เบื้องหลังพระองค์เจ้าเฉิดโฉมเปลี่ยนบท “ผู้ชนะสิบทิศ” เจ้านายผู้ล้ำสมัยกับอิสระชั่วคราว

ภาพถ่าย พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม

“—ถูกขังมาแต่อ้อนแต่ออก พอแก่เฒ่าได้ออกมาเปิดหูเปิดตา เห็นนอกวังได้หน่อย ก็จะกลับเข้ากรงอีก—”

เป็นพระดำรัสของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉิดโฉม เมื่อครั้งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย .. 2475 ครั้งนั้นเจ้านายฝ่ายในทรงได้รับอนุญาตให้ออกจากวังมาประทับอยู่นอกวังได้ ประทับอยู่นอกวังได้ระยะหนึ่งเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ได้มีคำสั่งให้เจ้านายฝ่ายในเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในวังตามเดิม จึงเป็นที่มาของพระดำรัสที่ว่า “—เห็นนอกวังได้หน่อย ก็จะกลับเข้ากรงอีก—”

พระองค์เจ้าเฉิดโฉม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาสีดา พระชันษาเพียง 9 ปี ก็ต้องทรงกำพร้าพระราชบิดา แต่ก็ยังคงประทับอยู่ในพระบวรราชวัง ฐานะพระขนิษฐาของกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ จนเมื่อพระเชษฐาเสด็จทิวงคตในปี .. 2425 และแม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งรัชทายาทจากกรมพระราชวังบวร เปลี่ยนเป็นตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร แต่ก็ยังคงโปรดให้พระราชธิดา พระธิดาในกรมพระราชวังบวรทั้ง 2 พระองค์ ทรงอยู่ร่วมกันในพระบวรราชวัง โดยมีพระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ปกครองดูแล ขณะนั้นพระองค์เจ้าเฉิดโฉมมีพระชันษาได้ 26 ปี ซึ่งเท่ากับมีพระชนมชีพอยู่ภายในกำแพงพระราชฐานมาแล้วถึง 26 ปี

ด้วยเหตุที่ว่าทั้งพระราชชนกและพระเชษฐาทรงเป็นเจ้านายที่ทันสมัย ทรงติดต่อใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะชาวยุโรปทั้ง 2 พระองค์ พระบวรราชวังจึงเปิดต้อนรับชาวต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ราชนารีฝ่ายในทุกพระองค์จึงทรงมีโอกาสได้รับการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ ทำให้ทรงเคยชินกับวัฒนธรรมบางประการของชาวยุโรป

ราชนารีพระองค์ใดที่สนพระทัยศึกษาหาวิชาความรู้ ก็จะยิ่งทรงมีความรอบรู้เรื่องราวต่าง ๆ รอบพระองค์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะพระองค์เจ้าเฉิดโฉม เล่ากันว่าทรงเป็นศิษย์รุ่นแรกของแหม่มโคล นอกจากภาษาอังกฤษที่ทรงสามารถใช้ติดต่อสมาคมกับชาวยุโรปถึงขั้นที่ทรงใช้พระตำหนักของพระองค์เป็นที่พบปะสังสรรค์กับสุภาพสตรีฝรั่ง อย่างที่เรียกว่าสโมสรสตรีทั้งวัตรปฏิบัติและพฤติกรรมต่าง ๆ ของพระองค์ เป็นที่กล่าวขวัญกันว่า ทรงเป็นสตรีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย ทรงรู้ทั้งเหตุการณ์บ้านเมือง รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและสังคมทั้งของโลกและวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่ค่อยหลั่งไหลเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย

ประกอบเข้ากับพระอุปนิสัยส่วนพระองค์ ซึ่งทรงค่อนข้างอาจหาญเก่งกล้าแตกต่างจากสตรีในพระราชสำนักฝ่ายในทั่วไปในสมัยนั้น เล่ากันถึงกันว่าทรงเคยลอบปีนกำแพงวังออกมาเที่ยวนอกวัง การกระทำนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่ผิดขนบประเพณีและรู้กันอย่างกว้างขวาง แต่เพราะลักษณะที่ไม่ทรงเกรงกลัวผู้ใด และใจนักเลง ประกอบกับมิได้ทรงทำความเสียหายแก่พระเกียรติยศและบ้านเมือง จึงไม่มีผู้ใดที่จะกล้ากล่าวโทษ ได้แต่ซุบซิบเล่าขานถึงวัตรปฏิบัติของราชนารีพระองค์นี้สืบมา

