รัชกาลที่ 4 ทรงปรับปรุงพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

ความเชื่อที่ว่าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น อันกางกั้นเหนือพระที่นั่งราชบัลลังก์ จะไม่เปลี่ยนผ้าระไบฉัตร (บางแห่งเขียนว่าระบาย) หรือยกลงตลอดรัชกาล ดูเหมือนจะมีข้อยกเว้น ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงปรับปรุงการในพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรหลายประการด้วยกัน ดังปรากฏหลักฐานว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หุ้มทองเกลี้ยงที่คันและซี่ฉัตร หุ้มทองลงยาราชาวดีที่กำพูและยอดพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย วันเดียวกับการจารึกพระสุพรรณบัฏของพระองค์และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อพุทธศักราช 2394 (เรื่องถวายทองก้อน, ไม่มีเลขหน้า)

ผ้าที่ใช้ทำระไบพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแต่เดิมเป็นผ้าตาดขาว ทรงพระราชดำริว่าทำให้เศวตฉัตรดูเสื่อมค่าก็ทรงเปลี่ยนเป็นผ้าขาวมานับแต่บัดนั้น (สาสน์สมเด็จเล่มที่ 20. 2505, น. 218)

ดังปรากฏพระราชพิธีทรงเปลี่ยนผ้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งเชิญลงมาหุ้มผ้าแล้วยกขึ้นใหม่เมื่อพุทธศักราช 2396 มีการยิงปืน 108 กระบอก ปืนใหญ่ทั้ง 4 กระบอก คือ มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร และมหาปราบ ยิงเวียนกันเป็นทักษิณาวัฏ 3 รอบในเขตพระบรมมหาราชวัง พร้อมประโคม
เป็นมหามงคลฤกษ์ด้วย (ประกาศพระราชพิธี เล่ม 2ฯ. 2459, น. 146)

นอกจากนี้ ตามความเชื่อว่ามีเทพยดาสิงสถิตอยู่ใน “กำพู” คือ ส่วนประกอบที่ใช้ร้อยโคนซี่ค้ำฉัตรให้รวมเข้าเป็นกำสู่คันของพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทำหน้าที่คอยอภิบาลรักษาพระมหากษัตริย์ และพระราชบัลลังก์ เรียกว่า “เทพยดาประจำกำพูฉัตร” ก็ทรงอนุวัตตามความเชื่อนั้นโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูป “เทพยดารับกำพูฉัตร” ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมี ทำจากทองคำลงยาราชาวดีประดับอัญมณี เป็นรูปเทพยดาในท่าเหาะ พระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือพระขรรค์ อีกข้างยกขึ้นเสมอพระเศียรกำก้านโลหะอันสอดตรึง ไว้กับคันฉัตรใต้กำพู

ทรงเชิญเทพยดาประจำกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ให้มาสิงสถิตในรูปเทพยดารับกำพูฉัตรนั้น คราวเดียวกับที่ทรงสร้างรูปเทพยดาอีก 2 องค์ คือ พระราชบันฦๅธารเชิญพระแสงขรรค์พิธี และพระราชมุทธาธรเชิญหีบพระราชมุทธา (หีบบรรจุพระราชลัญจกร) เมื่อต้นรัชกาล (ประกาศการ พระราชพิธีเล่ม 2ฯ. 2459, น. 156 – 157)

รูปเทพยดารับกำพูฉัตรมีเฉพาะพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร อันกางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตรเท่านั้น ได้แก่ รูปเทพยดารับกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร อันกางกั้นเหนือพระที่นั่งมหาเศวตฉัตรในท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และพระที่นั่งมหาเศวตฉัตรประดับมุกในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรูปเทพยดา รับกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรอันกางกั้นเหนือพระที่นั่งพุดตานถมบรมราชอาสน์ในท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ยังมีรูปเทพยดารับกำพูพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร อีกองค์เป็นฝีมือช่างราวรัชกาลที่ 4 ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามาจากพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรประจำพระที่นั่งองค์ใดปัจจุบันจัดแสดงในห้องมหรรฆภัณฑ์ของพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พระนคร

บรรณานุกรม

ประกาศการพระราชพิธี เล่ม 2 สำหรับพระราชพิธีประจำปี. 2459. บรรณาธิการโดย พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย. (ข้าราชการกรมราชเลขานุการ ให้พิมพ์ครั้งแรกสนองพระคุณในงานพระศพ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ฯ ปีมะโรงอัฐศก พุทธศักราช 2459).

“เรื่องถวายทองก้อน.” ห้องเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ. จดหมายเหตุรัชกาลที่ 4. หนังสือสมุดไทยดำ.อักษรไทย. ภาษาไทย. เส้นดินสอ. จ.ศ. ไม่ปรากฏ. เลขที่ 263.

สาส์นสมเด็จ เล่มที่ 20. 2505. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.

(ข้อมูลจากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?ref=ts&fref=ts)