พัฒนาการ “ส้วม” ที่เคียงคู่สังคมไทย ห้องน้ำแบบ “ส้วมหลุม” ถึง “คอห่าน”

ภาพประกอบเนื้อหา - ห้องน้ำ

การขับถ่ายเป็นเรื่องธรรมชาติที่ห้ามกันไม่ได้ ถึงเวลามาก็ต้องไป (เข้าส้วม) ไม่ว่าใครก็ไม่อาจขัดขืน ส่วนสถานที่ที่ใช้ขับถ่ายกลับมีพัฒนาอย่างเป็นลำดับซึ่งไม่ใช่แค่สะบัดก้นแล้วจบเสียเมื่อไหร่

เรื่องเกี่ยวกับ “ส้วม” นี้ มนฤทัย ไชยวิเศษ เขียนไว้อย่างละเอียดใน “ประวัติศาสตร์สังคม-ว่าด้วย ส้วม และเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย” (สำนักพิมพ์มติชน, 2545) ที่ขอนำข้อมูลบางส่วนมาเสนอให้ได้เริ่มนับถอยหลังจาก “ส้วม” ที่คุ้นเคยกันกลับไปสู่อดีต

ส้วมชักโครก ที่คุ้นเคยในปัจจุบัน เรียกชื่อว่า “ชักโครก” เพราะเวลาเสร็จการใช้งาน จะต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมามีเสียงดัง น้ำก็จะไหลลงมาชําระล้างโถส้วมให้สิ่งที่ขับถ่ายไปยังถังเก็บกักที่เรียกว่าเล็ปติคแทงค์ (Septic Tank) หรือถังเกรอะต่อไป รูปแบบชักโครกในอดีตใช้ปริมาณน้ำมาก แต่ก็สะดวกสบายจากเดิมที่ต้องตักน้ำราด

ในช่วงแรกที่ชักโครกเริ่มเข้ามาในเมืองไทยยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำ เช่น เจ้านาย, ขุนนางใหญ่ และบ้านของผู้มีฐานะทางเงิน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนต้นทศวรรษ 2500 ชักโครกเริ่มมีการใช้แพร่หลายมากขึ้น จนปัจจุบันเป็นสุขภัณฑ์ที่แพร่หลายในเมืองต่างๆ

ส้วมคอห่าน ผู้คิดค้นพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สําเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก ประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2467 (ขณะดำรงตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางรัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และมีการรณรงค์ให้ราษฎรทั่วประเทศใช้ส้วม

ลักษณะเป็นโถสวมแบบนั่งยอง ส่วนล่างของโถทำเป็น “คอห่าน” (หรือคอหงษ์) เมื่อใช้เสร็จต้องเอาน้ำราด คอห่านที่โค้งงอทำให้น้ำที่ราดผลักดันสางขับถ่ายลงบ่อ และเหลือน้ำค้างอยู่ที่โถช่วยกันแมลงวันไม่ให้ลงไปได้ บางเรียกว่า “ส้วมซึม” เพราะเมื่อขับถ่ายเสร็จแล้วเทน้ำราดให้ซึมลงดิน ทำให้ดินตามบ้านเรือนโสโครกได้ (ภายหลังมีการบ่อซึม-บ่อเกรอะรับสิ่งที่จับถ่าย ตัวบ่อทำจากไม้, อิฐ, ปูน, คอนกรีต ฯลฯ และมีการกำจัดสิ่งปฏิกูลดีขึ้นโดยลำดับ)

เมื่อเสนอให้กรมสุขาภิบาลและคณะแพทย์ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์พิจารณษ ที่ประชุมเห็นว่าไม่ควร ให้ในเขตเมือง เพราะอาจเกิดผลกระทบต่อพื้นดินตามที่กล่าวไปข้างต้น แต่กลับได้รับความนิยมจากผู้พบเห็นเพราะราคามาแพง และใช้น้ำในการทำความสะอาดไม่มาก

ส้วมบุญสะอาด เป็นส้วมหลุมที่มีลักษณะเด่น คือฝา ปิดส้วมจะมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม วิธีใช้คือ เวลาเข้าไปถ่ายให้ใช้เท้าถีบลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้จะไปขัดกับประตูและจะมี ส่วนยื่นออกมานอกประตู คนข้างนอกเห็นก็จะรู้ได้ทันทีว่ามีคนใช้อยู่ เมื่อเสร็จกิจต้องปิดฝาส้วมไว้ดังเดิม ไม่เช่นนั้นประตูจะเปิดไม่ออก เป็นการป้องกันการลืมปิดฝาหลุมนั่นเอง ประดิษฐ์โดย นายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจําอําเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คาดว่าประดิษฐ์ขึ้นประมาณ พ.ศ.2474

