ประเพณีพระสงฆ์รามัญสวดพระปริต ทำน้ำพระพุทธมนตร์ในพระราชวังชั้นใน

พระปริตรามัญวัดชนะสงคราม กำลังสวดพระปริต ณ หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์มอญมาตั้งแต่ทรงพระผนวชอยู่ ได้ทรงศึกษาลัทธิธรรมเนียมของพระสงฆ์มอญจนแตกฉาน แล้วสถาปนาคณะธรรมยุติกาขึ้นที่วัดบวนนิเวศวิหาร เมื่อเสวยราชสมบัติแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ ให้มีตำแหน่งสำหรับสวดพระปริตแบบรามัญ เสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระบรมหาราชวังเป็นประจำทุกวัน สำหรับทรงสงพระพักตร์และโสรจสรง (สุเชาน์ พลอยชุมพล, ๒๕๔๔ : ๒๒๒) ชาววังเรียกกันว่า “พระน้ำมนต์” ซึ่งพระปริตรามัญนี้มีหน้าที่เจริญพระพุทธมนต์แบบรามัญวิธีที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวังเสร็จแล้ว แบ่งน้ำพระพุทธมนต์ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และพระมหากษัตริย์สรง อีกส่วนหนึ่งใส่บาตร ๒ ใบ ให้เจ้าหน้าที่มณเฑียรบาลถือตามพระครูปริตร ๒ องค์ ถือหญ้าคาเดินเข้าประตูดุสิตศาสดา ประพรมประทักษิณรอบพระมหามณเฑียร แล้วออกทางประตุสนามราชกิจ ในปัจจุบันนี้กระทำทุกวันธรรมสวนะ (เกรียงไกร วิศวามิตร์, ๒๕๕๐ : ๔๕)

ธรรมเนียมการสวดพระปริตรามัญในพระบรมมหาราชวังนี้ เป็นธรรมเนียมเก่ามีแต่โบราณกาล ที่ยังคงรักษามาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งน้อยคนนักจะทราบ ด้วยว่าเป็นพิธีการแต่เพียงภายใน โดยนิมนต์พระสงฆ์มอญ มาสวดด้วยรามัญวิธี ณ หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งแต่เดิมนั้นต้องนิมนต์พระปริตรามัญดังกล่าวนี้ มาสวดพระปริตทุกวัน แต่ปัจจุบันคงเหลืองเพียงแค่วันธรรมสวนะเท่านั้น

การที่พระสงฆ์มอญสวดพระปริตรเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวังนี้ เป็นพระราชประเพณีเก่ามีมาแต่กรุงศรีอยุธยา ดังความในพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

“ในพระราชนิเวศน์เวียงวังของพระเจ้าแผ่นดินสยามตามแบบแผนบุรพประเพณีมีสืบมา พระสงฆ์รามัญได้สวดพระปริตรตามแบบอย่างข้างรามัญ ถวายน้ำพระพุทธมนตร์เป็นน้ำสำหรับสรงพระพักตร์ แลน้ำสรงพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลประพรมเป็นทักษิณาวัฏรอบขอบในจังหวัดพระราชมหามณเฑียรนี้ทุกวัน เป็นการพระราชพิธีมีสำหรับบรมราชตระกูลสืบมาแต่โบราณ” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๗ : ๓๖)

ตามหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ว่าแต่โบราณอาณาเขตประเทศนี้เคยมีชุมชนมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังปรากฏจารึกที่เป็นภาษามอญ และอักษรมอญโบราณอยู่มากมาย หลักฐานชั้นเก่าในสมัยสุโขทัยปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ไทยก็ส่งราชทูตไปยังรามัญประเทศ และได้ขอบวชอีกครั้งในสำนักพระอุทุมพรมหาสามี แล้วได้อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่นั่น ต่อมาพระมหาสามีอุทุมพรได้ส่งพระสุมนเถระให้แก่พระเจ้าธรรมราชาแห่งกรุงสุโขทัย ตามที่พระองค์ทรงขอเพื่อไปทำสังฆกรรมทุกอย่างในกรุงสุโขทัย เมื่อมาถึงสุโขทัยแล้วได้ทำการผูกพัทธสีมาและให้การอุปสมบทแก่พระสงฆ์ที่สุโขทัยตามแบบรามัญนิกาย (สุภรณ์ โอเจริญ, ๒๕๔๑ : ๑๖๒)

