ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
เรื่องเครื่องพิพม์ภิมสุขโตที่นำมาเขียนในครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเอามากๆ เรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันเรื่องเครื่องภิมสุขโตก็จะเป็นตัวอย่างบอกให้ท่านทราบว่า
- ยังมีคำแปลกๆ หรือเรื่องเก่าๆ ที่เรายังไม่รู้ ไม่เข้าใจอีกมากมาย ที่เป็นปัญหามากคือ เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าจะไปขอคำตอบได้จากหนังสือเล่มไหน หรือจากใครที่ไหน พูดง่ายๆ ว่าขาดที่พึ่ง
2. พิพิธภัณฑ์ไทยยังเก็บตัวอย่างข้าวของแต่ละสมัยไม่มากพอ ไม่กว้างพอ ทำให้การค้นคว้าเรื่องเก่าติดขัด
เหมือนอย่างเรื่องลูกกัลปพฤกษ์ที่ผู้เขียนต้องปะติดปะต่อข้อมูลเป็นเวลานานจึงพอจะลำดับความได้ว่า ลูกกัลปพฤกษ์ไม่ได้มีเฉพาะที่เอาเงินยัดมะนาว แต่ยังมีแบบกลึงไม้ใส่เหรียญพระราชทานเป็นของที่ระลึกด้วย แม้กระนั้นจนบัดนี้ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าเขากลึงลูกกัลปพฤกษ์อย่างไร จะไปขอดูลูกกัลปพฤกษ์ตัวจริงได้ที่พิพิพธภัณฑ์ไหน
เรื่องเกี่ยวกับเครื่องภิมสุขโตก็เช่นกัน

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนอ่านพบคำว่า “เครื่องภิมสุขโต” ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 75 หัวข้อกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเสด็จไปจัดราชการ ณ หัวเมืองลาวพวน
หนังสือกล่าวว่า ใน ร.ศ. 110 หรือ พ.ศ. 2434 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมได้ทรงทำงบประมาณเงินเดือนข้าราชการที่จะปฏิบัติราชการ และบัญชีข้าวของที่จะต้องใช้ตอนหนึ่งว่า นอกจากเงินเดือนข้าหลวง นายร้อย เสมียน ฯลฯ เท่านั้นเท่านี้แล้ว สิ่งของที่จะต้องซื้อใช้ได้แก่
กระดาษใหญ่ กระดาษเล็ก ซองใหญ่ ซองเล็ก ปากกาปากเบี้ยว ปากกาปากตรง สมุดก๊อปปี้ ที่อัดก๊อปปี้ หมึกดำ แปรงทาน้ำอัดก๊อปปี้ ดินสอฝรั่ง กระดาษซับ ยางลบ และ…
“เครื่องภิมสุขโต 1 เครื่อง” ราคา 50 บาท

เมื่ออ่านพบคำว่า เครื่องภิมสุขโต แล้ว ก็รู้สึกปแลกหู คาดเดาเอาว่าควรเป็น “เครื่องพิมพ์” อะไรอย่างหนึ่ง แต่ก็สงสัยว่าทำไมเรียกสุขโต หน้าตาอย่างไร มีสมรรถนะเพียงใด สามารถทำอะไรได้บ้าง
เรื่องแบบนี้รับรองไม่มีในหนังสือพจนานุกรมหรือสารานุกรมฉบับใด เพราะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องตรวจสอบ เพราะชอบเครื่องพิมพ์เก่า เทคโนโลยีเก่า
เมื่อผู้เขียนหยิบหนังสือชื่อ โคลงกลอนของ “ครูเทพ” ฉบับองค์การค้าคุรุสภา จัดพิมพ์ เล่มที่ 3 มาพลิกเล่น ทันใดนั้นก็ได้พบว่า สุขโต เข้าที่ หน้า 137

