การเมืองสยามเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ใครคือผู้สำเร็จราชการ “คนที่ 2” ?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

หนังสือพิมพ์จากฝรั่งเศสอายุเก่าแก่ถึง 147 ปี แจ้งข่าวความคืบหน้าการผลัดแผ่นดินในประเทศสยามเมื่อปี .. 1868 ว่ากษัตริย์องค์ใหม่ผู้เยาว์วัยได้รับการแต่งตั้งโดยหัวหน้าขุนนางจากตระกูลที่ทรงอำนาจที่สุดให้สืบทอดราชวงศ์และจะเป็นผู้หนุนหลังรัชกาลใหม่ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทว่า กษัตริย์องค์ใหม่กลับโต้แย้งว่าทรงถูกเบียดบังอำนาจและเหล่าขุนนางถูกครอบงำโดยผู้สำเร็จราชการคนนี้

แล้วใครกันแน่ที่อยู่ข้างหลังบัลลังก์เมื่อเริ่มต้นรัชกาลที่ 5? ท่ามกลางความผันผวนและเปลี่ยนตัวผู้นำประเทศ บุรุษอีกคนหนึ่งต่างหากที่เป็นแขนขาและดวงตาของกษัตริย์อย่างแท้จริง ในฐานะผู้สำเร็จราชการคนที่ 2

คนภายนอกประเทศผู้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสมักจะเข้าใจอย่างผิวเผินถึงความเปลี่ยนแปลงในสยามช่วงปี .. 1868 (.. 2411) ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จากข่าวลือที่เล็ดลอดออกไปเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีผู้สื่อข่าวและสำนักข่าวต่างประเทศเป็นตัวเป็นตนอยู่ในพระนคร

ส่วนในพระนครเองคนวงในก็ยังเชื่อถือแนวโน้มทางการเมืองที่ขุนนางจากครอบครัวตระกูลบุนนาคยังจะมีบทบาทต่อไปภายในราชสำนักและเป็นกลุ่มผู้ให้ข่าวต่อสังคมภายนอกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด สถานการณ์ในระยะนั้นจึงน่าเชื่อถือว่าจะไม่มีทางพลิกโผที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะเป็นประธานหลักในการสรรหาพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ในที่สุด

สำนักข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสประจำกรุงปารีสยังได้เคยสัมภาษณ์คนในตระกูลบุนนาคเป็นส่วนตัวมาแล้ว เมื่อครั้งพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ในฐานะราชทูตสยามพาคณะเดินทางไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ถึงกรุงฝรั่งเศสในปี .. 1861 (.. 2404) ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์นักข่าวของ LE MONDE ILLUSTRÉ  แบบน่าตกใจว่า

ราชบัลลังก์สยามไม่ได้เป็นระบบสืบเชื้อสายโดยตรง กษัตริย์สามารถเลือกบุคคลที่เหมาะสมหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ได้ บุคคลในระดับแนวหน้าซึ่งเป็นที่คาดหมายกันอาจจะเป็นเจ้าพระยากลาโหมคนปัจจุบันที่ผู้คนให้ความเคารพนับถือเป็นอันมาก จึงมีความเป็นไปได้ที่ท่านจะก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปเมื่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันสิ้นพระชนม์ลงพวกเรา (นักข่าว) ได้เก็บคำพูดของราชทูตไทยท่านหนึ่งที่ทำให้พวกเราต้องอึ้ง แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ด้วย[1]

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมื่อข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแพร่สะพัดออกไป สำนักข่าวของฝรั่งเศสจึงลงรูปตัวเต็งของผู้นำประเทศคนใหม่ในสยามคู่กันกับองค์รัชทายาทผู้เยาว์วัย รัชทายาทก็คือเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ส่วนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรูปก็คือท่านช่วง บุนนาค บุคคลตามโผที่คาดกันไว้นานแล้ว (ดูภาพด้านล่าง)[14]

ภาพประกอบข่าวขึ้นหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์กรุงปารีส L’illustration 19 December 1868 เมื่อเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์เสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ (เอกสารต้นฉบับของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา)

คนภายนอกยังเข้าใจผิด
เกี่ยวกับผู้แต่งตั้งกษัตริย์

การให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของขุนนางในตระกูลบุนนาค สมัยนี้อาจเรียกว่าเป็น ทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นกับคนภายนอกประเทศที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางกับเหตุการณ์ที่แท้จริงในราชสำนัก ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเสมอมา คนไทยด้วยกันเองบางทีก็ยังจับต้นชนปลายไม่ค่อยได้

ความกำกวมของประวัติศาสตร์ไทยในช่วงนี้เกิดขึ้นเมื่อคนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ หรือเจ้าพระยากลาโหม (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า ท่านช่วงผู้เขียน) เป็นผู้แต่งตั้งรัชกาลที่ 5 และให้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินจนกว่าเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์จะทรงบรรลุนิติภาวะ ความจริงแล้วไม่ใช่ เป็นแต่ทรงชี้ช่องให้ท่านช่วงเป็นผู้หนึ่งในจำนวนผู้ใหญ่ 3 ท่านที่จะประชุมหารือกันเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้แจงว่า

ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้นได้มีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาธิราชสนิทกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยาภูธราภัยเข้าไปเฝ้าพระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ว่าผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้นให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือกันสุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระเจ้าน้องยาเธอหรือพระเจ้าลูกยาเธอพระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดจะทรงสามารถปกครองให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระราชวงศ์นั้นพระองค์มิได้ทรงรังเกียจ บัดนี้ท่านทั้งหลายบรรดาอยู่ในที่ประชุมนี้จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใดสมควรจะทรงปกครองแผ่นดินได้ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางที่ประชุม อย่าได้มีความหวาดหวั่นเกรงขามเลย[10]

หลังจากเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะเสนาบดีผู้ใหญ่จึงได้เชิญพระบรมวงศานุวงศ์และมุขมนตรีชั้นผู้ใหญ่มาประชุมกัน โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งมีพระชันษามากที่สุดในบรรดาพระราชวงศานุวงศ์ได้ทรงเป็นผู้เสนอขึ้นก่อนในที่ประชุมให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่

กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์พระองค์นี้นี่เองเป็นผู้เสนอในที่ประชุมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ยังทรงพระเยาว์ขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ช่วยว่าราชการแทนไปก่อนจนกว่าเจ้าฟ้าชายจะทรงผนวชพระ คือมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ในปี .. 2416 ที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกัน[10]

