ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2534 |
---|---|
ผู้เขียน | รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
คําทักทายที่คนไทยใช้กันมากทั่วไปคําหนึ่งในเวลาพบกันคือ “ไปไหน” หรือ “ไปไหนมา” คําตอบที่ได้อย่างเป็นอัตโนมัติคือ “ไปเที่ยว”
คําทักทายนี้เข้าใจว่าจะใช้กันระหว่างเพื่อนหรือคนที่คุ้นเคยกันพอสมควร ในหมู่บ้านหรืออําเภอที่ผู้คนรู้จักมักคุ้นกันตั้งแต่เกิด หรือกระทั่งรู้จักพ่อแม่ปู่ย่าตายาย การทักทายว่า “ไปไหน” หรือ “กินข้าวยัง” จึงเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นกันเองพบอาจพูดอย่างภาษาวิชาการว่า “เป็นธรรมชาติ” ก็ได้
ความที่เราคุ้นเคยกับคําทักทายดังกล่าวมาก จนแทบไม่รู้สึกว่ามันมีนัยอย่างอื่นแฝงอยู่ด้วย แม้การใช้ในกาลเทศะที่ต่างกัน ก็ไม่ทําให้คนไทยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติหรืออาจทําให้ความหมายในการใช้เพี้ยนไปได้ เพราะทั้งคนใช้และคนรับคําพูดดังกล่าว ต่างมีความเข้าใจในความหมายทางสังคมของมันอยู่ก่อนแล้ว นั่นคือไม่ได้ตั้งใจคิดถึงความหมายทางภาษาของมันแต่อย่างเดียว
“ไปเที่ยว” จึงไม่ได้ตอบหรือบอกผู้ถามจริงๆ ว่าผู้ตอบได้ไปทําอะไรที่ไหนมา นอกจากว่า “ไปเที่ยว” เท่านั้นเอง
ผมเคยสงสัยว่า แล้วคนไทยเริ่ม “เที่ยว” กันตั้งแต่เมื่อไร
ผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวซึ่งไม่ได้ อยู่ในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้คําตอบว่าจริงๆ แล้วการเที่ยวคงเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ในสังคมทุกแห่ง เพียงแต่ลักษณะและจุดหมายของการเที่ยวคงแตกต่างและปรับปรุงไปตามสภาพวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภูมิประเทศการเที่ยวสมัยโบราณ จึงอาจเน้นหนักไปทางสนองตอบความต้องการทางร่างกาย เช่น การได้ข้าวปลาอาหารและเสื้อผ้า ไปจนกระทั่งเสื้อผ้าเครื่องประดับถนิมพิมพาภรณ์จากดินแดนอื่น
ต่อมาเมื่อศาสนาและบ้านเมืองเริ่มเป็นหลักเป็นฐานการเที่ยวก็อิงการศาสนามากขึ้น เช่นการไปนมัสการพระธาตุตามปีเกิด หรือในปัจจุบันคือการไปทอดผ้าป่าและทอดกฐินต่างจังหวัด หรือที่เรียกว่า “ฉิ่งฉับทัวร์” เป็นต้น
หลายปีมาแล้ว อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ไทยและผู้สันทัดการท่องเที่ยวเคยตั้งข้อสังเกตว่าคนไทยไม่ใคร่เดินทางท่องเที่ยวไปยังแดนไกลหรือที่ต่างบ้านต่างเมืองมากนัก ทําให้มักมีทรรศนะและสายตาอันสั้นและคับแคบ
ข้อสังเกตนี้ตั้งขึ้นโดยการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของชาวตะวันตก ลูกฝรั่งนั้นพอเริ่มเข้าโรงเรียนชั้นประถมมัธยม พ่อแม่ครูบาอาจารย์ก็พาไปเที่ยวต่างประเทศต่างเมือง พอเข้ามหาวิทยาลัยพวกนั้นก็เดินทางไปค้นหาข้อมูลยังหมู่บ้านเกือบทั่วโลกและหัดพูดภาษาท้องถิ่นได้ทั้งนั้น กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องของคนอื่นทั่วโลก ยกเว้นแต่เรื่องของตัวเอง
อันนี้ตรงข้ามกับของคนไทย เรายังเป็นผู้เชี่ยวชาญและผูกขาด “เรื่องของเราเอง” มาโดยตลอด แต่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญเรื่องของคนอื่นมากนัก