คำว่าเครื่องสุขโต นั้น อยู่ในข้อเขียนชีวประวัติของ “ครูเทพ” โดย น.ประภาสถิต เขียน เมื่อ พ.ศ. 2486 หรือเมื่อ 56 ปีก่อน น.ประภาสถิตกกล่าวว่า ครูเทพ หรือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เกิดพ.ศ. 2420 ถึงแก่อนิจกรรม พ.ศ. 2486) เป็นผู้ให้กำเนิดหนังสือวิทยาจารย์อันยืนยง โดยเริ่มทำขณะครูเทพกำลังเรียนที่โณงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ช่วงก่อน พ.ศ. 2444 ที่ครูเทพจะได้ทุนไปเรียนที่อังกฤษ
น.ประภาสิตกล่าวว่า
“ในสมัยนั้น นอกจากโรงพิมพ์หลวงแล้ว โรงพิมพ์ของเอกชนก็มีอยู่เพียง 2-3 แห่งเท่านั้น แต่ละแห่งค่าจ้างแพงเหลือกำลังของคนทุนน้อยจะจัดการพิมพ์หนังสือออกจำหน่ายได้ เครื่องพิมพ์ดีดก็ยังไม่มี แต่มีเครื่องพิมพ์ชนิดหนึ่งซึ่งพวกท่านเรียกกันว่า เครื่องพิมพ์ เครื่องพิมพ์ ‘สุขโต’ (คล้ายเครื่องพิมพ์ดีดโรเนียว แต่จะเปรียบกันมิได้ในเรื่องความสะดวกและสวยงาม) เครื่องพิมพ์ ‘สุขโต’ นี้แหละที่ ‘ครูเทพ’ ได้อาศัยพิมพ์หนังสือซึ่งท่านจัดออกเป็นรายคาบในโรงเรียนนี้ ได้รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ผู้จัดการ ผู้เขียน ฯลฯ และในภายหลังก็ได้มีผู้รับช่วยเหลือหลายคน…”
อ่านแล้วได้รับความรู้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยว่า สุขโต เป็นเครื่องพิมพ์สำเนาอย่างเครื่องโรเนียวนั่นเอง คุณภาพต่ำกว่าเครื่องพิมพ์อื่นๆ แต่อะไรๆ ก็ยังไม่กระจ่างอยู่ดี เพราะยังไม่รู้ว่าทำไมถึงเรียกสุขโต
เวลาผ่านไป 1 ปี ผู้เขียนไปขอไมโครฟิลม์หยังสือพิมพ์สยาม ออบเซอร์เวอร์ ในหอสมุดแห่งชาติมาอ่านเล่น พอหมุนไปถึงฉบับวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1912 พ.ศ. 2455 หน้า 2 ทันใดนั้น ผู้เขียนก็พบโฆษณาของห้างบีกริมแอนโก ลงว่า

“ห้างประตูสามยอด บีกริมแอนโก
เปนเอ, เย็นโรเนียววลิมมิศเต็ซ เมืองลอนดอน
(1) เครื่องพิมพ์ศุขโตโรเนียวชนิดที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ, ใช้เขียนที่กระดาษแก้ว หรือจะดีดด้วยเครื่องพิมพ์ไตปโรเตอร์ก็ได้ เปนเครื่องที่ใช้พิมพ์เร็วที่สุด พิมพ์ได้ในมินิต 1 ถึง 100 แผ่นกระดาษ แลมีอยู่ 3 อย่างราคาต่างๆ กัน มีราคาตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไปจนถึง 125 บาท
(2) เครื่องอาไหล่แลเครื่องใช้สำหรับเครื่องพิมพ์ชนิดนี้ มีขายที่ห้างข้าพเจ้าทุกๆอย่าง เปนต้น กระดาษแก้ว, กระดาษพิมพ์หมึกพิมพ์ กระดาษไตปไรเตอร์, ผ้าหมึก, เครื่องศุขโตโรเนียว หรือผ้าหมึกพิมพ์ต่างๆ กะดาษคาบอลต่างๆ แลสิ่งของตามที่กล่าวนี้จะขายให้ตามราคาเมืองนอกถูกอย่างที่สุด
(3) เครื่องพิมพ์โรเนียวลิศโตอย่างมาใหม่ จะใช้เขียนด้วยมือหรือดีดด้วยพิมพ์ไตปไรเตอร์ก็ได้ แลกระดาดที่จะใช้เขียนหรือดีดด้วยเครื่องพิมพ์นั้น ไม่เลือกว่ากระดาดชนิดไหน ใช้ได้ทุกอย่าง แลเมื่อเขียนแล้วอัดลงคราว 1 ใช้พิมพ์ได้ถึง 50 แผ่นกระดาด ขายราคาตั้งแต่เครื่องละ 16 บาท ถึง 140 ตามเครื่องเล็กและใหญ่
(4) เครื่องสำหรับเหลาดินสอโรเนียวแลเหลาดินสอต่างๆ ได้ทุกอย่าง ไม่เลือกว่าเล็กหรือใหญ่ ยาวสั้น ใช้ได้ทั้งนั้น ขายราคา เครื่องละ 20 บาท”
จากโฆษณาชิ้นนี้ทำให้เรารู้ว่า

