ทำไมกรมพระยาดำรงฯ ยกท่านผู้หญิงตลับ สุดยอดแม่เจ้าเรือน อนุภรรยาของสามียังเคารพ

ท่านผู้หญิงตลับ สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ พร้อมบุตรและธิดา (ภาพจาก คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3)

ในบรรดาบันทึกของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ท่านยกย่องเจ้านายและสามัญชนหลายท่านทั้งบุรุษและสตรี หากพูดถึงบรรดาเจ้านายสตรีที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงยกย่องในฐานะมารดา หรือแม่ผู้เป็นเจ้าเรือนเป็นอย่างสูง บุคคลนั้นเป็นท่านใดไม่ได้นอกจากท่านผู้หญิงตลับ สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมแบบกะทันหัน

เจ้านายสตรีไทยไม่ได้เป็นกลุ่มที่สุขสบายไปเสียทุกรายตามที่เข้าใจกัน บางกรณีก็ยังต้องต่อสู้ไม่ต่างกับสามัญชนทั่วไปเมื่อต้องเผชิญชะตากรรมที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป ท่านผู้หญิงตลับ ซึ่งเป็นธิดาคนโตของพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์) ก็เป็นอีกหนึ่งเจ้านายสตรีที่หากเป็นนิยามในสมัยใหม่แล้ว คงเรียกกันว่า “หญิงแกร่ง” จากที่ท่านผู้หญิงตลับ อยู่ร่วมกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ตั้งแต่ยังมีฐานันดรเป็นผู้น้อย กระทั่งสามีเป็นเจ้าพระยา และฝ่ายสตรีได้เป็นท่านผู้หญิง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ยกย่องท่านผู้หญิงตลับว่า เป็นทั้งภรรยาที่ดี และยังบำรุงเลี้ยงฝึกสอนบุตรธิดาจนเติบใหญ่ มีเกียรติยศและตั้งตัวได้ทันช่วงชีวิตที่มารดาได้เห็นกันเป็นส่วนใหญ่

ท่านผู้หญิงตลับ เป็นธิดาคนโตของพระสุพรรณสมบัติ (ถมยา โอสถานนท์) เกิดในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2397 เมื่อครั้งเป็นเด็ก ท่านผู้หญิงอ่วม สุรวงศ์วัยวัฒน์ มารดาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ขอไปเลี้ยงด้วยตั้งแต่อายุได้ 10 ปี ในวัยเด็กจึงคุ้นเคยกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ภายหลังจากเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ไปศึกษาในยุโรปกลับมาแล้ว การพบกันในวัยหนุ่มสาวอีกครั้งก็ทำให้รักใคร่กัน ท่านผู้หญิงอ่วม จึงขอต่อบิดาอีกฝ่าย แล้วยกให้เป็นภรรยาเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ เมื่อพ.ศ. 2417 ในช่วงที่เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ยังเป็นนายพันตรี บังคับการกรมทหารปืนใหญ่

ทั้งคู่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตลอดมาจนกระทั่งสามีถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2452 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับความทรงจำของท่านผู้หญิงตลับว่า แม้สตรีที่เป็นแม่เจ้าเรือนมักจะเป็นที่รับรู้ต่อโลกภายนอกเฉพาะเรื่องที่เสียหายอย่างเช่น เป็นคนดุ ทะเลาะวิวาทกับสามี เรื่องดีไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันนักเนื่องจาก “แม่เจ้าเรือนที่มีปรีชาฉลาดไม่หนักไปในอคติย่อมประพฤติรักษามารยาทสัมมาคารวะ อย่างโบราณเรียกว่าเป็นช้างตีนหลัง ให้สามีนำหน้ารักษาเกียรติยศของสามี ถึงจะสามารถประกอบกิจเป็นกำลังของสามีสักเพียงใด ก็มิใคร่จะให้ปรากฏแก่ผู้อื่น”

อย่างไรก็ตาม ผลของการกระทำที่เห็นได้ชัดต่อสถานะแม่เจ้าเรือนนั้นย่อมปรากฏออกมาภายนอกผ่านบุตรธิดาและความเคารพยกย่องจากผู้อื่น ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่า นอกจากจะท่านผู้หญิงตลับจะเป็นภรรยาที่ดีแล้ว เมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้แต่ถึงอสัญกรรมแล้ว ท่านผู้หญิงตลับก็ยังเป็นสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งมีผู้ชื่นชอบ ชอบพอเป็นอันมาก

“แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงคุ้นเคยชอบพระราชอัธยาศัยมาทั้ง 2 รัชกาล ได้พระราชทานเครื่องยศท่านผู้หญิงและเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นที่ 2 มาแต่รัชกาลก่อน ข้อนี้ควรนับว่าเพราะท่านผู้หญิงตลับเป็นมิตรที่ดีด้วยอีกประการหนึ่ง” 

พระนิพนธ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยกย่องความดี 3 ประการของท่านผู้หญิงตลับ คือ ภรรยาที่ดี มารดาที่ดี และมิตรที่ดี ซึ่งเมื่อดูจากหลักฐานที่ปรากฏต่อมาแล้ว น่าจะเป็นเครื่องยืนยันข้อสังเกต 3 ประการได้ดี

สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันได้อีกประการหนึ่งคือ ภายหลังจากเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์อสัญกรรมด้วยโรคปัจจุบันทันด่วนขณะปฏิบัติหน้าที่ตามเสด็จเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักบ้านปืน ที่เพชรบุรี เมื่อพ.ศ. 2452 การจากไปของสามีครั้งนี้ทำให้ท่านผู้หญิงต้องแบกรับหน้าที่ดูแลบุตรธิดาต่อ

ขณะที่ความจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ที่มีต่อราชสำนักสะท้อนผ่านพระศุภอักษรอำลามิตรแท้ในหนังสืองานศพ ฉบับหนึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5 ถึงท่านผู้หญิงตลับ ภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ โดยเนื้อหายังบรรยายพระราชหฤทัยเมื่อทรงทราบข่าวจากการไปของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ ซึ่งพระองค์ทรงอักษรเรียกเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ว่า “เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยาก”

อ่านเพิ่มเติม : “มิตรแท้” ของร.5 ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงครอบครัว “เพื่อนทุกข์เพื่อนยาก”

ความเปลี่ยนแปลงครานี้ทำให้ท่านผู้หญิงตลับต้องรับภาระดูแลครอบครัวบ้านเรือน กรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกว่า ในขั้นแรกก็ได้รับความลำบากมิใช่น้อย ด้วยเหตุว่าเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์จากไปอย่างกะทันหันโดยไม่ได้สั่งเสียเรื่องทรัพย์สมบัติ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งกรรมการจัดการแบ่งมรดก ซึ่งมีกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหนึ่งในกรรมการด้วย

“…ทราบความครั้งนั้น ได้นึกชมท่านผู้หญิงตลับ ว่าสมควรเป็นผู้ใหญ่ในสกุล ด้วยอดออม อารีต่อวงศ์วาน ของสามี ไม่เอาเปรียบผู้น้อย เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาบุตรธิดาภรรยาอื่น และอนุภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ต่อมาจนตลอดอายุของท่านผู้หญิงตลับ”

ภารกิจที่ท่านผู้หญิงตลับต้องรับสืบต่อจากสามี ล้วนกระทำอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นทำนุบำรุงบุตรภรรยาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ แม้แต่ตำแหน่งมรรคนายกวัดประยุรวงศาวาสของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ หลังจากท่านถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ท่านผู้หญิงตลับก็ยังรับเป็นมรรคนายกวัดประยุรวงศาวาส (วัดสำหรับสกุล) และบำรุงพระอารามแทนสามี อีกทั้งยังปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระมหาสถูปวัดประยุรวงศาวาสสำเร็จ

ส่วนความสำเร็จของบุตรธิดาของท่านกับเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ บุตรธิดาของทั้งสองท่านมีทั้งหมด 9 คน ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก 4 คน ที่อยู่ต่อมาจนเติบใหญ่มี 5 คน ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรธิดาด้วยกำลังของตัวเอง ไปจนถึงบุตรธิดาภรรยาอื่นโดยปราศจากกำลังจากสามีสนับสนุนนั้น ในสมัยก่อน เชื่อว่าน่าจะต้องได้รับความลำบากมิใช่น้อย ดังที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึก แต่ก็สามารถเลี้ยงดูบุตรธิดาจนประสบความสำเร็จได้

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ชี้แจงว่า

ที่ 1 บุตรชื่อเต็น ได้เป็นที่พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้า สำหรับตระกูลเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ และเป็นตำแหน่งปลัดมณฑลปัตตานี แต่ถึงอนิจกรรมเสียก่อนมารดา เมื่อพ.ศ. 2461

ที่ 2 ธิดาชื่อเลียบ

ที่ 3 บุตรชื่อเตี้ยม ได้เป็นที่พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ รับพระราชทานพานทอง เป็นนายพลตรีทหารบก รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์

ที่ 4 ธิดาชื่อเลียม ถวายตัวทำราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นเจ้าจอมรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน

ที่ 5 บุตรชื่อเต็ม ได้เป็นที่จ่ายง รับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็ก”

ท่านผู้หญิงตลับถึงอนิจกรรมเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2464 ขณะอายุ 67 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศประดับศพเป็นเกียรติยศ พระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงตลับที่เมรุวัดประยุรวงศาวาส เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2465


อ้างอิง:

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ. คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก เล่ม 3. ชมรมดำรงวิทยาฯ จัดพิมพ์

ไกรฤกษ์ นานา. “จับใจ! พจนารถในรัชกาลที่ 5 คำนำหนังสืองานศพจากพระปิยมหาราช ถึง ‘ลูกรัก’ และ ‘เพื่อนยาก’,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 39 ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2561)

ประวัติ นายพลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต) สมุหราชองครักษ, หนังสือแจกเป็นของชำร่วยร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ศ. 128


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ พฤษภาคม 2562