เมื่ออังกฤษ ทูลเกล้าฯ ถวายยศ “พลเอกพิเศษ” แด่รัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ประเทศต่างๆในยุโรปก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย หนึ่งคือฝ่ายสัมพันธมิตร นำโดยอังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย หนึ่งคือฝ่ายมหาอำนาจกลางที่นำโดยเยอรมัน, ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี แม้สมรภูมิรบส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป แต่ก็ใช่ว่าไม่มีผลกระทบกับประเทศอื่น เช่น ประชาชนชาติอื่นที่ต้องเดินทางติดต่อค้าขายกับยุโรป, ความขัดแย้งระหว่างบรรดาผู้นำชาติเดียวกันที่เคยเป็น “ศิษย์เก่า” ของสำนักวิชาการต่างในยุโรป  

สำหรับประเทศไทย แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้สยาม และคนในบังคับสยามเป็น “กลาง” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 หากบรรดาเจ้านายของสยามเวลานั้น ต่างก็มีทัศนะที่แตกต่างเพราะทรงศึกษาหรือดำรงพระชนมชีพอยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นเวลานาน จึงมี “ใจ” เอนเอียงสนับสนุนประเทศที่เคยประทับ ซึ่งพอจะแบ่งเป็น 2 ฝ่ายได้ดังนี้

กลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ รัชกาลที่ 6  และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา  ที่ทรงเป็นนักเรียนเก่าของประเทศอังกฤษ,  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงเป็นนักเรียนทหารเก่าของรัสเซีย, สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ ด้วยทรงเชื่อว่าฝ่ายมหาอำนาจกลางเป็นผู้ก่อสงคราม

กลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต, สมเด็จฯ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ต่างมีพระหทัยต่อประเทศเยอรมนี  โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จฯ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร เคยเสด็จไปงานออกร้านเพื่อหาเงินบํารุงสภากาชาดเยอรมนี ที่ชาวเยอรมันในประเทศสยามจัดขึ้น และทรงร่วมบริจาคเงินสมทบทุนให้แก่สภากาชาดเยอรมนีเป็นจํานวนมาก ซึ่งหนังสือพิมพ์เทกลิเชอ รุนด์เชา (Tigliche Rundschau) ฉบับวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2459 ได้นำเสนอข่าวดังกล่าว

หรือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ที่ทรงส่งโทรเลขมาปรึกษาสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เรื่องการจะเข้าร่วมรบกับกองทัพเยอรมนี เพราะขณะเกิดสงครามนั้น พระองค์ทรงรับราชการอยู่ในกองทัพเรือเยอรมนี การเสด็จนิวัติประเทศโดยไม่ทรงเข้าร่วมรบจะเสียพระเกียรติทางทหาร หากรัชกาลที่ 6 ทรงไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต และยังมีพระบรมราชโองการให้ลาออกจากกองทัพเรือเยอรมนี เพื่อรักษาสถานะประเทศที่เป็นกลางของสยาม ซึ่งพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามรับสั่ง

หากในเวลาต่อมา ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

ด้วยรัชกาลที่ 6 ทรงใช้สงครามครั้ง เสริมสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารและผู้นำให้แก่พระองค์ และเป็นการยกระดับสถานะของสยามให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติยิ่งขึ้น  แล้วพระองคืก็ทรงเริ่มนำสยามเข้าร่วมสงคราม  โดยใน พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 10,000 ปอนด์ ให้แก่ครอบครัวของนายทหารในกรมทหารเบาเดอรัมที่เสียชีวิตในระหว่างสงคราม และใน พ.ศ. 2459 พระราชทานเงินช่วยเหลืออีก 1,000 ปอนด์ ซึ่งการพระราชทานเงินดังกล่าวนั้น พระองค์ทรงปรึกษากับสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ที่ถวายคําแนะนําว่าให้ทรงกระทําในฐานะ “ทหารเก่า”

ด้วยเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 6 ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ (Royal Military Academy, Sandhurst) แล้ว ได้ทรงเข้าประจําการในกรมทหารราบเบาเดอรัม(Durham Light Infantry)  ที่ North Camp เมือง Aldershot โดยเสด็จไปประจําหน่วยภูเขาที่ 6 ค่ายฝึกทหารปืนใหญ่ที่เมือง Okehampton และไปทรงศึกษาที่โรงเรียนปืนเล็กยาวที่เมืองไฮท์ (School of Musketry of Hythe) ทรงได้รับประกาศนียบัตรพิเศษและเหรียญแม่นปืน

22  กันยายนยน พ.ศ. 2459 พระเจ้ายอร์ชที่ 5 แห่งประเทศอังกฤษ ถวายยศพลเอกพิเศษกองทัพบกของประเทศอังกฤษ แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระมหากษัตริย์แห่งประเทศอังกฤษ ไม่เคยพระราชทานยศทหารให้แก่พระมหากษัตริย์ของประเทศใดมาก่อนเลย หลังจากนั้นประมาณ 5 วัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็พระราชทานยศพลเอกพิเศษแห่งกองทัพสยาม แด่พระเจ้ายอร์ชที่ 5 แห่งประเทศอังกฤษเช่นกัน

ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีวัตถุประสงค์ของตนเอง

อังกฤษต้องการให้ทรงมีพระบรมราชโชบายที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอังกฤษ ไม่ว่าพระองค์จะนำสยามเข้าร่วมสงครามหรือไม่ก็ตาม และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงทางรัฐบาลอังกฤษก็จะไม่เสียผลประโยชน์ในที่มีอยู่ในสยาม

ขณะที่ไทยเองก็ต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ทางการทหารแก่รัชกาลที่ 6 และกองทัพบกสยาม  ทั้งทรงคาดหวังว่าหากสยามเข้าร่วมกับฝ่ายที่ชนะสงคราม หลังสงครามยุติลง จะสามารถขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่เคยทำไว้กับชาติต่างๆ ได้  สุดท้ายรัชกาลที่ 6 ก็ทรงตัดสินพระราชหฤทัยประกาศสงครามต่อฝ่านมหาอำนาจกลางในวันที่ 22 กรกฎาคม 2460


ข้อมูลจาก

เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทย สมัยรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2559

บัว ศจิเสวี. “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์เดียว ที่ทรงได้รับยศพลเอกพิเศษกองทัพบกอังกฤษ” วชิราวุธานุสรณ์สาร วารสารมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พะบาทสมเด็จพระมุลกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีที่ 4 ฉบับที่ 1, 1 มกราคม 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 16 ตุลาคม 2562