ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รัชกาลที่ 1 ทรงทำอย่างไร? เมื่อ “พระพี่เลี้ยง” ในพระองค์ เอาเครื่องยศที่พระราชทานไปขาย
ในพระสำนักฝ่ายใน พระพี่เลี้ยง นางนม เป็นข้าราชสำนักที่พระมหากษัตริย์โปรดพระราชทานความใกล้ชิดสนิทสนม, ทรงให้ความเคารพยกย่อง ตลอดจนมีพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นพิเศษกว่าข้าราชสำนักประเภทอื่น เพราะเป็นผู้ทำหน้าที่อภิบาลเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์อย่างใกล้ชิด จนทรงผูกพันรักใคร่
เช่นเมื่อคราว “เจ้าแม่วัดดุสิต” พระนมเอก ผู้อภิบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อยังทรงพระเยาว์ เมื่อเจ้าแม่ดุสิตถึงแก่อสัญกรรม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระภูษาขาวล้วน เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานจนถึงงานพระราชทานเพลิงศพ เพื่อแสดงกตเวทิตาเป็นครั้งสุดท้าย
หรือ “สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร” พระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าหญิงละม่อม” พระพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่อภิบาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสเรียกว่า “เสด็จยาย”
เมื่อพระองค์หญิงละม่อมมีพระประสงค์จะร่วมสร้างกุศลกับพระองค์ด้วยการสร้างพระอาราม เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า วัดปากอ่าว ที่จังหวัดนนทบุรี มีภูมิสถานงดงามแต่ทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดร่วมทุนทรัพย์กับเสด็จยาย บูรณะปฏิสังขรณ์จนพระอารามแห่งนี้งดงามมั่นคง และโปรดพระราชทานนามเป็นอนุสรณ์ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ตามพระอิสริยยศที่โปรดพระราชทานว่า “พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร”
หาก “พระพี่เลี้ยง” ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กลับมีท่าทีที่แตกต่างจากพระพี่เลี้ยงคนอื่น ๆ
พระพี่เลี้ยงท่านนี้คือ “เจ้าคุณบวรโภชน์” มีนามเดิมว่า ฉิม เป็นธิดาเจ้าพระยายมราช (ฉ่ำ) สันนิษฐานว่าบ้านของเจ้าพระยายมราช (ฉ่ำ) คงอยู่ใกล้กับบ้านของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ผู้เป็นพระอัยกา จึงมีโอกาสทำหน้าที่ พระพี่เลี้ยง ของพระองค์มาแต่ทรงพระเยาว์ และน่าจะเป็นพระพี่เลี้ยงที่โปรดปรานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องการอาบน้ำทาขมิ้น พระพี่เลี้ยงท่านนี้จะเป็นคนที่ทาขมิ้นได้เหลืองงดงาม เปล่งปลั่งดังสีลูกจันทร์สุก จึงทรงตั้งสมญานามคุณฉิมว่า “สีจันทร์” และทรงเรียกว่า พี่สีจันทร์ มาโดยตลอด
เมื่อเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระปฐมบรมมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ความผูกพันรักใคร่นับถือในพี่จันทร์ก็มิได้คลอนแคลน รัชกาลที่ 1 ทรงทำนุบำรุงด้านทรัพย์สินและความเป็นอยู่ ตลอดจนทรงหาโอกาสที่จะพระราชทานเกียรติยศพี่สีจันทร์ให้ปรากฏ ทรงมีพระราชดำริจะพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเทียบเท่าข้าราชการฝ่ายหน้าให้ แต่ขัดข้องด้วยยังมิเคยมีแบบแผนมาก่อนในโบราณราชประเพณี
