ธรรมเนียมการพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระสุพรรณบัฏ (ภาพจาก ยุพร แสงทักษิณ. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2539.)

การเฉลิมพระยศเจ้านายเป็นขั้นตอนหนึ่งที่กระทำขึ้นภายหลังการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันพระฤกษ์เสร็จสิ้นลง พระมหากษัตริย์จะทรงพระราชทานเลื่อนพระอิสริยยศให้กับเจ้านายทั้งที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดและเจ้านายที่ประกอบคุณงามความดีแก่บ้านเมืองซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างเด่นชัดในช่วงต้นรัตนโกสินทร์และมีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนให้เหมาะสมตราบจนปัจจุบัน 

ความหมายของพระสุพรรณบัฏ

สุพรรณบัฏ มีความหมายตามอักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเลย์ คือ “สุพรรณบัต คือ แผ่นทองที่เขียนจาฤกพระนามเจ้าที่ตั้งเปนกรมนั้น”

ความหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเลื่อนพระอิสริยยศให้กับเจ้านายด้วยการ “ทรงกรม” อันเป็นธรรมเนียมที่ปรากฏตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในรัชกาลของพระองค์ประสบปัญหาการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับพระญาติพระวงศ์ทำให้ต้องทรงแก้ปัญหาด้วยการให้พระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิดถือครองกำลังพลซึ่งเทียบเท่ากับกรมกองหนึ่งในระบบราชการพร้อมทั้งให้มีขุนนางขึ้นตรงต่อเจ้านายพระองค์นั้นคอบกำกับดูแลกำลังพลอีกด้วย

การพระราชทานหรือการถวายพระสุพรรณบัฏจึงเกี่ยวเนื่องด้วยธรรมเนียมการเฉลิมพระยศเจ้านายซึ่งประกอบด้วยสิ่งสำคัญอีกสิ่งคือ การอภิเษก หรือ การรดน้ำ ซึ่งเป็นการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนั้นกระสุพรรณบัฏ และ การอภิเษก จึงต้องกระทำควบคู่กันเมื่อมีการเฉลิมพระยศเจ้านายหรือในพระราชพิธีสำคัญอย่างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งมีการถวายน้ำอภิเษกแด่องค์พระมหากษัตริย์พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามของพระมหากษัตริย์ 

การถวายและการพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยกรุงศรีอยุธยารัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ปรากฏธรรมเนียมการเฉลิมพระอิสริยยศเจ้านายคือ การทรงกรม โดยพระองค์ได้พระราชทานอิสริยยศสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็น เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ ด้วยทรงประสบปัญหาทางการเมืองจากความบาดหมางกับพระญาติวงศ์จึงทรงสถาปนาพระอิสริยยศให้กับเจ้านายฝ่ายในที่สนิทดังกล่าวพร้อมทั้งทรงมอบกำลังคนให้ขึ้นสังกัดพร้อมทั้งตั้งเป็นกรมและให้เจ้านายพระองค์นั้นคอยดูแลจึงเกิดการสถาปนาอิสริยยศให้เจ้านาย ทรงกรม เป็นต้นมา

แต่กระนั้นก็มิได้ปรากฏวิธีการหรือธรรมเนียมการพระราชทานพระสุพรรณบัฏว่ากระทำเช่นไรมีแต่เพียงคำให้การชาวกรุงเก่าที่ระบุถึงการถวายพระสุพรรณบัฏแด่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ที่กระทำภายหลังจากทรงสรงพระมุรธาภิเกกับทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว แต่สันนิษฐานว่าการพระราชทานพระสุพรรณบัฏให้กับเจ้านายอาจกระทำหลังจากพระราชพิธีในขั้นตอนดังที่กล่าวมา

ธรรมเนียมการพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

การเฉลิมพระยศเจ้านายจะต้องมีการจารึกพระสุพรรณบัฏซึ่งปรากฏสืบเนื่องมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยต้องเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และสมบูรณ์พร้อมด้วยองค์ประกอบ ๔ ประการ เช่นที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบาย ดังนี้