พระองค์เจ้าเฉิดโฉมมิใช่แต่จะทรงรอบรู้เรื่องราวที่ทันสมัยตามแบบอารยชน แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งวิชาความรู้และขนบประเพณีของไทยสมัยโบราณ เพราะมีพระปรีชาสามารถด้านโหราศาสตร์ หรือแม้แต่ด้านนาฏยศาสตร์ก็ทรงชำนาญ โดยเฉพาะนาฏยศาสตร์ด้านโขน ทรงมักแสดงเป็นทศกัณฐ์ เพราะมีพระวรกายค่อนข้างสูงใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังโปรดที่จะอ่านวรรณกรรมต่าง ๆ ทั้งวรรณคดีโบราณและนวนิยายสมัยใหม่ หลักฐานที่ยืนยันถึงความโปรดปรานในการอ่านนวนิยายสมัยใหม่ โดยเฉพาะเรื่องผู้ชนะสิบทิศ บทประพันธ์ของยาขอบ ซึ่งลงต่อเนื่องกันในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ พระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงติดตามเรื่องผู้ชนะสิบทิศอย่างโปรดปราน และเข้าถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ของตัวละครในเรื่องนี้

โชติ แพร่พันธุ์ หรือ ยาขอบ

เล่ากันว่าเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตอนที่จะเด็ดหรือบุเรงนอง พระเอกของเรื่อง ได้วางแผนในการที่จะให้สตรีที่ตนรัก 2 คน คือตะละแม่จันทรา พระพี่นางของพระเจ้ามังตราแห่งเมืองตองอู เป็นสตรีสูงศักดิ์มีความเป็นกุลสตรีบริสุทธิ์ผุดผ่องซึ่งมอบความรักและรอคอยจะเด็ดเพียงผู้เดียว และครั้งที่จะเด็ดอาสาพระเจ้ามังตราไปเป็นไส้ศึกที่เมืองแปร ได้พบรักกับตะละแม่กุสุมา พระราชธิดาเจ้าเมืองแปร ซึ่งตะละแม่ก็มอบหัวใจรักให้จะเด็ดเช่นกัน

จะเด็ดอุปมาความรักที่มอบให้สตรีทั้งสองว่า รักตะละแม่จันทราด้วยใจภักดิ์ รักตะละแม่กุสุมาด้วยใจปอง และวางแผนไว้ว่าจะให้ราชนารีทั้งสองเข้าสู่พิธีอภิเษกกับตนพร้อมกัน แม้ว่าตะละแม่กุสุมาจะมิใช่สาวพรหมจรรย์ เพราะได้ถูกสอพินยา พระญาติซึ่งหมายปองพระนางอยู่ และได้หลอกลวงพระนางให้หลงเชื่อใช้กำลังฉุดคร่าปลุกปล้ำจนมีราคี ทำให้มีผู้ขัดขวางไม่เห็นด้วย ยาขอบได้แต่งเรื่องให้จะเด็ดใช้คารมที่เยี่ยมยอดเกลี้ยกล่อมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แม้แต่ตัวตะละแม่จันทรา หรือพระเจ้ามังตราเองก็พลอยโอนอ่อนเห็นดีเห็นงามไปด้วยกับแผนการนี้ เรื่องราวกำลังจะดำเนินไปตามที่ยาขอบวางไว้ แต่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงโดยที่ตะละแม่กุสุมาไม่มีโอกาสเข้าสู่พิธีอภิเษกพร้อมตะละแม่จันทรา

ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือพระองค์เจ้าเฉิดโฉม เล่ากันว่าทรงทนไม่ไหวที่จะเด็ดจะให้สตรีที่ถูกฉุดคร่าจนเสียความบริสุทธิ์แล้วมาเข้าสู่พิธีอภิเษกเชิดหน้าชูตาคู่กับตะละแม่จันทราซึ่งเป็นหญิงพรหมจารีและดีพร้อม

ยาขอบได้เขียนเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า สุภาพสตรีที่มาหาตนถึงสำนักพิมพ์และห้ามมิให้เรื่องดำเนินไปตามที่ยาขอบวางแนวทางไว้นั้น “—เป็นหญิงร่างใหญ่ ท่วงทีสง่า ผมดัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิ สวมเสื้อขาวเกลี้ยง ๆ แบบผู้ใหญ่ นุ่งผ้าโจงกระเบนสีเทาดังที่เรียกกันว่าสีนกพิราบ สวมรองเท้าคัดชูส์— มือขวาถือพัดด้ามจิ้ว และเมื่อเดินมาหาข้าพเจ้าก็ควงพัดด้ามจิ้วในมือเล่นคล้ายควงกระบอง ทำให้ดูไหล่ผาย หลังตรงผ่าเผยผิดคนในปูนนั้น—”