ข้อสังเกตและภาพที่วาดไว้ดังกล่าวมาในยุคปัจจุบันอาจต้องปรับเปลี่ยนบ้างแล้วเพราะความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง (แปลว่าสังคม) ไทยในยุคอุตสาหกรรมใหม่ ทําให้คนไทยมีสตางค์มาก และเหลือเฟือยิ่งนัก จึงสามารถส่งหรือพาลูกหลานไปเที่ยวต่างประเทศต่างเมืองได้มากขึ้น หรือการส่งลูกหลานไปศึกษาต่อยังต่างเมืองก็ไม่ใช่สิ่งเหลือบ่ากว่าแรงอีกต่อไป
ยิ่งเมื่อกลับจากการเที่ยวเมืองนอกกันแล้ว จะยิ่งกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและรักเมืองไทยยิ่งกว่าก่อนเสียอีก
เรื่องการไปเที่ยวนั้นน่าจะสัมพันธ์กับความคิดหรือโลกทรรศน์ของคนในแต่ละสังคมด้วย การไปเที่ยวที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้หรือในยุคสมัยใหม่ไม่ใช่สมัยกรุงสุโขทัยและอยุธยาแล้ว คือการเดินทางไปหาความสำราญ เปิดหูเปิดตาให้แก่ตัวเอง รวมไปถึงการได้ไปช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และแพงที่สุดของโลกด้วย
การเที่ยวค่อยๆ กลายมาเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่งของปัจเจกชนไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจไม่ก็อาจเป็นการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากการเดินทางด้วยก็ได้ ความคิดความเข้าใจแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่เกิดที่ใดเมื่อใดก็ได้ หากจะต้องมีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนบ้านเมืองที่พัฒนาขึ้นมารองรับได้พอสมควร
สังคมไทยเริ่มมีความคิดแบบใหม่ต่อการเที่ยวแต่เมื่อไร
คําตอบที่ผมพอหาได้คือ อย่างน้อยเริ่มมีตัวอย่างแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว นอกจากการเสด็จประพาสหัวเมืองแล้ว รัชกาลที่ 5 และเจ้านายต่างๆ ยังเสด็จประพาสต่างประเทศตั้งแต่เมืองอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า มลายู สิงคโปร์ ชวา อินเดีย ไปถึงประเทศในยุโรปและรัสเซีย
ไม่เพียงเจ้านายคนชั้นสูงเท่านั้นที่มีโอกาสเดินทางไปเที่ยว แต่ช่องทางก็เริ่มเปิดให้มากขึ้น (แม้จะยังแคบและไม่กว้างเท่าก็ตาม) แก่สามัญชนคนทั่วไปได้เดินทางไปเที่ยวยังแดนไกลมากขึ้นด้วย เช่น นายศรีโหม้ จากเมืองเชียงใหม่ไปสหรัฐอเมริกากับหมอสอนศาสนาคริสเตียน
ก.ส.ร.กุหลาบเป็นเสมียนห้างฝรั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ 15 ปี ระหว่างทํางานห้างฝรั่ง ก.ส.ร.กุหลาบ เขียนในอัตชีวประวัติว่า “นายห้าง พาไปเที่ยวตรวจสินค้าจะนํามาขาย” ยังต่างประเทศ ได้ไปสิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา มานิลา ปัตะเวีย มะกาว ฮ่องกง กาละ กะตะ อินเดีย หลายเมือง ตลอดในประเทศยุโรปด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก.ส.ร. กุหลาบไปเป็นล่ามให้หลวงนายสิทธิ (จุ) ไปซื้อของยังเมืองจีนเพื่อมาทําเมรุพระศพพระนางเจ้าสุนันทาฯ อีกด้วย
การไปเที่ยวดังกล่าวนั้นอาจถือได้ว่าเป็นการไปทําธุระหรือไปราชการงานเมืองเป็นหลักมากกว่าการไปเที่ยวเพื่อความสําราญใจหรือเพื่อไปพักผ่อนอย่างที่เราคุ้นเคยกันในสมัยต่อมา
