วิจารณ์ชีวิตนางศรีประจัน : สีสันตัวละครแม่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

เป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษที่ความนิยมเสภาเรื่องขุนข้างขุนแผนด้วยเป็นเรื่อง “สนุกจับใจ” ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ใน “ตำนานเสภาขุนช้างขุนแผน” ความตอนหนึ่งว่า “คงจะเป็นด้วยนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่ชอบกันแพร่หลายในครั้งกรุงเก่ายิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ด้วยเป็นเรื่องสนุกจับใจ แลถือกันว่าเป็นเรื่องจริง จึงเกิดขับเสภาขึ้นด้วยประการฉะนี้” [1] ยืนยันถึงความเป็น “อมตะ” ของบทเสภาเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

หากอธิบายขยายความอีกว่า “ความนิยม” ที่ส่งผลให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนครองใจคนยิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ นั้น ปัจจัยสำคัญที่สร้างความนิยมหรือความไม่ “จืด” ให้แก่เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็คือลักษณะของตัวละครต่างๆ ที่มีความสมจริง มีหลายมิติ มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีลมหายใจราวกับจำลองลักษณะของคนรอบตัวที่ผู้อ่านผู้ฟังประสบพบเห็นได้ในชีวิตจริง

นอกจากตัวละครเอก ได้แก่ ขุนแผน ขุนช้าง และนางวันทองเป็นตัวละครชูโรงแล้ว ตัวละครรองลงมาไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระพันวสา นางเทพทอง นางทองประศรี นางศรีประจัน นางสายทอง นางลาวทอง นางบัวคลี่ นางศรีมาลา นางสร้อยฟ้า และพระไวย ล้วนมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่องเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจคนอ่านคนฟังเช่นเดียวกับตัวละครเอกอย่างปฏิเสธไม่ได้

กล่าวเฉพาะตัวละครที่มีบทบาทเป็น “แม่” ได้แก่ นางเทพทอง แม่ของขุนช้าง นางทองประศรี แม่ของพลายแก้ว หรือขุนแผน และนางศรีประจัน แม่ของนางพิมพิลาไลย หรือนางวันทอง จะเห็นว่าตัวละครแม่เหล่านี้ เป็นตัวละครหญิงที่สร้างสีสันความมีชีวิตชีวาให้แก่เนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนจนไม่อาจมองข้ามไปได้เลย ที่น่าสนใจที่สุด กวีผู้รจนาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้บรรยายลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความคิดของนางเทพทอง นางทองประศรี และนางศรีประจันไว้อย่างสมจริงมากที่สุด ดังที่ ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร กล่าวว่า

“ลักษณะนิสัยของหญิงทั้งสามคนนี้มีลักษณะสมจริงมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าสตรีทั้งสามเป็นแบบฉบับโดยสรุปจากสตรีวัยกลางคนทั่วไปในสังคมชาวไทยสมัยนั้น” [2]

ยิ่งไปกว่านั้น กวีสร้างลักษณะนิสัย และพฤติกรรมของพวกนางทั้ง 3 คนโดยมีเอกลักษณ์แตกต่างกันด้วย ผู้ที่ได้อ่านได้ฟังบทเสภาเรื่องนี้จึงเห็นถึงลักษณะความเป็นแม่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

“นางศรีประจัน แม่นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

ในกรณีนางเทพทอง นางแสดงออกถึงความรังเกียจและมองลูกของตนว่าอัปรีย์จัญไรด้อยค่านับตั้งแต่ยังไม่เกิด ความเกลียดชังลูกฝังแน่นอยู่ในใจนางเทพทองตลอดมา อีกทั้งยังยกปมด้อยของขุนช้างมากล่าวย้ำอยู่เสมอ หากเทียบบทบาทความเป็นแม่ระหว่างนางเทพทอง นางทองประศรี และนางศรีประจัน นางเทพทองเป็นตัวอย่างแม่ที่บกพร่องในการอบรมเลี้ยงดูลูกได้ชัดเจนที่สุด

