เจ้านายสมัย ร.4 จากบันทึกปาลเลกัวซ์ เผยชีวิตสตรีราชสำนัก ทำไมเจ้าหญิงแต่งงานไม่ได้?

ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ สังฆราชปาลเลกัวซ์
ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ [Jean-Baptiste Pallegoix] หรือสังฆราช ปาลเลกัวซ์ ผู้บันทึกเกี่ยวกับสยามสมัยรัชกาลที่ 4

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ สังฆนายกคณะมิซซังโรมันคาทอลิกประจำสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับสยามเมื่อ พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) ด้วยวิธีการเขียนแบบพรรณา (description) เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ฉายให้เห็นภาพของสังคมและประวัติศาสตร์สยามได้อย่างชัดเจน

นามเดิมของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ คือ ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ [Jean-Baptiste Pallegoix (ชื่อภาษาไทยสะกดตามผู้แปลหนังสือ)] เกิดที่เมืองกอมแบรโตลท์ (โกต-ดอร์) วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1805 เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่ิอวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2372 (ค.ศ. 1830) ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยไม่รู้ภาษาไทยแม้แต่คำเดียว

สังฆราช ปาลเลกัวซ์อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาหลายปี ต่อมาได้กลับไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ฝรั่งเศส จึงได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับสยามไว้ เมื่อ พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) สังฆราช ปาลเลกัวซ์พรรณาในหนังสือว่า

“…บิดามารดา, มิตรสหายและบุคคลมากหลายที่ข้าพเจ้าพบปะ ต่างก็รุมเร้าข้าพเจ้าด้วยข้อถามนานาประการ อันเกี่ยวกับประเทศไกลแสนไกลและไม่ค่อยจะมีผู้รู้จักเป็นที่แพร่หลายนี้อยู่เนือง ๆ ข้าพเจ้าจึงได้ปลงใจขีดเขียนงานเล็ก ๆ ชิ้นนี้ขึ้น…” 

สังฆราช ปาลเลกัวซ์มิใช่ชาวต่างประเทศที่เดินทางมาสยามแค่ประเดี๋ยวประด๋าว ท่านอาศัยอยู่ในสยามสิริรวมระยะเวลานานกว่า 30 ปี และในฐานะผู้เผยแพร่คริสต์ศาสนาจึงคุ้นเคยกับชาวสยามหลากหลายด้านทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ได้อย่างลึกซึ้ง ทั้งยังสนิทสนมกับขุนนางผู้ใหญ่ พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และบุคคลทุกชนชั้นในสังคม สังฆราช ปาลเลกัวซ์จึงนิยามตัวท่านเองว่าเป็น “…ผู้ที่อยู่ในฐานะอันเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงอย่างปราศจากข้อสงสัย ในอันที่จะเสนอนำสิ่งทั้งมวล อันน่ารู้น่าเห็นและน่าสนใจ…” 

บันทึกของสังฆราช ปาลเลกัวซ์แปลเป็นภาษาไทยว่า “เล่าเรื่องเมืองไทย” แบ่งออกเป็นตอน ๆ มีเนื้อหาหลายเรื่องราว เช่น ภูมิ-ประวัติศาสตร์และลักษณะการปกครองของกรุงสยาม, พืชพันธุ์ธัญญาหาร, ธรรมเนียมและประเพณีไทย, สงครามกองทัพเรือ, ภาษาและวรรณกรรม, การถือโชคลาง โดยตอนที่มีความน่าสนใจตอนหนึ่งคือ ตอนที่แปด “รัฐบาลไทย” ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ อธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า ทรงเป็นผู้ปกครองของรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์เป็นที่น่าเกรงขามและเป็นที่เคารพสักการะราวกับพระเจ้า เป็นผู้มีอาญาสิทธิ์เด็ดขาด แต่ก็ระบุด้วยว่า “แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ กระนั้นก็ไม่พ้นจากกฎเกณฑ์ของชีวิตที่พระองค์จะต้องทรงบำเพ็ญให้เป็นไปตามนั้น”

