เรียงวิวัฒนาการวันแม่และ “ความเป็นแม่” ว่าด้วยคุณค่าที่แปรเปลี่ยนตามสมัย

ท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม กับแม่ที่ชนะการประกวดงานวันแม่

คํากล่าวที่ผูกผู้หญิงเข้ากับความเป็นแม่ อย่างเช่น “ผู้หญิงทุกคนมีความเป็นแม่อยู่ในตัว” หรือ “ผู้หญิงทุกคนมีสัญชาตญาณของความเป็นแม่” นั้น ก่อให้เกิดคําถามกับผู้เขียนว่า “จริงหรือ?”

ถ้าเช่นนั้นเราจะอธิบาย “ความเป็นแม่” ของผู้หญิงที่ทิ้งหรือฆ่าทารกซึ่งเป็นลูกของตนเองดังที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าอย่างไร และเมื่อพิจารณาคําว่า “ความเป็นแม่” อย่างจริงจังแล้ว ก็จะพบว่าเป็นคําที่มีความหมายกว้างและคลุมเครือซึ่งดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของคําศัพท์ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

งานศึกษาของ เอ. ริช ให้กรอบความคิดที่ว่า “ความเป็นแม่” นั้นมี 2 นัยยะ คือ ความเป็นแม่จากด้านชีวภาพ และความเป็นแม่จากด้านสังคมและวัฒนธรรม[1] ซึ่งสภาพทางสรีระเอื้อให้ผู้หญิงเป็นแม่ได้โดยธรรมชาติ แต่ความเป็นแม่จากด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ยังต้องศึกษาและทําความเข้าใจ

เท่าที่ผู้เขียนค้นคว้า ยังไม่พบงานศึกษาเกี่ยวกับ “ความเป็นแม่” ในบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย บทความนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะศึกษาประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามของ “แม่ที่ดี” ที่สังคม (รัฐ) กําหนดคืออะไร โดยศึกษาจากพัฒนาการของงาน “วันแม่”

ต้นกําเนิดของ “วันแม่”

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้อธิบายถึง “วันแม่” ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ได้จัดให้มีงานวันแม่ขึ้น โดยนางสาวแอนนา จาร์วิส ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ผู้มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะจัดให้มี “วันแม่” ได้พยายามรณรงค์ แสดงสุนทรพจน์ และเขียนหนังสือถึงคนสําคัญต่างๆ อยู่ประมาณ 2 ปี จึงประสบความสําเร็จ (ในปี 2457-ผู้เขียน) ท่านประธานาธิบดีวิลสันได้ลงนามในคําสั่งให้ถือวันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม เป็นวันแม่ และใช้ดอกคาร์เนชั่นเป็นเครื่องหมายแสดงความคารวะต่อแม่[2]

แต่ในงานศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยสงครามของมิโดริได้อธิบายเกี่ยวกับกําเนิดของ “วันแม่” ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า กลุ่มผู้ค้าดอกไม้ในเยอรมนี้ริเริ่มจัดขึ้นในปี 2470 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการช่วยปลูกฝังนิสัยให้เคารพเชื่อฟังมารดา ซึ่งนักชาตินิยมได้สนับสนุนอย่างแข็งขัน มีการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนผู้เป็นแม่ มีการให้รางวัลแม่ที่มีลูกมาก และมีการจัดพิธีที่แสดงความเคารพต่อแม่ในสถานที่สาธารณะ ต่อมาในปี 2476 ฮิตเลอร์ได้เปลี่ยนให้ใช้วันเกิดแม่ของเขา คือวันที่ 20 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติแทน[3]

ผู้เขียนมีข้อจํากัดในการค้นข้อมูล[4] เกี่ยวกับกําเนิดของ “วันแม่” ในแต่ละประเทศ ทําให้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลในแต่ละประเทศได้ชัดเจน แต่ข้อสังเกตอย่างคร่าว ๆ ก็คือ “วันแม่” ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหรือเฟื่องฟูในระยะที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ดังเช่น ในเยอรมนีและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทยเองด้วย

