ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | ภาษิต จิตรภาษา |
เผยแพร่ |
“พระสงฆ์” กับ “การเมือง” จากสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ 4 ค้นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ใครว่า “ก้าวก่าย” ?
บ้านเมืองเรานี้นับถือ พระ (ภิกษุ) และอยู่กับ พระ มานาน เพราะ พระท่านเป็นคนที่มีคุณภาพ รู้หนังสือ, รู้จักจด จักจาร. ประวัติศาสตร์ของเราเกือบทั้งหมด พระเป็นผู้จาร (เป็นต้น ในกาลมาลี). ท่านรู้ธรรม, สั่งสอนพวกเราให้อยู่ในศีลในธรรม ยามรัก (พูดถูกหู) ก็เอายศเอาศักดิ์ไปใส่ให้. ตั้งให้เป็นพระวันรัตบ้าง พระพิมลธรรมบ้าง แต่พอถึงบทท่านติ ก็หาว่าท่านก้าวก่ายการเมือง. ดูตัวอย่างหลวงพ่อคูณนั่นเป็นไร ท่านพูดเรื่องพรรคการเมืองรวมกัน มีใครไปว่าท่านก้าวก่ายบ้าง นั่นเพราะอะไร, ไม่ใช่เพราะท่านว่าไปในทางดีหรือ.
ลองเหลียวไปดูในอดีตบ้างซิ ว่าพระแต่ก่อนท่านทําอะไรไว้บ้าง.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ท่านจดไว้ว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชนั้น พระศรีศิลป (พระราชบุตรองค์เล็กสุดของพระไชยราชาธิราช) ได้ไปขอฤกษ์ขบถจากพระวันรัตวัดป่าแก้ว, พระวันรัตท่านก็ให้มา “ณ วันเสาร์ เดือนแปด ขึ้นค่ำหนึ่ง ฤกษ์ดี ให้ยกเข้ามาเถิด”
พระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ หมื่นภักดีศวร หมื่นอไภยรณฤทธิ์ พรรคพวกของพระศรีศิลปซึ่งเป็นโทษอยู่ก่อนถูกจําอยู่ในวัง ได้ทราบข่าวฤกษ์ก็แทบหัวใจวายไปก่อนถูกฆ่า เพราะว่ากว่าจะได้ฤกษ์ยกเข้ามาช่วยพวกแกก็ชี้แหงหมดแล้ว เพราะกําหนดจะขึ้นตะแลงแกงนั้นมันแรม 14 ค่ำ แล้ววันนี้มันก็แรม 13 ค่ำ (เดือน 7) จะสิ้นเดือนอยู่รอมร่อแล้ว พระยาสีหราชเดโชจึงทําหนังสือด่วนออกไปถึงพระศรีศิลปว่า “พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่ารุ่งขึ้นวันสิบสี่ค่ำจะให้เอาข้าพเจ้าทั้ง 5 คน ไปฆ่าเสีย ขอให้พระองค์เข้ามาแต่ในกลางคืนวันนี้อย่าทันรุ่ง”.
พระศรีศิลปก็ยกเข้ามาทางประตูหอรัตนไชย, เจ้าพระยามหาเสนารู้ว่า พระศรีศิลปยกเข้ามาก็มาดักคอยที่ท่าคอย. พอช้างเผือกลงอาบน้ำ เจ้าพระยา มหาเสนาก็ขี่ช้างเผือกออกมารบพระศรีศิลป ณ ถนนหน้าบางตรา, พระศรีศิลป ร้องว่า “พระยามหาเสนาจะสู้เราหรือ” เจ้าพระยามหาเสนาก็ตอบว่า “พระราชกําหนดโทษพระองค์ฉันใด โทษข้าพเจ้าก็ฉันนั้น” แล้วก็ไสช้างเข้าชนกัน. เจ้าพระยามหาเสนาถูกพระศรีศิลปตีด้วยขอตกช้างลง, พระศรีศิลปก็ยกเข้าไปทางประตูเสาธงไชยเข้าพระราชวังได้, พระศรีศิลปให้ถอดพระยาสีหราชเดโช พระยาท้ายน้ำ พระยาพิไชยรณฤทธิ์ หมื่นภักดีศวร หมื่นอไภยรณฤทธิ์ออก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ทันรู้พระองค์ก็ลงเรือหนีไปเกาะมหาพราหมณ์
ฝ่ายพระราเมศวร พระมหินทราธิราช กับเสนาบดีก็เข้ารุมล้อมพระศรีศิลป ล้มตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย, พระศรีศิลปนั้นต้องปืนตาย.
