เรื่องใหญ่ๆ เกี่ยวกับ “ปืนใหญ่” ตั้งแต่การทำ จนถึงคาถากำกับตอนยิง

(ภาพจาก กรุงเพทฯ แห่งความหลัง, เทพชู ทับทอง)

ปืนใหญ่ “พญาตานี” เป็นปืนใหญ่ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือปืนที่รัชกาลที่ 1 นำมาจากเมืองปัตตานีเพื่อลดทอนกำลังการรบ ต่อมามีการนำพญาตานีมาตั้งอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม ก่อนจะมี “จำลอง” พญาตานีเพื่อส่งคืนบ้านเกิดที่ปัตตานี เมื่อ พ.ศ. 2556

สำหรับขนาดของปืนใหญ่พญาตานี คือ มีความยาว 3 ศอกคืบ 2 นิ้ว ขนาดกระสุน 11 นิ้ว น้ำหนักดินปืน 15 ชั่ง ย่อมอยู่ในลำดับต้นๆ หากปืนใหญ่ของไทยยังมีอีกหลายกระบอก และบางกระบอกก็มีขนาดใหญ่กว่าพญาตานี เช่น พระพิรุณแสนห่า ที่มีความยาว 4 ศอกคืบ 3 นิ้ว ขนาดกระสุน 19 นิ้ว น้ำหนักดินปืน 20 ชั่ง, พลิกพสุธาหงาย ที่มีความยาว 6 ศอกคืบ 3 นิ้ว ขนาดกระสุน 19 นิ้ว น้ำหนักดินปืน 20 ชั่ง ฯลฯ

เกี่ยวกับเรื่อง “ปืนใหญ่” นี้ เทพชู ทับทอง เขียนไว้ในบทความชื่อ “เจ้าพระยาสัมมาทิษฐิ” (กรุงเทพฯ แห่งความหลัง หจก.อักษรบัณฑิต, ไม่ระบุปีพิมพ์) ซึ่งขอสรุปบางส่วนมาเสนอดังนี้

เจ้าพระยาสัมมาทิษฐิ เป็นชื่อปืนใหญ่คู่กับเจ้าพระยารักษาศาสนา เดิมปืนใหญ่ทั้ง 2 กระบอก ตั้งไว้ใน โรงหลังคาช่อฟ้าที่ลานช้าง หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาประสาทข้างละกระบอก ปัจจุบันตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงกลาโหมทั้งสองกระบอก

ปืนใหญ่ทั้งสองกระบอกนี้เป็นปืนที่สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 3 มีชื่อดังกล่าวคร่ำเงินไว้ที่กระบอกปืน ตัวกระบอกปืนทำด้วยเหล็กซึ่งจัดว่าเป็นปืนใหญ่เหล็กรุ่นแรกที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 และที่ 2 ไทยหล่อกระบอกปืนใหญ่ได้แต่กระบอกทองเหลืองเท่านั้น ส่วนปืนใหญ่เหล็กต้องหาซื้อมาจากต่างประเทศ

ความจริงครั้งกรุงศรีอยุธยา ไทยหล่อปืนใหญ่เหล็กได้เอง และไทยเป็นชาติแรกๆ เสียด้วยซ้ำที่รู้จักทําปืนใหญ่ ใช้ยิงกำแพงเมือง ดังจะทราบได้จากพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยารัชกาลสมเด็จพระราเมศวร ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1931-1938 ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

สมเด็จพระราเมศวรตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ปรากฏว่าใช้ปืนใหญ่ยิงกําแพงเมืองเชียงใหม่ ข้าพเจ้าสอนหนังสือเอ็นโซโครมีเดียบริตนิคะ ได้ความว่าปืนใหญ่เพิ่งมีใช้ในยุโรปเมื่อคริสต์ศักราช 1375 ตรงกับปีเถาะจุลศักราช 737 พ.ศ. 1918 ก่อนที่เมืองเชียงใหม่คราวนี้ 9 ปี”

ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้หาช่างหล่อเหล็กมาหล่อกระบอกปืนใหญ่จากเมืองจีน ปืนใหญ่เหล็กจึงทําขึ้นได้ในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง

ปืนใหญ่เหล็กที่ทําขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3 ได้ความว่ามีจํานวนมาก (หาหลักฐานไม่ได้ว่าที่ร้อยกระบอก) แต่เมื่อรวมกับปืนใหญ่ของเก่าที่เหลือตกค้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีด้วยแล้ว ปรากฏในทําเนียบนามปืนใหญ่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดพระราชทานนามมีถึง 277 กระบอก

สําหรับปืนใหญ่เจ้าพระยารักษาศาสนาเท่าที่ทราบ ปรากฏในทําเนียบนามปืนใหญ่มีขนาดยาว 3 ศอก 10 นิ้ว ใช้กระสุน 4 นิ้ว ดินหนัก 1 ชั่ง ส่วนเจ้าพระยาสัมมาทิษฐิ ไม่มีรายละเอียดบอกไว้

