คติ “น้ำศักดิ์สิทธิ์” มุรธาภิเษก การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ทรงเป็นพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์

สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ เมืองสุพรรณบุรี

มุรธาภิเษก เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่จะต้องนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปผ่านพิธีกรรม ซึ่งเรียกว่า พิธีพลีกรรม จากนั้นก็จะนำน้ำไปประกอบพิธีปลุกเสกน้ำพระพุทธมนต์ในการทำน้ำอภิเษก โดยคำว่า มุรธาภิเษก หมายถึง มุรธ แปลว่าศีรษะ หรือส่วนยอด สนธิกับคำว่าอภิเษก ในที่นี้หมายถึง การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ เมื่อรวมคำกันแล้วหมายถึง การรดน้ำที่ยิ่งใหญ่ที่บริเวณศีรษะ มีความสำคัญอย่างหนึ่งคือการรดน้ำครั้งนี้คือการเปลี่ยน ได้รับอำนาจ หรือเปลี่ยนสถานะเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์สุดในอาณาจักร

อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล กล่าวว่า แนวคิดเรื่องมุรธาภิเษกในหลักฐานการบรมราชาภิเษกปรากฏในไทย หลักฐานที่เห็นชัดสุดจากศิลาจารึกปากน้ำมูล และจารึกถ้ำภูหมาไน ซึ่งเป็นของพระเจ้ามเหนทรวรมันก็กล่าวถึงคำว่าอภิเษก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำอภิเษกครั้งนั้นมีลักษณะอย่างไรนั้นยังไม่สามารถระบุได้ เพราะไม่มีรายละเอียดจารึกไว้

ในจารึกสุโขทัยก็มีพูดถึงการอภิเษกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก หลักฐานถัดมาปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาล คือกฎหมายว่าด้วยขนบธรรมเนียม ข้อปฏิบัติของข้าราชการสมัยกรุงศรีอยุธยา ตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าในสมัยอยุธยามีการอภิเษกเกิดขึ้นหลายครั้ง

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แห่ง ที่เมืองสุพรรณบุรี คือสระเกษ สระแก้ว สระยมนา สระคา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยทรงเสด็จฯไปที่สระทั้ง 4 มีข้อมูลปรากฏในพระราชหัตถเลขา มีการกล่าวถึงสระเหล่านี้ว่าไม่มีสัตว์ใด ๆ ถือเป็นสระศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ใช้เฉพาะองค์พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ไม่มีใครกล้านำไปใช้เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร ถือว่าบุญไม่พอ จะต้องมีคนตั้งกองอารักขาไว้ ไม่มีใครตักน้ำในสระนี้ได้

นอกจากสระศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4 แล้ว เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเพิ่มน้ำที่เรียกว่า เบญจสุทธิคงคา คือแม่น้ำทั้ง 5 สายในประเทศไทย คือ แม่น้ำบางปะกง ป่าสัก เจ้าพระยา แม่กลอง และเพชรบุรี ตามคติปัญจมหานทีคงคาตามคติของอินเดีย ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 6 การตักน้ำใช้สรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงเพิ่มขึ้น น้ำที่เพิ่มขึ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ น้ำที่ได้จากเจดียสถาน อีกส่วนคือน้ำที่เสกตามวัดประจำมณฑลต่างๆ

ครั้นมาถึงรัชกาลที่ 7 และ รัชกาลที่ 9 ก็ได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงคติพระจักรพรรดิราชเหนือดินแดนที่ทรงปกครองทั่วทั้งผืนปฐพี และในรัชกาลปัจจุบันก็ได้มีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดในประเทศไทย

คนโทน้ำอภิเษก (ภาพจากมติชน)

สามารถติดตามรับฟัง ศิลปวัฒนธรรม Podcast EP2 “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” สรงน้ำพระมุราธาภิเษก โดยอ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล วันจันทร์ที่ 8 เมษายนนี้ เวลา 19.30 ทาง

Podbean
Soundcloud
YouTube