ส้วมถังเท เป็นการขับถ่ายลงถัง ที่จะการจัดเก็บไปทิ้งซึ่งปกติจะทําวันละครั้ง ส้วมถังเทใช้กันในช่วงก่อน พ.ศ.2495 สำหรับในเขตพระนครมี “บริษัทสอาด” ที่บางขุนพรหมโดยตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 รับจ้างถ่ายขนเทซึ่งดำเนินการกว่า 20 ปี ก่อนจะขายกิจการให้ “บริษัทออนเหวง” ของชาวจีนที่ตั้งอยู่แถวราชวงศ์มาดำเนินงานต่อ

รายได้ของบริษัทรับเทถังส้วมคงดีไม่น้อย เพราะจ่ายค่าภาคหลวงให้รัฐถึงปีละ 20,000 บาท จนเมื่อมีการใช้ส้วมซึมจำนวนมาก บริษัทออนเหวง จํากัด ซึ่งได้รับอนุญาตทําการขนเทถังส้วมในเขตจังหวัดพระนครและธนบุรี ได้ยื่นคําร้องขอลดเงินค่าภาคหลวงลงเหลือปีละ 6,000 บาท

ส้วมหลุม ส้วมที่ขุดหลุมดิน มีตัวเรือนสร้างครอบคลุมส้วมไว้ บนปากหลุมถ้าทําง่ายๆ ใช้ไม้มาพาดเหยียบเวลาถ่าย หรือ ทําฐานโดยใช้ไม้กระดานมาปิดแล้วเจาะช่องสําหรับถ่าย ส้วมลักษณะนี้ใช้กันมานาน เช่นสถานที่ขับถ่ายของคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ใกล้น้ำก็มักทํา ส้วมแบบนี้ใช้แทนการไปถ่ายในป่า ในทุ่ง โดยต้องสร้างไว้ไกลตัวบ้านพอสมควรเพราะมีกลิ่นเหม็น เมื่อหลุมเริ่มเต็มก็กลบหลุมส้วม ย้ายไปจุดที่ใหม่ การกลบหลุมส้วมนี้ในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนก็กล่าวไว้ว่า เมื่อนางวันทอง โกรธขุนแผนและประกาศว่าจะกลบหลุมส้วมที่เคยใช้ด้วยกันให้สิ้นกลิ่น สิ้นรอย

แต่ถึงกระนั้นก็ใช้ว่า “ส้วมหลุม” ก็ยังมีพัฒนาการที่น่าสนใจ

ไมเคิล ไรซ์ เขียนเรื่อง ส้วม’ สุโขทัย สร้างไว้ถวายพระ” ไว้ใน “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ 1 ฉบับที่ 1  พฤศจิกายน 2522 ที่ทำให้เห็นความ “คลาสสิค” ของส้วมดังนี้

“…สำหรับการถ่ายนั้น ถ้าเป็นชาวนาจนๆ ก็แก้ปัญหาเหมือนชาวนาจนๆ ของไทย กล่าวคือไปทุ่งไปนาไปสวนกล้วยบ้าง แต่ถ้ามีอันจะกินก็ขุดหลุมส้วมใกล้บ้าน

และเพราะเป็นที่เนิน จะขุดลึกลงไปอย่างไร ก็ไม่เจอน้ำ หลุมมันแห้ง หรือมันจะแห้ง หากไม่ปล่อยให้น้ำปัสสาวะตกลงไปในหลุม เขาจึงทำแผ่นหินปิดฝาส้วมเหมือนอย่างที่พบที่เชิงเขาพระบาทน้อย ที่สุโขทัย อุจจาระจะได้ตกลงไปในหลุมแห้งแล้วค่อยแห้งไปเอง ส่งกลิ่นน้อย เพราะไม่หมักกับน้ำปัสสาวะ ทำให้เน่าเละ ส่งกลิ่นเหม็นนาน  ส่วนน้ำปัสสาวะจะไหลตามร่องในแผ่นหินออกไปนอกห้องส้วม หรือเวจกุฎี ไปลงในอ่างที่รีบแดดเต็มที่ ไม่นานก็แห้ง แล้วชาวบ้านก็จะเก็บตะกอนไปทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ เทคโนโลยีแบบนี้ก็มีประโยชน์ ก่อนที่จะคิด ‘คอห่าน’ ขึ้นมา…”

พัฒนาการของบ้านเมืองบางส่วนที่เล่าผ่าน “ส้วม” ก็มีดังนี้


เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มิถุนายน 2562