พบหลักฐาน“พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, กระทรวงวัฒนธรรม

สำหรับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่จะมีในวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 นี้ นับเป็นพระราชพิธีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก ที่ผ่านมาการนำเสนอเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาชาภิเษก ส่วนมากจะเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลต่างๆ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หากพระราชพิธีนี้มีความเป็นมายาวนานยิ่ง

ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงเกี่ยวกับ “พระราชพิพธีบรมราชาภิเษก” ไว้ในหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” หนึ่งในผลงานล่าสุดของสำนักพิมพ์มติชน ทำให้ทราบว่า

ศิลาจารึกปากโดมน้อย พบที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ปากลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการอภิเษกพระเจ้าจิตรเสนเป็น “พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน” (ภาพจากหนังสือโบราณคดีเขื่อนปากมูล,กรมศิลปากร 2535)

ปรากฎหลักฐานที่เกี่ยวพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในศิลาจารึกที่มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่ ศิลาจารึกของเจ้าชายจิตรเสน (ราว พ.ศ. 1143-1159) จารึกเจ้าชายจิตรเสนที่พบในดินแดนไทยมี จารึกทั้งสิ้น 15 หลัก เนื้อหาในศิลาจารึกทั้งหมดมีความคล้ายคลึงกันคือ การปรากฎพระนาม ของเจ้าชายจิตรเสนซึ่งได้รับการอภิเษกเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติ สามารถมีชัยชนะต่อดินแดนต่างๆ จึงได้สร้างศิวลึงค์เพื่อประกาศชัยชนะในบริเวณที่พบจารึก เช่นที่ปรากฏในจารึกปากน้ํามูล 2 พบที่จังหวัดอุบลราชธานี มีการแปลความดังนี้

“พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ทรงพระนามว่าจิตรเสน ผู้เป็นพระโอรสของ พระเจ้าศรีวีรวรมัน เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเคามะ แม้โดยศักดิ์จะ เป็นพระอนุชา แต่ก็เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีพระนามปรากฏ ในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ได้รับพระนามอันเกิด จากการอภิเษกว่า ‘พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน’ (หลังจาก) ชนะประเทศ (กัมพู) นี้ทั้งหมดแล้ว ได้สร้างพระศิวลึงค์ อันเป็นเสมือนหนึ่ง เครื่องหมายแห่งชัยชนะ ของพระองค์ ไว้บนภูเขานี้”

ข้อความในศิลาจารึกทําให้ทราบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของการอภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์คือ การเปลี่ยนสถานภาพให้เป็นดุจดั่งเทพเจ้า เห็นได้จากการเปลี่ยนพระนามจาก จิตรเสน เป็น พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน หมายถึง ผู้อยู่ในความพิทักษ์ของพระอินทร์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่กษัตริย์จะทรงเปลี่ยนพระนามแสดงความยิ่งใหญ่ผ่านลัทธิความเชื่อที่กษัตริย์แต่ละพระองค์ยึดถือ อันเป็นการสะท้อนถึงพระบุญญาบารมีของกษัตริย์เพื่อให้เกิดการยอมรับจากบรรดาพสกนิกร

นอกจากนี้ข้อมูลจากศิลาจารึกยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบพระราชพิธี บรมราชาภิเษก ซึ่งใช้พราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีหลัก ปรากฏข้อความในศิลา จารึกเมืองเสมา อําเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา เป็นจารึกพุทธศตวรรษที่ 16ระบุ พ.ศ. 1514 มีข้อความแปลได้ว่า

“พระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (ครองราชย์ พ.ศ. 1511-1544) พระราชโอรส ของพระเจ้าราเซนทรวรมันแห่งจันทรวงศ์นั้น พราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเภทได้ อภิเษกพระองค์ให้สถิตในราชสมบัติ”

ศิลาจารึกหลักที่ 2 หรือ ศิลาจารึกวัดศรีชุม ตรงกับพุทธศตวรรษที่ 18 กล่าวถึงการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกว่า

“พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่ออินทรบดินทราทิตย์”

ศิลาจารึกหลักที่ 3 หรือ ศิลาจารึกนครชุม ในพุทธศตวรรษที่ 19 กล่าว ถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วยเช่นกัน ความว่า

“พระยาไสลือไท ผู้เป็นลูกพระยาเลอไท เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก อันฝูงท้าวพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหาย อันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวายของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยา จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช

เมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่ให้รายละเอียดมากขึ้นเห็นได้จากคําให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งบันทึกภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 กล่าวถึงแบบแผนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่รับมาจากอินเดียตั้งแต่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้าอู่ทองผู้ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ใน สยามประเทศ มีพระกมลเจตรจํานงผูกพันในสัณฐวมิตรภาพ ต่อกรุงพาราณสีราชธานี ขอเจริญทางพระราชไมตรีมายังพระเจ้ากรุงพาราณสี ผู้ธำรงอยู่ในทศพิธ ราชธรรมอันมหาประเสริฐ ด้วยบัดนี้กรุงศรีอยุทธยา ผู้เป็นมิตรของพระองค์จะใคร่ได้พราหมณ์ผู้รู้พระราชพิธี 8 คน อันเป็นเผ่าพงษ์พราหมณ์แท้แต่อุภโตสุชาติ มากระทําการพระราชพิธีราชาภิเษก ให้เป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล แลเป็นแบบอย่างพระราชพิธีไว้ในประเทศสยาม สืบไปภายหน้าสิ้นกาลช้านาน กรุงพาราณสี กับกรุงศรีอยุทธยาทั้งสองราชธานี จะได้เป็นสัมพันธมิตรมีทางพระราชไมตรีต่อ กันสืบไปในอนาคต จนตลอดกัลปาวสาน”

เอกสารคําให้การขุนหลวงหาวัด ปรากฎรายละเอียดของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เริ่มจากการเตรียมพระราชพิธีก่อนวันพระฤกษ์ด้วยการสวดพระปริตรเป็นเวลา 3 วัน ก่อนจะเริ่มพิธีพราหมณ์เป็นเวลาอีก 3 วัน จากนั้นจึงเป็นวันประกอบพระราชพิธีตามพระฤกษ์ เริ่มจากการสรงพระมุรธาภิเษก ดังนี้

“แล้วเชิญเสด็จขึ้นบนเตียงทอง แล้วจึงมหาปโรหิตราชครูอันมีชื่อทั้ง 8 คน คือ พระครูพิราม พระครูมเหธร พระครูวิเชฐ พระครูมโหสถ พระครูรามราช พระครูสังขาราม พระครูกฤษณา พระครูกฤษณราชา ทั้ง 8 คนจึงเข้ามาอ่านพระ เวทแล้วจึงถวายพรทั้ง 4 ทิศ แล้วจึงเสด็จขึ้นเบญจาสนามอาสิภาค สรงสหัสธาราน้ำดั้นน้ำดาด แล้วจึงเปลื้องเครื่องที่ทรงนั้นออกให้แก่พราหมณ์”

ที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนที่ว่าด้วย หลักฐานพระราชพิธีบรมราชภิเษก ส่วนเนื้อหาอื่นๆ เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก , เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์, สถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์  ท่านสามารถหาอ่านได้ใน “เสวยราชสมบัติกษัตรา” ดร.นนทพร อยู่มั่งมี และผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ เป็นผู้เขียน