ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระแสงขรรค์ชัยศรีซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์สำคัญนั้น ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2327 ชาวประมงเมืองเสียมราฐได้ทอดแหในทะเลสาบเขมร และได้พระแสงขรรค์นี้ขึ้นมา เห็นว่าเป็นของโบราณที่มีความประณีตงดงามมาก เกินกว่าจะเป็นของสามัญชน กรมการเมืองเสียมราฐจึงได้นําพระขรรค์นี้ไปมอบให้กับเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) ผู้สําเร็จราชการเมืองพระตะบองและเสียมราฐ ในขณะนั้น ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้นําขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
มีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์อัศจรรย์ของพระแสงขรรค์ชัยศรีไว้ว่า เมื่อวันที่เชิญพระแสงขรรค์มายังพระบรมมหาราชวังนั้นได้เกิดพายุอย่างหนัก มีอสนีบาตหรือฟ้าผ่าลงที่ศาลาลูกขุนใน และกล่าวกันว่ามีอสนีบาตตกในพระนคร ตามเส้นทางที่อัญเชิญพระขรรค์มาถึง 7 แห่ง
แม้กระทั่งในพระบรมมหาราชวังก็เกิดอสนีบาตตกที่ประตูวิเศษชัยศรี และประตูพิมานชัยศรีขณะที่อัญเชิญพระแสงขรรค์ผ่านเข้าไป พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงพระราชทานนามพระแสงขรรค์องค์นี้ว่า “พระแสงขรรค์ชัยศรี” และเนื่องด้วย “เหตุอัศจรรย์” นี้ ประตูพระบรมมหาราชวังทั้ง 2 แห่งจึงมีสร้อยนามเหมือนพระแสงขรรค์ชัยศรี
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้ช่างหลวงทําด้ามและฝักของพระแสงขรรค์ชัยศรีขึ้นใหม่ ทําด้วยทองคําลงยาลายเทพนมประดับอัญมณี โคนพระแสงที่ต่อกับด้ามสลักเป็นรูปพระนารายณ์ ทรงครุฑคร่ำทอง พระแสงขรรค์องค์นี้เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว 64.5 เซนติเมตร เมื่อประกอบด้ามแล้วยาว 89.9 เซนติเมตร หนัก 1,300 กรัม เมื่อสวมฝึกแล้วยาว 101 เซนติเมตร หนัก 1,900 กรัม
พระแสงขรรค์ชัยศรีจึงเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระราชอํานาจ ความกล้าหาญ และพระราชอาญาสิทธิ์ในการปกครองแผ่นดิน
ข้อมูลจาก
ผศ. ดร. พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ “เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”, เสวยราชสมบัติกษัตรา, สำนักพิมพ์ มติชน 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤษภาคม 2562