แม้ในกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏว่ามีพระสงฆ์มอญเข้ามาอยู่ในไทยครั้งแรกตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระมหาจรูญ เขมจารี, ๒๕๔๕ : ๑๓) อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า บริเวณนี้เคยมีชุมชนมอญมาแต่เดิม การมีพระสงฆ์ซึ่งเป็นชาวมอญนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่คงยังไม่ได้มีคณะที่เป็นใหญ่หรือเป็นทางราชการ ด้วยเป็นต่างชาติต่างภาษา เรื่องพระสงฆ์ฝ่ายรามัญเข้ามาตั้งคณะอย่างเป็นทางการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมติว่า คือในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังความตอนหนึ่งในสมณสาสน์ ว่า

“ครั้งนั้นพระนเรศวรมหาราชทรงพาเอาหมู่ภิกษุและครัวรามัญเป็นอันมาก เสด็จกลับมาเมืองไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่สำหรับปลูกบ้านแก่พวกครัวรามัญและพื้นที่สำหรับสร้างวัดถวายหมู่ภิกษุรามัญวงศ์ด้วย รามัญวงศ์มาประดิษฐานในเมืองไทยด้วยประการฉะนี้” (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๗ : ๕๒๗)

และในรัชกาลนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้านั้นทรงนับถือพระมหาเถรกันชอง (คันฉ่อง) ว่าเป็นครูอาจารย์มาแต่เมืองหงสาวดีแลได้มีความชอบมากจึงพระราชทานถานันดรยศให้เป็นสมเด็จพระสังฆราช แล้วทรงนับถือพระสงฆ์รามัญมาก แต่นั้นมาจึงได้ฉะเพาะให้อาราธนาแต่พระสงฆ์รามัญสวดปริตในพระราชวัง (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๗ : ๓๖)

นี้คงเป็นปฐมเหตุแห่งการที่พระสงฆ์มอญฝ่ายรามัญนิกายได้เข้าไปสวดพระปริตเสกนำ้พระพุทธมนต์ในพระบรมมหาราชวัง

ลุมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์มอญอย่างยิ่ง เสด็จไปประทับอยู่กรุงลพบุรี ๘ เดือนในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญวัดตองปุ ให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อวัดตองปุอยู่สวดพระปริตถวายน้ำพระพุทธมนตร์ทุกวัน อารามนั้นก็ยังปรากฏจนทุกวันนี้ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, ๒๕๔๗ : ๓๖)

มูลเหตุของการที่นิมนต์พระสงฆ์มอญมาสวดพระปริตเสกน้ำพระพุทธมนต์นั้น นอกจากความเลื่อมใสส่วนพระองค์แล้วและการที่พระสงฆ์มอญเป็นผู้เคร่งครัดในวินัยพุทธบัญญติแล้ว ยังมีอาคมแก่กล้า ดั่งเช่นมหาเถรคันฉ่องผู้นั้น

นอกจากนี้ในพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงเหตุไว้อีก ๒ เรื่องคือ

๑. พระสงฆ์รามัญรูปหนึ่งเดินทางมาจากเมืองมอญกับน้องสาว ครั้นถึงเมืองสยามแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงรังเกียจไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย พระสงฆ์รามัญรูปนั้นจึงแจ้งว่าตัวบริสุทธิ์ เมื่อเวลานอนในป่าได้วางพร้าเล่มหนึ่งไว้ท่ามกลางขอให้พร้าเป็นพยาน แล้วจึงทำสัตยาธิษฐานว่า ถ้าตัวเองมีความบริสุทธิ์ดังว่าแล้ว ขอให้พร้าอย่าได้จมลงในน้ำ แล้วขว้างพร้าลงไปในน้ำ พร้านั้นบันดาลลอยเห็นประจักษ์ พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความเรื่องนี้ จึงทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสตั้งพระภิกษุนั้นเป็นพระราชาคณะที่ พระไตรสรณธัชะ

