จุ๊ๆ อย่าเสียงดัง ยักษ์กำลัง (…)


คำเตือน: อาจมีภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแก่เยาวชนไทย ผู้ปกครองควรพิจารณาหรือให้คำแนะนำ

เช่นเดียวกัน…ภาพและเนื้อหาที่ท่านกำลังรับชมอยู่นี้อาจสร้างความสะเทือนใจให้กับพุทธศาสนิกชนอยู่บ้าง เพราะเป็นภาพยักษ์แบกสถูปปูนปั้นที่ไม่เพียงแต่กำลังทำหน้าที่ของตนด้วยการใช้มือซ้าย ศีรษะ และไหล่แบกฐานสถูป ยังหาความสำราญจากการปฏิบัติหน้าที่อันแสนเหน็ดเหนื่อยด้วยการใช้มือขวากุมอวัยวะขนาดไม่ธรรมดา กระทำความช่วยเหลือตัวเองไปพลางๆ อย่างไม่ละอายว่ากำลังแบกสถูปอันศักดิ์สิทธิ์ซะงั้น !!!

ยักษ์ตนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรูปปูนปั้นประดับสถูปบริวารจากทั้งหมดกว่า 20 องค์ที่ล้อมรอบสถูปประธานที่จอเลียน (Jualian) พุทธวิหารเก่าแก่สมัยคันธาระของอินเดียจากช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 ตั้งอยู่ในเมืองหริปูร์ไม่ไกลจากเมืองตักศิลา ประเทศปากีสถาน มีทั้งสถูปและสังฆารามพระสงฆ์ใช้จำพรรษา

สถูปบริวารเหล่านี้เป็นขุมทรัพย์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ จากปูนปั้นตามองค์ประกอบของสถูปโดยเฉพาะตรงส่วนฐาน ทั้งพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ประทับในเรือนแก้วทั้งทรงโค้ง เหลี่ยม หรือป้าน เคียงข้างด้วยพระโพธิสัตว์หรือเทพเจ้าบริวาร ตอนล่างสุดของฐานตกแต่งด้วยรูปช้าง สิงห์ และยักษ์แบก ซึ่งทุกตนก็ปฏิบัติภาระหน้าที่ตามปกติยกเว้นตนนี้

ยักษ์แบกสถูปเหล่านี้ถือเป็นบรรพบุรุษของบรรดายักษ์แบกสถูปเจดีย์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านเรา ตั้งแต่รูปกุมภัณฑ์แบกสถูปสมัยทวารวดีจนถึงยักษ์แบกพระปรางค์วัดอรุณ พระเจดีย์ทองวัดพระแก้ว สมัยรัตนโกสินทร์

บรรพบุรุษยักษ์ตนนี้มีนามว่ แอตลาส (Atlas) ตามเทวปกรณัมของกรีก แอตลาสเป็นพวกไททัน (Titan) คือพวกเทพเจ้าลูกผสมกับอสูรนำกองกำลังเข้ากระทำสุรสงครามกับมหาเทพแห่งโอลิมปัส (Olympus) แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ถูกซูส (Zeus) กักขังทรมานไว้ในขุมลึกชั่วกัลป์

ส่วนแอตลาสในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันจึงโทษทัณฑ์ “หนัก” กว่าชาวบ้านคือการแบก “สวรรค์” ทั้งหมดไว้บนบ่าของตนชั่วกัลปาวสาน (ต่อมานิยมสร้างเป็นรูปลูกโลก)  ช่างในแคว้นคันธาระซึ่งใกล้ชิดกับวัฒนธรรมกรีก-โรมัน คงเห็นว่า แอตลาส มีหน่วยก้านดีจึงให้มาช่วยกันแบกสถูปเสียเลย

แล้วยักษ์แอตลาสของกรีก-โรมันที่นับถือเทพเจ้ามาเกี่ยวข้องอะไรกับสถูปของพุทธศาสนา ?

“สถูป” หรือที่บ้านเรานิยมเรียกว่า “เจดีย์” เป็นสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา ถือเป็นพระพุทธองค์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมและที่บรรจุปูชนียวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา เช่น พระบรมสารีริกธาตุ หรือ
อัฐบริขารที่พระพุทธเจ้าทรงบริโภคใช้สอย เป็นอาทิ

พุทธศาสนิกชนยกย่องบูชาสถูปอย่างสูงสุดจึงสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับสถูปว่าเป็นแกนกลางของโลกหรือจักรวาฬด้วยสัญลักษณ์นานา เช่น ทาสีขาวให้สถูปเหมือนมีหิมะปกคลุมตลอดเช่นเดียวกับเทือกเขาหิมาลัยอันสูงใหญ่ สร้างสถูปบริวารล้อมรอบสถูปประธานให้เหมือนเขาบริวารที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ หรือการสร้างช้างแบกเพื่อให้สอดคล้องกับคติพราหมณ์ที่เชื่อว่าโลกหรือจักรวาฬมีช้างแบกไว้

เมื่อวัฒนธรรมอินเดียปะทะสังสรรค์กับกรีก-โรมัน จึงมีการหยิบยืมเอายักษ์แอตลาสผู้ทำหน้าที่แบกสวรรค์มาช่วยแบกสถูป เพื่อให้สถูปกลายเป็นศูนย์กลางโลกหรือจักรวาฬนั่นเอง

แล้วทำไมต้องปั้นยักษ์แบกสถูปให้ช่วยตัวเองด้วย เพราะดูแล้วไม่เหมาะสม ?

นี่เป็นประเด็นที่อาจท้าทายขันติธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไม่น้อย

จริงอยู่ที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทมักแยกเรื่องเพศออกจากพุทธวิถีอยู่เสมอ จนทำให้พุทธศาสนิกชนปักใจเชื่อว่าเรื่องเพศจะต้องแยกออกจากพุทธศาสนาเด็ดขาดเพราะเป็นเรื่องที่ “ไม่เหมาะสม”ถ้ามีช่างคนไหนอุตริปั้นรูปแบบนี้ในบ้านเราละก็คงได้กลายเป็นเรื่องเด่นประเด็นอ่อนไหวในสังคมถึงขั้นผู้มีอำนาจสั่งทุบทำลายแน่นอน เช่นที่รูปนักการเมืองแบกฐานพระพุทธรูปเคยถูกทุบทำลายด้วยข้อหาเดียวกันว่า “ไม่เหมาะสม” มาแล้ว

พุทธศิลป์คันธาระนับรุ่นแรกของพุทธศิลป์อินเดียซึ่งพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก หากมองในมุมกลับพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนในขณะนั้นน่าจะเคร่งครัดและอนุรักษ์นิยมมากกว่าเราสมัยนี้เสียด้วยกระมัง

การอนุญาตให้มีภาพในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาได้บนสถูป อาจแสดงให้เห็นว่าเขาเหล่านั้นมองเรื่องเพศเป็น วิถีความเป็นไปปกติของมนุษย์ มองว่าเป็นเรื่องตลกโปกฮาขบขัน ทั้งยังสามารถแยกแยะได้ดีระหว่างความเหมาะและไม่เหมาะสม ดังเห็นได้จากการสร้างรูปแอตลาสไว้บนฐานชุดล่างสุดของสถูปไม่ปะปนกับรูปพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์อันศักดิ์สิทธิ์…ด้วยประการฉะนี้ !!

(ขอบคุณเพจ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่ต่อ)