รัชกาลที่ 1 จึงโปรดพระราชทานเพียงเบี้ยหวัดปีละ 10 ชั่ง เครื่องราชอิสริยยศสูงสุด มีหีบหมากพานทอง กาน้ำมีถาดรอง ขันน้ำสำหรับล้างหน้า กระโถนเล็ก ล้วนทำด้วยทองคำทั้งสิ้น และยังมีโต๊ะสำรับคาวหวาน 1 คู่ทำด้วยเงิน ขันน้ำใหญ่ กระโถนใหญ่ทำด้วยเงิน แคร่กันยาหลังคาแซงเตยคานหาม มีหญิงจากกรมโขลนผลัดเปลี่ยนกันหามภายในวังเดือนละ 4 คน ส่วนออกนอกวังโปรดจ่ายเลกราชยานผู้ชายสำหรับหามแคร่เดือนละ 4 คน และโปรดให้กรมวังออกหมายคำสั่งให้ออกนามท่านฉิมว่า “เจ้าคุณบวรโภชน์”
แต่ลักษณะนิสัยของพี่สีจันทร์หรือเจ้าคุญบวรโภชน์ น่าจะเป็นคนที่รักอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบพึ่งพาอาศัยหรือขอความช่วยเหลือจากผู้ใด จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตไปพักอาศัยอยู่กับพระยาพิชัยรณฤทธิ์ (หม่อมบุญเมือง) หลานชาย ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองโอ่งอ่าง ใกล้ประตูสามยอดเก่า
เหตุการณ์ที่แสดงให้ทุกคนประจักษ์ชัดถึงพระเมตตาที่ทรงมีต่อ “พระพี่เลี้ยง” คนนี้อย่างสูงก็คือ ครั้งที่เจ้าคุณบวรโภชน์มีประสงค์จะบูรณะวัดบวรโภชน์ ซึ่งเป็นวัดที่บิดาของท่านสร้างไว้ที่กรุงศรีอยุธยา แต่ท่านไม่ต้องการที่จะพึ่งพาอาศัยการเงินจากผู้ใด
เจ้าคุณบวรโภชน์ จึงนำเครื่องยศที่ได้รับพระราชทาน ทั้งที่เป็นเงินและเป็นทองหลอมยุบนำไปขาย นำเงินมาปฏิสังขรณ์วัดบวรโภชน์จนหมดสิ้น
การกระทำของเจ้าคุณบวรโภชน์ถือว่าเป็นการกระทำผิดอย่างฉกรรจ์ ผู้คนโจษขานถึงการกระทำนี้ และมีผู้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ แต่พระองค์มิได้รับสั่งใด ๆ จนความกลับทราบไปถึงท่านเจ้าคุณ จึงเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลชี้แจ้งอย่างห้าวหาญ คำกราบบังคมทูลนั้นท้าทายให้ทรงลงพระราชอาญา ซึ่งเป็นวาจาไม่เหมาะสมกับการกราบบังคมทูล เล่ากันว่า แทนที่รัชกาลที่ 1 จะทรงพระพิโรธ กลับทรงพระสรวล ตรัสตอบเหมือนที่เคยพูดกับพี่สีจันทร์ดังแต่ก่อน
“ใครเขาไปทวงถาม เอาทองเอาหยองที่ไหนมาคืนเล่า เมื่อขายทองเงินเสียหมดแล้วก็แล้วกันไปเท่านั้นเอง และเมื่อขายเนื้อทองเนื้อเงินไปทำวัดไม่พอหรืออย่างไร ฉันจะให้เงินทองอีกแก่พี่สีจันทร์…”
แล้วทรงให้เพิ่มอีก 50 ชั่ง ไปทำบุญตามใจชอบ
เรื่องราวในประวัติศาสตร์ตอนนี้ แสดงให้ประจักษ์ชัดถึงน้ำพระทัยเมตตาที่ทรงมีให้แก่พี่เลี้ยงของพระองค์
และเมื่อเจ้าคุณบวรโภชน์ถึงแก่อสัญกรรม ก็ได้โปรดพระราชทานโกศหลังเจียด พระราชทานจัดงานศพเหมือนศพเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ เมื่อพระราชทานเพลิงศพ โปรดให้ทำเมรุผ้าขาวที่วัดสระเกศ และทรงพระภูษาลายยกพื้นขาว เสด็จพระราชดำเนินในการศพทั้ง 3 วัน
อ่านเพิ่มเติม :
- สำรวจ “วัดดุสิต” กว่า 50 ปีก่อน จุดที่เชื่อว่าเป็นวัด “พระนม” ของสมเด็จพระนารายณ์?
- “พระนมปริก” พระนมเอกผู้ถวายพระนมและการอภิบาล รัชกาลที่ 5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. “3 พระพี่เลี้ยงนางนม ใน 3 พระมหากษัตริย์”, ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก, สำนำพิมพ์มติชน มกราคม 2552
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2562