พระพุทธเจ้าทรงชี้ ผู้หญิงไม่มีวันระอาต่อการ “เสพเมถุน” จนกว่าจะตาย

สามโสเภณีชาวบราซิลสวมเสื้อผ้าเป็นนางแบบให้กับ DASPU บริษัทที่ได้รับการอุดหนุนจากเอ็นจีโอเพื่อให้ประกอบกิจกรรมสนับสนุนโสเภณีสูงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณ (AFP PHOTO / ANTONIO SCORZA)

พระพุทธเจ้า ตามความเชื่อของชาวพุทธคือผู้ตรัสรู้ความจริงในโลก (มีการตีความไปถึงขนาดที่ว่า พระองค์ทรงรู้ในเรื่องทุกๆ เรื่อง รวมถึงทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ด้วย) คำสอนของพระองค์จึงได้รับการยึดถือโดยไม่ได้ถูกตั้งคำถามเท่าใดนัก (แม้พระองค์เองอยากให้สาวกของพระองค์รู้จักตั้งข้อสงสัยในทุกสิ่งให้มากก็ตาม)

หนึ่งในความเห็นของพระพุทธองค์ที่ผู้เขียนมองว่าออกจะไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนักคือ เรื่องแรงปรารถนาทางเพศของผู้หญิง ที่พระองค์เชื่อว่า ผู้หญิงจะ “ไม่อิ่ม” “ไม่ระอา” ไปจนตาย เห็นได้จาก คำกล่าวของพระองค์ตามที่ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ในหมวดว่าด้วยบุคคล ซึ่งมีความตอนหนึ่งกล่าวถึง “สิ่งที่มาตุคามไม่อิ่ม” ว่า

“มาตุคาม(สตรี)ไม่อิ่ม ไม่ระอาต่อธรรม 2 ประการจนกระทั่งตาย

ธรรม 2 ประการอะไรบ้างคือ

1. การเสพเมถุนธรรม 2. การคลอดบุตร

มาตุคามไม่อิ่ม ไม่ระอาต่อธรรม 2 ประการนี้แลจนกระทั่งตาย”

คำกล่าวของพระองค์มิได้มีการอธิบายขยายความแต่ประการใด ซึ่งน่าสงสัยว่าเหตุใดพระองค์จึงเน้นย้ำเรื่องความปรารถนาในเพศรสไปที่เพศหญิงเป็นกรณีพิเศษในจุดนี้ เพราะในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ในส่วนที่ว่าด้วยสิ่งที่เสพไม่รู้จักอิ่ม พระองค์ตรัสว่ามีอยู่สามประการ คือ

“1. ความอิ่มในการนอนหลับ

2. ความอิ่มในการเสพเครื่องดื่มสุราและเมรัย

3. ความอิ่มในการเสพเมถุนธรรม”

ซึ่งครั้งนี้ พระองค์มิได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นเพศใด และไม่ได้บอกช่วงระยะเวลาว่ามนุษย์กลุ่มที่พระองค์กล่าวถึงจะหมดความปรารถนาในสิ่งเหล่านี้เมื่อใด

ความเห็นของพระพุทธองค์ ที่เน้นว่าสตรีคือเพศที่ไม่อิ่มในกามไปตลอดชีวิต ดูจะต่างจากผลวิจัยในยุคปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มักมีผลออกมาว่า สตรีเพศคือเพศที่เสื่อมความสนใจในกิจกรรมทางเพศลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ขณะที่ผู้ชายคือเพศที่รักษาระดับความต้องการทางเพศในระดับสูงไว้ได้เกือบตลอดชีวิต

นักทฤษฎีวิวัฒนาการมักเสนอว่า ผู้ชายรักษาระดับความต้องการทางเพศในระดับที่สูงกว่าผู้หญิงก็เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะรักษาเผ่าพันธุ์ที่สูงขึ้นด้วยแผนเชิงปริมาณ

ส่วนเพศหญิงมักหมดความสนใจในกิจกรรมทางเพศหลังมีลูกก็ด้วยเป้าหมายที่ต้องการรักษาเผ่าพันธุ์เช่นกัน แต่ผู้หญิงไม่ได้ใช้แผนในเชิงปริมาณเหมือนผู้ชาย เนื่องจากเธอมักเป็นผู้ดูแลเด็กเป็นหลัก ซึ่งมีการอธิบายว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมนมาเกี่ยวข้อง รวมถึง “ความเจ็บปวด” ที่มาจากการคลอดลูกร่วมด้วย

ขณะที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า สตรีมิได้ระอาต่อการคลอดบุตรแต่อย่างใด