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็เสด็จคืนเข้าพระราชวัง, ครั้นรู้ว่าพระพนรัตวัดป่าแก้วเป็นผู้ให้ฤกษ์แก่พระศรีศิลปก็ให้เอาพระพนรัตไปประหารชีวิตพร้อมกับพระยาสีหราชเดโชและพรรคพวก แล้วเอาศพไปเสียบไว้ ณ ตะแลงแกง
นี่ก็เป็นเพราะว่าฝ่ายของท่านแพ้, ถ้าฝ่ายของท่านชนะก็จะว่า ท่านดูแม่น หาผู้เสมอมิได้
จะว่าฤกษ์ของท่านไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้ทําตามฤกษ์
แผ่นดินพระศรีเสาวภาคย์ และ พระเจ้าทรงธรรม พ.ศ. 2463
พระศรีศิลป (เชื้อพระวงศ์องค์หนึ่ง) บวชอยู่วัดระฆัง เล่าเรียนพระไตรปิฎกจนเชี่ยวชาญเจนใจจึงได้รับสมณฐานันดรเป็นพระพิมลธรรม์อนันตปรีชา มีศิษย์หาญาติโยมมาก, แม้จมื่นศรีสรรักษ์ก็ยังถวายตัวเป็นลูกบุญธรรม. จึงคิดกันกับหมื่นศรีสรรักษ์และบรรดาญาติโยม ซ่องสุมผู้คน เมื่อได้มากแล้วจึงในค่ำวันหนึ่งก็สึกออกมา พาพวกพลไปซุ่มอยู่ ณ บริเวณปรางค์วัดมหาธาตุ ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกพลเข้ามาฟันประตูมงคลสุนทรเข้าไปในท้องสนาม. ขุนนางซึ่งนอนเวรเอาความขึ้นกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตลึงอยู่เป็นครู่ แล้วตรัสว่า “เวราแล้วก็ตามเถิด แต่อย่าให้ลําบากเลย” ก็เข้ากุมพระองค์พระศรีศิลปได้โดยง่าย
รุ่งขึ้นก็นิมนต์ พระสงฆ์ 10 องค์ มาบังสุกุล แล้วสําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์, เอาพระศพไปฝังไว้ ณ วัดโคกพระยา. ส่วนพระศรีศิลปหรือพระพิมลธรรมก็ขึ้นเถลิงราชสมบัติในพระนาม สมเด็จพระบรมราชาที่ 1. แต่ในฐานะที่พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ชาวเมืองจึงเรียกท่านว่า “พระเจ้าทรงธรรม”.
เมื่อสึกแล้วก็ยังไม่ทิ้งธรรมทิ้งวินัย ได้เสด็จไปทรงบอก (สอน) หนังสือแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจํา ณ พระที่นั่งจอมทองสามหลัง.
ครั้งนั้นชาวญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุง โกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกับพระพิมลธรรมฆ่าพระมหากษัตริย์. จึงรวมพวกกันได้ประมาณ 500 ยกเข้ามาในท้องสนามเพื่อจะกุมตัวพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จออกมาทรงฟังพระบอกหนังสือ.