ในกรณีนางทองประศรี นางเป็นแม่ที่น่าชื่นชมยกย่อง นางได้ให้ความรักแก่พลายแก้วเท่าที่ผู้เป็นแม่จะมอบให้ได้ รวมทั้งนางยังวางแผนอนาคตให้แก่ลูกด้วย นางกระตุ้นให้ลูกเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน อันจะเกิดคุณในภายภาคหน้า ขณะเดียวกันความทรหดอดทนของนางทองประศรีก็เป็นตัวอย่างให้ลูกได้เรียนรู้วิถีชีวิตของนางได้อย่างงดงาม

ในกรณีนางศรีประจัน นางเป็นแม่ผู้ที่เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง แม้จะรักลูกมิได้รังเกียจลูกเช่นนางเทพทอง แต่นางได้ละเลยที่จะให้ความรักความผูกพันแก่ลูก และให้ความเข้าใจลูก ในบางเวลานางศรีประจันก็ขาดสติยั้งคิดและทำร้ายความรู้สึกของลูกอย่างรุนแรงมากที่สุด อนึ่ง ในกรณีนางศรีประจันนั้น ผู้เขียนจะได้วิจารณ์อย่างละเอียดในตอนต่อไป

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาท พฤติกรรม และลักษณะนิสัยของตัวละครแม่เหล่านี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะพวกนางมีอิทธิพลต่อชีวิตของลูก กำหนดพฤติกรรมและนิสัยต่างๆ ให้แก่ลูกตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทองจะมีพฤติกรรมดีชั่วน่าชื่นชมหรือน่าประณามเพียงไรนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของพวกนางทั้ง 3 คนนั่นเอง ที่น่าสลดหดหู่ใจยิ่งนัก ในบางครั้งความเป็นแม่ยังนำพาให้ลูกพบกับโศกนาฏกรรมต่างๆ หนักหนาจนถึงขั้นผลักให้ลูกพบอวสานแห่งชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจอีกด้วย [3]

บทความนี้ผู้เขียนจึงมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครผู้เป็นแม่ของนางวันทอง คือ “นางศรีประจัน” โดยพิจารณาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับตรวจสอบชำระโดยหอพระสมุดวชิรญาณ[4] ซึ่งองค์การค้าของคุรุสภาพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2546 ผู้เขียนเห็นว่านางศรีประจัน เป็นตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่สร้างสีสันความมีชีวิตชีวาให้แก่บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นอย่างมาก ตัวละครตัวนี้ยังไม่มีนักอ่านหรือนักวิจารณ์วรรณคดีหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์มากนัก ทั้งที่กวีสร้างนางศรีประจันให้มีความสลับซับซ้อนของความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ย้อนแย้งระหว่างบทบาทแม่กับบทบาทหญิงร้ายอยู่ในตัว

เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะตัวละคร นางศรีประจัน จึงไม่เพียงเป็นการ “ชวนอ่าน” วรรณคดีมรดกขุนช้างขุนแผนอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม แต่ยังเป็นการ “ชวนคิดวิจารณ์” ลักษณะของตัวละคร อันจะทำให้เกิดข้อถกเถียงและอภิปรายศึกษาต่อเนื่องได้เพิ่มมากขึ้น

พื้นหลังชีวิตนางศรีประจัน

กวีผู้รจนาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพื้นหลังชีวิตนางศรีประจันตั้งแต่เริ่มเรื่อง จะเห็นได้ว่านางศรีประจันปลูกเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านพี่เลี้ยง เมืองสุพรรณบุรี นางศรีประจันมีน้องสาวชื่อนางบัวประจัน คำกลอนเสภาบรรยายความว่านางบัวประจันเป็นคนที่มีฝีปากจัดจ้าน ได้ผัวชื่อนายโชดคง บ้านเดิมอยู่ที่บางเหี้ย และชอบขโมยควายของคนอื่นเป็นประจำ ส่วนนางศรีประจันนั้นแต่งงานอยู่กินกับพันศรโยธา ทั้งคู่ต่างขึ้นชื่อว่าเป็นเศรษฐีแห่งตำบลบ้านพี่เลี้ยง

