ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 ที่เพิ่งผ่านไป เชื่อว่าหลายท่านยังคงประทับใจในความยิ่งใหญ่ตระการตา
เมื่อย้อนกลับไปสำหรับราชวงศ์จักรีที่ปัจจุบันมีพระมหากษัตริย์ 10 รัชกาล มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมาถึง 12 ครั้งด้วยกัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางรัชกาลโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพิธี 2 ครั้ง และบางรัชกาลก็ไม่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยสรุปได้ดังนี้
รัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 1 ครั้ง มี 5 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 2, รัชกาลที่ 3, รัชกาลที่ 4, รัชกาลที่ 7 ,รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10
รัชกาลที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง มี 3 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6
รัชกาลที่มิได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มี 1 รัชกาล ได้แก่ รัชกาลที่ 8 เนื่องจากเสด็จสวรรคตก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ขอกลับมาที่ว่าอะไรเป็นเหตุผลให้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ในบางรัชกาล หนังสือประมวลความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์ เนื่องในมหามงคลการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562) กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
รัชกาลที่ 1 มีพระราชพิธี 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2328 เมื่อพระราชมณเฑียรสถานที่สร้างขึ้นใหม่แล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์ตามราชประเพณีที่เคยมีมา
รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 เมื่อทรงครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ขณะมีพระชนมพรรษา 15 พรรษา การบริหารงานขณะนั้นจึงมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะ
รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์งานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้งดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครและการรื่นเริง, ครั้งที่ 2 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และให้นานาประเทศที่มีสัมพันธ์ทางพระราชไมตรีมาร่วมงานในพระราชพิธี
วันนี้มีข้อเสนอใหม่ จาก ผศ.ดร. ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ รองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาอธิบายเรื่องนี้ใน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ประจำเดือนกรกฎาคม 2562 กับบทความที่ชื่อ “พระบรมราชกุศโลบายของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง”
ประมาณ 1 ปีให้หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 (พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช”
เหตุที่ต้องเว้นระยะห่างถึง 1 ปี ผู้เขียน (ผศ. ดร. ชัชพล ไชยพร) อธิบายว่า “การคมนาคมติดต่อไปมาในครั้งนั้นยังไม่สะดวกสบายเหมือนเช่นทุกวันนี้ และต้องทรงกำกับการตระเตรียมงานอย่างละเอียดลออโดยใกล้ชิด เพื่อมิให้เป็นที่ครหาในหมู่อารยประเทศได้ งานพระบรมราชาภิเษกสมโภชจึงต้องรอเวลาห่างออกไป พอที่จะเชื้อเชิญผู้แทนจากนานาชาติมาร่วมงานได้”
มีการเตรียมงานโดยละเอียดจำแนกเป็นส่วนๆ อย่างเรียบร้อย เช่น การรับแขกเมือง, การบรมราชาภิเษก, การเลียบพระนคร, การพระราชทานเลี้ยงลูกขุน และการเลี้ยงฉลองสมโภช
เจ้านายที่รับหน้าที่ในเรื่องนี้ คือ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยทรงเป็นผู้แทนพิเศษที่เสด็จไปยังพระราชสำนักต่างๆ เพื่อทูลเชิญเสด็จเจ้านายจากชาตินั้นๆ มาร่วมพระราชพิธีด้วยพระองค์เองจาก 14 ประเทศ เช่น อังกฤษ, เดนมาร์ก, รัสเซีย, สวีเดน, ญี่ปุ่น ฯลฯ
นับเป็นครั้งแรก ที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการเชิญผู้แทนประมุขนานาชาติและราชทูตพิเศษมาร่วมพระราชพิธี
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงขอให้สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอหลายพระองค์มาทรงเป็นผู้อำนวยการและจัดการรับเสด็จบรรดาพระราชวงศ์ฝ่ายในและสตรีผู้มีเกียรติจากนานาประเทศ ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่เกียรติของสยาม ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลก
ที่ยกมานี้เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาทั้งหมดที่ อาจารย์ชัชพล ไชยพร เขียนไว้ ขอท่านได้โปรดติดตามเพิ่มเติมใน “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกรกฎาคมนี้ ว่า
พระบรมราชกุศโลบายสำคัญที่อยู่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวคืออะไร