ทำไมต้องมี “แมว-ไก่ขาว” กับสิ่งของมงคลอื่นๆ ในการเฉลิมพระราชมณเฑียร?

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบพระมหามณเฑียร ในการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๕๐)

ขั้นตอนอันเกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกประการหนึ่งคือ การเฉลิมหรือสมโภชพระราชมณเฑียร ซึ่งได้แก่หมู่พระมหามณเฑียร มีทั้งส่วนสำหรับว่าราชการได้แก่ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และส่วนที่เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ได้แก่ บริเวณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน โดยขั้นตอนจะต่อเนื่องจากการเสด็จออกมหาสมาคม ซึ่งจะประกอบการพระราชพิธีทั้ง ๒ ส่วนของพระมหามณเฑียรโดยจะเริ่มจากบริเวณส่วนที่ประทับก่อน แล้วจึงเป็นการเวียนเทียนสมโภชในบริเวณท้องพระโรงอันเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติ ดังนี้

“ท้าววรจันทร์ กราบทูลว่า ‘ข้าพระพุทธเจ้า ท้าววรจันทร์ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสนมสิบสองพระกำนัล แด่พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวขอเดชะ’ ทรงพระราชปฏิสัณถารตามพระราชอัธยาศัยเสร็จแล้ว ครั้นได้พระฤกษ์เจ้าพนักงานจึงประโคมดุริยางคดนตรีแตรสังข์พิณพาทย์มโหรีมี่สนั่นประนังเสียงศัพทนฤนาท เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมหามนเทียร ทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน มีนางชำระพระบาท ๒ นางเชิญเครื่องราชูปโภค และนางเชื้อพระวงศ์ ๖ อุ้มวิฬาร์ ๑ อุ้มศิลาบด ๑ อุ้มฟักเขียว ๑ ถือขันข้าวเปลือก ๑ ถือขันถั่วทอง ๑ ถือขันงา ๑ ครั้นเสด็จถึงในที่ทรงจุดเทียนนมัสการก่อนแล้วเสด็จขึ้นที่พระแท่นบรรทม พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ผ่ายในถวายดอกหมาก ทำด้วยทองคำหนัก ๕ ตำลึง ทรงรับแล้ววางไว้ข้างที่แล้วท้าวทรงกันดาลถวายกุญแจ แล้วเอนพระองค์ลงบรรทมเหนือพระแท่นที่โดยทักษิณปรัศว์เบื้องขวาเป็นพระฤกษ์ก่อนแล้ว และพระวงศ์ฝ่ายในผู้ทรงพระชนมายุถวายพระพรก่อน แล้วพระบรมวงศานุวงศ์ ท้าวนางข้างในถวายพระพรพร้อมกัน แล้วให้ประโคมดุริยางคดนตรี ครั้นสุดเสียงประโคมแล้วเสด็จขึ้น ครั้นเวลาบ่ายพระราชวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในและข้าราชการทหารพลเรือน เวียนเทียนเฉลิมพระมหามนเทียรตามโบราณราชประเพณีแต่ก่อนมา”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รัชกาลที่ ๗ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดย คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด https://oer.learn.in.th/)

ขั้นตอนบริเวณส่วนที่ประทับจะเป็นขั้นตอนในส่วนของข้าราชสำนักฝ่ายในเริ่มจากการถวาย “พระสนมสิบสองพระกำนัล” จากนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จประทับยังห้องพระบรรทมระหว่างทางทรงโปรยดอกพิกุลทอง พิกุลเงิน พร้อมด้วยนางชำระพระบาท และที่สำคัญคือ ข้าราชสำนักฝ่ายในและเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในเชิญเครื่องราชูปโภคและสิ่งของอันเป็นมงคลทั้ง ๖ สิ่ง ได้แก่ วิฬาร์ (แมว) ศิลาบด ฟักเขียว ขันข้าวเปลือก ขันถั่วทอง และขันงา

จากนั้นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะลงบรรทมบนพระแท่นเป็นปฐมฤกษ์ก่อนที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในจะถวายพระพร ก่อนที่จะมีการเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียรซึ่งประกอบพระราชพิธีที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

สำหรับสิ่งของที่เป็นเครื่องประกอบพระราชพิธีล้วนมีความหมายอันเป็นมงคลสำหรับที่ประทับขององค์พระมหากษัตริย์โดยมีความหมายดังนี้

