เผยแพร่ |
---|
สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงเป็นพระราชินีที่มีบทบาททั้งทางการเมืองและการต่างประเทศในยุคของพระนาง ขณะเดียวกันเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวของพระนางก็เป็นอีกแง่มุมที่มีสีสันไม่แพ้กัน กล่าวกันว่า พระนางทรงพิถีพิถันเรื่องฉลองพระองค์อย่างมาก แน่นอนว่ารูปลักษณ์ภายนอกของพระนางก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งถูกออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อสะท้อนบุคลิก ความมั่งคั่ง และอำนาจของพระนาง ทำให้ฉลองพระองค์ของพระนางถูกคัดสรรอย่างดี แต่น่าเสียดายที่ชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นหลงเหลือมาไม่มากนัก
“ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” เป็นสุภาษิตที่อธิบายความสำคัญของการองค์ทรงเครื่องของมนุษย์ให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสตรีเพศ เรื่องความสวยความงามปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษทรงตระหนักถึงเรื่องนี้เช่นกัน
พระนางทรงทราบดีว่ารูปลักษณ์ภายนอกสะท้อนตัวตนของพระองค์ซึ่งจะถือเป็นภาพแทนของอังกฤษทั้งปวง ภาพลักษณ์ภายนอกของพระนางถูกออกแบบคัดสรรอย่างดีเพื่อแสดงออกถึงความมั่งคั่ง บทบาทหน้าที่ และอำนาจในมือพระนาง นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า พระนางทรงโปรดปรานเครื่องทรงที่สวยงามและเครื่องประดับ
แม้ว่าตัวเลขงบประมาณและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการตัดฉลองพระองค์จะถูกเก็บเอาไว้ แต่หลังค.ศ. 1603 ที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษสิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาท ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ราชวงศ์ในกรีนวิช เผยว่า พบฉลองพระองค์ (เสื้อคลุม) ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษมากกว่า 2,000 ชิ้น
เอเลอรี ลินน์ (Eleri Lynn) ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พระราชวังแห่งอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเทเลกราฟ (Telegraph) เมื่อปี 2017 ว่า แม้จะเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องทรงก็ยังมีมูลค่ามากจนทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้มักถูกนำไปแปรรูปหรือแจกจ่ายเป็นรางวัลแด่ผู้รับใช้ราชสำนัก
นอกจากนี้ ยังมีบันทึกว่า โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ผู้นำทางการทหารและสมาชิกรัฐสภาก็นำทรัพย์สินในราชสำนักออกจำหน่ายหลังขึ้นมีอำนาจ ทำให้ทรัพย์สินของราชวงศ์ทูดอร์ (Tudor) ที่หลงเหลืออยู่นั้น เชื่อกันว่า มีแค่สิ่งของที่รอดจากกระบวนการก่อนที่จะมีสงครามกลางเมือง ขณะที่นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า เครื่องทรงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ไม่มีหลงเหลือมาจนถึงยุคสมัยใหม่ จนกระทั่งงานวิจัยเมื่อปี 2016 ที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า ผ้าชิ้นหนึ่งเป็นงานเย็บหรูหราจากเครื่องแต่งกายศตวรรษที่ 16
หลังจากนักวิจัยศึกษารายละเอียดของผ้าที่ใช้บนแท่นบูชาผืนหนึ่ง ล่าสุด เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พระราชวังแห่งอังกฤษ เผยแพร่ข้อมูลว่า ผ้าผืนที่เคยใช้ในแท่นบูชาที่โบสถ์ St. Faith ใน Bacton, Herefordshire นั้น จะถูกนำมาจัดแสดงที่วังแฮมป์ตันคอร์ท (Hampton Court Palace) ระหว่างวันที่ 12 ตุลาคม 2019 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2020 ในฐานะชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องทรงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1