แต่จะว่าการไปเที่ยวพักผ่อนและหาความสําราญใจไม่มีในสมัยนั้นก็คงไม่ได้ เพราะมีข้อเขียนชิ้นหนึ่งของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ (ขณะนั้นดํารงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดํารงราชานุภาพ) ตีพิมพ์ในวชิรญาณ ของหอพระสมุดวชิรญาณ ฉบับเดือนตุลาคม ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) เรื่อง “อธิบายการไปเที่ยว” ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นวาทกรรมสมัยใหม่ของผู้นําและปัญญาชนสยามที่เป็นตัวอย่างและดัชนีของการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสยาม ประเทศในยุคของการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ได้
ประเด็นที่น่าสังเกตในบทความ “อธิบายการไปเที่ยว” ดังกล่าว คือ ประการแรก การไปเที่ยวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายและไร้ประโยชน์ดังที่ผู้ปกครอง มักว่ากล่าวตักเตือนแก่ลูกหลานอยู่เนื่อง หากผู้นิพนธ์ทรงระบุไว้อย่างชัดเจนเลยว่า “การเที่ยว เตร่นั้นมีประโยชน์ 2 ประการ คือได้ความสุขสำราญ 1 แลได้ความรู้อีกประการ 1”
ความสุขสําราญนั้นมาจากการสนองความพึงพอใจในส่วนบุคคล อันเกิดขึ้นจาก “การไปพบเห็นภูมิประเทศ แลผู้คนสิ่งของซึ่งยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน” นี่เป็นความสุขแบบใหม่ที่เกิดขึ้นมา พร้อมกับความรู้ใหม่ที่ให้ความสําคัญและไร ตามที่เป็น “สิ่งที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน” ทรรศนะเช่นนี้น่าจะมาพร้อมกับการมีวิถีชีวิตและการทํางานที่เป็นระบบมากขึ้น (คือเชื่อในความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างมูลเหตุหรือ cause กับผลหรือ affect) ที่สําคัญระบบการงานนี้จะต้องให้ความสําคัญต่อปัจเจกชน ทําให้การเปิดหูเปิดตาและพักผ่อนเป็นสิ่งที่ไม่ทําให้การงานและชีวิตเสียหายไป หากในมุมกลับยิงเป็นการดีเสียอีก เพราะจะทําให้คนๆ นั้นมีพลังและความคิดอ่านกว้างขวางดียิ่งขึ้นอันจะมีผลด้านดีต่อการงานต่างไป
ทรรศนะต่อความรู้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง ในบทความกล่าวว่า “ในข้อที่ว่า (การไปเที่ยว) ได้ความรู้นั้น เปนข้อสำคัญ ควรจะอธิบายให้ชัดเจน แต่จะต้องขอยกความข้อต้นให้เปนอันเข้าใจเสียกันเสียว่า ‘มีความรู้ย่อมเปนทางที่จะได้ดี’ ดังนี้อย่าให้ต้องอธิบายเปลืองกระดาด จะตั้งต้นแต่ว่า การอย่างใดๆ ที่คนเราจะรู้นั้น อาไศรยเหตุ 3 อย่าง รู้ได้โดยรู้สึกเอง กล่าวคือที่ได้เห็นได้ยินได้ถูกต้องแลชิมรสเปนต้นอย่าง 1 รู้ได้โดยความรู้สึกของผู้อื่นกล่าวคือได้ฟังคำหรือได้อ่านหนังสือผู้อื่นเขาได้รู้สึกมาเองแล้วมาพรรณาให้เข้าใจอย่าง 1 แลตริตรองตามด้วยสติปัญญาของตนอีกอย่าง 1 ที่ว่าตริตรองตามด้วยสติปัญญานั้น เพราะความคิดย่อมต้องอาไศรยความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ว่ามาก่อนนั้นเป็นเหตุ”
ที่สําคัญคือในบรรดาความรู้ 3 แบบนี้ ความรู้ที่ถูกต้องที่สุดคือตามที่จริง “เท่าได้แลเห็น ด้วยตาของตัวเองนั้นเป็นอันไม่มี” แสดงว่าการได้มาซึ่งความรู้ที่ถูกต้องนั้นย่อมจะต้องมาจากการแสวงหา และปฏิบัติด้วยตัวเองมากกว่ามาจากการบอกเล่าหรือจากความรู้สึกของผู้อื่น ถ้าจะพูดภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็คงพูดได้ว่า ทฤษฎีความรู้ของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ นั้น จัดอยู่ในสํานักความรู้เชิงประจักษ์ได้ (Empiricism)