วิฬาร์ (แมว) แสดงถึง ความโชคดี มีลาภร่มเย็นเป็นสุข อันสอดคล้องกับคติความเชื่อของไทยที่ว่า แมวหมามาสู่จะมีลาภ อีกทั้งยังเชื่อว่าแมวสามารถขับไล่ภูตผีปิศาจและสิ่งชั่วร้าย เพราะแมวมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในเวลากลางคืน หรือความเชื่อที่ว่าแมวมีเก้าชีวิต หมายถึงความยั่งยืนสถาพรและเป็นอมตะ

ศิลาบด เป็นของใช้ในครัวเรือนใช้บดเครื่องแกงหรือเครื่องปรุงอาหารต่างๆ การนำศิลาบดมาใช้ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรมีความหมายสอดคล้องกับการแสดงความยินดีในการขึ้นเรือนใหม่ด้วยการมอบเครื่องครัวและพันธุ์พืช แก่เจ้าของเรือนนั้น หรือเกี่ยวข้องกับคำให้พรอันแสดงถึงความเจริญงอกงามและมีความมั่นคงที่ว่า “ให้อยู่เย็นเป็นสุขดั่งอุทกธารา และฟัก ให้มีน้ำใจหนักหน่วงดุจศิลา ขอให้ถั่วงางอกงามบริบูรณ์” ศิลาดังกล่าวนั้นหมายถึงศิลาบดและยังเห็นถึงความหมายของสิ่งอันเป็นมงคลอีกคือ ฟักเขียว หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข และถั่วงา หมายถึงความเจริญงอกงาม เช่นเดียวกับข้าวเปลือกที่มีความหมายเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของที่มีความหมายดีแก่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงเฉลิมพระราชมณเฑียรหรือผู้ที่ขึ้นเรือนใหม่ทั้งสิ้น

“แมวและไก่ขาว” ในการเฉลิมพระราชมณเฑียรสมัยรัชกาลที่ ๗ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอันมีความหมายมงคลที่ใช้ในการพระราชพิธีดังกล่าวอีกคือ ดอกหมาก หรือจั่นหมาก บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ เพราะดอกหมากหรือจั่นหมากมีลักษณะเป็นพวงเมื่อออกผลจำนวนมากเรียกเป็นทะลาย แสดงถึงความรุ่งเรืองมีทรัพย์ศฤงคาร เช่นเดียวกับดอกมะพร้าวหรือจั่นมะพร้าวที่ใช้ประดับสถานที่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็มีความหมายเดียวกัน

อีกสิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอในการเฉลิมพระราชมณเฑียรคือ กุญแจทอง มีความหมายถึงการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าของบ้านใหม่ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งของอันเป็นมงคลสำหรับการพระราชพิธียังมีมากขึ้นในรัชกาลต่อมา ได้แก่ พระแส้หางช้างเผือกผู้ เริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งแส้นั้นเป็นเครื่องใช้สำหรับปัดฝุ่นละออง

การใช้หางช้างเผือกมาทำพระแส้นั้นแสดงถึงสิ่งของอันเป็นมงคลมากด้วยบารมี เนื่องจากช้างเผือกถือเป็นสัตว์คู่บารมีเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ หรือในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการอุ้มไก่ขาวเข้าร่วมพระราชพิธี อันอาจสอดคล้องกับการสร้างครอบครัวใหม่ที่มีการมอบสัตว์เพื่อช่วยเหลือเจ้าของบ้าน ซึ่งไก่นับเป็นสัตว์เลี้ยงสารพัดประโยชน์ทั้งบอกเวลาและเลี้ยงไว้กินไข่ และผสมผสานกับคติความเชื่อของจีนที่ว่า ไก่ขาวสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้

 

หมายเหตุ : คัดมาจาก บทความ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์”. โดยดร. นนทพร อยู่มั่งมี. ใน  ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม ๒๕๕๙.


เชิงอรรถ

ภายหลังจากรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีหลังการออกมหาสมาคมมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจาก มีพระราชพิธีอื่นก่อนถึงการเฉลิมพระราชมณเฑียร เช่น การเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนซึ่งตั้งพระโกศพระบรมศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี และการประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ดังในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (ดูรายละเอียดใน  ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. น. ๙๔-๙๕, ๑๑๙)

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. น. ๓๑.

ณัฏฐภัทร จันทวิช. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. น. ๑๘๓-๑๘๔.

เรื่องเดียวกัน.