ความเป็นมาเบื้องหลังการเสกน้ำอภิเษก-สรงน้ำพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ภาพจาก มติชนออนไลน์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่จะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” มีคำสำคัญคือคำ “อภิเษก” หมายถึง “รดน้ำ” เห็นได้ว่าพิธีกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยมีความสำคัญอย่างหนึ่งคือ การรดน้ำอันหมายถึงการเปลี่ยน -ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

ผศ. ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีพิธีที่เรียกว่า สรงน้ำพระมุรธาภิเษก และรับน้ำอภิเษก ความสำคัญของน้ำในพิธีกรรมของไทยนั้น สืบเนื่องกับคติชำระร่างกายให้สะอาดก่อนเข้าพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่การมุรธาภิเษก มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือการรดน้ำครั้งนี้คือการเปลี่ยน ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

ธรรมเนียมการมุรธาภิเษกเพื่อสถาปนาอำนาจหรือยกให้บุคคลที่ได้รับการมุรธาภิเษกให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของทางศาสนาพราหมณ์ที่มีอายุเก่ากว่าพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกเกิดมาอย่างน้อย 3,000 ปีเป็นขั้นต่ำ

การมุรธาภิเษกเป็นการให้เทวดารดน้ำพระอินทร์เพื่อให้พระอินทร์เป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่บนสวรรค์ พิธีกรรมนี้จึงถูกจำลองในพิภพมนุษย์ กล่าวคือเปลี่ยนจากพระอินทร์เป็นพระราชา และขุนนางอำมาตย์แทน

พัฒนาการจากแนวคิดเรื่อง “น้ำ” สู่พิธีกรรมในไทย

แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในหลักฐานการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปรากฏในไทยจากหลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล และจารึกถ้ำภูหมาไนซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมัน ซึ่งกล่าวถึงคำว่าอภิเษก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำอภิเษกครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไร ไม่มีรายละเอียดจารึกไว้ จึงยังไม่สามารถระบุได้รายละเอียดแบบเจาะจงได้

หลักฐานเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำในพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งกรุงศรีอยุธยาจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่งที่เมืองสุพรรณ สระศักดิ์สิทธิ์นี้มีชื่อคือสระเกษ สระแก้ว สระยมนา สระคา แต่ไม่มีข้อมูลว่าใช้สระเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อใด พบว่าครั้งบรมราชาภิเษกสมัยอยุธยาก็มีใช้แล้ว

รัชกาลที่ 5 เคยทรงเสด็จฯไปที่สระทั้ง 4 โดยมีข้อมูลปรากฏในพระราชหัตถเลขา มีการกล่าวถึงว่า ในสระนี้ไม่มีสัตว์ใดๆ ถือเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ ใช้เฉพาะองค์พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ไม่มีใครกล้านำไปใช้เพราะถือว่าจะกลายเป็นเสนียดจัญไรเนื่องจากบุญไม่พอ จะต้องมีผู้ตั้งกองอารักขาไว้ ไม่มีใครตักน้ำในสระนี้ได้ แต่เคยมีกรณีเจ้าประเทศราชองค์หนึ่งแอบให้คนมาตักน้ำ ถ้านับกันตามกฎคือต้องโทษกบฏ

นอกจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แล้ว หม่อมราชวงศ์แสงสูรย์ ลดาวัลย์ อธิบายไว้ว่า เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1  แห่งรัตนโกสินทร์ถึงรัชกาลที่ 4 มีการเพิ่มน้ำที่เรียกว่า “เบญจสุทธคงคา” (อ้างอิงการสะกดตามข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) คือแม่น้ำทั้ง 5 สายในประเทศไทย (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 สายในอินเดียกับในไทยนับแตกต่างกัน)

สำหรับไทยมาจากแม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม และแม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411 น้ำที่ใช้ยังเป็นเบญจสุทธคงคา และน้ำ 4 สระที่เมืองสุพรรณเป็นทั้งน้ำสรงพระมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษกแบบเดียวกับรัชกาลก่อน แต่ปี พ.ศ. 2416 พระองค์เสด็จประพาสอินเดีย ซึ่งตอนนั้นเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ พระองค์ตักน้ำแม่น้ำคงคาในครั้งนั้นด้วย

ช่วงนั้นโลกทัศน์ในสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มีความคิดวิชาการตามแบบโลกวิทยาศาสตร์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งแนวคิดตามจารีต เพราะฉะนั้นเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอินเดีย พระองค์ทรงตักน้ำจากแม่น้ำคงคามาเจือในน้ำสรงพระมุรธาภิเษกในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ของพระองค์

เวลาต่อมา แนวคิดเรื่องการสรงน้ำบรมราชาภิเษกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในช่วงรัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นยังยึดถือตามน้ำสรงแบบรัชกาลที่ 5 เป็นพื้นฐาน แต่สังคมในรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนแปลงเพราะว่า หลังรัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองโดยยกเลิกตำแหน่งเสนาบดีและตำแหน่งจตุสดมภ์ บรรดาหัวเมืองเอกโทก็ยกเลิกไป แนวคิดเรื่องความเป็นรัฐชาติเกิดขึ้น เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 การตักน้ำใช้สรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเพิ่มขึ้น น้ำที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ น้ำที่ได้จากเจดียสถาน คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐโบราณ อีกส่วนคือน้ำที่เสกตามวัดประจำมณฑลต่างๆ