กําเนิด “วันแม่” ในประเทศไทย

เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ทหารญี่ปุ่นหรือในอีกความหมายหนึ่งคือ ผู้ชายต่างชาติจํานวนมากได้กระจายปะปนอยู่กับประชาชนชาวไทย สภาวะเช่นนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้นําประเทศในขณะนั้นเป็นอย่างมากว่าจะมีการปนเปื้อนทางเชื้อชาติระหว่างชายต่างชาติกับหญิงไทยจนอาจถูกกลืนชาติได้ ความกังวลใจนี้เห็นได้จากการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะท่านผู้นําประเทศในขณะนั้นได้ออกบทความเรื่อง “ดอกไม้ของชาติ” ในนามของสามัคคีชัย ในวันที่ 29 ตุลาคม 2485 โดยได้เปรียบเทียบหญิงไทยเป็นดอกไม้ของชาติและเชื่อมโยงไปถึงการมีคู่ของหญิงซึ่งเกี่ยวพันกับเกียรติของชาติดังนี้

“หยิงเป็นดอกไม้ของชาติโดยแท้ ถ้าดอกไม้ร่วงโรยลงไป เราก็ว่าดอกไม้นั้นใช้ไม่ได้ หมดคุนสมบัติ ถ้าดอกไม้ของชาติคือหยิง ร่วงโรยลงไป ใครจะว่าดอกไม้นี้หรือชาติจะไม่ร่วงโรยตามไปด้วยหยิง ดอกไม้งามของชาติจึงเป็นสัญญาณบอกความพินาสล่มจมของชาติ ไม่มีใครเถียงได้เลย ฉันเห็น ว่าชาติได หยิงในชาตินั้นเป็นอารยะเพียบพร้อม มีความรักชาติ รักคู่สมรสชาติเดียวกันไว้เป็นแก่นสารแล้ว ชาตินั้น ๆ ก็มีทางแต่งเดินขึ้นทุกวัน ถ้าหยิงในชาติใด ไม่คิดถึงชาติ แต่งงานไม่เลือกว่าจะเป็นใคร ขอให้มีสุขหย่างเดียวแล้ว นั่นพวกเราจงเข้าใจว่าชาตินั้นๆ มีดอกไม้โรย-เน่า แล้วชาตินั้น ๆ ไม่ช้าก็จะเน่าตามไปด้วย

ตัวฉันนึกเท่าได้ ก็ยังมองไม่เห็นเลยว่า การแต่งงานนั้นจะไม่ถือความรักเป็นไหย่ แต่ฉันต้องขอแถมรักชาติ รักเกียรติ ตามไปด้วย ถ้าขาด 2 สิ่งหลังนี้ ฉันว่า หยิงไม่ควนมีคู่เลย…ถ้าฉันเห็นหญิงไทยมีผัวไม่ใช่ไทย ให้ฉันนึกว่า นั่นถือเงินคือความสุข เป็นทางในการเลือกคู่แล้ว ไม่ถือความรัก ไม่ถือชาติ ไม่ถือเกียรติ เป็นการสแดงว่าชาติของเราจะเสื่อมลง เพราะชายไทยไม่มีเกียรติพอที่จะเป็นตัวหยิงไทยเสียแล้ว เกียรติของชาติไทยก็ตกต่ำตามไปด้วย”[5]

ผู้หญิงในยุคชาตินิยมนั้นมีความสําคัญอย่างสูง เพราะเป็นปัจจัยสําคัญในการเพิ่มพลเมือง เป็นผู้รักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ และเป็นผู้ดูแลปกปักรักษาชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งถือว่าเป็นอนาคตของชาติ ดังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อธิบายความสําคัญของผู้หญิงในฐานะแม่ว่า