เส้นทางของการเที่ยวใน “เมืองไท” หรือ ใน “พระราชอาณาเขตร” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ ก็น่าสนใจไม่น้อยเหมือนกัน เพราะมีทั้ง หมดถึง 15 เส้นทางดังต่อไปนี้
“ทางที่ 1 เที่ยวทางชายทะเลตวันออก จับตั้งแต่เมืองชลบุรีลงไปถึงเมืองปัจจันตคีรีเขตร
ทางที่ 2 เที่ยวทางชายทะเลปักษ์ใต้ จับตั้งแต่เมืองเพชรบุรีลงไปจนเมืองตรังกานู
ทางที่ 3 เที่ยวทางชายทะเลตวันตก จับตั้งแต่เมืองกระบุรี ลงไปจนเมืองไทรบุรี
ทางที่ 4 เที่ยวทางลําน้ำแม่กลอง จับแต่เมืองสมุทรสงครามขึ้นไปจนไทรโยกแลศรีสวัสดิ์
ทางที่ 5 เที่ยวทางลําน้ำท่าจีน จับแต่เมืองสาครบุรี ขึ้นไปพระประถมเจดีย์ สุพรรณบุรี จนออกเมืองไชยนาท
ทางที่ 6 เที่ยวลําน้พเจ้าพระยาจับแต่กรุงเทพ ขึ้นไปทางแควใหญ่จนเมืองฝาง แล้วเดินบกมา สวรรคโลก สุโขไทย แล้วข้ามไปลงเรือล่องกลับ ลงจากเมืองตาก
ทางที่ 7 เที่ยวลําน้ำสัก จับตั้งแต่กรุงเก่า ขึ้นไปพระบาทพระฉาย จนเมืองหล่มศักดิ์
ทางที่ 8 เที่ยวลําน้ำบางปะกง จับแต่ฉเชิงเทราไปจนนครนายกปราจิณบุรี
ทางที่ 9 เที่ยวนครราชสีห์มา ขึ้นทางสระบุรี ลงช่องตะโก
ทางที่ 10 เที่ยวหัวเมืองลาวเฉียง จับแต่เมืองตากขึ้นไป กลับมาลงเมืองน่าน
ทางที่ 11 เที่ยวหัวเมืองลาวพุงขาว จับขึ้นเดินแต่อุตรดิฐไปปากลาย แล้วลองน้ำโขงลงมา จนหนองคาย
ทางที่ 12 เที่ยวหัวเมืองในเพชรลาวพวน
ทางที่ 13 เที่ยวหัวเมืองในเขตรลาวกาว
ทางที่ 14 เที่ยวหัวเมืองเขมร ขึ้นเดินแต่ปราจิน แล้วกลับลงเรือที่จันทบุรี
ทางที่ 15 เที่ยวในกรุงเทพฯ ที่นับกรุงเทพฯไว้เป็นทาง 1 ด้วยดังนี้ เพราะเชื่อได้แน่ว่า ในบันดาท่านผู้อ่าน ที่ใครจะได้เที่ยวในกรุงเทพฯ นี้ทั่วเห็นจะไม่มีเลยก็ว่าได้”
นอกจากนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดํารงฯ ยังทรงวิพากษ์วิจารณ์การเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางไปเที่ยวแต่ก่อน ที่ไม่ได้เป็น “เครื่องชักชวนคนชั้นหนุ่มซึ่งกําลังแสวงหาวิชชาความรู้ ที่มีก็มักเป็นแต่นิราศพรรณาเห็นต้นนั้นเหมือนนั้น ถึงบางโน่นเหมือนนี้ ลงปลายแปลว่าคิดถึงเมียไม่มีแก่นสารอันใด”
นี่ถือเป็นการวิจารณ์ “นิราศหาผัวหาเมีย” ครั้งแรกในวงการนักเขียนและนักวิจารณ์ไทย คง ได้กระมัง
โดยสรุปทรรศนะเรื่องการไปเที่ยวดังกล่าว น่าจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการใหม่ในโลกทรรศน์ของคนไทย ที่มีต่อการใช้ชีวิตและการทํางาน ที่ไม่เหมือนกับคติไทยโบราณอีกต่อไป เวลาว่างการไปเที่ยวและความสุขสําราญได้เริ่มกลาย เป็นสิ่งมีประโยชน์มีคุณ (มากกว่าโทษ) ต่อคนไทย (ชั้นสูงก่อน) โดยเฉพาะต่อปัจเจกชนที่เริ่มเติบโตในสังคมเมืองสมัยใหม่หรือสังคมกระฎุมพี ที่ความรู้จากการปฏิบัติของตนเอง เริ่มได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือของความก้าวหน้าและความดีได้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 28 สิงหาคม พ.ศ.2562