ขณะนั้น พระวัดประดู่โรงธรรม 8 รูปซึ่งเข้ามาเรียนหนังสือ เห็นเหตุการณ์ไม่สู้ดี ก็คุ้มกันพระองค์ออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น. ครั้นพาเสด็จออกมาพ้นแล้ว พวกญี่ปุ่นที่หายงันก็ร้องขึ้นว่า “จะกุมเอาพระองค์แล้ว เป็นไรจึงนิ่งเสียเล่า” แล้วก็ทุ่มเถียงกันเองเป็นโกลาหล. ฝ่ายพระมหาอํามาตย์คุมพลได้ก็ไล่รบญี่ปุ่น ล้มตายไปเป็นอันมาก, ที่หนีออกจากพระราชวังได้ก็พากันลงสําเภาหนี, พระมหาอํามาตย์ก็เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าวัง
รายการนี้ พระสงฆ์ 8 รูปมายุ่งเรื่องบ้านเมืองหรือเปล่า
แผ่นดินพระมหาธรรมราชาธิราช พ.ศ. 2112-2133
พระที่เข้ามายุ่งกับการเมืองในแผ่นดินนี้ คือ พระมอญที่เรียกกันว่า มหาเถรคันฉ่อง, เป็นพระรามัญนิกาย.
สาเหตุที่พระมหาเถรคันฉ่องต้องเข้ามายุ่งกับการเมืองระหว่างประเทศ (ไทย กับ พม่า) นั้น ก็เพราะพระยาเกียรติพระยารามเป็นลูกศิษย์ท่านมหาเถร, เอาความลับที่พระเจ้าหงสาวดีทําอุบายจะจับพระนเรศวรมาเล่าให้ท่านมหาเถรฟัง…
(อุบายนั้นก็คือ 1. พระเจ้าหงสาวดีทําศุภอักษรไปถึงพระนเรศวร ลวงว่า กรุงรัตนบุรอังวะแข็งเมืองให้มาช่วยราชการสงคราม, 2. ให้กองทัพพลหมื่น หนึ่งยกไปซุ่มดักไว้ต่อทางที่พระนเรศวรยกมา, 3. พระเจ้าหงสาวดีเองยกมาทําทีเป็นว่ามารับ แต่พอได้ที่ก็หันกลับมารบพระนเรศวร, ทัพที่ซุ่มไว้ก็ออกผสม, และทัพพระยาเกียรติพระยารามนั้นก็ช่วยกระหนาบหลัง),
…พระมหาเถรได้ฟังดังนั้น ด้วยความที่มีใจกรุณาต่อสมเด็จพระนเรศวร ที่จะถูกจับประหารโดยไม่มีความผิด จึงในคํานั้นพระมหาเถรก็พาพระยาเกียรติ พระยารามมาเฝ้าพระนเรศวร.
พระนเรศวรเมื่อแจ้งดังนั้นก็กรวดน้ำตัดขาดกับพระเจ้าหงสาวดี แล้วยกทัพกลับ พาพระมหาเถรคันฉ่องและญาติโยมพร้อมทั้งพระยาเกียรติพระยารามมากรุงศรีอยุธยาด้วย.
นี่จะนับเป็นครั้งแรกที่คนมอญ อพยพเข้ามาประเทศไทยได้หรือไม่
อย่างนี้จะว่าพระเข้าไปก้าวก่ายไหม.
แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร พ.ศ. 2123-2148
เรื่องสงครามยุทธหัตถีของรัชกาลนี้ใครๆ ก็รู้กันอยู่แล้ว เช่นนั้นจึงจะเล่าแต่ที่เกี่ยวกับพระเท่านั้น
พระที่เกี่ยวกับรัชชกาลนี้คือ สมเด็จพระพนรัตวัดป่าแก้วอีกแหละ, แต่เป็นคนละองค์กับองค์ก่อน. (องค์นั้นถูกประหารไปแล้วพร้อมกับพระยาสีหราชเดโช. คําว่า วันรัต, พันรัต. หรือ พนรัต (แปลว่า ยินดีอยู่ป่า) เป็นราชทินนาม และสมณศักดิ์ เหมือนอย่างทุกวันนี้พระองค์ไหนได้เป็นสังฆราชก็ต้องชื่อ “พระอริยวงศาคตญาณ” ทุกองค์),
(เป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือ พระพนรัตในแผ่นดินก่อนในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ท่านเรียก “สังฆราชวัดป่าแก้ว”, ชะรอยในสมัยอยุธยาจะมีประมุข 2 องค์, ประมุขฝ่ายคามวาสีคือพระสังฆราช ฝ่ายอรัญญวาสี คือ “พระวันรัต”).