“แม่เป็นผู้ให้กําเหนิด เป็นผู้อบรมนิสัยแก่พลเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาติ ชาติที่จเรินแล้วย่อมจะเทิดทูนความสําคันของแม่ และเอาใจใส่ในเรื่องหน้าที่และการปติบัติของแม่มาก เพราะถือว่ามีความสําคันเกี่ยวกับการส้างชาติในลําดับที่ 1 ส่วนสําคัญที่สุดแห่งสรรพกําลังของชาตินั้นก็คือคน เราต้องมีคนก่อนจึงจะทําหย่างอื่นได้”[6]

ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ในปี 2486 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ริเริ่มจัดงาน “วันมารดา” ขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม[7] ซึ่งเป็นวันตั้งกระทรวงการสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อเป็นการส่งเสิมให้บันดามารดาทั้งหลายได้มีโอกาสไปร่วมพบปะประชุมกัน อันจะเป็นผลนํามาซึ่งความสามัคคีและทั้งจะได้รับความรู้ในเรื่องการสงเคราะห์มารดาและเด็ก เพื่อจะได้ช่วยกันลดอัตตราตายของทารกให้น้อยลง เป็นการเพิ่มพูนสมัถภาพและจํานวนพลเมืองให้มากขึ้นจะได้เพิ่มความเข้มแข็งของชาติสืบไป”[8]

การจัดงานวันแม่นี้รัฐบาลได้พยายามจัดงานในส่วนภูมิภาค เช่น จังหวัดลําปาง เพชรบุรี เป็นต้น[9] เพื่อเผยแพร่ความคิดดังกล่าวในหมู่ประชาชนให้มากที่สุด แต่เนื่องจากสภาวะสงครามรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทําให้การจัดงานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาต้องยกเลิกไป

เมื่อจอมพล ป. ได้กลับเข้ามามีอํานาจทางการเมืองอีกครั้ง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติร่วมกับกระทรวงการสาธารณสุขได้จัดให้มีงาน “วันแม่” ขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2493 โดยมีวัตถุประสงค์จะเรียกร้องความสนใจแก่ประชาชนให้ระลึกถึงแม่ เทิดทูนแม่ว่าเป็นบุคคลสําคัญของลูก[10] หลังจากนั้นในปี 2493 (เนื้อหาฉบับออนไลน์แจ้งหมายเหตุว่าเป็น 2496) คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่า ตลอด 3 ปีที่สํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงได้จัดงานขึ้นนั้น ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และรู้สึกว่าประชาชนได้รับ “วันแม่” เป็นวันที่ประชาชนควรจะปฏิบัติอะไรบ้างและมีความสําคัญอย่างไร ซึ่งเป็นการต้องตามวัตถุประสงค์ของทางราชการแล้ว ตามเหตุผลที่กล่าวมา คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเห็นว่าเป็นการสมควรที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา รับรองให้วันที่ 15 เมษายน เป็นวันแม่ประจําปีของชาติเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งต่อจากงานสงกรานต์[11] ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับรอง เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2497 ซึ่งมีผลให้วันที่ 15 เมษายนเป็นวันแม่ประจําปีของชาติ จนกระทั่งปี 2500 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม หมดอํานาจทางการเมือง งานวันแม่ก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

ปี 2515 ก่อนเกิดเหตุการณ์นองเลือดของนักศึกษา 1 ปี สมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทยได้รื้อฟื้นการจัดงาน “วันแม่” ขึ้นอีกในวันที่ 4 ตุลาคม เพื่อเทิดทูนเกียรติคุณของแม่ทั้ง 4 คือ แม่แห่งชาติ ซึ่งได้แก่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แม่บังเกิดเกล้า แม่พิมพ์ ซึ่งได้แก่ครู อาจารย์ และแม่พระ ซึ่งได้แก่ผู้บําเพ็ญประโยชน์แก่สังคม[12]

ในงานนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเป็นประธานในงานวันแม่ตามคํากราบบังคมทูลอัญเชิญ ซึ่งมีผู้บันทึกถึงความประทับใจในเหตุการณ์วันนั้นว่า “กระแสพระราชดํารัสตลอดจนเหตุการณ์ในวันงานได้ถ่ายทอดไปยังประชาชนด้วยความร่วมมือของสื่อมวลชนทุกชนิด เป็นที่ประทับใจแก่คนทั้งปวงเป็นอย่างยิ่ง เป็นเหตุการณ์ที่ฟื้นฟูจิตใจอยู่ได้เป็นเวลานาน”[13] แต่ทว่าการจัด งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มา ก็ไม่ได้มีการจัดงานวันแม่ขึ้นอีก

จนกระทั่งในปี 2519 สมาคมครูคาทอลิกฯ ได้เสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมศีลธรรมและจิตใจ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานวันแม่ ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมศีลธรรมและจิตใจได้พิจารณาข้อเสนอของสมาคมครูคาทอลิกฯ แล้วเห็นชอบด้วยที่จะให้สภาสังคมสงเคราะห์ฯ เป็นเจ้าภาพจัดงานวันแม่ โดยถือวันที่ 12 สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นแม่แห่งชาติเป็นวันแม่ โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานดังนี้

1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของแม่ และยกย่องบทบาท ของแม่ที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อแม่
4. เพื่อให้ผู้เป็นแม่ได้สํานึกในหน้าที่และความรับผิด ชอบของตนในฐานะของแม[14]

หากดูตามวัตถุประสงค์ในการจัดงานวันแม่ในแต่ละยุคสมัย ก็พอจะเห็นได้ว่าการจัดงาน “วันแม่” เพื่อระลึกถึงแม่นั้น มีเป้าหมายที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด การจัดงานครั้งแรกในปี 2486 นั้นมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้หญิงในฐานะแม่ให้มีความรู้ในการดูแลตนเองและเลี้ยงดูลูกเพื่อให้อัตราการตายของทารกลดน้อยลง แต่เมื่อเวลาผ่านไป การเพิ่มพลเมืองไม่ใช่นโยบายอีกต่อไป เป้าหมายจึงต้องเปลี่ยนตามงานวันแม่ที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จึงเป็นการเทิดทูนและยกย่องพระคุณของแม่พร้อม ๆ ไปกับการสร้างสํานึกและเน้นย้ำในหน้าที่และความรับผิดชอบของแม่ด้วยเช่นกัน

การประกวดแม่ : มาตรฐานแม่ดีที่ชาติต้องการ

กิจกรรมที่ทางราชการจัดขึ้นในวันแม่เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักในความสําคัญของแม่นั้นมีหลากหลาย เช่น การประกวดคําขวัญวันแม่ การประกวดบทเพลงเกี่ยวกับแม่ การจัดนิทรรศการ ฯลฯ และกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือการประกวดแม่ และคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต ซึ่งเป็นเลขานุการ “วันแม่แห่งชาติ” ของสํานักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง (ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) และประธานกรรมการคัดเลือกแม่ที่ควรยกย่องในปี 2519 ได้แสดงความคิดเห็นว่า “การเป็นแม่ที่ดีนั้น เป็นสิ่งปฏิบัติที่ยากแสนยาก มิใช่ว่าผู้หญิงที่แต่งงาน และมีบุตรแล้ว จะเป็นแม่ที่ดีไปเสียทั้งสิ้น แม่บางคนก็ขาดการเอาใจใส่แก่บุตรของตนเลี้ยงดูอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ ให้อยู่รอดไปวันหนึ่งๆ เข้าตําราที่ว่าตายก็ฝังยังก็เลี้ยง นอกจากเลี้ยงดูบุตรโดยขาดการเอาใจใส่ในด้านสุขภาพอนามัยของบุตรแล้ว ไม่มีการอบรมบ่มนิสัยบุตรให้มีศีลธรรม วัฒนธรรม อันดีงามอีกด้วย เป็นเหตุถ่วงความเจริญของประเทศชาติ…’” ดังนั้นการทําให้สังคมตระหนักว่า “แม่ที่ดี” เป็นอย่างไร จึงเป็นสาระส่วนหนึ่งของการจัดงานวันแม่