ส่วนชื่อปืนใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานนามนั้น ขอคัดชื่อมาลงไว้เพียงบางส่วน

ส่วนการทําลูกกระสุนปืนใหญ่ก็มีตําราบอกไว้ เรียกว่า “ตําราดินสําหรับพิไชยสงคราม” ซึ่งถ้าจะให้ข้าศึกศัตรูพ่ายแพ้ ท่านให้ประสมดินดังนี้

“ชื่ออัฐธาตุ ดิน 1 ชั่ง มาด (มาศ = กํามะถัน) 10 ตําลึง ถ่านละหุ่ง 2 บาท ชันย้อย 1 ตําลึง กระดูกผีเป็นถ่าน 3 บาท ปั้นดินลูกพรุยิงแห่งใดเป็นไฟไหม้แห่งนั้นแล…

ชื่อมุติชาติ ดิน 1 ชั่ง ถ่านไม้รัก 6 ตําลึง มาด 2 บาท เอามูตโค, กะบือ, ช้าง ต้มแล้วบด หระดาน 3 บาท แมลงภู่ 7 ตัว ถ่านกระดูกแลน 3 บาท ปั้นเป็นลูกปืนยิ่งไปข้าศึกหนีแล”

จากตําราดินปืนดังกล่าวจะเห็นได้ว่า นอกจากจะเอาดินประสิว ถ่าน และกํามะถัน ซึ่งเป็นสารหลักใช้ประสมทําดินปืนแล้ว ยังมีการใช้สิ่งของที่ไม่เป็นมงคล เช่นกระดูกผี กระดูกสัตว์อัปมงคล ขี้ช้าง, ม้า, โค และกระบือประสมเข้าไปด้วย

แต่แค่นั้นยังไม่พอ ลูกกระสุนปืนนั้นต้องเอามาเสกเป่าพระคาถา 108 ที่ (คาบ) 1000 ที่ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์อีก พระคาถาที่เศกมีดังนี้ “สามานาทา, สิมินิทิ, สุมุนุทุ, สูมูนูทู, เสเมเนเท, แสแมแนแท, โสโมโนโท, เสาเมาเนาเทา, สํ มํ นํ ทํ, ส ม น ท”

หรือบางลูกก็ห่อด้วยยันต์แล้วเสกด้วยพระคาถาอีกที

นอกจากนั้นก็มีการเอาลูกกระสุนชุบน้ำมันที่เคี่ยวเป็นพิเศษ ซึ่งน้ำมันนั้นประกอบด้วย แมงภู่ตายคารูบดละเอียด 1 มะพร้าวจึงออกลูกเดียวด้านทิศตะวันออก 1 สีผึ้งซึ่งไหว้ศักดิ์สิทธิ์สามสถาน 1 สมองสรรพสัตว์ 1 ท่านว่ากระสุนที่ชุบน้ำมันนี้ “ยิงแม่นแล”

ตํารายิงปืนใหญ่สมัยก่อนท่านยังบอกด้วยว่า การยิงปืนนั้นจะยิงให้ตายก็ได้หรือจะยิงเลี้ยงคือยังไม่ให้ตายก็ได้ ถ้าจะยิงเลี้ยง ท่านให้ทําลูกกระสุนดังนี้

“อนึ่งถ้ายิงคนก็ดี สัตว์ก็ดี จะเอาเป็นมิให้ตาย ท่านให้เอาสีผึ้งมานั้นเป็นลูกกระสุนให้รวงกระสุนนั้นเสีย แล้วเอาไม้พลับพลาผ่าเผาเป็นเถ้าแล้ว ปรอทหนัก 3 กะปังทองนั้นด้วยเถ้า แล้วตรอกเข้าในลูกกะสุนที่รวงไว้นั้น แล้วให้เอาผ้าขาวมาขยําด้วยอัลมานห่อลูกกะสุนนั้น และเมื่อจะยิงนั้นให้ค่อยยัดจงดี อย่าให้ลูกกะสุนแตกได้แล้วยิงเถิด ถ้าคนก็ดี สัตว์ก็ดี อยู่ใกล้กัน 4-5 คน, 3-4 ตัว ได้เป็นมิตายก่อน ถ้ามิแก้ 3 วันตายแล ถ้าจะแก้มิให้ตาย เอาดินเหนียวแช่น้ำตรอกให้กินบ้างทาบ้างมีตายแล”

สรุปความได้ว่า การใช้ปืนใหญ่ของไทยเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากพอสมควร นับตั้งแต่ทําดินปืน ทําลูกปืน ตลอดจนกระทั่งการยิ่งขึ้น นี่คือวิชาการความรู้แขนงหนึ่งของคนโบราณ


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2562