“ธานอส” (เกษตรกร)ที่เมินช่องโหว่ทฤษฎีโธมัส มัลธัส “อาหารไม่พอเมื่อประชากรเพิ่มเร็วกว่า”

(ซ้าย) ธานอส ตัวละครจากภาพยนตร์ Avengers [ภาพจาก Marvel Studio] (ขวา) โธมัส มัลธัส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ

ก่อนที่โลกแผ่นฟิล์มจะรู้จักวายร้ายเจ้าของไอเดียสุดโต่งอย่างธานอส ในบรรดานักปรัชญายุคก่อน มีชื่อ โธมัส มัลธัส (Thomas Malthus) นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในแนวคิดว่าอัตราการเพิ่มของประชากรเติบโตขึ้นเร็วกว่าการผลิตอาหารจากแหล่งทรัพยากรที่มนุษย์ผลิตได้ แนวคิดนี้ถูกมวลมนุษยชาติพิสูจน์ตอกกลับไประดับหนึ่งแล้ว แต่ในแง่หนึ่ง ปัญหาการเพิ่มของประชากรก็ส่งผลกระทบต่อโลกเช่นกัน แค่ไม่ได้ส่งกระทบเชื่อมโยงกับแหล่งทรัพยากรอาหาร

ภาพยนตร์รวมทีมซูเปอร์ฮีโร่ภาคต่อที่กำลังเป็นกระแสในหลายวงการ นักการเมืองและบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมต่างอ้างอิงถึงสื่อบันเทิงร่วมสมัยแห่งปีที่คาดว่าจะเป็นภาพยนตร์ทำเงินถล่มทลายอีกเรื่องหนึ่ง ผลงานเรื่องนี้ยังเล่าเรื่องเกี่ยวกับอภิมหาวายร้ายอย่าง “ธานอส” (Thanos) สิ่งมีชีวิตจากนอกโลกที่ครอบครองวัตถุที่มอบพลังพิเศษให้สามารถกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้ตามใจนึก ไม่ว่าจะเป็นเวลา พลังงาน พื้นที่ และวัตถุต่างๆ

การครอบครองวัตถุพิเศษที่มอบพลังกำหนดสิ่งต่างๆ ในจักรวาลได้ตามใจนึกยังไม่ใช่เรื่องอันตรายที่สุด แต่สิ่งที่อันตรายกว่าน่าจะเป็นแนวคิดเชิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยประชากรและทรัพยากรในจักรวาล

ธานอส เชื่อว่า จักรวาลประสบปัญหาจำนวนประชากรมีมากเกินกว่าแหล่งทรัพยากรเป็นผลให้ทรัพยากรขาดแคลนอันเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆ ตัวละครโลกแฟนตาซีร่วมสมัยเชื่อว่า การยับยั้งหายนะของจักรวาล จำเป็นต้องลดจำนวนประชากรให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับทรัพยากร และเขาก็ทำจริง ด้วยการใช้พลังของวัตถุพิเศษลดจำนวนประชากร(บนโลก)หายไปครึ่งหนึ่ง (ด้วยการดีดนิ้วเท่านั้น)

แนวคิดของโธมัส มัลธัส

แนวคิดของธานอส สอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 นามว่า โธมัส มัลธัส (Thomas Robert Malthus) เมื่อปี 1798 นักเศรษฐศาสตร์เสนอมุมมองว่า การผลิตอาหารในประเทศช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรก็จริง แต่นั่นเป็นเพียงผลชั่วคราว เมื่อประชากรบนโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการผลิตอาหาร หากสิ่งมีชีวิตบนโลกยังไม่ตรวจสอบอัตราประชากรให้เหมาะสมอาจนำมาสู่หายนะทางสังคม เกิดสภาพอดอยาก และสูญเสียชีวิต

มัลธัส ยังวิจารณ์นโยบายช่วยเหลือคนจนของรัฐซึ่งเขามองว่า เป็นต้นเหตุที่นำมาสู่สภาพเงินเฟ้อ แทนที่จะไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยากจน และยังมองว่ากลุ่มคนจนเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มผลิตทายาทมากกว่ากลุ่มอื่น หากความไม่สมดุลระหว่างจำนวนประชากรกับแหล่งอาหารยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็จำเป็นต้องปล่อยให้ประชากรลดลงไปตามธรรมชาติ ทฤษฎีเรื่องประชากรของโธมัส มัลธัส มีอิทธิพลต่อนโยบายทางสังคมในอังกฤษและกลายเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของโธมัส มัลธัส ถูกมวลมนุษยชาติพิสูจน์แล้วว่าถูกครึ่งหนึ่ง คือจำนวนประชากรจะมีแนวโน้มมากกว่าแหล่งทรัพยากรเสมอ แต่ไม่ได้สะท้อนทางออกของสถานการณ์นี้ตามความเป็นจริง เมื่อมนุษย์สามารถสร้างสมดุลระหว่างการผลิตอาหาร (ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก) กับอัตราการเติบโตของประชากรในเวลาต่อมา

สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ในปัจจุบันเป็นกังวลมากกว่าคือผลกระทบของอัตราการเติบโตของประชากรในโลกที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสถานะของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในทุกวันนี้ เหล่านักวิจัยยังพยายามบ่งชี้เหตุปัจจัยที่นำมาสู่ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอย่างหลากหลาย โดยไม่ได้เจาะจงไปที่สาเหตุจากการเพิ่มของประชากรโลกแค่อย่างเดียว