ครั้งนั้น เมื่อชนะสงครามกลับเข้ากรุงมาแล้ว สิ่งที่คาใจพระนเรศวรอยู่อย่างหนึ่งก็คือ บรรดานายทัพนายกองตามเสด็จไม่ทัน ปล่อยให้พระองค์ถลัน ออกไปเผชิญหน้าข้าศึกแต่สองพระองค์เช่นนั้นเมื่อปูนบําเหน็จแก่ผู้ที่มีความชอบเสร็จแล้วก็หันมาพิจารณาความผิด,
พระราชกฤษฎีกามีว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินงานพระราชสงครามและเกณฑ์ผู้ใดเข้าในกระบวนแล้วมิได้โดยเสด็จให้ทันเมื่อขณะยุทธ ท่านว่าโทษผู้นั้นเป็นอุกฤษฐ์ให้ประหารชีวิตเสียอย่าให้ผู้อื่นดูเยี่ยงอย่าง”
พระนเรศวรก็ให้ลงโทษตามพระราชกฤษฎีกา ทว่าจวนจะวันพระ 15 ค่ำ อยู่แล้ว ให้จําไว้ก่อนสามวัน พ้นแล้วจึงให้สําเร็จโทษโดยพระอัยการศึก
ในระหว่างนั้นเอง คือในวันพระ (แรม 15 ค่ำ เดือน 7) สมเด็จพระวันรัต ไม่รู้ท่านนึกอย่างไรขึ้นมา พร้อมด้วยพระราชาคณะอนุจร 25 รูปเข้ามาถวายพระพรถามข่าวเรื่องการยุทธกับมหาอุปราชา สมเด็จพระนเรศวรก็แถลงให้ฟังทุกประการ.
สมเด็จพระพนรัตจึงถวายพระพร ว่า “พระราชสมภารมีชัยแก่ข้าศึกอีกแล้ว ไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า”
สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสว่า “นายทัพนายกองเหล่านี้อยู่ในกระบวนทัพโยม มันกลัวข้าศึกมากกว่ากลัวโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึกจนได้กระทํายุทธหัตถีกับมหาอุปราชา มีชัยชนะแล้วจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่า บารมีของโยม หาไม่แผ่นดินจะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุดังนี้โยมจึงให้ลงโทษ (โดย) พระอัยการศึก”
สมเด็จพระพนรัตจึงถวายพระพร ว่า “อาตมาภาพพิเคราะห์ดู อันข้าราชการเหล่านี้จะไม่รักไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ และเหตุดังนี้เป็นไปเพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้า เป็นมหัศจรรย์เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จเหนือปราชิตบรรลังก์ควงพระมหาโพธิ ณ เพลาสายัณห์, ครั้งนั้นเทพเจ้ามาเฝ้า พร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล, และพระยาวสวัติมารยกพลเสนามารมาผจญครั้งนั้น ถ้าได้เทพดาเจ้าเป็นบริวารและมีชัยแก่พระยามาร ก็หาสู้เป็นมหามหัศจรรย์นักไม่. นี่เผอิญให้หมู่อมรอินทรพรหมทั้งปวงประลาตหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียวอาจสามารถผจญพระยามาราธิราช กับพลเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้ได้, จึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าได้ทรงพระนามว่า พระพิชิตมารโมฬีศรีสรร เพชรดาญาณ – ก็เหมือนพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนานิกรโยธาทวยหาญมาก และมีชัยแก่พระมหาอุปราชา ก็หาสู้เป็นมหัศจรรย์ไม่”
เล่นเอาเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าทรงพิชิตมารมาเปรียบเช่นนี้ ใครเล่าจะทนโกรธอยู่ได้. สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระปีติโสมนัสตื้นเต็มพระกมล ราชหฤทัยปราโมทย์ ยกพระกรประณมเหนือพระอุตมางคศิโรตม์นมัสการออกพระโอษฐ์ว่า “สาธุสาธุ พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ ควรหนักหนา”.