เมื่อนางศรีประจันตั้งครรภ์นั้น นางฝันเป็นมงคลอันประเสริฐ “ว่าพระพิษณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง แล้วก็กลับสถานพิมานมาศ ความฝันของนางศรีประจันเป็นฝันที่สร้างความสุขเบิกบานใจให้แก่นางเป็นอันมาก ดังที่พันศรโยธาทำนายฝันไว้ว่า “ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง รูปร่างงามจริงตะละแกล้งสรร ด้วยเป็นแหวนของพระพิษณุกรรม์ จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย” นางศรีประจันเมื่อได้ฟังคำทำนายจากปากผัว  นางหัวเราะร่า เพราะนางปรารถนาอยู่แล้วที่จะมีลูกไว้เชยชม ดังที่นางปรารภกับผัวว่าหากนางมีลูกเป็นของตนแล้ว จะไม่อุ้มลูกคนอื่นอีกเลยให้คนเขานินทากัน ซึ่งคำทำนายฝันของพันศรโยธาก็ถือว่าแม่นยำราวกับตาเห็น เพราะนางศรีประจันเกิดตั้งครรภ์ขึ้นจริง

ตลอดเวลาที่นางตั้งครรภ์เป็นเวลา 10 เดือนนั้น นางศรีประจันมีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ คำกลอนเสภากล่าวว่าลูกที่นางคลอด “เป็นหญิงโสภาน่าเอ็นดู” พร้อมทั้งเป็นที่รักใคร่น่าเอ็นดูของพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เมื่อลูกสาวอายุได้ 5 ขวบ ก็ยิ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าชื่นชม ลูกสาวของนางศรีประจันและพันศรโยธา ชื่อว่า “พิมพิลาไลย” ดังที่กลอนเสภาพรรณนาไว้ว่า “รูปกายงามยิ่งพริ้งเพรา ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา ผมสลวยสวยขำงามเงา ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย” นางพิมพิลาไลยหรือที่กวีเรียกสั้นๆ ว่านางพิม เป็น “นางเอก” ของบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นางพิมเติบโตมาในวัยใกล้เคียงกับขุนช้าง และพลายแก้ว ตัวละครทั้งสามนับว่าเป็นเพื่อนเกลอกันมาตั้งแต่วัยเด็ก และมีชีวิตที่เกี่ยวพันกันมาโดยตลอด นางพิมมิใช่มีรูปร่างหน้าตาผมเผ้าที่งดงามเพียงอย่างเดียว แต่นางมีความสามารถในเรื่องเย็บปักถักร้อยด้วย ดังที่กวีกล่าวว่าตั้งแต่นางพิมอายุน้อยก็มีฝีมือในด้านนี้ไม่มีใครจะเทียบได้ ขณะเดียวกันนางพิมก็เป็นลูกสาวที่นางศรีประจันและพันศรโยธารักปานแก้วตาดวงใจ ดังที่กวีกล่าวว่า “แม่พ่อก็รักดังดวงตา เลี้ยงมามิได้เป็นอันตราย”

“นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

อนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมของนางพิมก็เข้ากันได้ดีกับสำนวนสุภาษิตแต่ครั้งโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” เพราะนางพิมจัดเป็นผู้หญิง “ปากจัด” มาแต่ตั้งเด็ก ดังเห็นได้ว่าในยามเด็กเวลานางพิมโมโหขุนช้าง นางจะด่าเจ็บแสบไปถึงทรวง ข้อนี้เองนางพิมน่าจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมมาจากนางศรีประจันผู้เป็นแม่นั่นเอง