๑ ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่กระทำ

๒ ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่นในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๓ ต้องมีทั้งสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยชัยในการพิธี

๔ ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

วิธีการพระราชทานพระสุพรรณบัฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ตามที่ปรากฏในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อครั้งที่ทรงสถาปนาพระอิสริยยศทรงกรมเจ้านายพระองค์สำคัญคือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) กับเจ้านายพระองค์อื่นในปี พ.ศ.๒๓๕๖ ทรงโปรดให้จารึกพระสุพรรณบัฏเต็มตามตำรา เมื่อเสร็จแล้วพระสุพรรณบัฏจะถูก “ฝากไว้แก่ผู้รักษาพระอุโบสถ” จนถึงวันงานเจ้าพนักงานจะเชิญพระเสลี่ยงและพระกลดมารับพานพระสุพรรณบัฏแห่จากพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้าไปตั้งในมณฑลพิธีที่พระบรมมหาราชวัง ณ ที่นั้นมีพระสงฆ์เจริญพระปริตเวลาเย็น

จนกระทั่งรุ่งเช้าเจ้านายที่จะรับกรมเสด็จเข้าสู่ที่สรง พระสงฆ์ที่ทรงนับถือกับพราหมณ์ถวายน้ำมนตร์ (น้ำอภิเษก) เมื่อสรงแล้วเจ้านายจะแต่งพระองค์เสด็จมาประทับในท้องพระโรง จากนั้นอาลักษณ์เชิญพระสุพรรณบัฏเข้าไปถวายเป็นเสร็จสิ้นขั้นตอน หลังจากนั้นเจ้านายที่รับกรมจึงเสด็จเข้าไปเข้าเผ้าพระมหากษัตริย์ภายในพระบรมมหาราชวัง ทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนกับต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เมื่อเสด็จออกขุนนาง

การถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองสมเด็จกรมกระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า การพระราชทานพระสุพรรณบัฏแก่เจ้านายลักษณะดังกล่าวพระมหากษัตริย์มิได้ทรงเกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีเป็นแต่เพียงมีพระราชดำรัสสั่งซึ่ง “เป็นการทำลับหลังพระที่นั่งทั้งนั้น”  การที่เจ้านายเข้ามาถวายดอกไม้ธูปเทียนเสมือนกราบถวายบังทูลให้ทรงทราบไว้ว่าเจ้านายพระองค์นั้นได้รับกรมตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแล้ว

ส่วนการถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีข้อสันนิษฐานว่า สืบเนื่องมาจากประเพณีการตั้งลูกหลวงหลานหลวงไปครองเมืองและต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองแสดงความจงรักภักดีเช่นเดียวกับเจ้าเมืองประเทศราช ต่อมาเปลี่ยนจากการปกครองเมืองมาเป็นการทรงกรมถือครองกำลังไพร่พลจึงยังต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองตามประเพณีเดิม

การพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมัยรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริเมื่อครั้งประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ จะทรงเฉลิมพระยศเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงนับถือแต่ครั้งเมื่อทรงพระเยาว์ซึ่งมีหลายพระองค์ในเวลานั้นและต่างก็เจริญพระชนมายุ อีกทั้งทรงเห็นข้อบกพร่องของรูปแบบธรรมเนียมการพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่มีมาแต่เดิมหลายประการจึงโปรดฯให้แก้ไขธรรมเนียมต่างๆ ดังนี้

๑ ให้มีการอภิเษกในการตั้งกรมรวมทั้งการสถาปนาเจ้านายชั้นพระยศพระองค์เจ้า โดยจะทรงรดน้ำจากพระมหาสังข์และทรงเจิมพระราชทานก่อน แล้วจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏ

