เปิดที่มา “นาคหลวง” สมัย ร.6 ทำไมจำต้องทูลเกล้าฯ ถวาย “ยำปูเค็ม”

รัชกาลที่ 6 นาคหลวง คนใกล้ตัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) อดีตมหาดเล็กรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งบรรดาศักดิ์เป็น “นายเสนองานประภาษ” มีหน้าที่รับใช้ในห้องทรงพระอักษร เมื่อ พ.ศ. 2464 อายุประมาณ 23 ปี ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็น “นาคหลวง” ให้อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โดยมีกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานนามว่า “อาชญโญ” (แปลว่าผู้รู้เร็วหรือม้าที่ฝึกง่าย) พระมหาเทพกษัตรสมุห จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนครบพรรษา จึงได้ลาสิกขาออกมารับราชการตามเดิม

พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ถ่ายเมื่อเป็นหลวงศักดิ์นายเวร มหาดเล็กเวรศักดิ์ พ.ศ. 2468

นาคหลวงถวาย “ยำปูเค็ม”

ขณะนั้นมีธรรมเนียมของนาคหลวงซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อออกบิณฑบาตวันแรก จะต้องนำอาหารที่รับบิณฑบาตครั้งแรกขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

หากวันแรกที่บิณฑบาต ในบาตรพระมหาเทพกษัตรสมุหมีเพียงข้าวสวยจำนวนหนึ่ง, ยำปูเค็มทรงเครื่องแบบชาวบ้าน (โรยหน้าด้วยมะดันซอย หอมซอย พริกขี้หนูซอย) ห่อใบตอง 1 ห่อ และส้มเขียวหวาน 2 ผล

พระมหาเทพกษัตรสมุห จึงลังเลใจว่า ของรับบิณฑบาตวันนั้นไม่เหมาะที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเครื่องเสวยของที่ท่านเคยตั้งถวายและโปรดเสวยเป็นเครื่องฝรั่งเสียส่วนใหญ่ ข้าวสวยกับยำปูเค็ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสวยได้อย่างไร

แต่เมื่อเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทั้งอย่างนั้นด้วยใจคอไม่ดี

ต่อมาภายหลังได้ทราบจากเพื่อนข้าราชการซึ่งตั้งเครื่องเสวยวันนั้นว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับโต๊ะเสวย ทอดพระเนตรเห็นบาตรตั้งอยู่ ก็มีพระราชดำรัสถามว่าของใคร ก็กราบบังคมทูลว่า ของพระภิกษุนายเสนองานประภาษ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายภัตตาหารที่ได้รับบิณฑบาตมื้อแรก

ทำให้พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) คลายกังวลอย่างยิ่ง

ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า “ของอ้ายเนื่องรึ กินของมันสักหน่อย” แล้วทรงตักปูเค็มและข้าวใส่พระโอษฐ์ แล้วมีพระราชดำรัสว่า “ปูเค็มนี้อร่อยดี ข้าไม่เคยกินเลย” แล้วเสวยต่อไปอีกหลายช้อน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บัวบาน (นามปากกา). “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยปูเค็ม” ใน, วชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ 2 ฉบับที่ 11 มกราคม 2525.


แก้ไขปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 20 พฤษภาคม 2567