พื้นหลังชีวิตนางศรีประจันดังที่กวีวาดภาพไว้ จะเห็นว่าชีวิตของนางดูเหมือนราบรื่นมากกว่าหญิงชาวบ้านคนอื่นๆ กล่าวคือ ในเรื่องความเป็นอยู่ นางศรีประจันมิได้เดือดเนื้อร้อนใจอยู่แล้ว ในด้านฐานะทางสังคมของนางนั้น นางศรีประจันมั่งมีอยู่ในระดับแถวหน้าแห่งตำบลบ้านพี่เลี้ยง นางมีเหล่าข้าทาสบริวารไว้ใช้สอยจำนวนมาก มีไร่ฝ้ายไว้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายในครัวเรือน เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนขนาดย่อมๆ รายได้อีกส่วนหนึ่งภายในครอบครัวก็มาจากการที่พันศรโยธาเดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น อีกทั้งนางศรีประจันก็ใช่จะอยู่ตามลำพัง นางมีลูกสาวอันแสนรักอีกด้วย

แต่เนื่องจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีชั้นครู กวีแสดงความเป็นไปในชีวิตของตัวละครได้อย่างสมจริง ชีวิตตัวละครมีทั้งสุขและทุกข์ วงล้อของชีวิตเผชิญกับโชคชะตาที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจมนุษย์[5] ชีวิตนางศรีประจันจึงประสบทั้งความสุขกับความทุกข์สลับหมุนเวียนกันไป ความทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจนางศรีประจันอย่างยิ่งยวด เป็นเหตุการณ์ที่นางพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน นั่นก็คือ พันศรโยธามาด่วนตายจากนางไป

เรื่องราวตอนนี้กวีบรรยายไว้เพียงสั้นๆ โดยกล่าวว่าพันศรโยธาเดินทางไปค้าขายกับพวกละว้า ครั้นกลับมาถึงบ้านก็ล้มป่วยเป็นไข้เจ็บหนัก นางศรีประจันมีหน้าที่ปฐมพยาบาลพันศรโยธาจนอ่อนอกอ่อนใจ พออาการผัวดีขึ้นแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีกอยู่เรื่อยไป ยิ่งนานวันเข้าปีศาจร้ายที่สิงร่างพันศรโยธาก็สำแดงอาการแปลกประหลาดต่างๆ นานา “ให้อยากหมูเนื้อวัวอั่วพล่า ยัดคำโตโตโม้เต็มประดา แลบลิ้นปลิ้นตาเจียนบรรลัย” นางศรีประจันมิรู้จะทำอย่างไรจึงคิดจะไปนิมนต์สมภารมาดูอาการผิดปกติของผัว แต่ก็สายเสียแล้ว ยังไม่ทันนิมนต์สมภารมาดูอาการผัว พันศรโยธาก็สิ้นใจไปก่อน คำกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนให้ภาพนางศรีประจันในภาวะความโศกเศร้าไว้อย่างสะเทือนอารมณ์ ดังที่ว่า “แต่ก่อนร่อนชะไรไปร้อยทิศ พ่อยังครองชีวิตมาเห็นหน้า ครั้งนี้ชะล่าใจให้มรณา ตั้งแต่จะลับตาไปทุกวัน”

น่าสังเกตว่าเรื่องราวตอนที่พันศรโยธาตายนี้ฝังอยู่ในใจของนางศรีประจันตลอดเวลา ดังเห็นได้ว่าในเวลาต่อมาเมื่อนางพิมเติบโตเป็นสาวแล้วเกิดป่วยหนักจนพร่ำเพ้อราวกับคนเสียสติ นางศรีประจันก็จดจำเหตุการณ์ที่พันศรโยธามีอาการคล้ายกันกับนางพิม จนหลงคิดไปว่าผีพันศรโยธามาเข้าสิงลูกสาว และอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อนางวันทองสลบไปในขณะที่ไปดูต้นโพธิ์เสี่ยงทาย เพราะแผนลวงของขุนช้าง ในครั้งนั้นนางศรีประจันก็หวนคิดถึงพันศรโยธา โดยนางพร่ำเพ้อว่าจะตายตามผัวไปแล้ว แต่ก็หวาดวิตกต่างๆ นานา เลยไม่อาจฆ่าตัวตายได้

อนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่พันศรโยธาตายนั้น นางเทพทองก็เพิ่งสูญเสียขุนศรีวิชัย เพราะถูกโจรรุมฆ่าอย่างเหี้ยมโหด นางศรีประจันจึงปรึกษากับนางเทพทองถึงเรื่องการจัดงานศพพันศรโยธากับขุนศรีวิชัยให้เรียบร้อยไปพร้อมกัน โดยนำศพไปจัดการตามพิธีที่วัดเขา งานศพของพันศรโยธาและขุนศรีวิชัยมีความยิ่งใหญ่โอ่อ่าสมกับฐานะเศรษฐีแห่งเมืองสุพรรณ และนับตั้งแต่พันศรโยธาสิ้นใจไปนั้น นางศรีประจันจึงรับภาระหน้าที่เป็น “เสาหลัก” ของครอบครัวแทนพันศรโยธาไปโดยปริยาย

ขณะที่นางศรีประจันทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวตลอดมานั้น นางไม่ได้รับรู้ถึงความคิดและความปรารถนาในใจนางพิมเลย นางพิมซึ่งกำลังเติบโตเข้าสู่วัยแตกเนื้อสาว โดยธรรมชาติจึงย่อมมีความปรารถนาในเรื่องคู่ครองตามกลไกธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างนางพิมกับเณรแก้วนั้น นางศรีประจันไม่เคยรับรู้ถึงความเป็นไปของคู่หนุ่มสาวคู่นี้ที่พัฒนาความสัมพันธ์ทีละน้อยๆ จนกลายเป็นความรักอันแน่นแฟ้น เหตุการณ์ที่นางศรีประจันไม่ได้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกสาวนั้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์

“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

เหตุการณ์แรก ในคราวงานบุญเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลไลยก์ นางศรีประจันรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์มัทรี นางศรีประจัน นางพิม นางสายทอง และข้าทาสบริวารต่างพากันไปฟังเทศน์กัณฑ์มัทรี ในเวลานั้นสมภารมีเกิดอาพาธ เณรแก้วจึงต้องทำหน้าที่ขึ้นเทศน์กัณฑ์มัทรีแทนพระอาจารย์ ความสัมพันธ์ระหว่างนางพิมกับเณรแก้ว โดยเฉพาะการแสดงออกด้วยกิริยาของคู่หนุ่มสาวคู่นี้ เป็นอาการของวัยหนุ่มสาวที่กระหายในรสรัก ยิ่งอาการของนางพิมที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “อายหน้าก้มนิ่งอยู่ในที” และความศรัทธาในกระแสเสียงของเณรแก้วที่ไพเราะจับจิตจับใจจนถึงกับ “นางพิมเปลื้องผ้าทับทิมพลัน” นางศรีประจันก็ไม่ได้เฉลียวใจกับอาการสะเทิ้นเขินอายของนางพิมแต่อย่างใด

นางศรีประจันมานึกขึ้นได้ก็ตอนที่เถ้าแก่ของนางทองประศรี กล่าวถึงคุณสมบัติของพลายแก้วเมื่อครั้งเป็นเณรซึ่งเทศน์กัณฑ์มัทรีได้ไพเราะหนักหนา เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็อยู่ในสายตาของคนโดยมากที่เห็นนางพิมเกิดศรัทธาปสาทะอย่างยิ่ง จนเปลื้องผ้าสไบของนางเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์

และเหตุการณ์ตอนที่ 2 นางพิมอ้างกับนางศรีประจันว่าจะไปเก็บฝ้ายในไร่และไปคุมงานแทนบ่าวไพร่ เพราะนางเห็นคนงานที่ไร่ฝ้ายยักยอกจำหน่ายฝ้ายซื้อขายกินกันเล่นเป็นเวลานานแล้ว นางศรีประจันก็หลงเชื่อคำพูดนางพิมพาลด่าบ่าวไพร่เสียๆ หายๆ แล้วให้ลูกสาวไปคุมงานในไร่ฝ้าย ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นแผนของนางสายทองที่นัดหมายให้เณรแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย เพื่อให้หนุ่มสาวได้พลอดรักสมใจอยากกันนั่นเอง

นางศรีประจันไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับนางพิม โดยเฉพาะในวัยที่บุตรสาวเริ่มมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ ความห่างเหินของแม่ลูกคู่นี้ ทำให้นางศรีประจันไม่ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในเรื่องความรักกับนางพิมตั้งแต่เริ่มต้น นางศรีประจันเปิดโอกาสให้นางพิมได้เลือกชายหนุ่มที่นางหมายปองโดยอิสระ ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนางพิมไม่ใช่นางศรีประจัน แต่เป็นนางสายทอง นางศรีประจันมอบหมายให้นางสายทองเป็นพี่เลี้ยงนางพิมอยู่ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่นางพิมยังเป็นเด็ก

ดังนั้น นางสายทองจึงเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นพี่สาวผู้ชักจูงน้องสาวไปในทางที่เห็นชอบ เป็นผู้ที่คอยดูแล ให้คำปรึกษา และวางแผนให้นางพิมได้สมรักกับเณรแก้วทุกประการ นางสายทองจึงเป็นผู้เดียวที่นำพาชีวิตนางพิมไปสู่โลกของความรักอันลุ่มหลงนี้ ส่วนนางศรีประจันเข้ามากำหนดชีวิตนางพิมก็ในตอนที่นางพิมจะต้องออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้ว ด้วยเหตุที่นางศรีประจันไม่เข้าใจถึงความปรารถนาในหัวใจนางพิมตั้งแต่แรกเริ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การที่นางศรีประจันเข้ามากำหนดชีวิตรักของนางพิมจนเป็นปมปัญหายุ่งเหยิงได้ก่อเกิดโศกนาฏกรรมความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในครอบครัวของนางเองในเวลาต่อมา…

“แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้จากบทความ “วิจารณ์ชีวิตนางศรีประจัน : สีสันตัวละครแม่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” โดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2561


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ตำนานเสภา,” ใน เสภาขุนช้างขุนแผน เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2546), น. [2-3].

[2] ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร. คุณค่าเชิงวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน. (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), น. 200.

[3] วิไลลักษณ์ ทองช่วย. สถานภาพและบทบาทของแม่ที่ปรากฏในวรรณคดีไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาษาไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2535), น. 75.

[4] บทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ หรือที่นิยมเรียกในปัจจุบันว่า เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เป็นตัวบทเสภาที่ผ่านการตรวจสอบชำระเป็นครั้งแรก โดยจัดพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2460 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ทรงใช้เวลาตรวจสอบชำระเสภาขุนช้างขุนแผนจนเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 2 ปี ในถ้อยแถลงว่าด้วยการตรวจสอบชำระบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ จะเห็นได้ว่าอาศัยต้นฉบับในการตรวจสอบชำระ 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ฉบับที่ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นฝีมืออาลักษณ์ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 2. ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งเป็นฉบับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3. ฉบับหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 4. ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เขียนเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 อนึ่ง ก่อนหน้าที่หอพระสมุดวชิรญาณจะพิมพ์บทเสภาที่ตรวจสอบชำระนี้นั้น ใน พ.ศ. 2515 หมอสมิธได้พิมพ์บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนขึ้นเป็นครั้งแรก เพียงแต่ยังไม่มีความสมบูรณ์ เพราะ “เหตุที่มีผู้แก้ไขด้วยไม่รู้ราคาสำนวนเดิม” กล่าวได้ว่าการตรวจสอบชำระโดยหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ใช้วิธีการเทียบเคียงกับต้นฉบับตัวเขียนหลายสำนวน ทั้งตัดออก แต่งเพิ่ม และพิมพ์บทเสภาที่ไม่เคยพิมพ์มาก่อนรวมไปด้วย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจนเป็นแบบฉบับมาตรฐานของการ “รักษาหนังสือกลอนที่เป็นอย่างดีในภาษาไทยไว้ให้ถาวร” ดูใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา,” ใน เสภาขุนช้างขุนแผน เล่ม 1. น. [27-28]; รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. สืบสานสร้างสรรค์วรรณศิลป์. (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2553), น. 22.

[5] เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. วรรณกรรมเอกของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552), น. 62.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 สิงหาคม 2562