หนึ่ง สุขโตหรือศุขโต เป็นชื่อรุ่นหรือแบบเครื่องอัดสำเนาชนิดหนึ่งของบริษัท โรเนียว จำกัด (RONEO) เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สอง เครื่องสุขโตได้รับความนิยมยาวนานมาก เพราะหากนับแต่เราได้เห็นคำว่าสุขโต ในรายงานของกรมหลวงประจักษ์ฯ พ.ศ. 2434 กระทั่งโฆษณาในสยาม ออบ เซอร์เวอร์ พ.ศ. 2455 ก็กินเวลาถึง 21 ปีแล้ว ถ้าเช่นนั้นเครื่องสุขโตก็ควรกระจัดกระจายอยู่ตามซอกมุมต่างๆของประเทศไทยมากพอสมควร
เรื่องเครื่องพิมพ์สุขโตยังไม่จบ ปัญหาที่ยังค้างคาอยู่คือ
1. ไม่รู้ว่าสุขโต ในภาษาอังกฤษเขียนว่าอย่างไร ได้พยายามเปิดหาโฆษณาภาคภาษาอังกฤษแล้ว แต่ก็ยังไม่พบแม้เงา
2. ไม่รู้ว่าเครื่องพิมพ์สุขโตหน้าตาอย่างไร ทำงานอย่างไร ต่างจากเครื่องอัดสำเนาอื่นๆ ของบริษัทโรเนียวตรงไหน
3. ไม่รู้ว่าบริษัท โรเนียว จำกัด ยังคงดำรงอยู่หรือไม่ (ไม่มีเวลาสืบต่อ) รู้แต่ว่าโรเนียวกลายเป็นคำที่เราหมายถึงเครื่องอัดสำเนาหรือการไปอัดสำเนาเหมือนอย่างที่เราพูดว่า ไปซีร็อกซ์ (ไปถ่ายเอกสาร) ในปัจจุบัน
4. ไม่รู้ว่าวิทยาจารย์รุ่นแรกๆ ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สุขโตยังมีหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ (บัญชีหนังสือเก่าในหอสมุดแห่งชาติระบุว่า วิทยาจารย์เริ่มออกเมื่อ พ.ศ. 2445 ซึ่งตอนนั้น ครูเทพได้ทุนเรียนที่อังกฤษแล้ว จึงน่าจะเป็นคนละรุ่น และคนละระบบการพิม์กัน)
5. ไม่รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ใดเก็บเครื่องโรเนียวแบบสุขโตไว้บ้างหรือไม่ ถ้าเก็บ คดีสุขโตก็จะได้จบๆ เสียโดยไว และจะได้ยกเรื่องอื่นๆ มาเสอนให้ท่านได้เวียนศีรษะต่อไป
ถนนสายอดีตยังมีคำถามที่ต้องการคำตอบอีกมากมาย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2562