ฤๅมีราชการ(ลับ)ครั้งร.5 เสด็จประพาสยุโรปหน 2 มิได้แค่เพียงรักษาพระอาการประชวร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชโอรสที่โรงเรียนอีตัน คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกมองว่ามีสาเหตุหลักเพื่อช่วยบรรเทารักษาพระอาการประชวรของรัชกาลที่ 5 จนในยุคนั้น มีบ้างที่ถึงกับวิจารณ์การเสด็จประพาส แต่ในอีกด้านหนึ่ง นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งเชื่อว่ามีเรื่องเกี่ยวกับ “ราชการ” อยู่ด้วย

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของรัชกาลที่ 5 ใน พ.ศ. 2440 เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวิเทโศบายเพื่อรักษาเอกราชของชาติท่ามกลางการรุกคืบของจักรวรรดินิยมตะวันตก ขณะที่วัตถุประสงค์สำคัญสำหรับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 เป็นที่ทราบกันดีว่าเพื่อพักผ่อนพระวรกาย ฟื้นฟูพระพลานามัยและรักษาพระอาการประชวรซึ่งเป็นผลมาจากตรากตรำพระราชหฤทัย และพระวรกายอันเป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารราชการบ้านเมือง โดยสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นดินแดนยังตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก พระองค์ต้องทรงศึกษาเรื่องราวเหตุการณ์ และครุ่นคิดต่อเนื่องกันทั้งเวลาเสวย หรือบรรทม เป็นผลให้พระสุขภาพพลานามัยทรุดโทรม

ในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 อย่างละเอียด ประกอบกับพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานพดล ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลในแง่เล่าเหตุการณ์วันต่อวันคล้ายกับบิดาเล่าสู่บุตร

อย่างไรก็ตาม การเสด็จประพาสครั้งที่ 2 ไม่ได้มีเพียงแค่การฟื้นฟูพระวรกายตามที่หลายคนเข้าใจ หากแต่ยังมีแง่มุมทางราชการด้วย ดังพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 24 ขณะประทับอยู่ในกรุงปารีส ใจความส่วนหนึ่งว่า

“อันที่จริงก็ไม่ใช่จะเที่ยวอย่างเดียว เปนราชการอยู่บ้าง”

นอกจากนี้ ไกรฤกษ์ นานา คอลัมนิสต์อิสระที่ค้นคว้าเอกสารและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยังยกพระราชหัตถเลขาซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงปรึกษาเชิงปรับทุกข์กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งมีเนื้อหาทำนองทรงมีความกังวลเรื่องข้อราชการบางอย่างเรื่อง “สัญญาฝรั่งเศส” หลังจากนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอพระบรมราชานุญาตจัดพิมพ์พระราชหัตถเลขารวมเป็นหนังสือชื่อ “ไกลบ้าน” ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงตอบรับ แต่ยังทรงปรามไว้ว่าไม่ควรพิมพ์เนื้อหาทั้งหมด “ต้องตัดความซึ่งไม่ควรโฆษณาออกเสียบ้าง”

เนื้อหาส่วนที่ตัดไปนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง แต่จากการสืบค้นของไกรฤกษ์ นานา ทำให้พบว่ามีเค้าลางอยู่บ้างจากรายละเอียดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ในจดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้านตามสำนวนเดิมว่า

“ในเวลาเมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปนั้น รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสปฤกษาหาทางที่จะปรองดองระงับเหตุบาดหมางกันมาแต่ก่อน ด้วยเรื่องคนในบังคับฝรั่งเศส แลเรื่องเขตรแดน ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 ฝ่ายไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ อันเปนหัวเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสยอมให้คนชาวตะวันออกในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย และยอมคืนเมืองตราดให้แก่ไทย กับทั้งยอมถอนทหารที่ได้มาตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีถึง 12 ปีนั้นกลับไป หนังสือสัญญานี้ได้รับอนุมัติในปาลิเมนต์ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ร.ศ. 126 เวลาเมื่อตกลงกันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในยุโรป จึงมีพระราชประสงค์จะใคร่เสด็จไปเยี่ยมเยือนทรงแสดงความยินดีต่อประชาชนชาวเมืองตราดและเมืองจันทบุรี”