แต่การที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เคยเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาก่อนและเป็นผู้มีบุญบารมีมาก ส่งผลให้ท่านช่วงและญาติวงศ์บริวารของท่านซึ่งรับราชการอยู่ในรัชกาลที่ 3 และ 4 หลายท่านก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินมากขึ้นกว่าเดิม และมีแนวโน้มจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งกว่าขุนนางจากตระกูลอื่นๆ แล้วยังมีผลให้ขุนนางจากตระกูลบุนนาคก้าวขึ้นมากุมอำนาจและมีอิทธิพลสูงสุดในกรมสำคัญๆ ไว้ได้แทบทั้งหมด ทำให้อำนาจในการบริหารบ้านเมืองทั้งทางด้านการเมือง การทหาร และเศรษฐกิจตกอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด(11)

การก้าวขึ้นสู่อำนาจขั้นสูงสุดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 นั้นส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา เป็นยุวกษัตริย์ที่อ่อนแอ ขาดที่พึ่ง ทั้งยังขาดประสบการณ์ในการบริหารราชการทุกอย่าง ขาดคนสนับสนุนอุ้มชู และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของท่านช่วงโดยปริยาย ดังคำอธิบายของรัชกาลที่ 5 เอง เมื่อมีพระราชดำรัสเล่าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ฟังถึงสถานภาพของพระองค์ภายใต้ผู้สำเร็จราชการในยุคนั้นว่า (ช่วง บุนนาค หรือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน)

แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นในเวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทยอย่างเลวๆ ว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อให้ทราบต่อไปนี้

ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง 15 ปีกับ 10 วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ที่ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มี โดยมากฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด

ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไปไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตายอันไม่มีผู้ใดสักคนเดียว ซึ่งจะเชื่อว่ารอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้นเปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอกหมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส[12]

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

สถานการณ์ในขณะนั้นถูกซ้ำเติมให้ยุ่งยากขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชปรารภให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ประชุมปรึกษาหารือกันคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมให้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อไป แต่สถานภาพและอำนาจหน้าที่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จสวรรคตทำให้ดูประหนึ่งว่าท่านมีอำนาจในการตัดสินใจแต่ผู้เดียว[10]

บางสิ่งดลใจให้สมเด็จเจ้าพระยา
ตั้งผู้สำเร็จราชการคนที่ 2”

ธรรมดาเมื่อเกิดผลัดแผ่นดินขึ้น หรือมีการเปลี่ยนรัชกาลก็มักจะเกิดความหวาดหวั่นในหมู่ประชาชนและพระราชวงศ์ด้วยเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติขึ้นหรือเกิดโจรผู้ร้ายก่อความไม่สงบเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเนืองๆ ในสมัยก่อนหน้านั้น แม้ในครั้งนี้ก็เช่นกันก็มีความหวั่นใจกันแพร่หลาย และมีสาเหตุให้ต้องหวาดกลัวเพราะรัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์ จำเป็นต้องมีคนนอกมาช่วยกำกับว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์ คนทั้งหลายในพระนครต่างพากันหวั่นเกรงว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะแย่งชิงราชสมบัติ เนื่องจากตระกูลของท่านตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์เริ่มต้นมาล้วนมีบทบาทในการเลือกสรรรัชทายาทและแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดินเองก็หลายครั้ง[10]

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ให้บังเอิญชื่อของท่านช่วงดันไปซ้ำกับชื่อ เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีที่เคยแย่งชิงราชสมบัติมาก่อนในสมัยพระเจ้าปราสาททองครั้งกรุงศรีอยุธยา เรื่องมีอยู่ว่า ในปี .. 2171 เมื่อพระเจ้าทรงธรรมใกล้จะสวรรคตนั้น ทรงมอบเวนราชสมบัติให้แก่พระเชษฐาธิราชในขณะที่พระราชโอรสองค์ใหญ่พระชันษาได้ 14 ปี ให้อยู่ในการกำกับดูแลของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ อันเป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ต่อมาพวกข้าหลวงเดิมนั้นไปทูลยุยงพระเชษฐาธิราชใส่ร้ายว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ว่ากำลังคิดกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์เสียเอง จึงตรัสสั่งให้เรียกตัวมาจะชำระลงโทษ สุดท้ายเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ก็เลยตั้งตัวเป็นกบฏจริงๆ จับพระเชษฐาธิราชปลงพระชนม์ และชิงราชสมบัติมาไว้เสียเอง[10]

เรื่องนี้บังเอิญคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ทั้งนามบุคคลและสถานการณ์ในเวลานั้นล้วนใกล้เคียงกัน ท่านช่วง บุนนาค ซึ่งตกเป็นเป้าสายตาของชาวราชสำนักจึงถูกเพ่งเล็งว่าจะแย่งชิงราชสมบัติเช่นกัน จำต้องคิดหาอุบายป้องกันตนเองจากคำครหานินทาของสังคม โดยเฉพาะความหวาดหวั่นของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ต้องปล่อยให้คนนอกอย่างพระยากลาโหมเข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน[10]

ความตื่นกลัวว่าจะถูกจับผิดในเรื่องทฤษฎีสมคบคิดของคนในตระกูลบุนนาคยังตกทอดมายังทายาทรุ่นหลังต่อๆ ลงมาดังคำปรารภของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอรรคราชเทวีในรัชกาลที่ 5 ผู้เป็นสมาชิกในครอบครัวสกุลบุนนาคชั้นหลานของสมเด็จเจ้าพระยา มีพระดำรัสสั่งสอนให้สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ ผู้เป็นพระโอรส ขณะเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ในเยอรมนีให้ทรงสงบเสงี่ยมเจียมตัวต่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระเชษฐาต่างพระมารดา อย่าให้ต้องถูกติฉินนินทาว่ากำเริบเสิบสานเป็นอันขาดต่อหน้าสมเด็จพระเชษฐาธิราชเพราะความมีสกุลบุนนาคเป็นชื่อเสียงติดพระองค์อยู่ ความว่า

เพราะแม่รู้อยู่เต็มใจว่าชาวฟากข้างโน้น [สกุลบุนนาคตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ที่ฝังธนบุรีเป็นส่วนมาก จึงเรียกกันว่าชาวฟากข้างโน้นผู้เขียน] นั้นเป็นที่รังเกียจของเจ้านายเป็นอันมาก เพราะผู้ใหญ่บางคนทำยุ่งเหยิงไว้ ความชั่วจึงเลยมาแปดเปื้อนแก่พวกลูกหลานต่อมา แลพวกเหล่านั้นกองพันโตหนักด้วย ประการหนึ่งตัวของลูกก็ไม่ใช่เป็นเจ้านายอย่างสามัญ ความรแวงสงไสยมักอาจต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นเจ้าฟ้าปัญญาดี แลมีญาติข้างแม่มาก เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าการที่จะแก้ความรแวงว่าจะหมายเป็นใหญ่โตนั้น ก็มีอย่างเดียวที่จะต้องทำให้ทูนหม่อมโตท่านรักใคร่ไว้วางพระทัยจริง ให้ปรากฏแก่ตาคนทั้งหลายมากๆ เท่านั้น เพราะถ้าพระองค์ท่านเองโปรดปรานสนิทสนมอยู่แล้ว คนทั้งหลายก็คงไม่มีช่องที่จะเข้ายุยงได้อยู่เอง[13]

และเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงความดีความชอบของขุนนางตระกูลบุนนาคที่ได้ช่วยสนับสนุนพระองค์ให้ได้ครองราชย์ และมีกำลังเป็นที่น่าเกรงขามต่อฝ่ายตรงข้าม จึงได้ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลจนปราศจากคู่แข่งทางการเมืองจากตระกูลอื่นๆ และสามารถรวบอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จไว้ได้อย่างเหนียวแน่น มีอาทิ

1. เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม (ดิศ บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

2. พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระยาบรมมหาพิชัยญาติ และได้ตำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการพระนคร

3. พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และได้ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหม (และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในที่สุด)

4. จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการในกรมท่า (ต่อมาเปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี)

5. นายพลพัน (ชุ่ม บุนนาคน้องชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) ได้เป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นว่าที่สมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ

6. จมื่นสมุหพิมาน (แพ บุนนาคบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ได้เป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ดูแลกรมพระคลังสินค้า

7. นายไชยขรรค์ (แย้ม บุนนาคบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ) ได้เป็นพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ ดูแลกรมทหารมหาดเล็ก

8. นายฉันหุ้มแพร (วร บุนนาคบุตรชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์) ได้เป็นจมื่นไวยวรนารถในกรมทหารมหาดเล็กต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์)

9. เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกศาธิบดี (ท้วม บุนนาค) น้องชายต่างมารดาของท่านช่วง บุนนาค ได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกรมท่าดูแลกิจการต่างประเทศ

ขุนนางผู้ใหญ่ทั้ง 9 ท่านจากตระกูลบุนนาคนี้ก้าวขึ้นมากุมอำนาจสิทธิ์ขาดในกรมหลักๆ ของรัฐบาลสยามครอบคลุมกรมพระกลาโหม กรมพระคลัง กรมพระคลังสินค้า กรมท่า  และกรมมหาดเล็ก ซึ่งดูแลกองทัพ การจัดเก็บรายได้ของประเทศ การต่างประเทศ และกองทหารรักษาพระองค์ ทำให้เป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4-5[11]

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) มีตำแหน่งจมื่นราชามาตย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ผู้พี่ ทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์

การมีอำนาจสูงสุดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ย่อมเป็นที่หวาดหวั่นเกรงกลัวของอาณาประชาราษฎร์ทั่วไป แม้แต่สมณชีพราหมณ์ก็ยังพากันครั่นคร้ามในบุญบารมี ขนาดพระเถระชั้นผู้ใหญ่อย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์โตยังเข้าไปหาสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อถามให้หายสงสัยว่า อาตมาภาพได้ยินว่าทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนักเพราะมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน  ไม่ทราบว่าจะเท็จจริงประการใด ถ้าแม้นเป็นความจริง อาตมาใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาจึงรีบตอบว่า พระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลยตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่จะไม่ให้แผ่นดินมืดมัวลงด้วยมีผู้ใดแย่งแผ่นดินเด็ดขาด[3]

ด้วยความที่เห็นผู้คนในบ้านเมืองพากันหวาดระแวงในตัวท่าน สมเด็จเจ้าพระยาจึงตัดไฟแต่ต้นลมคัดเลือกบุรุษผู้อาวุโสท่านหนึ่งผู้เป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์เข้ามาแทรกกลางเป็นเครื่องกันกระทบในการบริหารราชการแผ่นดิน ท่ามกลางความกดดันที่ท่านตกเป็นจำเลยของสังคมและไม่อาจเป็นที่ไว้วางใจได้ จึงเกิดมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคนที่ 2 ขึ้นโดยเจตนาของท่านช่วงเองเมื่อต้นรัชกาลที่ 5[5]

ผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 เป็นใคร?

มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาต้องการอุปโลกน์ใครสักคนที่ไม่มีพิษสงต่อตัวท่านขึ้นมาเป็นตัวช่วยทำภารกิจคู่ขนานกับท่านในภาพพจน์เดียวกันแต่ในอีกหน้าที่หนึ่งที่แทบไม่มีความจำเป็นเลย จะได้กันท่านออกไปจากการถูกใส่ร้ายป้ายสีของขุนนางฝ่ายตรงข้าม โดยมีตำแหน่งที่สวยหรูในทางทฤษฎี แต่ไร้ซึ่งอำนาจในทางปฏิบัติ เรียกว่าผู้สำเร็จราชการฝ่ายราชสำนักก็เพื่อเป็นกุญแจไปสู่ความปรองดองทางการเมือง

โดยการเสนอตัวเลือกเป็นเจ้านายฝ่ายหน้าที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและทุกฝ่ายยอมรับได้ สมเด็จเจ้าพระยาเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลนั้นขึ้นในที่ประชุมเสนาบดีอย่างเปิดเผยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจพร้อมกับคำแก้ตัวแบบน่าเห็นใจว่าท่านไม่สันทัดในเรื่องราวของพระราชประเพณี เกรงจะทำได้ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ จึงใคร่จะเสนอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ ให้สำเร็จราชการด้านราชกิจเป็นผู้อุปถัมภ์ในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย[5]

นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นก่อนยังเคยให้เหตุผลที่สมเด็จเจ้าพระยายกเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ขึ้นมาทำงานควบคู่กับท่านก็เพื่อจะไม่ให้คนทั้งหลายคาดหวังว่าท่านจะเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่าง ก็ด้วยคนทั้งปวงคิดหวาดระแวงอยู่ว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะแย่งชิงราชสมบัติตามอย่างที่เคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[4]

อนึ่ง กลุ่มต่อต้านที่เป็นคู่อริตลอดกาลของสมเด็จเจ้าพระยาในระยะนั้น และทำตัวออกหน้าออกตาอย่างไม่ปิดบังตนเองนำโดยขุนนางอาวุโสจากตระกูลดังที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองของท่านช่วงตลอดมา ได้แก่ ขุนนางจากสายตระกูลเพ็ญกุล สายตระกูลชูโต และสายตระกูลอมาตยกุล

คนที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าและแสดงตนว่าเป็นศัตรูกับสมเด็จเจ้าพระยามาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 แล้วประกอบด้วยเจ้าพระยามหินทรศักดิดำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) เจ้าพระยาผู้นี้ได้ร่วมกับเจ้าหมื่นเสมอใจราช (เอม ชูโต) และพระวิสูตรโยธามาตย์ (โหมด อมาตยกุล) ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยากสาปนกิจโกศล ได้ร่วมกันสัญญาว่าจะคอยป้องกันสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถ้าหากสมเด็จเจ้าพระยาจะแย่งราชสมบัติ[5]