กฎที่ว่านั้นคือ “พระราชมณเฑียรบาล” ซึ่งกำหนดเวลาปฏิบัติพระราชกิจวัตร เช่น เวลาตื่นบรรทม เวลาสรง เวลาเสวย เวลาเสด็จออกวินิจฉัยข้อราชการ เวลาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เข้าเฝ้า เวลาศึกษากฎหมายและจดหมายเหตุของบ้านเมือง รวมถึงการถวายบิณฑบาตและปัจจัยแด่พระสงฆ์ทุกวัน

เรื่องถวายบิณฑบาตและปัจจัยแด่พระสงฆ์นี้ สังฆราช ปาลเลกัวซ์ระบุประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า “…พระเจ้าแผ่นดิน ผู้เคร่งครัดในพระศาสนา จะต้องถวายบิณฑบาตทานด้วยพระองค์เองแด่พระสงฆ์ทุกวัน เพียงแต่พระองค์ท่านจะทรงแสดงความเคารพเสมอยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นแค่ดวงพระเนตรเท่านั้น…” 

สำหรับที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน สังฆราช ปาลเลกัวซ์นิยามว่าคล้ายกับ “ร้านค้า” ที่สะสมสิ่งของแปลก ๆ ตาไว้จำนวนมาก เช่น กระจกเงา โคมแก้วแขวน เครื่องเจียระไน นาฬิกา เครื่องถ้วยชามกระเบื้อง รูปปั้น หีบดนตรี ตู้เขินแบบจีนและญี่ปุ่น เก้าอี้แบบยุโรป ฯลฯ ส่วนสำหรับที่บรรทมนั้นจะไม่บรรทมที่ใดถาวร จะเสด็จบรรทมที่นั่นบ้างที่โน่นบ้าง เพราะ “…ด้วยความไม่ไว้วางพระทัย เกรงว่าถ้ามีผู้แจ้งว่าพระองค์เสด็จบรรทมที่แห่งใดแล้ว อาจจะมีพวกทรยศกบฏต่อแผ่นดินลอบเข้าไปปลงพระชนม์เสียก็ได้”

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ได้กล่าวถึงรัชทายาทผู้ที่จะเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ว่า ในสยามจะสืบทอดราชบัลลังก์ทางสายเลือดต่อ ๆ กัน แต่รัชทายาทไม่จำเป็นต้องเป็นพระราชโอรสองค์โตเสมอไป เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจที่จะทรงเลือกพระรัชทายาทด้วยพระองค์เอง

ส่วนเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ในพระบรมราชวงศ์ สังฆราช ปาลเลกัวซ์อธิบายไว้ ความว่า

“…โอรสของพระเจ้าแผ่นดินทรงได้รับการอภิบาลอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งมีพระชันษาได้ 12 หรือ 13 พรรษา เมื่อเจริญพระชนมายุมาได้ถึงเท่านั้นแล้ว จะรับสั่งให้ออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่นอกกำแพงวัง โดยมีพระพี่เลี้ยง 4 คน พระราชทานข้าทาสให้สองสามร้อยคน และเงินเดือนราว 300 ฟรังก์ พระธิดาคงประทับอยู่ในวังหลวงและถือพรหมจาริณี เพราะโดยเหตุผลทางการเมืองของประเทศ ไม่อนุญาตให้พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชบุตรเขย ด้วยกริ่งเกรงว่าจะถือเอาตำแหน่งอันสูงส่งนั้นทำการกบฏต่อราชบัลลังก์”

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชสำนักฝ่ายใน ความว่า

“แม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงมีพระสนมเป็นอันมากก็ตาม แต่ก็มีอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับพิจารณาเป็นพระมเหสีใหญ่ และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ไม่มีประเพณีให้พระมหากษัตริย์ทรงสู่ขอเจ้าหญิงของประชาชาติต่างด้าวมาเป็นพระราชินี แต่พระองค์ทรงเลือกเจ้าหญิงในราชอาณาจักร และส่วนมากมักจะเป็นพระญาติวงศ์โดยใกล้ชิด หรือไม่ก็เจ้าหญิงในรัฐซึ่งเป็นประเทศราช

“รัชกาลที่ 4 และพระบรมราชินี” วาดจากพระบรมฉายาลักษณ์ ส่งไปถวายนโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