สิ่งที่บ่งบอกว่าสุภาพสตรีท่านนี้เป็นสตรีที่มีสกุลสูงก็คือ “—ที่คอเสื้อมีเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอนๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว พระปิ่นเกล้า—” ทรงขอร้องยาขอบว่าอย่าให้นำตะละแม่กุสุมาสตรีไม่บริสุทธิ์มาเข้าสู่พิธีอภิเษกพร้อมตะละแม่จันทราหญิงพรหมจรรย์ ด้วยคำพูดที่ว่า

“—ไม่มีใครเขาจะพิเรนหรอกพ่อเอ๋ย—”

ครั้นยาขอบทูลว่าได้วางแผนที่จะให้เรื่องดำเนินไปในแนวนั้นแล้ว ก็ได้ทรงเปลี่ยนเป็นกล่าวอ้อนวอนว่า “—-พ่อยาขอบช่วยฉันหน่อยได้ไหม นึกว่าเหมือนหลานช่วยย่าให้ตายด้วยมีความสุขว่าลูกหลานไม่ได้ทำผิด หรือพอจะทำผิด ฉันเตือน เขาก็ยกให้ไม่ทำ เอ้าใครผิดใครถูกไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม—”

เมื่อทรงใช้ไม้นี้ ทำให้ยาขอบต้องเปลี่ยนใจทำตามพระประสงค์ หาเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงคำสัญญาที่ให้ไว้กับตะละแม่กุสุมาตามคำขอร้องของพระองค์เจ้าเฉิดโฉม จึงกล่าวได้ว่าพระองค์เจ้าเฉิดโฉมทรงเป็นผู้ที่ทำให้ตะละแม่กุสุมาไม่ได้เข้าพิธีอภิเษกคู่กับตะละแม่จันทราในเรื่องผู้ชนะสิบทิศ

จากพระบุคลิกและพระอุปนิสัยจึงพอที่จะคาดเดาได้ว่าทรงเป็นเจ้านายที่มีความคิดอ่านทันสมัย กล้าที่จะแสดงออกถึงความคิดนั้นอย่างกล้าหาญและอิสระเสรี ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองมีวัฒนธรรมใหม่ ๆ จากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึกของสตรีภายในพระราชสำนักฝ่ายในเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกที่ว่าโลกนี้มิได้คับแคบอยู่เฉพาะแต่ภายในกำแพงวัง โลกภายนอกกำแพงนั้นช่างกว้างขวางน่าสนใจยิ่งนัก และสิ่งสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสรู้จักกับโลกภายนอกได้ดี ก็คืออิสระเสรี ซึ่งสตรีส่วนหนึ่งในพระราชสำนักฝ่ายใน รวมทั้งพระองค์เจ้าเฉิดโฉมยังไม่เคยได้สัมผัสก็ล้วนแต่เฝ้าถวิลหา

ในที่สุดช่วงเวลาและโอกาสก็มาถึง เมื่อคณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง .. 2475 ขณะนั้นพระองค์เจ้าเฉิดโฉมมีพระชันษาถึง 76 ปี ทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จออกไปประทับอยู่นอกวังได้ ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างยังไม่ลงตัว ฝ่ายรัฐบาลเก่าคือฝ่ายเจ้า และรัฐบาลใหม่คือสามัญชน ต่างยังคงไม่ไว้ใจกัน ระแวงซึ่งกันและกัน พยายามที่จะยึดอำนาจไว้ให้อยู่กับฝ่ายตนให้มากที่สุด ในชั้นแรกดูเหมือนว่าฝ่ายเจ้าถูกคาดหมายว่าจะได้อำนาจคืนจากกลุ่มบุคคลซึ่งคบคิดกันเพื่อช่วงชิงอำนาจจากรัฐบาลใหม่ เพื่อถวายคืนแก่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีคำสั่งให้ข้าราชสำนักฝ่ายใน ซึ่งเพิ่งจะได้มีโอกาสเสด็จออกมาประทับนอกวังได้ไม่นาน ให้เสด็จกลับเข้าไปประทับในวังตามเดิม

จึงเป็นเหตุให้ผู้รักอิสระเสรีดังเช่นพระองค์เจ้าเฉิดโฉม ถึงกับทรงหลั่งน้ำพระเนตรเมื่อตรัสว่า “—ถูกขังมาแต่อ้อนแต่ออก พอแก่เฒ่าได้ออกมาเปิดหูเปิดตา เห็นนอกวังได้หน่อย ก็จะกลับเข้ากรงอีก—”

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2562