กล่าวได้ว่า การเสด็จประพาสยุโรปครั้ง พ.ศ. 2450 ไม่ได้มีเพียงจุดหมายเพื่อบำรุงรักษาพระวรกายแค่ประการเดียว ยังมีสนธิสัญญาฉบับล่าสุดกับฝรั่งเศสเป็น “เดิมพัน” แต่เหตุการณ์นั้นทำให้การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสด็จครั้งนี้แตกต่างจากการเสด็จประพาสครั้งแรก โดยครั้งหลังนั้นสยามกำลังอยู่ระหว่างเจรจาตกลงขั้นสุดท้ายกับฝรั่งเศส โดยมีอธิปไตยเป็นเดิมพัน และยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ อย่างไร การเปิดเผยข้อมูลออกมาอาจส่งผลได้ การเบี่ยงเบนประเด็นวัตถุประสงค์ของการเสด็จประพาสครั้งหลังจึงมีความจำเป็นไปเอ่ยถึงน้ำหนักเรื่องการเปลี่ยนอากาศมากกว่า

ผลจากสภาพการณ์ข้างต้นทำให้กลายเป็นช่องโหว่ให้คนพาลสามารถตีความหมายว่าเป็นการไปเที่ยว และใช้นำมาโจมตีพระองค์ อันเห็นได้จากเนื้อหาในบัตรสนเท่ห์ที่ถึงขั้นวิจารณ์การเสด็จอย่างรุนแรง แต่พระองค์ทรงนิ่งเฉยต่อความคิดเห็นนี้ และทรงนำเรื่องไปถ่ายทอดต่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า

วันที่ 24 ตุลาคม ร.ศ. 126

ถึงพระยาสุขุม

…แต่เซนเตนส (หมายถึง “ประโยค”) ที่ลงโทษต่อไปข้างท้ายเหนว่าควรจะร้องอุทธรณ์ “เห็นจะไม่พ้นเปนขี้ค่าฝรั่งเปนแน่หรือจะเปนชะตาของบ้านเมือง จึงเปนได้ดังนี้” ความอันนี้อ่านไม่ออกว่าได้ทำอะไรซึ่งสมควรจะเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ จะว่าเพราะใช้เงินพระคลังข้างที่มากจึ่งจะต้องเป็นขี้ค่าฝรั่งก็ไม่ใช่ … หรือไปทำหนังสือยอมอยู่ในโปรเตกชัน (เมืองขึ้น) หรือทำหนังสือยอมยกเมืองโดยวิลล์ (ด้วยความสมัครใจ) ให้แก่ประเทศหนึ่งประเทศใด ถ้าหากความเห็นของคนว่าข้าเปนเช่นนั้นได้แล้ว ไม่มีอย่างอื่นที่ควรยิ่งกว่า ให้ออกเสียจากราชสมบัติเพื่อรักษาแผ่นดินไว้…นี่จะนึกว่าเอาเจ้าแผ่นดินออกมาโชว์สักครั้งหนึ่งไม่ได้หรือ และได้กุศลทำให้อายุยืนยาวไป ดูไม่ควรจะดุร้ายถึงเพียงนี้ … รวมใจความว่าไม่มีความพอใจทั้งเจ้าแผ่นดิน และทั้งที่ประชุมเซนเซอร์การปกครองแผ่นดินสยามในเวลานี้…

ความคิดของข้าไม่เดือดร้อนอันใด เพราะพูดไม่มีที่จบอยู่เพียงไหน ถ้าจะเอาเรโซลูชันเข้าก็จนเท่านั้น นี่เสียใจที่สิ่งซึ่งไม่คาดว่าจะเปนมาเปนขึ้น เปนของที่เปลื้องให้ลืมเสียได้ยากอย่างยิ่ง

จุฬาลงกรณ์ ปร.
(หมายเหตุ : ข้อความบางตอนขาดหายไปจากต้นฉบับ)