ส่วนตัวของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์นั้นเป็นบุคคลที่ค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว และไม่ค่อยมีบทบาทมากนักในรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงสันทัดเฉพาะงานภายในราชสำนักที่เรียบง่ายและไม่ผาดโผนนัก ได้แก่ ภารกิจภายในกรมวัง กรมพระคชบาล และกรมสังฆการีธรรมการ พระจริยวัตรอันสุขุมแบบนักวิชาการอาวุโส ส่งเสริมให้พระองค์ท่านเป็นผู้ชำนาญการพิเศษในศิลปศาสตร์ที่เกี่ยวข้องแต่เรื่องราชประเพณี พงศาวดาร พุทธศาสตร์ ไสยศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เลขะวิทยา สรภาณ มนตราและพยากรณ์ แพทยศาสตร์ ธาตุมิศการ นวกรรม หัตถโกศล รัตนศาสตร์ ภูตศาสตร์ ดุริยานยุต นัจจะเวธี กิฬาโกศล และสูทศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินเลย[4]

การที่เจ้านายฝ่ายหน้าถูกเสนอตัวขึ้นมาเป็นเสาหลักอีกคนหนึ่งภายในคณะรัฐบาล ถูกมองว่าทำให้เป็นตัวแปรคนสำคัญในฐานะนักการเมืองสายใหม่ที่ใจซื่อมือสะอาด ปราศจากมลทิน ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ยึดติดกับอำนาจ และที่สำคัญคือไม่ใช่คู่แข่งทางการเมืองของสมเด็จเจ้าพระยาเลยแม้แต่น้อย ทั้งตัวท่านเองก็มิได้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเลยสักนิด[5]

เจ้านายผู้นี้มีพระนามเต็มว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดี จึงมีศักดิ์เป็นพระราชปิตุลา (ลุง) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นสกุลมาลากุล อยุธยา” 

เจ้าฟ้ามหามาลาฯ (ต่อไปจะเรียกสมเด็จกรมพระตามพระราชนิยมของรัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน) ทรงรับราชการในกรมวังตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3 พอถึงรัชกาลที่ 4 ก็ได้ว่าราชการกรมวัง ต่อมาในปี .. 2411 อันเป็นปีแรกในรัชกาลที่ 5 ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พร้อมใจกันสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักและว่าการพระคลังทั้งปวง[4]

มีพระจริยวัตรที่สมถะและสันโดษ หนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย อธิบายคุณสมบัติของพระองค์ไว้อย่างเรียบง่ายและไม่มีบทบาททางการเมืองมาก่อนว่าทรงพระปรีชารอบรู้ในอุดมวิชาคชกรรมศาสตร์ โหรกลาศาสตร์ และปฏิภาณในการแต่งกาพย์กลอนคำโคลงคำฉันท์และแบบบรรพตำราราชกิจศุภการต่างๆ มีพระอัธยาศัยซื่อตรงดำรงในยุติธรรมสัตย์สุจริตเรียบร้อยมา[2]

อาจเรียกได้ว่าท่านเป็นนักวิชาการมากกว่านักการเมือง จึงไม่อยู่ในสายตาของเหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ผู้บริหารราชสำนักมาก่อน กลับเป็นตัวเลือกของสมเด็จเจ้าพระยาเพราะไม่ได้เป็นศัตรูทางการเมืองของท่านตั้งแต่แรกและไม่ใช่ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนักการเมืองทั่วไป[5]

แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่สมเด็จเจ้าพระยาคิดไว้ เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ (รัชกาลที่ 5) กลับทรงมอบความไว้วางใจให้เสด็จลุงอย่างท่วมท้น โดยได้มอบอำนาจอาญาสิทธิ์ซึ่งไม่ทรงมีมาก่อนให้กำกับดูแลหน่วยงานราชการที่ไปควบคุมอำนาจบริหารของผู้สำเร็จราชการคนแรกอีกชั้นหนึ่งโดยไม่รู้ตัว เช่น งานด้านมหาดไทย การปกครองท้องถิ่น ความมั่นคง การดูแลหัวเมืองขึ้น และกิจการต่างประเทศ และเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังบัลลังก์รัชกาลที่ 5 อย่างแท้จริงในที่สุด[4]

ศูนย์กลางการกระจายอำนาจคนใหม่

มีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 .. 2416 เสร็จสิ้นลง รัชกาลที่ 5 ก็ทรงรับผิดชอบพระราชกิจต่างๆ ด้วยพระองค์เอง อำนาจหน้าที่ของสมเด็จเจ้าพระยาในฐานะผู้สำเร็จราชการคนที่ 1 ก็สิ้นสุดลง แต่ภารกิจของผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 กลับเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และยังดำเนินต่อไปนานนับสิบปี แสดงถึงการยอมรับในตัวบุคคลผู้สามารถทำงานร่วมกับพระเจ้าแผ่นดินได้สนิทใจกว่าสมเด็จเจ้าพระยา[5]

กับภาระหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยของสมเด็จเจ้าพระยาในระยะ 5 ปีแรกของรัชกาลที่ 5  (.. 2411-15) สมเด็จกรมพระผู้ถูกวางตัวให้ช่วยงานราชการกำกับดูแลเรื่องภายในราชสำนักอย่างเดียว บัดนี้กลายเป็นผู้มีภาระหน้าที่เหนือบรรดาขุนนางทั้งหมด จะเป็นรองก็แต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น[4]

ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 หรือก่อนการปฏิรูประเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ในปี .. 2435 นั้นประเทศสยามยังไม่มีการจัดสรรหน่วยงานราชการให้ขึ้นกับกระทรวงดังเช่นทุกวันนี้ การปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคถูกควบคุมดูแลโดย 2 กรมขนาดใหญ่ได้แก่ กรมพระกลาโหมและกรมมหาดไทย

กรมพระกลาโหม ควบคุมดูแลกิจการฝ่ายทหารและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้อีก 19 เมือง เสนาบดีประจำกรมนี้เรียก สมุหพระกลาโหม ซึ่งขุนนางตระกูลบุนนาคเปลี่ยนมือกันบังคับบัญชากรมนี้ตลอดมา สมุหพระกลาโหมผู้มีชื่อเสียงสำคัญ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) คนต่อมาได้แก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ตามลำดับ การที่ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมสืบทอดมาในสายสกุลเดียวกันจากรุ่นปู่ลงมาถึงบุตรชายและหลานชาย ย่อมหมายถึงการถ่ายเทอำนาจของคนในตระกูลบุนนาคให้แก่กันอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของสมเด็จเจ้าพระยา (คือท่านช่วง บุนนาค) ก็มีอย่างไม่ขาดตอนตามไปด้วยในรัชกาลที่ 5