๒. เมื่อครั้งพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา มีปีศาจเที่ยวหลอกหลอนคนในพระราชวัง คนบางพวกกล่าวว่า สายรุ้งตกลงในพระราชวังทุกวันไม่หายไป ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีพระราชโองการดำรัสให้นิมนต์พระสงฆ์ไทยที่มีชื่อเสียงเล่าลือต่าง ๆ ว่าดีมีอานุภาพมาสวดพระปริตแลให้แพทย์หมอผู้รู้วิทยาคมต่าง ๆ มาประกอบวิทยาการแก้ไข ก็หาสงบอันตรธานหายไปไม่ ภายหลังจึงให้นิมนต์พระสงฆ์รามัญวัดตองปุมาสวดพระปริต พระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานไทยธรรมต่าง ๆ พระสงฆ์รามัญก็ไม่รับแสดงลัทธิว่า ควรจะรับได้แต่อาหารบิณฑบาตในเวลาภิกขาจารอย่างเดียว ถ้ารับไทยธรรมอื่น ๆ การสวดพระปริตก็ไม่มีอำนาจ ไม่อาจบำบัติอุปัทวอันตรายได้ พระเจ้าแผ่นดินจึงได้พระราชทานแต่อาหารบิณฑบาตอย่างเดียวเท่านั้น ปีศาจหรือสายรุ้งที่ลงนั้นก็อันตรธานสงบเสื่อมหาย แต่นั้นมาพระสงฆ์รามัญจึงได้สวดพระปริตในพระราชวังใน

อาศัยพฤติเหตุสองประการมานี้ พระสงฆ์รามัญจึงมีหน้าที่เข้าไปสวดพระปริตในพระบรมมหาราชวังเพื่อเสกน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำสำหรับสรงมุรธาภิเษก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระอธิบาย ไว้ในตำนานพระปริตว่า “การสวดปริตทำน้ำพระพุทธมนต์ ถือเป็นการสำคัญในพระราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย ๔ รูป พระครูพระปริตรามัญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป ๑ มอญรูป ๑ กับพระครูพระปริตทั้ง ๘ รูปนั้น สวดทำน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติพระครูปริตมอญ ต้องเข้ามาสวดทำน้ำพระพุทธมนต์ที่คอศาสตราคมทุกวัน” (สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ๒๕๒๕ ; ๒๒๒)

วัดตองปุ ลพบุรี

อนึ่ง เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมราตรี นอกพระนครหรือเสด็จไปในราชการสงคราม หรือแทรกโพนช้างในแผ่นดินก่อน ๆ พระสงฆ์รามัญสวดพระปริตรนี้ ก็ต้องตามเสด็จพระราชดำเนินด้วยทุกครั้ง เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เสด็จไปประทับอยู่กรุงลพบุรี ๘ เดือนในฤดูแล้งทุกปี ก็ได้อาราธนาพระสงฆ์รามัญวัดตองปุให้ตามเสด็จขึ้นไปตั้งอารามชื่อวัดตองปุ อยู่สวดพระปริตรถวายพระพุทธมนต์ทุกวัน อารามนั้นก็มีปรากฏจนทุกวันนี้

สำหรับพระครูพระปริตรามัญ ๔ รูปนั้นซึ่งแต่เดิมจำพรรษาอยู่ตามวัดต่าง ๆ ที่สังกัดอยู่ในคณะรามัญนิกาย เช่น วัดบวรมงคล วัดราชคฤห์ วัดชนะสงคราม เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนแปลง เป็นพระสงฆ์มอญจากวัดชนะสงครามเพียงอารามเดียว ทั้งนี้สาเหตุอาจเนื่องมาจากการจัดเวรหมุนเวียนพระแต่ละแห่งเกิดความไม่สะดวก หรือเป็นเพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีพระที่สวดพระปริตรรามัญหลบภัยสงครามไปอยู่ตามวัดในต่างจังหวัด จะเหลืออยู่ก็แต่ที่วัดชนะสงคราม จึงได้สวดวัดเดียวนับแต่นั้นมา

วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร

ตำแหน่งพระครูปริตรรามัญทั้ง ๔ รูป ได้แก่

๑. พระครูราชสังวร

๒. พระครูสุนทรวิลาส

๓. พระครูราชปริต

๔. พระครูสิทธิเตชะ

ตำแหน่งพระครูปริตรามัญทั้งหมดนี้ ปัจจุบันเป็นตำแหน่งประจำอยู่ที่วัดชนะสงคราม รับหน้าที่เข้าไปสวดพระปริตรทำน้ำพระพุทธมนต์ ในพระบรมมหาราชวังที่หอศาสตราคมเรื่อยมา ในการสวดพระปริตรามัญที่หอศาสตราคม ในชั้นเดิม มีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันระหว่างพระครูปริตทั้ง ๔ รูป ในการไปสวดแต่ละวันโดยแบ่งกันรับผิดชอบตามวัน-เวลา ดังนี้

๑. พระครูราชสังวร รับผิดชอบวันธรรมสวนะขึ้น ๘ ค่ำ

๒. พระครูสุนทรวิลาส รับผิดชอบวันธรรมสวนะขึ้น ๑๕ ค่ำ

๓. พระครูราชปริต รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม ๘ ค่ำ

๔. พระครูสิทธิเตชะ รับผิดชอบวันธรรมสวนะแรม ๑๕ ค่ำ

พระปริตรามัญวัดชนะสงคราม กำลังสวดพระปริต ณ หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

โดยที่พระครูปริตทั้ง ๔ รูป จะทำหน้าที่เป็นประธานในการสวดแต่ละครั้ง ซึ่งจะมีพระมอญอีก ๔ รูปมาสวดร่วมด้วย รวมเป็นสวด ๕ รูปในแต่ละวันจนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๘๙ ปรากฏว่า พระสงฆ์ที่สามารถสวดพระปริตรามัญได้นั้น มีน้อยรูปลง ไม่พอจะผลัดเปลี่ยนกัน พระครูราชสังวร (พิศ อายุวฑฺฒโก) ผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามในครั้งนั้น จึงได้มีลิขิตถึงอธิบดีกรมการศาสนา ขอลดวันสวดพระปริตลง กระทรวงศึกษาธิการได้นำความกราบบังคมทูลแล้วมีพระบรมราชานุญาตให้ลดวันลงมาทำเฉพาะวันธรรมสวนะเท่านั้น พิธีเริ่มแต่เวลา ๑๓.๐๐ น. พระสงฆ์ ๔ รูป พร้อมด้วยพระผู้เป็นประธาน (เข้าใจว่าเป็นพระราชาคณะ) ๑ รูป สวดพระสัตตปริตรอย่างภาษารามัญที่หอศาสตราคม เมื่อเสร็จแล้วราว ๑๔.๐๐ น. มีเจ้าหน้าที่ถือบาตรน้ำมนต์นำพระ ๒ รูป ไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบหมู่พระมหามณเฑียร ครั้นแล้วเป็นเสร็จพิธี (ยิ้ม ปัณฑยางกูร, ๒๕๐๖ : ๖๔)

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จะมีการตักไปเพื่อเข้าร่วมในพิธีดั่งกล่าวของกรุงเทพมหานครคือ น้ำพระพุทธมนต์ซึ่งพระปริตรามัญเสกที่หอศาสตราคม มีพิธีตักเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ โดยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะได้เดินทางมายังหอศาตราคม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อเชิญคนโทน้ำศักดิ์สิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร โดยริ้วกระบวนจากหอศาสตราคม ไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะทำพิธีปลุกเสกน้ำอภิเษก รวมกับน้ำอภิเษกจาก ๗๖ จังหวัดที่วัดสุทัศนเทพวราราม ในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๒

หอศาสตราคม หรือ หอพระปริตร ตั้งอยู่ริมกำแพงฉนวนข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก สร้างตรงกับท้องพระโรงหน้าพระที่นั่ง ตรงข้ามกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตก องค์ประกอบของหอ กว้าง ๖.๒๐ เมตร ยาว ๑๒.๐๐ เมตร มีระเบียงกว้าง ๒.๑๐ เมตร ยาวตลอดอาคาร หลังคาเป็นทรงไทย มุงกระเบื้องเคลือบสี ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรักประดับกระจก หน้าบันจำหลักลายเป็นรูปเทวดาประทับยืนบนแท่น หัตถ์ขวาทรงตรี หัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ มีกนกก้านขดเทพพนมเป็นลายประกอบ หน้าบันตอนที่เป็นพื้นเรียบประดับกระจกสี ส่วนที่เป็นลายจำหลักลงรักปิดทอง (ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ๒๕๒๕ : ๔๘)

หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง

หอศาสตราคมนี้ แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เป็นพระที่นั่งโถง ลักษณะเช่นเดียวกับพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงแก้ใขพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ให้เป็นผนังก่ออิฐนั้น จะได้ทรงแก้ใขพระที่นั่งองค์นี้หรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงรื้อพระที่นั่งเดิมแล้วสร้าง “หอศาสตราคม” สำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญนิกายทำพิธีสวดพระพุทธมนต์ เสกน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับสรงพระพักตร์และสรง ตลอดจนประพรมรอบพระมหามณเฑียรด้วย (ม.ร.ว.แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ๒๕๒๕ : ๔๙)

ภายในหอศาสตราคมนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่นามว่า “พระพุทธปริต” และพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ปางต่าง ๆ อีกหลายองค์ สำหรับพระพุทธปริตนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยไม้ไผ่สาน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระสาน เป็นพระพุทธรูปไม้ไผสานฉาบด้วยปูนน้ำมัน หน้าตักกว่า ๑๓๓ ซม. สูงเฉพาะองค์พระ ๑๙๐ ซม.

“พระพุทธปริต” ในหอศาสตราคม

เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวีราสนะ แสดงภูมิสปรรศมุทรา โดยพระหัตถ์ซ้ายหงายเหนือพระเพลา และพระหัตถ์ขวาควํ่าเหนือพระชานุ พระพักตร์ค่อนข้างกลมพระขโนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์เรียว พระกรรณค่อนข้างยาว พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศาเป็นก้นหอยขนาดค่อนข้างเล็กไม่มีเกตุมาลา แต่ปรากฏรัศมีรูปเปลวไฟขนาดใหญ่เหนือพระเศียร พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบไม่มีริ้วขอบสองชั้นห่มเฉวียงปิดพระอังสะขวา โดยสังฆาฎิขนาดใหญ่ขอบสองชั้นพาดบนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี ปลายตัดเป็นเส้นตรง อันตรวาสกที่ทรงเรียบเช่นเดียวกัน ปรากฏขอบสองชั้นใต้พระชานุ องค์พระระบายสีเหลือง ส่วนพระภูษาระบายสีแดงคล้ำ (ม.ร.ว.สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์,๒๕๓๕ : ๓๔๗)


บรรณานุกรม

เกรียงไกร วิศวามิตร. เรื่องเล่าในวัง. กรุงเทพ ; บริษัท นิวไวเต็ก จำกัด, ๒๕๔๕.

จอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว, พระบาทสมเด็จ. รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องชุมนุมพระบรมราชาธิบายและประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔. กรุงเทพ ; โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, ๒๕๔๕.

        หนังสือประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ ; โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, ๒๕๔๗.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จ กรมพระยา. ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานพระพุทธศาสนา. กรุงเทพ ; โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, ๒๕๑๔.

พระมหาจรูญ ญาณจารี. พระครูสิทธิเตชะ. กรุงเทพ ; โรงพิมพ์วีซี เพรส, ๒๕๔๕.

ยิ้ม ปัณฑยางกูร. เรื่องวัดชนะสงคราม. พระนคร ; ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร, ๒๕๐๖.

สุภรณ์ โอเจริญ. มอญในประเทศไทย. กรุงเทพ ; โรงพิมพธรรมศาสตร์, ๒๕๔๑.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว.. พระพุทธปฎิมาในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพฯ ; บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด, ๒๕๓๕.

สุเชาวน์ พลอยชุมพล. คณะสงฆ์รามัญในประเทศไทย. กรุงเทพฯ ; โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔.

แสงสูรย์ ลดาวัลย์, ม.ร.ว.. พระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถานในพระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์, ๒๕๒๕.


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 เมษายน พ.ศ.2562