การจัดงานวันแม่ครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2486 นั้น ได้จัดให้มีการจัดการประกวดแม่ โดยใช้ชื่อว่าการประกวดสุขภาพมารดา โดยการประกวดนี้แบ่งเป็น 3 ประเภท

ประเภทที่ 1 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยู่ 5 คน
ประเภทที่ 2 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยู่ 6-10 คน
ประเภทที่ 3 มารดาที่มีบุตรจากสามีคนเดียวและยังมีชีวิตหยุตั้งแต่ 1 คน ขึ้นไป[15]

โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาให้รางวัล คือ

1. มีบุตรมากและยังมีชีวิตหยู่ทั้งมีสุขภาพดี
2. มารดามีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ดี
3. สัมภาสน์ การอบรมและเลี้ยงดูเด็ก[16]

จากเกณฑ์ดังกล่าวทําให้พอสรุปได้ว่า หลักการประกวดแม่ในครั้งนี้เน้นที่แม่ที่มีสุขภาพดีที่สามารถมีลูกมาก ๆ ได้ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มพลเมืองของชาติในขณะนั้น

หลังจากนั้นเมื่อมีการจัดงานวันแม่อีกในสมัยต่อมา หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับสภาวะในขณะนั้นซึ่งไม่จําเป็นต้องเร่งเพิ่มพลเมืองของประเทศอีกแล้ว ดังนั้นในการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดงานวันแม่ ในวันที่ 1 มีนาคม 2499 ประธานในที่ประชุมได้ฝากข้อสังเกตไปยังจังหวัดและภาคให้ทราบวัตถุประสงค์ของการประกวดแม่ คือต้องการให้ได้แม่ที่มีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ มีการสังคมดี มากกว่าแม่ที่มีจํานวนลูกมาก[17]

ในปี 2519 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการรื้อฟื้นงานวันแม่ขึ้นมาอีกนั้น มีการจัดงานประกวดคําขวัญและคํากลอน จัดทําบัตรวันแม่ แต่ยังไม่มีการประกวดแม่ ในปีต่อมาจึงได้เริ่มมีการคัดเลือกแม่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในสังคม โดยกําหนดแม่ของบุคคลหลายอาชีพ ดังนี้

1. แม่ผู้เป็นแม่ผู้กล้าหาญ
2. แม่ผู้เป็นแม่พิมพ์
3. แม่ผู้เป็นเกษตรกร
4. แม่ผู้ใช้แรงงาน
5. แม่ผู้ค้าขาย
6. แม่ผู้เป็นแม่บ้าน[18]

โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาแม่ที่ควรยกย่องมีดังนี้ คือ

1. มีความประพฤติดี มีคุณธรรม
2. อบรมเลี้ยงลูกได้ดี
3. บําเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอยู่เสมอ
4. มีลูกสละชีวิตเลือดเนื้อให้แก่แผ่นดินไทย
5. เป็นผู้นิยมไทย และรักษาเอกลักษณ์ของชาติไทย[19]

ในปีถัดมาหลักเกณฑ์และประเภทของแม่ที่ได้รับการคัดเลือกยังคงเหมือนเดิม แต่ในปี 2523 แม่ที่ควรยกย่องซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีนั้นเหลือเพียง 3 ประเภท คือ

1. แม่ผู้เป็นแม่ของผู้กล้าหาญ (แยกเป็นแม่ของทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตํารวจ และอาสาสมัคร)
2. แม่ผู้เป็นเกษตรกร
3. แม่ผู้เป็นนักสังคมสงเคราะห[20]