สมเด็จพระพนรัตเห็นว่าพระนเรศวรคลายพระโกรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า “พระราชาคณะทั้งปวงเห็นว่า ข้าราชการทั้งปวงซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ผิด หนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทําราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาและสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และทําราชการมาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมาดุจพุทธบริษัทสมเด็จพระบรมครูเหมือนกัน ขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้ครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทําราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป”
สมเด็จพระนเรศวรตรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้าขอแล้วโยมก็จะให้แต่ทว่าจะให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรีเมืองทวายแก้ตัวก่อน”
สมเด็จพระพนรัตถวายพระพรว่า “การซึ่งจะให้ไปตีเมืองนั้น สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ ใช่กิจสมณะ” แล้วท่านก็ถวายพระพรลา.
ดูลูกล่อลูกชนของท่านซิ, เอาเหตุมหัศจรรย์มาล่อให้ปลื้ม ให้คลายโกรธเสียก่อน แล้วค่อยปล่อยลูกชน คือ ขอพระราชทานอภัยโทษ. สมเด็จท่านเข้าวังครั้งนี้เป็นเรื่องบังเอิญอย่างนั้นหรือ
เรื่องบุญ (ขอพระราชทานโทษ) ท่านก็ทําสําเร็จแล้ว, ธุระอะไรท่านจะไปเสี่ยงกับเรื่องบาป (คือการตีเมืองซึ่งไม่พ้นที่จะต้องฆ่ากัน) ไม่ว่าท่านจะสนับสนุน หรือคัดค้านก็ไม่ได้ทั้งสองข้าง, สมมุติว่าสมเด็จท่านไม่เห็นด้วย เพราะการที่เมืองคือการรบกัน เบียดเบียนซึ่งกันและกันเพื่อชัยชนะ ผิดหลักศาสนา, แน่นอน คงไม่สบอารมณ์พระนเรศวรเป็นแน่, และถ้าเห็นด้วย ก็เป็นการสนับสนุนให้เบียดเบียนชีวิตคน ผิดอีก ท่านก็เลยหลบฉากด้วยคํา “ใช่กิจสมณะ”.
กรณีอย่างนี้ มีใครบ้างไหมที่จะโวยว่า พระเข้ามายุ่งเกี่ยว.
พ.ศ. 2205 แผ่นดินพระนารายณ์มหาราช
เนื่องจากกองทัพพม่าติดตามคนมอญซึ่งหนีเข้ามาในเขตแดนไทยโดยมิได้ย่าเยงในพระบารมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงแต่งกองทัพใหญ่ไปกระทําตอบแทนถึงเมืองอังวะ โดยมีพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพใหญ่, มีพระยาสีหราชเดโชเป็นกองหน้า เมื่อถึงเมืองอังวะก็ล้อมเมืองไว้สามด้าน เหลือแต่ด้านริมน้ำไว้. ฝ่ายพม่าก็ยกออกมาตั้งค่ายนอกเมืองเหมือนกัน
กองหน้าของไทยซึ่งมีพระยาสีหราชเดโชเป็นหัวหน้าได้ออกรบกลางแปลงหลายครั้ง, พม่าสู้ไม่ได้ก็หนีเข้าค่ายทุกครั้ง วันหนึ่งนายทัพพม่าคิดเป็นกลศึก ขุดสนามเพลาะ ซุ่มทหารไว้ในค่าย แล้วเปิดประตูหลังค่ายหนี, พระยาสีหราชเดโชมิได้รู้เท่าทันในกลศึก, ขี่ม้าขาวนําพลทหาร 500 บุกเข้าไปในค่าย, ทหารพม่าซึ่งซ่อนอยู่ในหลุมก็ขึ้นมาไล่ล้อมทหารไทย ได้สู้กันถึงขั้นตลุมบอน, ทหารไทยมีน้อยตัวกว่าก็ถูกจับ, ส่วนพระยาสีหราชเดโชนั้น นอกจากมีวิชาอยู่ยงคงกระพันแล้ว ยังหายตัวได้ชั่วอึดใจหนึ่ง ท่านก็ใช้วิชานี้หายตัว สู้รบทิ่มแทงพม่า แต่พลพม่ามีมากกว่ามาก คนเก่าตายไปคนใหม่ก็เข้ามาแทน รบจนเหนื่อยหายใจไม่ทัน คาถาที่ว่าก็ขาดๆ วิ่นๆ จนพม่ามองเห็นตัว ก็เข้ากลุ้มรุมเอาผู้เดียว ท่านก็หมดแรงตกจากหลังม้าก็เลยถูกจับ,
กองทัพไทยซึ่งตามมาข้างหลังแหกค่ายเข้าช่วย แต่พม่าสู้รบป้องกันเป็นสามารถ ก็มิอาจหักเอาได้, แม่ทัพจึงแต่งหนังสือกราบทูลพระกรุณาให้ม้าเร็ว 30 ม้าถือมากรุงเทพฯ, สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าข้าศึกจับพระยาสีหราชเดโชไปก็ตกพระทัยนัก ดํารัสสั่งตํารวจให้ออกไปนิมนต์พระพิมลธรรมวัดระฆังเข้ามาให้ช่วยจับยาม ดูเหตุการณ์ให้ตระหนักแน่ ครั้นพระพิมลธรรมมาถึง นั่งลงเรียบร้อยแล้วก็ตรัสถามว่า “บัดนี้ข้าศึกจับพระยาสีหราชเดโชทหารเอกเราไปได้ จะเป็นตายประการใด”.
พระพิมลธรรมก็พิจารณาตามยามตรีเนตร, เมื่อรู้ชัดก็ถวายพระพรพยากรณ์
ซึ่งพระยาสีหราชเดโช ข้าศึกจับไปได้ก็จริง แต่ทว่าบัดนี้แก้ตัวออกได้พ้นจากอํานาจข้าศึกแล้ว กลับได้ชัยชนะ และได้ลาภอีก, พระราชสมภารเจ้าอย่า ทรงพระวิตกเสียพระทัยเลย ในยามนี้หาเป็นอันตรายมิได้
ขอย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ในสมรภูมิ
ขณะนั้นในกองทัพพม่ามีงานพิเศษทําอยู่ 3 งาน คือ เตรียมการส่งเชลยไปกรุงอังวะ, ขนศพ (ทั้งไทยและพม่า) ออกจากค่าย, และกองทัพหนุนอีก ทัพหนึ่งของไทย เมื่อมาถึงก็เข้าถอนขวากแหกค่ายเย่อค่าย ทําให้พม่าเป็นสาละวน. ไหนจะควบคุมเชลย, ไหนจะต้องขนศพ, ไหนจะต้องป้องกันค่าย ขับพลให้ยิงปืน-ซัดทรายไม่ให้ข้าศึกปีนค่าย, เลยทําให้การควบคุมเชลยย่อหย่อนลง ทางฝ่ายผู้ถูกคุม คือพระยาสีหราชเดโชนั้น เมื่อเมื่อยคลายหายเหนื่อย ก็ลองพิจารณาดูเมฆฉายในอากาศ เห็นศุภนิมิตรก็ลองร่ายคาถามหาสะเดาะดู เครื่องพันธนาการก็หลุดลุ่ยออกจากกายสิ้น จึงลุกขึ้นไปชิงเอาดาบจากพม่าผู้คม แล้วฟันผู้คุมในที่นั้นตายเป็นหลายคน แล้วเอาดาบตัดเชือกที่มัดเพื่อนๆ ที่ถูกมัด, แล้วเพื่อนๆ ก็ช่วยกันตัดต่อๆ กันไปจนสิ้นที่ถูกมัด แล้วก็พร้อมกันไล่ล่าพม่าในค่ายนั้นจนแตกหนีไปสิ้น
นายกองทัพหนุนเห็นพม่ามอญทิ้งค่ายตําบลนั้นเสียแล้ว กับแก้ตัวทหารออกได้แล้ว ก็ช่วยกันดีค่ายอื่นๆ ต่อไป. พวกพม่าที่เหลือก็พากันตื่นตกใจไม่เป็นอันที่จะสู้รบ. มังจาเลราชบุตรพระเจ้าอังวะ ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่หนีไม่ทันก็ตายอยู่ในค่าย.