พระราชฐานที่ประทับของพระราชินีอยู่ติดกับพระเจ้าแผ่นดิน เป็นตำหนักใหญ่ ๆ โอ่โถงประดับสวยงาม พระราชฐานนี้มีคุณท้าวคนหนึ่งเป็นผู้ดูแล เป็นหญิงมีอายุมากซึ่งเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระเจ้าแผ่นดิน นางมีหน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับตำหนักที่ประทับของพระราชินี โดยมีนางพระกำนัลอยู่ในบังคับบัญชาประมาณหนึ่งร้อยคน นางมีหน้าที่โดยเฉพาะพิเศษที่จะถวายอภิบาลแด่องค์สมเด็จพระราชินี พระสนม ซึ่งเป็นเจ้าหญิงนานาชาติ และบุตรีของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ถวายตัวไว้ในพระองค์

นอกจากนั้นยังมีหน้าที่บังคับบัญชานางข้าหลวงซึ่งเป็นสาวใหญ่หรือหญิงสาวประมาณสองพันคน ซึ่งรับใช้อยู่ในพระราชฐานด้วย ผู้ดูแลที่ประทับของพระราชินียังมีหน้าที่ถวายอภิบาลแด่พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเจ้าหญิงทุกพระองค์ ซึ่งอยู่ในสภาพคล้ายถูกเก็บพระองค์และจะทำการเสกสมรสมิได้อีกด้วย บรรดาหญิงเหล่านี้ใช้ชีวิตของนางอยู่ภายในกำแพงล้อมสามชั้น มีโอกาสออกไปภายนอกยากเต็มที นอกจากจะไปซื้อสิ่งของหรือนำของไปวัดเท่านั้น

ตั้งแต่พระราชินีลงมาจนถึงนางโขลนทวารรับพระราชทานเงินปีจากพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น และพระราชทานเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์พูนสุข กล่าวกันว่าภายในพระราชฐานชั้นสามนั้นมีอุทยานใหญ่อันวิจิตรตระการตา เป็นที่รโหฐานอันกว้างใหญ่ ซึ่งย่อส่วนสรรพสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายในโลกจำลองมาประดิษฐานไว้ทั้งสิ้น มีรูปภูเขาจำลอง ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเลสาบ เกาะน้อย ๆ และหินผา มีเรือกำปั่นเล็ก ๆ เรือพาย ร้านค้า ตลาดสด ดำเนินการขายโดยพวกผู้หญิงในวัง มีวัด ศาลา เก๋ง รูปปั้น มีต้นไม้ดอกและต้นไม้ผลที่นำมาจากต่างประเทศ ในเวลากลางคืน อุทยานนี้ตามประทีปโคมไฟ เป็นสถานที่อาบน้ำของพวกผู้หญิงในวัง และที่เล่นหวัวหาความสำราญเพื่อปลอบใจที่ถูกตัดตอนเสียจากโลกภายนอก”

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ยังระบุถึงการลงพระราชอาญาพระบรมวงศานุวงศ์ที่กระทำผิด ความว่า

“การคิดมุ่งร้ายในทางสวาทสัมพันธ์กับองค์พระราชินีก็ดี ต่อพระสนมก็ดี หรือต่อพระธิดาพระองค์ท่านก็ดี เป็นความผิดขั้นประทุษร้ายต่อเจ้าชีวิต (lèse-majesté) [หมายถึงการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ – ผู้เขียน] บทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดคือ สวนทวารและทิ่มแทงให้ร่างกายทะลุด้วยคมหอก แต่พระราชินีหรือพระสนมที่ประพฤติไม่ซื่อต่อพระองค์หรือพระธิดาผู้ทรงประพฤติผิด จะถูกจับตัวใส่กระสอบหนังมีก้อนหินถ่วง เย็บปากกระสอบแล้ว นำไปถ่วงในกลางแม่น้ำเสียทั้งเป็น