ในอีกด้านหนึ่งอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของ กรมมหาดไทย หรือกิจการฝ่ายพลเรือนตกอยู่ในกำมือของ สมุหนายก ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่าสมุหพระกลาโหมเลยสมุหนายกมีอำนาจหน้าที่ปกครองฝ่ายพลเรือนและหัวเมืองฝ่ายเหนือรวม 26 เมือง รวมไปถึงหัวเมืองขึ้นทางภาคตะวันออกทั้งหมด ได้แก่  มณฑลลาวเฉียง มณฑลลาวพวน มณฑลลาวกาว มณฑลเขมร และมณฑลลาวกลาง

ตำแหน่งสมุหนายกนี้มิได้สืบทอดจากบรรพบุรุษดังเช่นปรากฏกับสมุหพระกลาโหม โดยเมื่อสมุหนายกในรัชกาลที่ 4 คือ เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณรัตพันธุ์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว  ทายาทของเจ้าพระยาภูธราภัยก็มิได้สืบตำแหน่งนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นเป็นโอกาสให้สมเด็จกรมพระเข้ามาแทนตำแหน่งทันทีเมื่อปี .. 2421 และท่านก็ได้กำกับหน้าที่อันสูงส่งนั้นต่อมาอีกถึง  10 ปีจนสิ้นอายุขัยของท่าน[5]

สมเด็จกรมพระในฐานะผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่และอัครมหาเสนาบดีควบตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งราชสำนักและสมุหนายกอันเป็นตำแหน่งศูนย์กลางของการกระจายอำนาจควบคุมดูแลราชการภายในราชอาณาจักร และหัวเมืองประเทศราชในขอบเขตขัณฑสีมา และดำรงตำแหน่งสำคัญนี้อยู่ต่อไปแม้นว่าสมเด็จเจ้าพระยาจะยุติบทบาทผู้สำเร็จราชการคนที่ 1 ลงแล้วก็ตาม[2]

หลักฐานการมีอยู่ของผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 เป็นเรื่องพบยากในหน้าประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นภาวะพิเศษเมื่อท่านเข้ามามีบทบาทไม่นานช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจของผู้บริหารสูงสุดของรัฐบาลสยาม จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสามารถแก้ไขปัญหาการยึดติดกับตัวบุคคลแบบเก่า เช่น การลดบทบาทตัวขุนนางจากตระกูลบุนนาคลงแล้วตั้งสภาองคมนตรีขึ้นเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินแทนการหารือกันเองภายในกลุ่มเสนาบดีที่มักจะมีสมเด็จเจ้าพระยาเป็นประธานดังที่ผ่านมา

เพราะฉะนั้นหลักฐานเดิมที่เหลืออยู่เกี่ยวกับบทบาทและผลงานของผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 จึงมักจะสอดแทรกอยู่ภายในหมายรับสั่งที่พระราชทานสมเด็จกรมพระโดยตรงเท่านั้น ที่บ่งชี้ความมีตัวตนของท่านคู่ขนานกับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการคนที่ 1 โดยอาศัยการสังเกตหมายรับสั่งบางฉบับในภาวะพิเศษนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์ พระราชโอรสของรัชกาลที่ 2 กับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (ภาพจาก www.wikipedia.org)

ฉบับที่ 90
(สมเด็จเจ้าพระยาสอนมวยสมเด็จกรมพระ)

.ที่ 72
ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยเวลานี้ สมเดจเจ้าพระยาฯ เข้ามาหาหม่อมฉันแจ้งความว่าท่านได้ทราบความตามปากนอกแล้วสอบถามดู ได้ความว่าพระยาศรีสิงหเทพกับพระยาจ่าแสน ต่างคนถือเปรียบแก่งแย่งกันไปไม่ปรองดองกัน ฝ่ายพระยาศรีก็ว่าเป็นธุระข้างเมืองลาว พระยาจ่าแสนเป็นธุระข้างเมืองเขมร ต่างคนต่างไม่รู้ไม่เหนกันดังนี้ กลัวว่าราชการในกรมมหาดไทยจะฟั่นเฟือนผันแปรไป เมื่อต่างคนต่างโค้งไปด้วยกันทั้งสองข้างดังนี้แล้ว ที่ไหนท่านจะทรงบังคับบัญชาลงได้ เวลาวันนี้ท่านก็ได้ว่ากล่าว ดุดันเอาพระยาจ่าแสนมาก สอนให้กลัวเกรงอ่อนน้อมต่อพระองค์ท่าน อย่าให้ทำดื้อดึงทลึ่งทลั่งไป

ท่านจึงขอให้หม่อมฉันจัดการเรื่องนี้เสียให้เรียบร้อย ขอให้ช่วยให้พระองค์ท่านมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้จริงๆ อย่าให้การแยกย้ายกันไปที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ให้รวบรวมราชการเข้าไว้ทำให้พร้อมๆ กันแห่งเดียว จึงจะสมควรที่เปนกรมใหญ่ หม่อมฉันจึงได้บอกแก่ท่านว่า ท่านยังทรงรังเกียจเกรงอยู่ว่าเขาจะติเตียนว่าตื่นเต้น จึงไม่อาจจะตั้งออฟฟิซและรวบรวมการเข้าได้  สมเดจเจ้าพระยาฯ ท่านว่าจะอายใคร มอบการให้แล้วก็ควรต้องรักษาการให้เต็มที่ ขอให้ตั้งออฟฟิซเสียเหมือนหนึ่งกรมพระกระลาโหมแลกรมท่า มีราชการสิ่งใดให้ได้ประชุมทำพร้อมๆ กันจึงจะดี ท่านผู้ใหญ่ท่านมาเตือนดังนี้

จดหมายมา วัน 2 7 ปีขาน สัมฤทธิศก ศักราช 1240
(พระบรมนามาภิไธย) Chulalonkon R.S.[6]


ฉบับที่ 268
(จับผิดเจ้าพระยาภาณุวงษ์ (ท้วม บุนนาค))

.ที่ 195
ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยหม่อมฉันได้รับหนังสือของท่านลงวันนี้ว่าด้วยเรื่องความมองโอนั้น ได้ทราบความทุกประการแล้ว 

