ผู้เขียน | รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระราชชนนีพระพันปีหลวง ความเป็นมาของศัพท์ “พระพันวัสสา” สู่พระพันปีหลวง
“พระพันปี” และ “พระพันวัสสา” คำศัพท์ที่ต่างก็มีความหมายตรงกันว่า อายุพันปี เคยใช้เป็นพระนามพระราชาในวรรณคดีเรื่องเอกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เรื่องขุนช้างขุนแผน และในคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเอกสารที่บันทึกเรื่องราวของชาวอยุธยาที่ได้ถูกกวาดต้อนไปยังกรุงอังวะที่ราชสำนักราชวงศ์คองบองจดบันทึกก็ปรากฏกษัตริย์อยุธยาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า “พระพันวรรษา”
แต่อย่างไรก็ตามเราไม่อาจที่จะสรุปได้ว่าพระนาม “พระพันวรรษา” ในคำให้การชาวกรุงเก่าจะเป็นพระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ และพระนามกษัตริย์หลายพระนามในคำให้การชาวกรุงเก่าก็ไม่ตรงกับในพระราชพงศาวดารและศิราจารึก อีกทั้งคำว่า“พระพันวรรษา” จะเป็นสรรพนามที่ชนชั้นสูงของอยุธยาใช้แทนองค์พระมหากษัตริย์เฉพาะบางพระองค์
อนึ่งที่มาของศัพท์จะสัมพันธ์กับศัพท์ที่มีความหมายว่า “พระหมื่นปี” ซึ่งเป็นสรรพนามแทนองค์ฮ่องเต้ของราชสำนักจีนมากน้อยประการก็ต้องเป็นประเด็นที่จะต้องศึกษากันต่อไป
ความหมายที่เปลี่ยนไป
เราไม่อาจที่จะทราบได้ว่าการออกพระนามกษัตริย์ว่า “พระพันวัสสา” จะเลิกใช้ไปเมื่อใดไม่ทราบ แต่ก็ควรที่จะเป็นระยะเวลานานมากทั้งนี้เพราะไม่ปรากฏการใช้ในวรรณคดีที่เชื่อกันว่าอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น มหาชาติคำหลวง และ อนิรุทธคำฉันท์ เป็นต้น อีกทั้งในอภิธานศัพท์ที่ปรากฏในหนังสือจินดามณีฉบับที่เชื่อว่าอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้นในหมวดศัพท์ที่มีความหมายว่าพระราชาก็ไม่พบคำว่า “พระพันวัสสา” แต่ประการใด
แต่จากหลักฐานในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่าที่พบในปัจจุบันพบว่า ศัพท์คำว่า “พระพันปี” มีความหมายความถึง ตำแหน่งพระอัครมเหสี ดังหลักฐานต่อไปนี้
- เนื้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ซึ่งเป็นฉบับที่ชำระขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศความว่า “โปรดให้พระพันวรรษาใหญ่(สะกดตามพระราชพงศาวดาร) เป็นกรมหลวงอภัยนุชิต โปรดให้พระพันวรรษาน้อยเป็นกรมหลวงพิพิธมนตรี” และในพระราชพงศาวดารได้กล่าวเพิ่มเติมว่าพระพันวรรษาพระองค์ใหญ่เป็นพระมารดาในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ส่วนพระพันวรรษาองค์น้อยเป็นพระราชมารดาในเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ดังนั้นตำแหน่งที่พระพันวรรษาในพระราชพงศาวดารก็น่าที่จะหมายความถึงที่ตำแหน่งอัครมเหสี
- จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง ซึ่งเอกสารชิ้นนี้เป็นเหมือนบันทึกของคนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่จดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวว่า “พระตำหนักโคหาสวรรค์ 1 พระตำหนักนี้เปนที่ประทับของสมเด็จพระพรรวษาใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชเทวีสมเดจพระนารายณ์แต่ก่อนมา” (สะกดตามเอกสาร)
- จากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เมื่อกล่าวถึงครั้งเหตุการณ์สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตความว่า “ครั้นมาถึง ณ วันอังคารเดือน 11 ขึ้น 8 ค่ำเวลาเช้า 4 โมง สมเด็จพระพันวัสสาประชวรพระโรคชราเสด็จสวรรคตในวันนั้น”
