พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ในบันทึกของฝรั่งตะวันตก

งานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (ภาพจากพระเมรุมาศ พระเมรุ และ เมรุ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดย ศาสตราจารย์ น.อ. สมภพ ภิรมย์ ร.น. ราชบัณฑิต)

“…ทางการจะเชิญพระบรมศพมาไว้ที่พระเบญจาเป็นเวลา ๗ วัน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จขึ้นพระราชทานเพลิงโดยจุดไฟข้างใต้พระเบญจาเป็นคนแรก ต่อจากนั้นเจ้านายข้าราชการและพระสงฆ์จึงตามขึ้นถวายพระเพลิง ในขณะนั้นเราจะไม่ได้กลิ่นอันน่ารังเกียจอย่างใด เพราะมีแต่กลิ่นหอมของกำยาน ธูปหอมและไม้จันทน์ซึ่งใช้กันเฉพาะในงานศพของผู้สูงศักดิ์เท่านั้น

ตลอดระยะ ๗ วัน ในบริเวณรอบพระเมรุจะมีการละเล่นต่างๆ ให้ประชาชนดู เช่น การจับสลาก การร้องรำทำเพลงและดอกไม้ไฟ พระมหากษัตริย์จะถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ และแจกทานให้ประชาชนในงานพระเมรุของสมเด็จพระราชินีที่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานสิ่งของซึ่งบางอย่างที่มีราคาให้แก่ประชาชน มีการทิ้งทาน โดยใช้ลูกมะนาวที่มีเหรียญเงิน เหรียญทองหรือสลากอยู่ข้างใน และอาจจะนำสลากมาขึ้นสิ่งของ เช่น ช้าง ม้า วัว ควายก็มี พวกที่ได้รับพระราชทานช้างหรือม้า จะต้องมาขี่ถวายบังคมต่อพระพักตร์ ๓ ครั้ง และมีผู้เล่าให้ฟังว่า พวกที่ได้รับพระราชทานสัตว์เหล่านี้เป็นคนยากจนที่ขี่ม้าไม่เป็น จึงต้องขี่อย่างเก้ๆ กังๆ เข้ามา ทำให้ดูขบขันไม่ใช่น้อย ขณะที่เขาพยายามจะทรงตัวอยู่บนหลังม้า เรื่องการแจกทานนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่เป็นขนบธรรมเนียมประจำชาติไทย

เมื่อพระราชทานเพลิงเสร็จแล้ว เจ้าพนักงานก็นำพระอังคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทาฯ ใส่ในพระโกศทองคำประดับเพชรอันล้ำค่า ที่ช่างทองประจำพระราชสำนักได้ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นอย่างสุดฝีมือ แล้วนำพระโกศมาประดิษฐานไว้บนพระมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังอีกทีหนึ่ง…”

(คัดจาก ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง (Temples and Elephants ของ Carl Bock) เรียบเรียงโดย เสฐียร พันธรังษี และ อัมพร ทีขะระ)