แต่ในปี 2523 “แม่ผู้เป็นนักสังคมสงเคราะห์” ได้เปลี่ยนเป็น “แม่ผู้บําเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม” แลได้เพิ่มรางวัล “แม่ผู้ขยันหมั่นเพียร” ขึ้นมาด้วยรวมเป็น 4 ประเภท และการประกวดแม่ได้ดําเนินต่อมาอีกหลายปี (อาจมีการเปลี่ยนชื่อเรียกไปบ้าง-ผู้เขียน) จนกระทั่งในปี 2538 ได้มีการเพิ่ม “แม่ของผู้ทําประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ” ขึ้นมา และดําเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน

การประกวดแม่ทําให้เห็นได้ว่าประเภทของแม่ที่รัฐให้ความสําคัญนั้นก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา คุณสมบัติจากการแบ่งประเภทของแม่ที่ควรจะได้รับการยกย่องตามจํานวนของบุตรมาสู่การแยกประเภทแม่ตามอาชีพ และการแยกประเภทแม่ตามประโยชน์ที่ได้สร้างให้กับสังคม นอกจากนี้ คุณสมบัติของแม่ที่ดีที่รัฐต้องการนั้นเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย ในอดีตแม่ที่มีลูกมาก ๆ ถือเป็นตัวอย่างของแม่ที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป จํานวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทําให้จํานวนลูกไม่ใช่เงื่อนไขในความเป็นแม่ที่ดีอีกต่อไป ในทางตรงกันข้าม การมีลูกมากในปัจจุบันอาจกลายเป็นตัวอย่างแม่ที่ไม่ดีที่ไม่รู้จักการคุมกําเนิด

บทส่งท้าย

ความเป็นแม่ของผู้หญิงแต่ละคนซึ่งน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างแม่กับลูกนั้น เมื่อถูกนําไปผูกโยงกับ “ชาติ” จึงถูกดึงออกมาเป็นเรื่องสาธารณะ และเมื่อ “แม่” ถูกมองว่าเป็นตัวแปรในการกําหนดความเป็นไปของชาติบ้านเมือง “แม่” จึงได้รับการเอาใจใส่เพื่อควบคุมให้ได้ปริมาณและคุณภาพอย่างที่ชาติต้องการ

นอกจากนี้ความเป็นแม่ของผู้หญิงแต่ละคนซึ่งน่าจะมีความแตกต่างหลากหลายตามความเป็นปัจเจกถูกกําหนดมาตรฐานในนามของ “แม่ที่ดี” ซึ่งการสร้างกรอบเช่นนี้อาจทําให้แม่บางคนตกอยู่ในฐานะ “แม่ที่ใช้ไม่ได้” หรือกลายเป็น “แม่ที่ไม่ดี” โดยมิได้พิจารณาถึงสภาวะและเงื่อนไขของผู้หญิงแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มที่ไม่เคย

การยกย่องและให้รางวัลนั้นถือเป็นการให้กําลังใจ และส่งเสริมผู้ที่ทําดี แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมให้คนประพฤติตามความต้องการได้เช่นกัน และยังเป็นเครื่องมือที่ดีกว่าการใช้กฎเกณฑ์ หรือการลงโทษ เนื่องจากทําให้ผู้ที่ถูกควบคุมนั้นปฏิบัติตามด้วยความยินดีและโดยสมัครใจ

 


เชิงอรรถ :

[1] กาญจนา แก้วเทพ. “บทศึกษาถึงความเป็นแม่ในบริบทของ ปัจเจกและสถาบัน : ความคิดจากหนังสือ Of Women Bom,” ใน ม่านแห่งอคติ : ความสัมพันธ์ระหว่างสตรีกับสถาบันทางสังคม. ปทุมธานี : เจน เตอร์เพรส, 2536, หน้า 57.

[2] “คําปราศรัยท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ประธานกรรมการ จัดงานวันแม่ ทางวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุศึกษา เนื่องในวันแม่ พ.ศ. 2498,” อ้างใน จีรวัสส ปันยารชุน, ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธา, 2540, หน้า 525

[3] Midori Wakakuwa. Sensoo ga tsukuru jyoseizoo. Tokyo : Chikumashobo, 2000, pp. 70-71.