น้ำศักดิ์สิทธิ์ตามปูชนียสถานสำคัญตามรัฐโบราณที่มีในประเทศไทย อาทิ แม่น้ำป่าสัก เสกที่พระพุทธบาท สระบุรี กรณีนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าเสด็จมากดพระบาทประทานให้

ตัวอย่างอีกแห่งคือที่พิษณุโลกตักที่สระแก้ว สระขวัญ และเสกน้ำที่วิหารพระพุทธชินราช โดยถือว่าเมืองพิษณุโลกเคยเป็นศูนย์กลางแห่งราชวงศ์พระร่วง ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองพิษณุโลกก็เป็นราชธานีแห่งที่ 2 ของราชอาณาจักร

ในยุคนั้นการปกครองแบ่งเป็นมณฑลแล้ว จึงมีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามมณฑลต่างๆ อีก 10 มณฑล ถ้ายอมรับว่ามณฑลเป็นศูนย์กลางของเมืองต่างๆในระบบมหาดไทย การตักน้ำต่างๆ หมายถึงผู้คนในมณฑลนั้นยอมรับพระราชอำนาจ อาทิ วัดบรมธาตุเมืองชัยนาท คือมณฑลนครสวรรค์ เมืองชัยนาทเป็นศูนย์กลางหลักในยุครัฐโบราณ นครสวรรค์เพิ่งเป็นตัวเมืองมณฑลเมื่อทางรถไฟผ่าน เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางการปกครองกับศูนย์การคมนาคมอาจเป็นคนละที่ก็ได้

เมื่อครั้งรัชกาลที่ 7 มีตักน้ำเพิ่มและเสกน้ำเพิ่มจากรัชกาลที่ 6 อีกหนึ่งแห่งคือที่พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่ เพราะภาคเหนือในปัจจุบัน แต่เดิมแล้ว ก่อนการสถาปนาราชวงศ์มังรายจะมีรัฐแห่งเล็กๆ แพร่และน่านก็เป็นรัฐอีกรัฐที่เกิดขึ้น

เมื่อถึงรัชกาลที่ 9 กระทำเหมือนในครั้งสมัยรัชกาลที่ 7 โดยเปลี่ยน 2 จุดคือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เพชรบูรณ์ และวัดพระธาตุช่อแฮ มาเป็นบึงพลาญชัย ร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน โดยน่านเป็นศูนย์กลางวงศ์เมืองน่านมาก่อน มีความสำคัญมาก่อน ส่วนบึงพลาญชัยเป็นบึงใหญ่ในร้อยเอ็ด เป็นเมืองเก่าครั้งทวารวดี แต่เมืองใหม่ไปซ้อนทับอยู่

พระราชพิธีรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 

ในการพระราชพิธีสำคัญปีนี้ ส่วนน้ำที่จะสรงพระวรกายนั้น (สรงพระมุรธาภิเษก คือสรงตั้งแต่พระเศียรลงมา ส่วนน้ำอภิเษก สรงเฉพาะพระวรกาย) ปวงชนชาวไทยทั่วประเทศได้พร้อมใจกันประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 107 แหล่งน้ำในวันที่ 6 เมษายนไปแล้ว และประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัดเมื่อวันที่ 8 เมษายน แล้วเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน และได้เชิญคนโทน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดมาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่อีกหนึ่งจังหวัดคือกรุงเทพมหานคร ได้ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 12 เมษายน จากนั้นจึงเชิญมายังกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน

เมื่อน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จากทั้งหมดรวม 108 แหล่งน้ำมารวมที่กระทรวงมหาดไทยแล้วจะได้นำไปประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกรวมที่วัดสุทัศนเทพวราราม

โดยในวันที่ 18 เมษายนนี้เองมีริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษก จำนวน 86 ใบ ประกอบด้วย รถตำรวจ วงดุริยางค์กองทัพบก อส.เชิญธงชาติ และเชิญธงตราสัญลักษณ์ รถเชิญคนโทน้ำฯ ตามด้วยผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เชิญคนโทน้ำหลายร้อยชีวิต จะร่วมกันเชิญรถน้ำอภิเษก จากกระทรวงมหาดไทย ผ่านถนนบำรุงเมือง วนรอบเสาชิงช้า สู่วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นระยะทาง 740 เมตร

ในช่วงเย็นของวันเดียวกันเวลา 17.19-21.30 น. เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะร่วมพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ มณฑลพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ หน้าพระศรีศากยมุนี พระประธานพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะ และพระเกจิอาจารย์ 68 รูป เจริญพระพุทธมนต์และพิธีกรรมอื่นไว้พร้อมวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ในการทำพิธีเสกน้ำอภิเษกที่วัดสุทัศนเทพวรารามฯ จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ขณะที่ในวันที่ 19 เมษายน จะมีริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษกไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อไป

อ่านเพิ่มเติมองค์ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

Podcast EP2 “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล


อ้างอิง :

“Podcast EP2 ‘พระราชพิธีบรมราชาภิเษก’ น้ำสรงพระมุรธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล”. ใน ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เข้าถึงวันที่ 18 เมษายน 2562. <https://www.silpa-mag.com/on-view/article_30521>

“พิธีเสกน้ำอภิเษก 108 แหล่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสุทัศนฯ วัดกลางเมือง ที่เปรียบ ‘เขาพระสุเมรุ’”. มติชนออนไลน์. เข้าถึงวันที่ 18 เมษายน 2562. <https://www.matichon.co.th/court-news/news_1456201>