พระราชดำรัสข้างท้ายในคำเรโซลูชัน (Resolution) หมายถึง “ความตั้งใจ” และมีเนื้อหาว่า ถ้าจะเอ่ยชี้แจงได้ก็จะทำให้ผู้กล่าวหาเข้าตาจนเท่านั้น ไกรฤกษ์ นานา สืบค้นข้อมูลเหตุการณ์และบริบทต่อไปพร้อมทั้งหยิบยกเหตุการณ์ในช่วงเวลาในช่วงไล่เลี่ยกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ซึ่ง พ.ศ. 2447 อังกฤษกับฝรั่งเศสลงนามร่วมกันในความตกลงฉันมิตร (Anglo-French Entente 1904) ไกรฤกษ์ นานา แสดงความคิดเห็นว่า ข้อตกลงฉบับนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ในราชสำนักสยาม และกลายเป็นอีกเหตุหนึ่งของการตัดสินพระทัยเสด็จไปรักษาพระองค์ในยุโรป

ความตกลงฉันมิตร (Anglo-French Entente 1904) เกิดขึ้นหลังจากทั้งสองมหาอำนาจเล็งเห็นว่าต่างฝ่ายต่างต้องสามัคคีกันเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองแทนที่จะต้องเป็นคู่ตรงข้ามกัน และเป็นการรับรองให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิ์และผลประโยชน์เท่าเทียมกัน ประนีประนอมเพื่อขจัดข้อพิพาทอันสืบเนื่องจากปัญหาในอาณานิคมของตน

ไกรฤกษ์ นานา อธิบายรายละเอียดของข้อตกลงฉันมิตรว่า มีเนื้อหาระบุให้ดินแดนในครอบครองของสยามทางภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา (ต่อจากนี้ไป) ให้ถือว่าอยู่ใต้อิทธิพลฝรั่งเศส ส่วนภาคตะวันตกของแม่น้ำเดียวกันและของอ่าวไทยอยู่ใต้อิทธิพลอังกฤษ ไกรฤกษ์ นานา มองนัยของข้อตกลงนี้ว่า เป็นการแบ่งสยามออกเป็น 3 เขต ใน 2 เขตคือที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนภาคกลางให้เป็นเขตกลาง (Neutral Zone) 2 มหาอำนาจกระทำการได้อย่างเสรีในเขตอิทธิพลที่กำหนดไว้

แน่นอนว่าความตกลงนี้ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสยาม และแทบจะทำให้ผลของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก รวมถึงปฏิญญา ค.ศ. 1896 (ตั้งให้สยามเป็นรัฐกันชน) และอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 เป็นหมัน

อย่างไรก็ตาม ความตกลงฉันมิตรนี้ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ไทยน้อยมาก พงศาวดารไทยก็ตัดเรื่องดังกล่าวออก จากนั้นกลับมีเรื่องสัญญาฝรั่งเศสโผล่ขึ้นมาซึ่ง “บังเอิญ” ตกลงกันได้ในขณะที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสกรุงปารีสพอดี

แต่ในทางตรงกันข้าม ไกรฤกษ์ นานา หยิบยกข้อความที่นายพันเอกหม่อมนเรนทรราชา ผู้ตามเสด็จคนหนึ่งได้เขียนเล่าเหตุการณ์วันที่ 18 มิถุนายน ร.ศ. 126 ว่า รัชกาลที่ 5 เสด็จโดยรถไฟถึงปารีส วันรุ่งขึ้น เสด็จไปยังทำเนียบที่พำนัก (เอลิเซ พาเลส์) ของมงสิเออฟาลิแยร์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

“…การนี้พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์ แด่ ม. ฟาลิแยร์ด้วย วันที่ 20 มิถุนายนจึงมีงานเลี้ยงใหญ่ที่ทำเนียบอีกครั้ง เพื่อฉลองสนธิสัญญาฉบับใหม่และถวายต้อนรับการเสด็จฯ อย่างเป็นทางการซึ่งคณะรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ การต้อนรับอย่างเอิกเกริกนี้ สร้างความขัดแย้งกับพระราชปรารภแต่แรกที่จะมาแบบธุดงค์หรือประพาสต้น หรือแม้แต่การมารักษาพระองค์ ก็ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ไกรฤกษ์ นานา. การเมือง “นอกพงศาวดาร” รัชกาลที่ 5 เบื้องหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551. น. 483-493


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ตุลาคม 2562