เผยแพร่ |
---|
พระราชประวัติ และเหตุการณ์สำคัญแห่งการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
2470 5 ธันวาคม 2470 วันจันทร์ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ เสด็จพระราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
2477 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลื่อนพระอิสริยยศพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช
2481 15 พฤศจิกายน 2481 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
มกราคม 2481 (ขณะนั้นปีใหม่เริ่มต้นที่เดือนเมษายน) เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
2488 25 พฤศจิกายน 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จนิวัตพระนครครั้งที่ 2
2489 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต รัฐบาลขณะนั้นจึงกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
11 มิถุนายน 2489 การประกาศเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา
19 สิงหาคม 2489 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อและทรงเปลี่ยนแผนการศึกษาจากสาขาวิศวกรรมศาสตร์เป็นสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
2490 5 ธันวคม 2490 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา รัฐบาลไทยจึงกราบบังคมทูลเชิญ เสด็จนิวัตพระนครเพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่มีพระราชประสงค์จะทรงศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษา
2493 24 มีนาคม 2493 เสด็จนิวัตพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
29 มีนาคม 2493 ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
21 เมษายน 2493 พระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน
28 เมษายน 2493 พระราชพิธีราชาภิเษกกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
4-5 พฤษภาคม 2493 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมมีพระปฐมบรมราชโองการ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
5 มิถุนายน 2493 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาพระสุขภาพตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ
2494 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระราชธิดาเสด็จนิวัตพระนคร ประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานให้เหมาะสมแก่การเป็นที่ประทับถาวร ระหว่างนั้นประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
2499 22 ตุลาคม 2499 ทรงผนวชและจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงลาสิกขาวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499
2500 14 พฤษภาคม 2500 ขบวนพุทธหยุหยาตราทางชลมารค ตามแนวพระราชดำริให้มีการฟื้นฟูและอนุรักษ์เรือพระราชพิธี
31 ตุลาคม 2500 เสด็จพระราชดำเนินจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สวนจิตรลดาเป็นการถาวร
2502 เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราน้อยทางชลมารคไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เป็นการฟื้นฟูการถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชกาล
2503 2 พฤษภาคม 2503 ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวม 14 ประเทศ นาน 7 เดือนเศษ เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2504
2509 17 มีนาคม 2509 พระราชทานพันธุ์ปลาจากบริเวณโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาแก่กรมประมง จำนวน 10,000 ตัว เพื่อให้นำไปขยายพันธุ์แจกจ่ายแก่ราษฎรพร้อมทั้งพระราชทานนามว่า ปลานิล
2512 29 มกราคม 2512 กำเนิดหน่วยแพทย์พระราชทาน
25 กุมภาพันธ์ 2512 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมชาวไทยภูเขาพร้อมทั้งมีพระราชดำริในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เป็นที่มาของโครงการหลวง
1 กรกฎาคม 2512 คณะปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆบนท้องฟ้าเป็นครั้งแรกบริเวณท้องฟ้าเหนืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
2514 พระราชพิธีรัชดาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี
8 พฤษภาคม 2514 เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงสีข้าวตัวอย่าง สวนจิตรลดา และเริ่มกิจการโรงสีข้าวในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
2516 14 ตุลาคม 2516 พระราชทานกระแสพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ให้ประชาชนชาวไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
2520 ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม เรื่อง พระมหาชนก เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมพุทธศาสนาเรื่อง พระมหาชนก ในเวลาต่อมา
2525 พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
2529 ทรงเปิดโรงกลั่นแอลกอฮอล์ในสวนจิตรลดา ค้นคว้าการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำมาทำเชื้อเพลิงตามแนวพระราชดำริ รวมทั้งทดลองผสมแอลกอฮอล์ 95 เปอร์เซนต์ กับน้ำมันเบนซิน จนได้แก๊สโซฮอล์
2531 14 มิถุนายน 2531 กำเนิดมูลนิธิชัยพัฒนา
24 ธันวาคม 2531 พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับรูปแบบและการใช้งานของเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือ กังหันน้ำชัยพัฒนา แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
2534 22 มิถุนายน 2534 พระราชทานแนวพระราชดำริแก่เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้ศึกษาทดสอบการปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์
6 ธันวาคม 2534 พระราชทานนามดาวเทียมดวงแรกของไทยว่า ไทยคม (THAICOM)
2539 พระราชพิธีกาญจนาภิเษก และงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
2540 5 ธันวาคม 2540 พระราชทานพระราชดำรัส เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง
2549 9 มิถุนายน 2549 พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
2550 13 ตุลาคม 2550 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์กรณีแพทย์ประจำพระองค์กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อถวายตรวจพระพระวรกาย และขอพระราชทานให้ประทับที่โรงพยาบาล เพื่อถวายพระโอสถรักษาและสังเกตพระอาการ ซึ่งหลังจากนี้พระองค์ยังทรงมีพระอาการประชวรเรื้อรังต้องเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังโรงพยาบาลศิริราชอยู่บ่อยครั้ง
2557 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ 1 ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 พระองค์ทรงมีพระปรอท (ไข้) สูง พบพระโลหิตมีภาวะติดเชื้อ จึงกราบบังคมทูลเชิญไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายการตรวจและถวายการรักษาต่อไป
2559 13 ตุลาคม 2559 สำนักพระราชวังออกประกาศความว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น
แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ แต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ ทรงครองราชสมบัติได้ ๗๐ ปี”
อ้างอิง: สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ ตุลาคม 2559