เจ้าพระยาโกษาธิบดีดีใจเป็นที่ยิ่ง จึงแต่งหนังสือบอกมายังกรุงเทพมหานคร ให้ม้าเร็ว 30 ม้าถือมา, ขณะที่ม้าเร็วมาถึงพระนครนั้น สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวยังตรัสอยู่กับพระพิมลธรรม นายเวรมหาดไทยก็นําหนังสือบอกเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลอ่านถวาย, ได้ทรงทราบก็ดีพระทัยนัก ตรัสสรรเสริญพระ พิมลธรรมว่า “ดูแม่นหาผู้ใดเสมอมิได้”
ไหมล่ะ.
แผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พ.ศ. 2301-2310)
ในปีท้ายๆ ของแผ่นดินนี้ (พ.ศ. 2307, 2308) พม่าเริ่มเข้ามารบกวนทางภาคใต้ของเรา, ทวาย มะริด ตะนาวศรี แตกลุ่ย, เมืองชุมพรก็ถูกไฟเผา, เมืองปะทิว เมืองกุย เมืองปราณ ไม่มีเหลือ เพราะครอบครัวหนีเข้าป่าหมด ไม่มีใครอยู่รบ. ทางเหนือก็ลุยลงมากําแพงเพชร, ก็ยุ่ยอีก, เพราะไม่มีใครสู้รบ จึงลงมาตั้งค่ายที่นครสวรรค์อย่างสะดวกดาย. อีกสายหนึ่งก็มาทางด่านสวรรคโลก ตีสุโขทัย ที่แตกเป็นเสี่ยงๆ, พระยาสุโขทัยและพระยาสวรรคโลกก็พาครอบครัวหนีเข้าป่า แล้วทัพสายเหนือก็มารวมกันเป็นค่ายใหญ่อยู่ที่วัดป่าฝ้ายปากน้ำประสบ ตั้งเกลี้ยกล่อมชาวบ้านบริเวณใกล้ๆ คือเมืองวิเศษชัยชาญ เมืองสิงห์ เมืองตราดบุรี ชาวเมืองทั้งหลายก็ทําเป็นหลงเชื่อ และสัญญาว่าจะให้เงินทองและผู้หญิง. ที่จะผิดใจกันก็เพราะพม่าเร่งรัดสัญญา พวกชาวเมือง ฯลฯ จึงคิดกำจัดพม่า.
ด้วยความเลือดร้อน นายโชจึงแสดงก่อน นำพรรคพวกเข้าฆ่าพม่าตายไป 20 เศษ, เมื่อก่อเหตุใหญ่ขึ้นแล้ว จะอยู่ที่เดิมกะไรได้, ก็พากันหนีไปพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติที่วัดเขานางบวช แล้วนิมนต์มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้นในหมู่บ้านระจัน พร้อมทั้งพลพรรคและครอบครัว. อีกหนึ่ง ในระหว่างนั้นก็มีผู้ที่รักแผ่นดินมาเข้าพวกด้วยประมาณ 400 คน ก็จึงต้องตั้งค่ายขึ้น 2 ค่าย เพื่อเป็นที่พักผ่อนหลับนอนและซ่องสุมเสบียงอาหาร.
อาจารย์ธรรมโชตินี้อาคมขลังทางตะกรุดและผ้ายันต์ ได้ทําตะกรุดและผ้ายันต์แจกประชาชนทั่วไป
การรบของพวกบ้านระจันเป็นอย่างไร ลองมองภาพที่พระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตถเลขา) วาดไว้ สักหน่อย :-
“วันหนึ่งนายทองเหม็นคืนสุราเมา ขี่กระบือเผือกยกพลเข้าตีค่ายพม่า พระนายกองรับพลรามัญออกต่อรบนอกค่าย นายทองเหม็นขับกระบือไม่กล้าเข้าในกลางทัพแต่ผู้เดียว แทงพลพม่ารามัญตายเป็นหลายคน, พวกพม่าต่อรบต้านทานล้อมเข้าไว้ได้ เข้ารุมแทงฟันนายทองเหม็นไม่เข้า, นายทองเหม็นสู้รบอยู่แต่ผู้เดียวจนสิ้นกําลัง, พม่าจับตัวได้ก็ทุบตีตายในที่นั้น”.