ส่วนพระราชโอรสที่ทรงกระทำผิด จะถูกนำพระองค์ไปที่วัด ขึงพืดเข้ากับพื้นดิน แล้วใช้ไม้จันทน์ขนาดใหญ่สองท่อนทุบต้นพระศอ เมื่อเห็นว่าสิ้นชีพิตักษัยแล้ว ก็นำพระองค์ยัดเข้ากระสอบหนังมีก้อนหินถ่วง เย็บปากกระสอบแล้วนำไปถ่วงเสียกลางแม่น้ำเช่นเดียวกัน เป็นพระอภิสิทธิ์อันน่าเศร้าสำหรับบุคคลที่ถือกำเนิดมาเป็นเจ้านาย”

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ยังกล่าวถึงเจ้านายในตำแหน่ง “วังหน้า” ว่าเปรียบเสมือนพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า อุปราช (uparat) แต่ปัจจุบันเรียก วังหน้า (vangnà) ทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน มีวังที่งดงามโอ่โถงเกือบเท่าพระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง มีเครื่องราชกกุธภัณฑ์เหมือนกัน มีข้าราชสำนักของพระองค์เองไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร เมื่อเวลาจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน วังหน้าจะถวายบังคมโดยพนมพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นแต่ไม่ต้องหมอบกราบ และประทับนั่งพิงพระเขนยได้อย่างทรงมีพระฐานะเท่าเทียม

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4

เมื่อมีวังหน้าแล้วก็ต้องมี “วังหลัง” (vanglàng) เป็นตำแหน่งที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นมีหน้าที่ตามแต่พระราชบัญชาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น พิจารณาคดีพิพาทในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการพลเรือนที่กระทำผิด ดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนครหรือหัวเมืองใกล้เคียง สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ระบุว่า วังหน้าดำรงพระยศเป็น กรมหลวง ซึ่งพระยศนี้มีอยู่ 4 พระองค์ พระยศถัดลงมาคือ กรมขุนและกรมหมื่น ซึ่งมีอย่างละ 4 พระองค์เช่นกัน โดยเจ้านายในพระบรมวงศานุวงศ์ สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ประมาณว่ามีราว 200-300 คน

ตำแหน่งเจ้านายที่รับราชการมีทำเนียบตามบันทึกของสังฆราช ปาลเลกัวซ์ ดังนี้

ชั้นหนึ่ง เจ้ากรมม้าและช้างต้น
ชั้นสอง เจ้ากรมธนารักษ์
ชั้นสาม เจ้ากรมการต่างด้าว
ชั้นสี่ เจ้ากรมนา
ชั้นห้า เจ้ากรมพระอัยการ
ชั้นหก เจ้ากรมลูกขุนหลวง
ชั้นเจ็ด รองเจ้ากรมม้าต้นและช้างต้น
ชั้นแปด เจ้ากรมแพทย์
ชั้นเก้า เจ้ากรมช่างแสง
ชั้นสิบ เจ้ากรมกรรมกรโดยเฉพาะพวกคนงานหลอมเหล็ก
ชั้นสิบเอ็ด เจ้ากรมช่างเขียน
ชั้นสิบสอง เจ้ากรมสังฆการี

สังฆราช ปาลเลกัวซ์ ยังได้อธิบายว่า เจ้านายบางพระองค์ที่มักไม่ค่อยมีงานทำ และได้รับพระราชทานเงินปีที่ไม่พอเลี้ยงชีพ จะไปทำการบีบคั้นราษฎรกระทำการอยุติธรรมต่าง ๆ นานา ตามความในบันทึกว่า

“…ลางทีถึงแก่บังอาจลักลูกสาวและข้าทาสของชาวบ้าน ลางองค์ก็ต้องทำมาค้าขายเป็นหมอยาหรือทำงานต่ำ ๆ เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเลี้ยงครอบครัว ในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยยศ ลางองค์ก็เป็นที่หวาดหวั่นครั่นคร้ามของประชาชน (terreur du pays) ส่งบริวารไปเที่ยวขอหรือหยิบโน่นฉวยนี่ตามใจชอบ ฉุดคร่าผู้หญิงสาวเอามาเป็นเมียน้อย และเอาเด็กหนุ่ม ๆ มาหัดให้เล่นละคร เพราะแต่ละองค์ก็มีโรงมหรสพของตน มีวงมโหรีและนักแสดงชายหญิงของตน…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์. (2506). เล่าเรื่องเมืองไทย. แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร. พระนคร : อักษรสัมพันธ์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กันยายน 2562