ่บริเวณที่ลากไม้ลงคลองสียัดจึงราบเรียบเป็นท่าน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “ท่าลงไม้ตะเกียบ” ภายหลังเพี้ยนเป็น “ท่าตะเกียบ”

(11) คลองเขื่อน หมายถึง คลองชลประทานไหลผ่าน


ข้อมูลจาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ. ฉะเชิงเทรามาจากไหน?, สำนักงานจังหวัดฉะเชิงเทรา, 2553

วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ข้อสังเกตเส้นทางออกจากกรุงฯ สู่หัวเมืองตะวันออกของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2560

เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา  27 พฤศจิกายน 2557


เผยแพร่ในระบบออน์ไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 18 ตุลาคม พ.ศ.2562