ให้ท่านทรงมีหนังสือตอบถึงเจ้าพระยาภาณุวงษในเรื่องความต่างๆ ที่มีมานั้น ในเรื่องความเมืองเชียงใหม่ว่า หม่อมฉันได้สั่งให้ท่านรวบรวมความรายนี้ ท่านจะมีหนังสือไปให้ทราบเรื่องการประชุมเรื่องสุรานั้น ท่านควรจะจัดให้พระยาพิพิธโภไคสวรรย์กับผู้ใดที่เปนตระลาการชำระในความสุราไปด้วยแล เตือนว่าด้วยหนังสือที่ให้มีไปถึงกงซุลอังกฤษเตือนเรื่องความมองโอนั่นว่าหม่อมฉันทูลถามท่านว่าเมื่อวัน 3 10 ค่ำในที่ประชุมเสนาบดี หม่อมฉันถามเจ้าพระยาภาณุวงษว่า หนังสือที่ให้มีเตือนเรื่องความมองโอนั้น ได้มีแล้วฤๅยัง เจ้าพระยาภาณุวงษบอกแก่หม่อมฉันว่าได้มีไปแล้ว แลกงซุลอังกฤษตอบมาแล้วได้คัดไปถวายท่านแล้วนั้น หนังสือตอบมาว่ากระไร ท่านก็ต้องบอกแก่หม่อมฉันตามความที่เปนจริง ว่าเจ้าพระยาภาณุวงษยังไม่มีมา ท่านต้องทรงต่อว่าเสียให้เข็ดด้วย เปนการจะหาผิดถวายท่านว่าเหลวไหลในราชการ ท่านก็ยังไม่ได้รับหนังสือของเจ้าพระยาภาณุวงษในเรื่องนั้น คำที่บอกแก่หม่อมฉันนั้น เจ้าพระยาภาณุวงษก็เปนผู้ใหญ่แล้ว ทำไมจึงบอกง่ายๆ ดังนี้ เอาให้ขอโทษเสียให้ได้ แลทำถามเสียว่าได้คำตอบมาแล้วฤๅยังด้วย

อนึ่ง ท่านต้องทรงเหนประโยชน์ในพระองค์และประโยชน์ในราชการมาก ที่จะได้เสดจมาเองในประชุมเสนาบดีทุกคราว จะได้เปนการป้องกันคนหาความผิดใส่ให้เปล่าๆ และจะได้เปนการดีในราชการ ที่จะได้สำเรจแล้วเรวไปเปนอันมาก ใครดีใครผิดก็คงจับได้ง่าย

เรื่องเมืองนครจำปาศักดิ์แลเรื่องเมืองอุไทยธานีนั้น พรุ่งนี้จึงจะทูลมา ยังตรวจดูไม่ตลอด

จดหมายทูลมา วัน 1 10 ค่ำ ปิมเมียจัตวาศก ศักราช  1244
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์[8]


ฉบับที่ 741
(เป็นประธานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จออกนอกพระนคร)

. ที่ 704

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งว่า จะเสด็จพระราชดำเนินประพาศตรวจตราการในฝั่งทะเลตะวันออกครั้งนี้ กำหนดประมาณ 24-25 วัน จึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร ราชการทั้งปวงทรงมอบไว้แก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ สมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ์  ท่านเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกระลาโหม เมื่อมีราชการอันใดมาให้ปฤกษาพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษแลท่านเสนาบดี คือกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม  เจ้าพระยาภาณุวงษมหาโกษาธิบดี เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรง เจ้าพระยาศรีพิพัฒแลขุนนางผู้ใหญ่บังคับราชการทั้งปวงให้สำเรจเด็ดขาดการควรจะให้ตลอดไปได้โดยเรวฉันใด ก็ให้ปฤกษาพร้อมกันบังคับไป อย่าต้องให้รอคอยเสดจกลับก่อนให้เสียราชการเลย

การทั้งปวงซึ่งเปนพนักงานตามน่าที่ตามกรม ก็ให้เสนาบดีแลอธิบดีในกรมนั้นๆ บังคับบัญชาการไปตามกรมแห่งตนตลอดจนโรงศาลชำระความทั้งปวง อย่าให้หยุดยั้งรอว่าเปนเวลาเสดจไม่อยู่ให้ทำการเสมออยู่เหมือนแต่ก่อน ขอทูลสมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอด้วยราชการในกรมมหาดไทย ในเวลานี้ราชการข้างเมืองเขมรแลข้างเมืองเชียงใหม่เปนการคับขันอยู่ถ้าเมืองพระตะบองจะมีโทรเลขฤๅหัวเมืองอื่นๆ มีใบบอกเข้ามาเปนการบอกข่าวฤๅขอคำบังคับบัญชาประการใด ขอให้ทรงบังคับออกไปโดยทันที ตามเลาการที่เคยบังคับมาแต่ก่อน ถ้าเปนการแปลกประหลาดมาใหม่เปนการขัดข้องทรงสงไสยประการใดควรปฤกษาก็ให้ปฤกษากันกับเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน เป็นต้น ให้ได้ตอบบังคับออกไปอย่าให้ต้องรออยู่ช้าเปนอันขาด เว้นไว้แต่ที่เปนการแผ่นดินสลักสำคัญ ซึ่งปฤกษาพร้อมกันเหนว่าควรจะขอผัดขอรอจึ่งค่อยขอผัด ถ้าเปนการขัดข้องประการใดก็ให้ทูลปฤกษาสมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอฯ และปฤกษาเจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์ คิดอ่านผ่อนผันโต้ตอบไป เมื่อการเกี่ยวข้องด้วยกรมใดให้ปฤกษาหาฤๅกันกับอธิบดีในกรมนั้นๆ ให้การสำเร็จไปโดยเร็วจงได้

อนึ่งขอทูลสมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอฯ แลสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอฯ ด้วยการจ่ายเงินในพระคลัง เงินที่เปนเงินประจำเดือนขอให้ทรงสั่งจ่ายไปอย่าให้ต้องรอคั่งค้างเปนที่ร้องกันว่า  ขัดข้องเดือดร้อนต่างๆ แลถ้าจะมาราชการจรอันใด ซึ่งจะต้องจ่ายใช้เงินโดยทันทีไม่ว่าจะมากน้อยเท่าใด ให้ท่านทั้งสองพระองค์นี้มีอำนาจที่จะสั่งจ่ายได้ตลอดไป

แลขอให้สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอฯ ทรงจัดเจ้านายอยู่ประจำรักษาวัง ให้เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงและเคาน์ซิลขุนนางผู้ใหญ่ เข้าเวรผลัดเปลี่ยนกันมารักษาพระบรมมหาราชวังตามเคย  ขอให้ท่านทั้งปวงพร้อมเพรียงกันรักษาราชการ อย่าให้การทั้งปวงขัดข้องเสื่อมทรามไปด้วยเหตุที่เสดจไม่อยู่ได้

    (พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์[9]


ฉบับที่ 900
(ให้วางนโยบายป้องกันรักษาดินแดน)

.ที่ 753 พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ 3 10 ค่ำ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247

