พระเทวัญอำนวยเดช นายทหารปัดทิ้งระเบิดพระนครช่วงกบฏบวรเดช? จนต้องกลายเป็นเสมียน

วิวัฒนาการกองทัพของไทยในอดีตมาจากความสามารถของบุคคลสำคัญหลากหลายระดับ และในบรรดานายทหารผู้กล้าและมากความสามารถนั้น หลายคนน่าจะพอจดจำชื่อพระเทวัญอำนวยเดช ผู้เชี่ยวชาญและผ่านการเรียนทิ้งลูกระเบิดอย่างช่ำชองจนขึ้นชื่อว่าทิ้งระเบิดแม่น ในช่วงกบฏบวรเดช ท่านเข้ากับฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล และมีเรื่องเล่าขานว่า พระเทวัญอำนวยเดช ปัดทิ้งระเบิดในพระนคร

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ช่วงเวลานั้น ราชการประกาศเรียกพลอาสาสมัครทั้งจากประชาชนและทหารประจำการ นายร้อยโท หลี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เสรี สุวรรณานุช) เป็นทหารนายหนึ่งที่อาสาไปรบด้วย

Advertisement

นายร้อยโท เสรี เกิดเมื่อพ.ศ. 2438 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และรับราชการเป็นนายทหารในกรมทหารราบที่ 3 ในช่วงพ.ศ. 2457 เข้าศึกษาโรงเรียนแม่นปืนสำหรับทหารราบ ขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งแรก ร้อยโทเสรี เข้าเรียนโรงเรียนการบินทหารบกและโรงเรียนการทิ้งลูกระเบิดประเทศฝรั่งเศส สมบัติ พลายน้อย อธิบายว่า ร้อยโทเสรี เป็นนายทหารไทยคนแรกที่เรียนการทิ้งระเบิด เมื่อฝึกบินทิ้งระเบิดแล้วจึงประจำการกองทัพยึดดินแดนเมืองนอยสตาดท์ ประเทศเยอรมนี 4 เดือน ปฏิบัติหน้าที่นักบินและผู้ทิ้งระเบิด

หลังสงครามโลกครั้งแรกยุติลงก็เข้าประจำการในกรมอากาศยานตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองศึกษาและฝึกหัด กองบินใหญ่ที่ 3 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ช่วงเวลานั้นยังได้ประดิษฐ์ลูกระเบิดฝึกหัดมาใช้ในกรมอากาศยานเป็นครั้งแรก โดยใช้ซีเมนต์โลหะ ดิน ควันมาผสม ทดลองครั้งแรกในพ.ศ. 2463 หลังจากนั้น ในพ.ศ. 2464 จึงเริ่มทดลองทิ้งลูกระเบิดฝึกหัดที่กลางสนามบินดอนเมืองถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

ร้อยโทเสรี มีความสามารถและความเชี่ยวชาญจึงทำให้ได้เลื่อนยศอย่างต่อเนื่อง พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเทวัญอำนวยเดช พ.ศ. 2470 ได้รับพระราชทานยศเป็นนาวาอากาศตรี หลวงเทวัญอำนวยเดชยังถูกบันทึกว่าเป็นนักบินไทยคนแรกที่เดินทางจากดอนเมืองไปสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยที่ในสมัยนั้นอุปกรณ์การบินและการเดินทางยังไม่สมบูรณ์แต่ก็ยังสามารถกระทำการได้สำเร็จ

ในพ.ศ. 2475 จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเทวัญอำนวยเดช อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเมืองผันผวน พระเทวัญอำนวยเดช มีส่วนเข้าไปพัวพันในวังวนความขัดแย้งด้วย

ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช ซึ่งส.พลายน้อยบรรยายว่า พระเทวัญอำนวยเดชอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ด้วยความเชี่ยวชาญจากการเรียนทิ้งลูกระเบิดมา พระเทวัญอำนวยเดชเป็นอีกหนึ่งนายทหารที่ขึ้นชื่อว่าทิ้งลูกระเบิดแม่น บันทึกบางแห่งอ้างว่า พระเทวัญฯ ได้รับคำสั่งให้นำลูกระเบิดมาทิ้งในพระนคร แต่ส.พลายน้อย บรรยายว่า พระเทวัญอำนวยเดชไม่ยอมทิ้ง  ท่าน “ไม่กล้าฆ่าคนไทยด้วยกันได้” แหล่งข้อมูลข้างต้นเป็นแหล่งข้อมูลเดียว ณ ขณะนี้ที่พบว่าบรรยายเรื่อง พระเทวัญอำนวยเดชไม่ยอมทิ้งลูกระเบิด

งานศึกษาเหตุการณ์ช่วงแรกของการปะทะกันนั้น ในช่วงเริ่มต้นหลังวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 กองทัพกบฏยึดพื้นที่ทางเหนือของพระนครใช้เป็นฐานที่มั่น และใช้สถานที่ราชการ เช่น สถานีรถไฟ สถานีวิทยุหลักสี่ และวัดเทวสุนทรเป็นที่ชุมนุมพลและหวังเป็นสถานที่กำบังหลบภัย ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียนหนังสือ กบฏบวรเดช บรรยายว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” มีแผนรุกฆาตรัฐบาล ด้วยการใช้เครื่องบินโจมตีแนวตั้งรับของฝ่ายรัฐบาล และระดมยิงปืนกล ระดมยิง บุกทะลวงเข้าไปจนถึงบางซื่อ แล้วปล่อยให้รถจักรชน

ผลของเหตุการณ์เป็นกบฏในครั้งนั้นทำให้พระเทวัญอำนวยเดชต้องออกจากราชการทหาร แต่ได้กลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง เป็นเสมียนพนักงานกองสหกรณ์ภาคใต้กรมสหกรณ์ ในพ.ศ. 2481 ภายหลังได้เลื่อนตำแหน่งเรื่อยมาจนได้เป็นอธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดินคนแรกเมื่อ พ.ศ. 2496

ช่วงบั้นปลายท่านป่วยเป็นโรคไตและตับอักเสบในช่วงพ.ศ. 2514 และถึงแก่กรรมด้วยโรคตับวาย เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2514 อายุรวม 76 ปี

 


อ้างอิง

ส.พลายน้อย. คนดังในอดีต. กรุงเทพฯ : ต้นอ้อ 1999, 2542


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2562