ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
เยอรมนีถือเป็นประเทศมหาอำนาจตะวันตกประเทศท้ายๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสยาม หากเทียบกับ โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ หรือฝรั่งเศส แต่ในยุคล่าอาณานิคม สยามกลับได้รับความเป็นมิตรอย่างแท้จริงจากเยอรมนี ซึ่งความสัมพันธ์อันดีนี้ปรากฏตั้งแต่การทำสนธิสัญญาฉบับแรกระหว่างกันในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเมื่อผู้นำคณะอัครทูตกล่าวถึงจุดยืนของเยอรมนีต่อภูมิภาคนี้ก็ทำให้พระเจ้าแผ่นดินสยามพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง
การเข้ามาติดต่อของเยอรมนี (หรือประเทศปรัสเซียในขณะนั้น เพราะยังไม่มีการรวมชาติเยอรมนี แต่ในบทความนี้จะขอใช้คำว่าเยอรมนี) เกิดขึ้นหลังความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาการค้าและพาณิชย์ในเอเชีย ซึ่งทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสได้ผลกำไรมหาศาล บางชาติแม้ไม่ตกเป็นอาณานิคมแต่มีสภาพกึ่งอาณานิคมเพราะระบบการค้าเสรีที่ชาติมหาอำนาจนำเข้าไป ถือเป็น “เมืองขึ้นทางเศรษฐกิจ” ของชาวยุโรป (ไกรฤษ์ นานา, 2553 : 120)
สำหรับชาวเยอรมันนั้นมีท่าทีกอบโกยผลประโยชน์น้อยกว่าอังกฤษและฝรั่งเศส สยามพบว่ามหาอำนาจชาตินี้กระทำการหักหาญน้ำใจและแสดงความคุกคามน้อยมาก สิ่งที่ชาวเยอรมันต้องการคือทำการค้าอย่างจริงจังเพื่อรักษาผลประโยชน์ของพ่อค้าชาวเยอรมัน สยามจึงมองการคบค้ากับเยอรมนีว่าอาจเป็นประเทศที่เข้ามาช่วยถ่วงดุลอำนาจของอังกฤษและฝรั่งเศส สิ่งที่ต้องแลกคือการทำสัญญาลักษณะเดียวกับที่ทำกับชาติมหาอำนาจก่อนหน้า ซึ่งมีข้อเสียเปรียบ เช่น การเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ฯลฯ แต่ก็ถือเป็นการแสดงความจริงใจและความเสมอภาคกับชาติตะวันตกอื่นๆ ที่เข้ามาติดต่อในเวลานั้น
21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 เยอรมนีส่งคณะทูต มี เคานต์กราฟ ฟริตซ์ซู ออยเลนบวร์ก (Graf Fritz Zu Eulenburg) เป็นอัครทูตพิเศษ นายซานลีไบเซลเป็นอุปทูต คณะทูตเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 4 วันที่ 24 ธันวาคม ปีเดียวกันนั้น พระมหากษัตริย์สยามทรงสนพระทัยเกี่ยวกับจำนวนเรือรบที่มาพร้อมคณะทูต นอกจากนี้ การสนทนาบางตอนแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสนพระทัยในภาวะทางการเมืองและนโยบายต่างประเทศของเยอรมนีอย่างมาก มีการตรัสถามเรื่องอาณานิคมหรือเมืองขึ้นของเยอรมนีเพื่อหยั่งเจตนารมณ์ของผู้นำคณะทูต
อัครทูตเยอรมันได้กราบทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า เยอรมนีไม่ต้องการเมืองขึ้นทางเขตร้อน กลายเป็นว่ารัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง ทั้งมีพระราชดำรัสตอบไปว่า
“การล่าอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปเป็นต้นเหตุของความเข้าใจผิด นำไปสู่ภาวะสงครามโดยไม่จำเป็น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย”
การเปิดสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศในครั้งแรกนี้เป็นที่แน่ชัดว่านโยบายของเยอรมนีเป็นที่พอใจของชาวสยาม จึงนำไปสู่การลงนามของผู้แทนรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายในสนธิสัญญาฉบับ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 และก่อนจะเดินทางกลับไปเยอรมนี เคานต์ซู ออยเลนบวร์กได้ขอให้เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก กงสุลอังกฤษดูแลกิจการอันเป็นผลประโยชน์ของชาวเยอรมัน จากนั้นจึงแต่งตั้ง นายปอล เลสเลอร์ (Herr paul Lessler) เป็นกงสุลเยอรมันคนแรกประจำกรุงเทพฯ
หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อ Illustrirte Zeitung พ.ศ. 2404 ได้ลงข่าวความสำเร็จในการทำสัญญาการค้าและพาณิชย์ของสยามกับเยอรมนี ทำให้ภาพลักษณ์ของสยามออกสู่สายตาประชาชาติในทวีปยุโรป และตัวตนของรัชกาลที่ 4 ผู้มีพระทัยกว้างกับสัมพันธภาพที่ดีกับเยอรมนีซึ่งจะยั่งยืนต่อไปในรัชกาลที่ 5
หลักฐานแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับเยอรมนีที่เด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ ทรงเลือกจัดตั้งสถานกงสุลสยาม ณ กรุงเบอร์ลิน เป็นแห่งที่ 3 ต่อ จาก ลอนดอน และปารีส ถือเป็นการให้ความสำคัญทางสัมพันธไมตรีและทางการทูตกับเยอรมนีอย่างยิ่งในฐานะมหาอำนาจลำดับ 3 ของยุโรป ต่อจาก อังกฤษกับฝรั่งเศส
ในสมัยที่พระองค์ทรงปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ เพื่อทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงมอบหมายงานกิจการพื้นฐานของชาติหลายอย่าง ทั้งงานด้านทางรถไฟ การไปรษณีย์โทรเลข พาณิชย์นาวี และการธนาคาร แก่ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน เช่น นายแฮร์ เบทเก (Herr Kari Bethge) เป็นชาวเยอรมันที่เป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก
บทบาทความสัมพันธ์ของเยอรมนีกับสยาม โดยเฉพาะการการเสด็จประพาสเยอรมนีของรัชกาลที่ 5 และการดึงชาวเยอรมันมาช่วยพัฒนากิจการในประเทศ ทำให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสค่อนข้างระมัดระวังในการแสดงออกถึงการคุกคามสยาม ความเป็นชาติมหามิตรของเยอรมนีจึงมีส่วนทำให้สยามสามารถยืนหยัดอย่างมีตัวตนบนเวทีการเมืองโลกตลอดยุคจักรวรรดินิยม
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. (2553). ค้นหารัตนโกสินทร์ 3. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 สิงหาคม 2562