- จากหลักกาพย์ขับไม้พระรถซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าต้นฉบับที่ทางหอพระสมุดวชิรญาณได้มานั้นเป็นลายมือพระอาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ 4 ได้กล่าวถึงเมื่อพระรถเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว พระรถได้ใช้นางพระพี่เลี้ยงเชิญนางเมรี และพระพี่เลี้ยงก็ได้เรียกนางเมรีว่า “พระพันปี” ซึ่งก็มีความหมายเดียวกันกับ “พระพันวัสสา” ดังข้อความต่อไปนี้
สาวใช้ใจแกว่น กราบท้าวแล้วแล่น จำพระโองการ เข้าทูลถึงใน
พระพี่ยาตรัสใช้ ให้มาเชิญนางคราญ เสด็จถึงที่นั่งนาน เห็นข้า บ่ เป็นการ
พระพี่ยาเสด็จไป
พี่เลี้ยงทูลเล่า ว่าพระพันปีเจ้า จะเหนี่ยวข้าว่าไร พระพี่ทรงพระ
โกรธกินโกรธแหนง ว่าแก้วกูทำแพง ทำระทัดระเทินใจ เหนี่ยวข้าจะท่าฟังใคร
ชอบข้าเสด็จไป จะเป็นไฉนเล่านา
ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 7 หลังพระราชพิธีบรมราชภิเษกแล้วจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี “จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระพันวัสสา มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า” ดังนั้นจึงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการนำคำว่า “พระพันวัสสา” มาประกอบพระนาม
แต่อย่างไรก็ตามนัยยะของความหมายของ “พระพันวัสสา” ในสมัยรัตนโกสินทร์ดูเหมือนว่าจะมีความหมายที่แคบเข้ามา ทั้งนี้เพราะ ในครั้งแผ่นดินรัชกาลที่ 3 ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุลาลัยว่า สมเด็จพระพันปีหลวง แต่ออกพระนามสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ว่า สมเด็จพระพันวัสสา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงออกพระนามว่า พระพันปีหลวง
ดังนั้นจึงน่าที่หมายความได้ว่าตำแหน่งพระวัสสาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คืออัครชายาเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันให้ความเคารพนับถือเท่านั้น ดังที่เห็นได้จากในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีซึ่งเป็นอัครชายาพระองค์หนึ่งในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ก็ไม่ได้มีการออกพระนามว่า พระวัสสา หรือแม้แต่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ก็ตาม
ส่วนคำว่า “พระพันปีหลวง” ก็เป็นชื่อตำแหน่งด้วยเช่นเดียวกัน ดังข้อความต่อไปนี้ “บัดนี้จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิธัย สมเด็จพระบรมราชชนนี ดังจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี” ซึ่งเราจะเห็นว่าในสำเนาพระสุพรรณบัฏนั้นไม่ปรากฏสร้อยพระนามพระพันปีหลวงแต่อย่างไร
ในความเห็นของผู้เขียนเมื่อพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนซึ่งออกพระนามว่า “พระพันปี” หรือบางครั้งก็เป็น “พระพันวัสสา” ต่อมาได้เป็นพระราชชนนีของกษัตริย์ในรัชกาลถัดมาจึงจำเป็นที่จะต้องมีการยกสถานะขึ้น ดังนั้นจึงได้เติมคำว่า “หลวง” จาก “พระพันปี” จึงกลายมาเป็น “พระพันปีหลวง”
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระราชชนนีพระพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในร.9 และ “แม่” ของไทย
- สมเด็จพระราชชนนีพระพันปีหลวง ในบันทึกผู้ตามเสด็จ
- พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ฝีพระหัตถ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2562