[4] เนื่องจากข้อจํากัดทางด้านเวลาทำให้ผู้เขียนค้นเรื่องราวของวันแม่จากทางเว็บไซต์เป็นส่วนใหญ่ เช่น เรื่องราวของวันแม่ในสหรัฐอเมริกาจาก http://www.holidays.net/mother/story.htm และวันแม่ของญี่ปุ่นจาก http://www.hahanohi.info/origin.html เป็นต้น

[5] “ดอกไม้ของชาติ” ของสามัคคีชัย,” ใน ข่าวโคสนาการ. ปีที่ 5 ฉบับที่ 11 ประจําเดือนพรีสจิกายน 2485, หน้า 1554-1555. ข้อความ เน้นโดยผู้เขียน-การสะกดคําใช้ตามเอกสารต้นฉบับซึ่งรัฐบาลในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กําหนดขึ้นและได้เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2485 จนกระทั่งสิ้นสุดสมัยจอมพล ป. (1 สิงหาคม 2487) รัฐบาลใหม่จึงยกเลิกการสะกดคําแบบนี้ (ในบทความนี้จะใช้รูปแบบการสะกดคําตามเอกสารต้นฉบับ)

[6] “สาสน์ของพนะท่านนายกรัถมนตรี สําหรับงานวันของแม่ครั้งที่ 3 นะ จังหวัดเพชรบุรี 18 พรึสภาคม 2486,” ใน ข่าวโคสนาการ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 ประจําเดือนพรีสภาคม 2486, หน้า 439.

[7] มีหนังสือหลายเล่มรวมทั้งหนังสือที่จัดทําโดยหน่วยราชการ อย่างเช่น วันสําคัญ โครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม จัดทําโดยสํานักงานคณะกรรมการกองวัฒนธรรมแห่งชาติ ระบุว่าการจัดงานวันแม่ครั้งแรกในประเทศไทยคือวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 ซึ่งความเข้าใจผิดดังกล่าวน่าจะมีที่มาจากการที่หนังสือวันแม่ของทุกปี ซึ่งจัดทําโดยสภาสังคมสงเคราะห์ อธิบายกําเนิดของงานวันแม่ไว้เช่นนั้น

[8] “ประกาสกะซวงการสาธารนะสุข เรื่องวันมารดา,” ใน ข่าวโคสนาการ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ประจําเดือนมกราคม 2486, หน้า 3-4.

[9] ศ.ธ. 0701.23/7 เรื่องให้ถือวันที่ 15 เมษายน เป็นวันแม่ประจําปีของชาติ

[10] [3] ส.ร. 0201.55/55 เรื่องการจัดงานวันแม่

[11] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 12/2497 วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2497

[12] สภาสังคมสงเคราะห์, วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2519 หน้า 14. . . . .

[13] ครุณี ประมวลบรรณการ. “รักลูกให้ดูแล รักแม่ให้แทนคุณ.” ใน สภาสังคมสงเคราะห์, วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2520. หน้า 49.

[14] เพิ่งอ้าง, หน้า 15.

[15] “ประกาสกะซวงการสาธารนะสุข เรื่องประกวดสุขภาพมารดา,” ใน ข่าวโคสนาการ, ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ประจําเดือนมกราคม 2486, หน้า 4.

[16] เพิ่งอ้าง, หน้า 5.

[17] ม.ท. 0201.2.1.18/39 เรื่องงานวันแม่ประจําปี, เน้นโดยผู้เขียน

[18] สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย. วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2520. กรุงเทพฯ : ผดุงวิทยาการพิมพ์, 2520, หน้า 23.

[19] เพิ่งอ้าง.

[20] สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย. วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2522. กรุงเทพฯ : เทพนิมิตการพิมพ์, 2522, หน้า 42.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 สิงหาคม 2562