ทูล สมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยทรงจดหมายส่งหนังสือบอกต่างๆ หลายฉบับ ได้อ่านแล้ว แต่ฉบับหนังสือไปรเวตที่ 5 พระยามหาอำมาตย์ว่าด้วยหัวเมืองลาวตามเชิงเขาบรรทัด ข้อความที่ได้ความมานั้น ก็เปนความจริงทั้งนั้น หัวเมืองเหล่านี้ญวนคงเปนเจ้าของมากกว่าเรา แต่เรายังมีคำที่จะพูดได้ว่า เมืองเหล่านี้เปนเมืองส่วยของเราอย่างหนึ่ง โจรผู้ร้ายเข้ามาเบียดเบียนหัวเมืองลาวชั้นในเข้ามา เราต้องระวังรักษาความศุขชีวิตแลทรัพย์สมบัติของราษฎรอย่างหนึ่ง เรารู้ว่าญวนกับฝรั่งเศสมีการรบพุ่งต่อกัน เจ้าแผ่นดินญวนหนีขึ้นมาตั้งอยู่ปลายเขตรแดน เราไปช่วยห้ามปรามรักษามิให้พวกลาวเข้าเปนกำลังญวนต่อสู้ฝรั่งเศส เปนการช่วยโดยทางพระราชไมตรี ความสามข้อนี้เปนเหตุพอที่เราจะจัดการป้องกันรักษาหัวเมืองลาวตามเชิงเขาประทัดได้

หัวเมืองลาวเหล่านี้ถ้าข้างฝ่ายญวนบ้านเมืองเปนปรกติ หม่อมฉันก็จะไม่คิดอ่านทะเยอทยาน แต่บัดนี้รู้เปนแน่แล้วว่าจะเปนของฝรั่งเศส จึงจำเปนต้องหวงแหนไว้เพื่อจะป้องกันลำน้ำโขง ถ้าหากว่าฝ่ายฝรั่งเศสได้เมืองญวนเปนสิทธิจะหวงเขาไว้ไม่ได้ก็แล้วไป ถ้าบางทีการที่เราช่วยเหลือแขงแรงเปนกำลังได้ทั้งฝ่ายเขมรฝ่ายญวน แลที่เมืองเหล่านี้ไม่มีประโยชน์อันใดนัก จะเปนเหตุให้เราพูดหวงแหนไว้ได้ตลอดก็ไม่มีประโยชน์อันใดนัก แต่ได้เปนเขื่อนเปนคูภายนอก เพราะเหนดังนี้จึ่งได้คิดอยากได้ไว้

การซึ่งพระยามหาอำมาตย์จะขึ้นไปเมืองเขมราษฎ์ครั้งนี้โดยจะบอกกับบาดน้ำบาทหลวง ฤๅให้กิตติศัพท์รู้ไปถึงญวนว่าเราไปช่วยฝรั่งเศสก็จะเปนประโยชน์ดีอยู่ ฝ่ายญวนก็จะไม่กล้าเข้ามา ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็จะเหนเปนเราช่วยเหลือแล้วถือเอาโอกาสนั้นออกไปจัดการหัวเมืองเหล่านี้เสียให้ทั่วทุกเมือง ให้พูดยืนดื้อเอาว่าเมืองเหล่านี้เปนเมืองของเรา เราจึงออกไปจัดการป้องกันรักษาไม่ให้เปนกำลังแก่ญวนสัตรูกันกับฝรั่งเศส

ข้อซึ่งพระยามหาอำมาตย์จะให้ตอบบาทหลวงตามเรื่องราวพงษาวดารตามเหตุผลนั้นเขาก็คิดชอบอยู่แล้ว แต่อย่าให้พูดถึงเมืองงานเมืองหมอก แลอย่าให้รับว่าเมืองพวนเมืองลาวเหล่านี้เปนของญวน พูดเลือนๆ เสียเกี่ยวไว้เปนของเราให้มากๆ เปนดี ขอให้ทรงมีตราน้อยชี้แจงออกไปให้พระยามหาอำมาตย์ทราบตามทางราชการดังนี้

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์[9]


ฉบับที่ 896
(ถูกขอร้องไม่ให้ละทิ้งมหาดไทย)

.ที่ 431   พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ 7 8 ค่ำ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247

ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยทรงจดหมายลงวัน 5 8 ค่ำ เปนความที่ทรงพระดำริห์การในเมืองนครเสียมราฐ แลเมืองลาวมานั้น ได้ทราบความแล้ว

การซึ่งทรงพระดำริห์การเมืองนครเสียมราฐนั้น เปนการรอบคอบถูกต้องตามความจริงแน่ ผู้ที่จะไปนั้นหม่อมฉันเหนว่าพระยามหาอำมาตย เปนดีกว่าใครๆ หมดแต่เหนว่าไปติดราชการอยู่ทางโน้นจึงได้ถวายพระองค์สายไป ยังมีอีกคนหนึ่งที่มีสติปัญญาเคยไปมาครั้งหนึ่งแล้ว คือพระยาเจริณราชไมตรี แต่เปนคนเดาะเสียทั้งไทยทั้งฝรั่ง กลัวว่าพระยาคทาธรจะดูถูก ฝรั่งก็จะไม่เชื่อ ถ้าทรงเหนว่าหมอสายจะออกไปไม่ได้ โดยเปนรดูฝนและไม่ชำนาญในราชการ ก็ได้แต่มีตราขึ้นไปให้พระยามหาอำมาตยลงมา การข้างเชียงแตง ศริทันดร แสนปาง เขาก็ได้วางไว้แล้ว จะช้าไปก็แต่ความเมืองมหาสารคามเรื่องหนึ่ง วิตกแต่การที่เมืองนครเสียมราฐเปนเวลาวุ่นอยู่ดังนี้ ถ้าไม่ได้จัดการให้เรียบร้อยโดยเรวจะมีเหตุการณ์ประการใดจะแก้ไขยากด้วยการเป็นทั้งภายนอกภายในอยู่ด้วย ครั้นจะหาตัวเข้ามาว่าที่กรุงเทพฯ การที่จะสืบสวนก็ยาก บ้านเมืองก็มีการพัวพันทั้งสองเมือง  หม่อมฉันมีความวิตกมากอยู่

การในเมืองลาวนั้นเหนว่าได้ทำโทษเปนการกวดขันถึงประหารชีวิตรเสียสักรายสองรายคงจะสงบ ด้วยลาวเหล่านี้ก็ขี้ขลาด ที่กำเริบกันนักไปทั้งนี้ ก็เพราะเหนว่าจะสู้ความ จนเลยเลิกไปได้เท่านั้น

การซึ่งจะเสดจเองนั้นเหนว่าการเพียงนี้ก็ยังมิควรที่จะเสดจ ราชการในกรุงนี้มากมายนั้น  จะทิ้งการมหาดไทยไว้ให้แก่ใครทำเหนจะไม่ได้ ประการหนึ่งก็ทรงพระชราแล้วก็จะไปบอบช้ำยับเยินเสียในการที่ยังไม่เปนการจำเปนดังนี้ ก็จะเปนที่เสียใจมาก