ยังไง, เป็นพระแจกของขลังไม่ได้ยังงั้นหรือ. แล้วทุกวันนี้ที่หลวงพ่อคูณเคาะหัวให้พวกเราล่ะ ใช่กิจสมณะหรือเปล่า.
จะเห็นว่าแต่เดิมพระท่านไม่ได้มายุ่งเลย ชาวบ้านต่างหากแห่ไปหาท่าน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ, แล้วจะให้ท่านปฏิเสธยังงั้นหรือ. แล้วก็พวกนี้ฆ่าคน เพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ฆ่าเจ้าทรัพย์อย่างโจร. พระนั้นอาศัยชาวบ้านกิน, เมื่อชาวบ้านอยู่ดีมีสุขเขาก็ไส่บาตรให้ฉัน, แต่เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนจะให้ท่านนอนเย็นอยู่ได้ยังไง
กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 -รัชกาลที่ 1
“ในเวลาเมื่อทําการสร้างกําแพงพระนครนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จพระราช ดําเนินตรวจการก่อสร้าง ทรงพระราชดําริจะให้สร้างสะพานข้างข้ามคลองรอบกรุงที่ใต้ปากคลองมหานาค จึงพระพิมลธรรมวัดโพธารามไปถวายพระพรว่า ซึ่งจะทรงสร้างสะพานข้างข้ามดูพระนครนั้น อย่างธรรมเนียมแต่โบราณมาไม่เคยมี แม้มีการสงครามถึงพระนครข้าศึกก็จะข้ามมาถึงชานพระนครได้โดยง่าย อีกประการหนึ่งแม้นจะแห่กระบวนเรือรอบพระนคร สะพานนั้นก็เป็นที่ขัดขวางอยู่ ทรงพระราชดําริเห็นชอบด้วย จึงโปรด ให้งดสร้างสะพานข้างเสีย เป็นแต่ให้ทําท่าสําหรับช่วงข้ามคลองรอบกรุงที่ตรงสนามกระบือแห่งหนึ่ง” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์)
นี่ล่ะ พระก้าวก่ายหรือเปล่า ลองเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ดูบ้าง
รัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394-2411) พ.ศ. 2402 (มะแม เอกศก จ.ศ. 1221)
“ครั้นมาถึงเดือน 9 เกิดความเรื่องอ้ายเขียนขุนสุวรรณบุตรพระยาราชภักดี ให้อีกุหลาบภรรยาเข้าไปพูดจาแทะโลมเจ้าจอมช้อย บุตรพระยาบําเรอ ภักดี มีผู้ทิ้งหนังสือข้างในโปรดให้ตระลาการชําระได้ความจริงว่ารักใคร่ให้ข้าวของกันเนืองๆ แต่ไม่ได้ถึงตัวกัน ลูกขุนวางบทให้เอาอ้ายเขียนอีกุหลาบไปประหารชีวิตเสียที่วัดมักสัน ณ วันจันทร์ เดือน 7 แรม 12 ค่ำ,
“แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เนรเทศพระโยคาญาณภิรัต วัดราชสิทธาราม 1, เจ้าอธิการวัดบางประทุน 1. เป็นผู้ให้น้ำมนต์อ้ายเขียนอีกุหลาบ เนรเทศไปอยู่ที่เมืองสงขลาฯ” (พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์).
อ่านเพิ่มเติม :
- จี้กง หลวงจีนผู้สำเร็จเป็นอรหันต์ แต่ชาวบ้านทำไมเรียกท่าน “พระบ้า”
- “พระสงฆ์” กับ “การเมือง” ในสยามเมื่อต้องปฏิรูปสู่รัฐสมัยใหม่ ห้วงตะวันตกล่าอาณานิคม
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 สิงหาคม 2562