การประกวดนางสาวไทยประจำปี 2496 ความงาม ความดี และหลักอนามัย

นางสาวไทย 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)

การประกวด “นางสาวไทย” ประจำปี 2496 มีขึ้นในวันที่ 16 เดือนธันวาคม ปี 2496 ณ สวนลุมพินี จัดขึ้นในคราวเดียวกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในปีนั้น มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นผู้มอบมงกุฎแก่นางสาวไทยอีกด้วย

ผู้ชนะประกวดนางสาวไทยประจำปี 2496 คือ นางสาวอนงค์ อัชชวัฒนา ส่งประกวดโดยกระทรวงการคลัง มีท่านผู้หญิงละเอียด ในฐานะที่เป็นประธานสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง และนายกสมาคมสหประชาชาติ เป็นผู้มอบมงกุฎให้แก่นางสาวไทย

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มอบมงกุฎแด่นางสาวไทย ประจำปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)

นางสาวอนงค์ อายุ 20 ปี หนัก 49 กิโลกรัม สูง 159 เซนติเมตร เกิดที่จังหวัดสวรรคโลก บิดาชื่อนายสง่า อัชชวัฒนา เป็นพ่อค้าอยู่จังหวัดชุมพร เมื่อโตขึ้นได้เข้ามาศึกษาที่โรงเรียนสายปัญญา ในพระนคร (กรุงเทพฯ) ก่อนจะได้ตำแหน่งนางสาวไทยประจำปี 2496 เคยได้ตำแหน่งนางงามประจำจังหวัดลำปาง เมื่อปี 2494 มาก่อน

นางสาวอนงค์ อัชชวัฒนา นางสาวไทยประจำปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)

รองนางสาวไทยทั้ง 4 คน ประกอบไปด้วย นางสาวอมรา อัศวนนท์ จากพระนคร (กรุงเทพฯ), นางสาวนวลสวาท ลังการ์พินท์ จากเชียงใหม่, นางสาวเลิศลักษณ์ ศิริวิเศษ จากสิงห์บุรี และนางสาวมารศรี ยุวนาค จากพระนคร (กรุงเทพฯ)

(จากซ้าย)กรมหมื่นนราธิปฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, มิสเตอร์แมลคัม แมคโดนัลด์ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำเอเชียอคเนย์, จอมพล ป. พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงคราม ในการประกวดนางสาวไทย ปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)
การประกวดนางสาวไทย ปี 2496 (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)
(จากซ้าย) นางสาวอมรา อัศวนนท์, นางสาวนวลสวาท ลังการ์พินท์, นางสาวอนงค์ อัชชวัฒนา, นางสาวเลิศลักษณ์ ศิริวิเศษ และนางสาวมารศรี ยุวนาค (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)

ต่อมา ในวันที่ 21 ธันวาคม พลเอกเดช เดชประดิยุทธ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้นำนางสาวไทยปี 2496 และรองทั้ง 4 เข้าพบเพื่อคารวะนายกรัฐมนตรีและภริยา

จอมพล ป. กล่าวว่า การที่ได้มีการประกวดนางสาวไทยในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพราะมีเจตนาที่จะกระตุ้นให้ผู้หญิงระวังรักษาอนามัยในการที่จะเป็นภริยาและเป็นมารดาต่อไปในอนาคต ย้ำว่า ขั้นแรกของการบรรลุความสำเร็จซึ่งความงามนั้น ต้องมาจากการรู้จักรักษาตนเองให้ถูกต้องตามหลักอนามัย

ขณะที่ท่านผู้หญิงละเอียดกล่าวว่า “…ความงามของร่างกายนั้นมีเวลาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาแห่งอายุ แต่คุณงามความดีนั้นเป็นของมิรู้สูญ แม้ร่างกายจะสลายลงไปแล้วก็ดี…”

จากนั้นได้มอบของขวัญแก่นางสาวไทยปี 2496 และรองทั้ง 4

นางสาวไทยปี 2496 และรองทั้ง 4 เข้าพบจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (ภาพจาก Thailand Illustrate ฉบับธันวาคม ปี 1953)

อ้างอิง : 

Thailand Illustrate. (1953). ฉบับธันวาคม พ.ศ. 2496. พระนคร : ไทยวัฒนาพาณิชย์. จากห้องสมุดดิจิทัล หอสมุดแห่งชาติ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2563