ด้วยรายละเอียดที่พิถีพิถันและลักษณะการเย็บอย่างประณีตแบบมืออาชีพ วัสดุผ้าเป็นผ้าไหมชั้นดี ประกอบด้วยด้ายทองและเงิน องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้พอจะบ่งชี้ได้ว่าชิ้นส่วนนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูงมาก่อน เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์พระราชวังแห่งอังกฤษยังอ้างอิงกฎหมายสมัยราชวงศ์ทูดอร์ ซึ่งระบุให้บุคคลชนชั้นระดับสูงที่สุดและราชวงศ์มีสิทธิ์สวมเครื่องแต่งกายที่มีองค์ประกอบของด้ายทองและเงินเท่านั้น
ขณะที่การวิจัยในช่วงที่ผ่านมาก็สนับสนุนทฤษฎีข้างต้นว่า ผ้าชิ้นนี้ถูกผลิตให้เจ้าของที่มีชนชั้นทางสังคมระดับสูงที่สุดและเชื่อได้ว่าเป็นชิ้นส่วนในเครื่องทรงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 หากยึดตามสมมติฐานนี้ หมายความว่า ผ้าชิ้นนี้เป็นชิ้นส่วนจากเครื่องทรงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ชิ้นสุดท้ายที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่สำนักข่าวเทเลกราฟ รายงานว่า ชิ้นส่วนนี้มีแนวโน้มว่าเป็นส่วนหนึ่งในฉลองพระองค์กระโปรง, ฉลองพระองค์เสื้อ และแขนเสื้อ
ในเว็บไซต์แห่งเดียวกันยังบรรยายถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ชิ้นส่วนนี้ไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งอังกฤษบรรยายว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะเป็นเพราะความเชื่อมโยงกับ Blanche Parry ผู้รับใช้ที่ว่ากันว่าจงรักภักดีต่อควีนอลิซาเบธที่ 1 อย่างมาก
Parry กำเนิดใน Bacton ประมาณปี 1508 ทำหน้าที่ดูแลสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งเธอเองเสียชีวิตในปี 1590 ลินน์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเทเลกราฟว่า เป็นไปได้ว่า นางสนองพระโอษฐ์ของควีนอลิซาเบธที่ 1 ส่งผ้าชิ้นนี้ไปให้โบสถ์ในบ้านเกิดของเธอเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ใกล้ชิดพระองค์
เป็นที่ทราบกันว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่ควีนอลิซาเบธที่ 1 จะพระราชทานรางวัลแก่คนใกล้ชิด และมีหลักฐานว่าพระราชทานเครื่องทรงที่ไม่ใช้แล้วแก่บุคคลที่ทรงไว้วางพระทัย ขณะที่ Perry เองก็ได้รับพระราชทานรางวัลจากพระองค์หลายชิ้นเช่นกัน
สำหรับการจัดแสดงผ้าผืนนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ แถลงว่า จะจัดแสดงข้างภาพวาดอันโด่งดังของควีนอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม The Rainbow Portrait วาดโดย Marcus Gheeraerts วาดในช่วงประมาณปี 1600
ภาพนี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของช่วงรุ่งเรืองในรัชสมัยของพระองค์ เว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์บรรยายว่า ภาพวาดนี้ช่วยบรรยายความคล้ายคลึงระหว่างเครื่องทรงของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 กับผ้าชิ้นนี้ ซึ่งจะถูกจัดแสดงพร้อมกับชุดจำลองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยใช้ผ้านี้เป็นต้นแบบ
อ้างอิง:
See the lost dress of Elizabeth I, Historic Royal Palaces. Online. Access 19 AUG 2019. <https://www.hrp.org.uk/hampton-court-palace/whats-on/the-lost-dress-of-elizabeth-i/#gs.x8zi6o>.
Elizabeth I’s Royal Wardrobe. Royal Museums Greenwich. Online. Access 19 AUG 2019. <https://www.rmg.co.uk/discover/explore/elizabeth-royal-wardrobe>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2562