โธมัส มองข้ามความสามารถของมนุษย์อีกประการคือเมื่อโลกเกิดเหตุการณ์ “ปฏิวัติเขียว” ที่เริ่มช่วงต้นยุค 50s ซึ่งนำมาสู่เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรที่ช่วยเพิ่มอัตราการเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั่วโลก ที่สำคัญคือ มัลธัส ยังมองข้ามการพัฒนาของยาคุมกำเนิดที่แพร่หลายมากขึ้นซึ่งทำให้อัตราการเกิดลดลงในเวลาต่อมาด้วย

ทฤษฎีและมุมมองการทำนายปัญหาในอนาคตของมัลธัส ยังคลาดเคลื่อนไป (เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน) โธมัส มองข้ามความสามารถของมนุษย์ในการแก้ปัญหา อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุข อย่างเช่น ระบบจัดการน้ำเสียซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคติดต่อ

ประเด็นสำคัญคือ โธมัส (ผู้ที่มีแนวคิดกลุ่มเดียวกับธานอส) มองข้ามศักยภาพในการแก้ปัญหาของมนุษย์

หากโธมัส มาสัมผัสสภาพปัญหาเรื่องความมั่นคงทางชีวิตและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน นักวิชาการเชื่อว่า โธมัส อาจเห็นด้วยกับแนวคิดจากนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ว่า โลกเริ่มเหลือเวลาน้อยลงในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหานี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลกระทบหากนำแนวคิดมาใช้แบบสุดโต่ง

หากวกกลับมาที่ปฏิบัติการของธานอส ซึ่งเหมือนเป็นการนำมุมมองแนวคิดของโธมัส ที่มีต่อปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาด้วยวิธีปฏิบัติแบบสุดโต่ง การลดจำนวนประชากร(หรือสิ่งมีชีวิต)ในโลกไปครึ่งหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตที่เหลือ อาทิ การสูญเสียจุลินทรีย์ ในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กส่งผลต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่อย่างเช่นมนุษย์ จุลินทรีย์ที่ช่วยอวัยวะภายในย่อยอาหารด้วยส่วนหนึ่ง เมื่อพวกมันหายไป ในช่วงแรกเริ่ม มนุษย์บางกลุ่มอาจประสบอาการปวดท้อง หรือปั่นป่วนบ้างเล็กน้อย แต่ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อระบบจุลินทรีย์เหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นมาก็น่าจะดีขึ้น

หรือกลุ่มแมลงที่มีผลต่อการเกษตร หากแมลงที่มีผลต่อการขยายพันธุ์พืชหรือระบบนิเวศทางการเกษตรหายไปครึ่งหนึ่ง ย่อมส่งผลต่อการเพาะปลูก

หรือการสูญเสียสิ่งมีชีวิตที่เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างหนู จะขึ้นมาครอบครองพื้นที่แทน การสูญเสียสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า พวกมันออกลูกจำกัดและขยายพันธุ์ช้าอยู่แล้ว กระทบต่อความหลากหลายในระบบนิเวศในอนาคต นักบรรพชีวินวิทยา เปรียบเทียบการล้างสิ่งมีชีวิตครึ่งหนึ่งบนโลก กับเหตุการณ์อุกกาบาตชนโลกเมื่อกว่า 60 ล้านปีก่อน ซึ่งทำให้ไดโนเสาร์ส่วนใหญ่สูญพันธุ์ ร้อยละ 75 ของสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์สิ้นชีพไป ยังคงหลงเหลือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น หนู ยังเหลือรอดอยู่บ้างและต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด ลอร์เรน แซลเลน นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนน์ซิลเวเนีย แสดงความคิดเห็นว่า สัตว์ขนาดเล็กที่ปรับตัวก็ต้องใช้ระยะเวลายาวนานเพื่อฟื้นฟูระบบของตัวเองกลับคืนมา เชื่อว่าใช้เวลาประมาณ 20-30 ล้านปีกว่าจะฟื้นตัวจากการสูญเสียขนาดใหญ่

ข้อผิดพลาดในทางทฤษฎีของมัลธัส (และธานอส) เช่นเดียวกับผลกระทบที่จะมีต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตบนโลก หากประชากรสิ่งมีชีวิตบนโลกลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจากการประเมินของนักวิทยาศาสตร์ดังที่ยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว ย่อมชี้ให้เห็นถึงมุมมองที่มีต่อปัญหาทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในโลกสมัยใหม่ที่แตกต่างไปจากมุมมองจากคนในบริบทศตวรรษที่ 18 การที่โลกจินตนาการในจักรวาลคู่ขนานของสื่อบันเทิงนำเสนอด้วยทฤษฎีนี้ย่อมบอกอะไรบางอย่างได้เช่นกัน


อ้างอิง:

Witkowski, Sadie. “If Thanos Actually Wiped Out Half of All Life, How Would Earth Fare in the Aftermath?”. Smithsonian. Online. Access 22 April 2019. <https://www.smithsonianmag.com/science-nature/if-thanos-actually-wiped-out-half-all-life-how-would-earth-fare-aftermath-180972005/>

MacRae, Donald Gunn . Thomas Malthus ENGLISH ECONOMIST AND DEMOGRAPHER.  Britannica. Online. Updated 5 April  2019. Access 26 April 2019. <https://www.britannica.com/biography/Thomas-Malthus>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ เมษายน 2562