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์[9]


ฉบับที่ 444
(กำกับดูแลคณะสำรวจสร้างทางรถไฟไปจีน)

.ที่ 485 ()

ทูล สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

ด้วยมิสเตอเออาร์ กุฮอน ซึ่งสำเนาหนังสือกรมท่าแปลเปนมิสเตอ เออาร์โกรกุฮอนเปนอินยีเนียอังกฤษในอินเดีย มีหนังสือมายังเจ้าพระยาภานุวงษ ว่าจะขอแต่งให้พวกที่จะตรวจตราแผ่นดินบ้านเมือง ซึ่งควรจะทำทางรถไฟฤๅไม่ควรจะทำจะให้มิสเตอโฮลท์ แฮลเลตเปนหัวน่ามาในกองตรวจตรานั้น เข้าทางเมืองเชียงใหม่ฤๅเมืองรแหง ขึ้นไปเมืองเชียงแสน แล้วจะตรวจกลับลงมา ตลอดจนถึงกรุงเทพฯ

เหนว่าการที่เขาคิดนี้เปนประโยชน์แก่การค้ามิได้เปนอันตรายแก่บ้านเมืองอย่างใดอย่างใด จะต้องยอมให้ตรวจโดยทางไมตรี ขอให้ท่านมีตราถึงพระยาราชสัมภารากร และพระยาสุจริตรักษา เจ้าเมืองกรมการตามระยะทางที่จะลงมาถึงกรุงเทพฯ ให้ยอมให้พวกเซอรเวนี้ ได้ตรวจตราดูการแลซื้อเสบียงอาหารโดยสะดวก

แลถ้าพวกเซอรเวนี้เข้าทางเมืองเชียงใหม่ ให้พระยาราชสัมภารากรจัดให้จ่าเขมงสัตริยาวุธไปกับพวกเซอรเวจนถึงเมืองเชียงแสน แลกลับลงมาจนถึงเมืองตาก ถ้าพวกเซอรเวจะไปตรวจตราดูสิ่งใดทำอย่างใดให้ตรวจตราดูด้วย แล้วจดหมายเปนรายงานไว้ให้ลเอียด ทั้งการที่พวกเซอรเวทำแลพื้นบ้านภูมเมืองที่ตัวเหนเองว่าเปนอย่างไรมีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯ ให้ทราบ ถ้าพวกเซอรเวเข้าทางเมืองตาก ฤๅกลับลงมาจากเชียงใหม่ถึงเมืองตาก ก็ให้พระยาสุจริตแต่งกรมการที่มีสติปัญญากำกับพวกเซอรเวตรวจตราลงมาเหมือนเช่นจ่าเขมงสัตริยาวุธ อย่าให้เสียราชการได้ การที่เขาจะมาเซอรเวนี้คงจะมาในแล้งนี้ ขอท่านได้ออกตราเสียโดยเร็ว แล้วมีหนังสือแจ้งความไปให้เจ้าพระยาภาณุวงษทราบด้วยว่าได้ออกตราไปแล้ว

ทูลมา วัน 6 1 ค่ำ ปีมแมเบญจศก ศักราช 1245
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์[7]


(หมายเหตุ : ฉบับที่ 444)

การสำรวจทางรถไฟไทยไปจีนครั้งนี้เกิดขึ้นในปี .. 2428-29 (.. 1885-86) ด้านหนึ่งเริ่มจากเมืองมะละแหม่งในพม่า อีกด้านหนึ่งเริ่มจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปบรรจบกันที่เมืองตาก (ระแหง) จากนั้นก็จะวางเป็นเส้นเดียวสู่เมืองเชียงแสนแล้วต่อเข้าจีนทางตอนใต้ด้านเมืองซูเมา แต่ยังไม่ได้สร้างเพราะเกิดสงครามตังเกี๋ยเสียก่อน เพิ่งจะถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี .. 2557 นี้เอง เอกสารชิ้นนี้เป็นหลักฐานเดียวที่พบในเมืองไทยเกี่ยวกับโครงการนี้ ก็เป็นสิ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยสมเด็จกรมพระเป็นสมุหนายก กำกับกิจการมหาดไทย

สมเด็จกรมพระ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 เป็นเวลานาน 10 ปีเต็มระหว่างปี .. 2411-21 นานกว่าผู้สำเร็จราชการคนที่ 1 (สมเด็จเจ้าพระยา) ถึง 5 ปี จึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็นเสนาบดีที่สมุหนายกและได้ทรงทำหน้าที่สำคัญนี้อีก 8 ปีเต็ม (.. 2421-29) ก็ได้สิ้นพระชนม์ลงในวันที่ 1 กันยายน .. 2429 สิริรวมพระชันษาได้ 67 ปี[5]

รัชกาลที่ 5 ทรงพระอาลัยโศกเศร้าเสียพระราชหฤทัยยิ่งนัก นับเป็นการขาดเสาหลักของแผ่นดินคนหนึ่งไปอย่างไม่อาจหาใครมาทดแทนได้ ถึงกับเคยตรัสยกย่องคุณสมบัติของสมเด็จกรมพระไว้ก่อนหน้าวันสิ้นพระชนม์ว่า ถ้ามีเหตุการณ์ที่สมเด็จเป็นอย่างไรลง ข้าเองก็เหมือนแขนขาด ตาบอด เป็นสิ้นตัวลงเมื่อนั้น[4]

 


เอกสารประกอบการค้นคว้า :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศลายของพระเจ้าแผ่นดิน. สำนักพิมพ์มติชน, 2550. (อ้างจาก LE MONDE ILLUSTRÉ, Paris, 13  Juillet 1861).

[2] เฉลิมพระยศเจ้านาย, โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472.

[3] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เล่ม 1. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2516.

[4]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ภาคต้น). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[5]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ภาคปลาย). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[6]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เล่ม 1). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[7]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เล่ม 4). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[8]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เล่ม 5). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[9]______. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (เล่ม 9). องค์การค้าของคุรุสภา, 2514.

[10] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ความทรงจำ. บุญส่งการพิมพ์, 2507.

[11] เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. สำนักพิมพ์มติชน, 2547.

[12] พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ, โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2504.

[13] ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอรรคราชเทวี ทรงประทาน สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์, พิมพ์แจกในงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าฯ .. 2493.

[14] LE MONDE ILLUSTRÉ, Paris, 19 Decembre 1868.


หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ หลักฐานใหม่ ผู้สำเร็จราชการคนที่ ” สมัยรัชกาลที่ มีจริง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กันยายน 2562