๒ พระราชทานพระสุพรรณบัฏต่อพระหัตถ์ แทนที่อาลักษณ์เป็นผู้ถวายอย่างแต่ก่อน

๓ เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานอภิเษก และพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ ส่วนเจ้านายตั้งแต่ชั้นอนุวงศ์ให้เข้าไปรับพระราชทานที่ท้องพระโรงในพระบรมมหาราชวัง

๔ ให้มีใบกับพระสุพรรณบัฏเป็นอำนาจในการตั้งเจ้ากรมปลัดกรม สมุหบัญชี ข้อนี้สืบเนื่องมาแต่ทรงแก้ไขวิธีตั้งขุนนางแต่ก่อนเป็นเพียงพระราชดำรัสสั่งแล้วเสนาบดีมีหมายประกาศตั้งขุนนางนั้น ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกรและลงพระปรมาภิไธยเป็นสำคัญ แต่ว่าเจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบัญชี ของเจ้านายต่างกรม เจ้านายทรงเคยเลือกสรรได้ด้วยพระองค์เองมาแต่ก่อน จึงโปรดฯให้คงอำนาจด้วยใบกำกับพระสุพรรณบัฏที่จะให้เจ้านายทรงเลือกและตั้งเจ้ากรม ปลัดกรม สมุหบัญชี ให้เป็นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ได้ตามทำเนียบพระเกียรติศักดิ์

๕ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโองการแสดงเหตุที่ทรงเฉลิมพระยศ

การพระราชทานพระสุพรรณบัฏสมัยรัชกาลที่ ๕

แบบแผนการพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มถูกใช้มาจนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๓๘ ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงทราบความฝ่าละอองธุลีพระบาทเกี่ยวกับความเดือดร้อนของเจ้านายจำนวนหนึ่งจากประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระสุพรรณบัฏที่วังเจ้านายเนื่องจากตำหนักที่ประทับของเจ้านายที่รับกรมบางพระองค์มีความคับแคบไม่สมควรจะรับเสด็จได้ทำให้มีพระราชดำริว่าประเพณีเช่นนี้สร้างความเดือดร้อนและสิ้นเปลืองแก่เจ้านายโดยไม่จำเป็น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้แก้ไขประเพณีบางอ่าง คือ

๑ โปรดฯ ให้มีการตั้งกรมเนื่องในเวลางานมงคลราชพิธี เช่น เฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ตั้งพระสุพรรณบัฏเจ้านายในมณฑลพระราชพิธีนั้น ไม่ต้องมีงานสวดมนต์เลี้ยงพระที่วังอย่างแต่ก่อน

๒ ให้เจ้านายเสด็จเข้ามารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏและให้อาลักษณ์อ่านประกาศในท้องพระโรง และเสด็จออกเป็นการเต็มยศในงานนั้น ถ้าทรงตั้งหลายพระองค์ก็รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในคราวเดียวกัน

๓ เมื่อเสร็จการพระราชพิธีแล้วจึงให้เจ้าพนักงานเชิญพระสุพรรณบัฏไปส่งมอบถวายที่วังในวันพระฤกษ์ตามที่เจ้านายพระองค์ใดจะกำหนด

การพระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นสิ่งเฉลิมพระยศสำหรับเจ้านายที่ทรงมีคุณูปการต่อบ้านเมืองทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเห็นถึงความสำคัญในส่วนนี้จึงเกิดการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมดังกล่าวให้มีความเหมาะสมเพื่อให้คงดำรงพระเกียรติยศอย่างสูงสุดตามโบราณราชประเพณี


เอกสารอ้างอิง

คำให้การชาวกรุงเก่า. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ๒๕๔๙.

แดนบีช แบรดย์. อักขราภิธานศรับท์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๑๔.

เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป เล่ม ๒ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). กองทัพเรือพิมพ์ถวาย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ     เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เนื่องในพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ ๖ รอบ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กรุงเทพฯ, ๒๕๓๘.